top of page

การเดินทาง 5 “รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว” ตอนที่ 1 : สู่ละโว้และทวารวดี

“รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว”: ก่อนที่เราจะเป็นเราในวันนี้


เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร

ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร


ทริปท้ายสุดของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ Spiritual Tourism ชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” กับทริปที่ 5 “รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว” ซึ่งพิเศษสุดกว่าทุกทริปที่ผ่านมา คือการออกเดินทางร่วมกันอย่างเต็มอิ่ม 3 วัน 2 คืน พี่ติ๋ม -- สุภาพ ดีรัตนา พาเราย้อนสู่ช่วงเวลาสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ไทย ก่อนการส่งต่อมรดกล้ำค่ามายังสมัยรัตนโกสินทร์


ตอน 1 สู่ละโว้และทวารวดี


ออกจากกรุงเทพฯ อย่างสดชื่นและตื่นเต้น เรามุ่งสู่ลพบุรี จังหวัดที่พบหลักฐานสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 3,500 ปีก่อน (บ้างก็ว่า 4,500-5,000 ปี) เมืองละโว้เป็นศูนย์กลางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ เป็นชัยภูมิการค้าสำคัญ และเป็นเมืองเดียวในไทย (และอุษาคเนย์) ที่สายธารความสืบเนื่องของชีวิตและผู้คนดำเนินมาไม่ขาดตอน

เริ่มทริปที่ วัดไลย์ ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง สิ่งแรกที่เห็นคือ “พระวิหารเก้าห้อง” ที่สวยงามในความเรียบง่าย ภาพปูนปั้นทศชาติด้านหน้าวิหารดึงดูดสายตาเราตั้งแต่แรกพบ ถ่ายทอดเรื่องราวพระโพธิสัตว์กับการบำเพ็ญธรรมอย่างยิ่งยวด 10 ประการใน 10 ชาติสุดท้ายก่อนจะสำเร็จมรรคผลเป็นพระพุทธเจ้า จากชาติที่ 1 พระเตมีย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือการออกบวชหรือออกจากกาม จนถึงชาติที่ 10 พระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี คือการให้หรือบริจาคทาน พยางค์แรกของชื่อพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์เป็นที่มาของคาถาหัวใจพระเจ้าสิบชาติ “เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว” เป็นคาถาโบราณที่เชื่อว่ามีอานุภาพมากจากบารมีแห่งพระโพธิสัตว์

ภาพปูนปั้นทั้งสวยงาม อ่อนช้อย นุ่มนวล สะท้อนถึงความรักของมาตาธิปัตย์ “เป็นความอ่อนโยนอย่างถึงขนาด เป็นเรื่องราวที่จบด้วยความรักที่ไม่มีประมาณ” พี่ติ๋มบอกอย่างนั้น


วิหารวัดไลย์ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องลมที่สร้างตามคติโบราณ เพื่อ “เล่น” กับพฤติกรรมของแสง เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เห็นวิธีการที่คนสมัยก่อนน้อมธรรมชาติเข้ามาสู่ชีวิต ในพระวิหารมีภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานชั้นดีถึงการเป็นศูนย์กลางการค้าและการเดินทางที่สำคัญยิ่งของที่นี่ เป็นจุดบรรจบของประวัติศาสตร์ ชุมชนทางการค้า และศิลปกรรมแห่งศาสนศิลป์ที่โดดเด่น

เมืองละโว้มีความสำคัญในช่วงยุคทองแดงและเหล็กต่อกัน ความสมบูรณ์ของแร่ธาตุทำให้ชุมชนซับเหล็กส่งออกทองแดงไปยังกวางสีได้


“อะไรเอ่ย มาจากละโว้ หน้าขาวเหมือนตะโก้ มีฟันซี่เดียว” พี่ติ๋มถามด้วยสีหน้าระบายยิ้มอย่างเคย แต่ไม่มีใครตอบได้


“จอบครับ”


เหล่าสมาชิกผู้ร่วมทริปได้แต่งงปนขำ “จอบเนี่ยนะ!!??!”


ช้าก่อน...อย่าเพิ่งด่วนขำเพราะนึกถึงจอบเสียมสมัยนี้วางขายกันเกลื่อน คุณค่าของคุณจอบในสมัยโน้นยิ่งกว่าคำว่าคู่ควร จะบอกว่าคนคิดจอบเป็นคนสร้างประวัติศาสตร์ก็ได้ คำถามอะไรเอ่ยสนุกๆนี้ สะท้อนความรุ่มรวยของลพบุรีหรือละโว้ในสมัยนั้นได้ไม่ผิดเพี้ยน


เดินออกมาด้านหลังพระวิหาร เราได้ชมความงามของภาพปูนปั้นอีกชุด เป็นการต่อสู้ “เทวาสุรสงคราม” ระหว่างเทพและอสูร พี่ติ๋มชี้ให้เราเห็น “จัตุรัสกล” (Magic Square) ที่แฝงอยู่ในภาพปูนปั้น ซึ่งโยงไปถึงยุคกรีกและเพลโต รวมทั้งเล่าถึงจัตุรัสกลและเขาพระสุเมรุที่ปรากฏอยู่ในตำนานภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเพลโต พ่วงด้วยเรื่องราวของพิภพ สวรรค์ นรก ความเชื่อ สังสารวัฏ

เราฟังเพลินเหมือนปูนปั้นมีชีวิตโลดแล่นออกจากผนัง ถึงแม้ลวดลายจะหล่นหายและบุบสลายไปตามกาล... มันก็เป็นเช่นนั้นเอง


ก่อนจากวัดไลย์ พี่ติ๋มพาไปกราบพระศรีอาริย์หรือพระศรีอริยเมตไตรยที่วิหารพระศรีอาริย์ เป็นรูปหล่อแบบพระพุทธสาวก คือลักษณะคล้ายคนนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หูสั้นปกติ ศีรษะโล้น ไม่มีเปลวรัศมีอย่างพระพุทธรูปทั่วไป นัยว่ารอการเติมพุทธลักษณะต่างๆเข้าไปเมื่อตรัสรู้ พระศรีอาริย์องค์นี้ได้รับการสร้างใหม่ขึ้นในสมัย ร.5 เพราะพุทธรูปองค์เดิมชำรุดมากหลังจากถูกไฟป่าไหม้ลามมาถึงพระวิหาร ท่านจึงโปรดให้ส่งลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงซ่อมสร้าง และส่งกลับไปประดิษฐาน ณ ที่เดิม


จุดหมายต่อไปคือ วัดเขาสมอคอน รูปปั้นหนุมานแบกภูเขาปรากฏโดดเด่น ที่นี่เป็นเหมือนตักศิลาแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเป็นที่พำนักของสุกกทันตฤๅษี อาจารย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จมาศึกษาศิลปวิทยา ณ เขาสมอคอนแห่งนี้


ด้านในมีถ้ำเล็กๆที่เรียกว่า ถ้ำพระนอน มีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ มีกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยพาเดินเที่ยวและเล่าเรื่องราวให้เราได้ฟังเพลิน


พี่ติ๋มบอกว่าเรากำลังอยู่ตรงศูนย์กลางของบางสิ่งที่เชื่อมระหว่างดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าและใหม่ และเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่กำหนดวิถีมนุษย์ เขาสมอคอนเป็นเส้นทางเดินเท้าข้ามเขาวงพระจันทร์ไปยังที่ราบสูงโคราช แอ่งสกลนคร ซึ่งก็คือเมืองศรีเทพ และเกิดการถ่ายเทสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างละโว้และศรีเทพ จนกลายเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมสมัยทวารวดี


ช่วงบ่ายเรามาที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง


สิ่งแรกที่เห็นคือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Pointed arch เส้นโค้งสองด้านซ้าย-ขวามาบรรจบกันตรงมุมค่อนข้างแหลมที่ด้านบน ปรากฏเป็นซุ้มโค้งแหลมของประตูหน้าต่างที่พุ่งขึ้น เป็นศิลปะเปอร์เซียรูปแบบเดียวกับที่

เมืองอิสฟาฮาน อดีตราชธานีอันรุ่งเรืองของอิหร่าน และเมื่อประกอบกับผืนน้ำที่แนบอยู่ทั้งด้านซ้ายขวาและด้านหลังของตัวอาคารแล้ว นับเป็นแผนผังที่คล้ายกับที่อิสฟาฮานมาก


พี่ติ๋มเล่าถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวชวนทึ่งอีกมากมาย ทั้งตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังที่เชื่อมโยงกับเส้นเมริเดียน จีน อินเดีย ฝรั่งเศส การที่ลพบุรีมีชื่ออยู่ในพื้นที่ทางดาราศาสตร์ของฝรั่งเศส การปฏิวัติ ค.ศ. 1688 เส้นทางแพรไหมทางบกและทางทะเลกับการช่วงชิงกันระหว่างฝรั่งเศส โปรตุเกส ดัตซ์ การเกิดสุริยุปราคาหรือเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นมากมายระหว่างทาง จนถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์ และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่โดยพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”


การเที่ยวที่นี่ทำเอาเราต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ ไหนจะฟังพี่ติ๋มบรรยาย... ตรงนี้สิบสองท้องพระคลัง ตรงนั้นตึกพระเจ้าเหา (พร้อมใจกันร้องว่า หา! พระเจ้าเหามีจริงด้วย) ไหนจะจด ความรู้ดีๆทั้งนั้น ไม่จดไว้ก็กลัวลืม สถานที่ก็สวย รูปก็อยากถ่าย สมาชิกผู้ร่วมทริปก็ถ่ายภาพสวยๆกันทั้งนั้น บางครั้งเล็งองค์ประกอบภาพไว้สวยแล้ว พอมีคนเดินเข้าเฟรมยิ่งสวยใหญ่ จึงชวนกันเดินเข้าเดินออกเฟรมคนละรอบสองรอบ ขยับซ้ายนิด ขวาหน่อย อ้าว อย่าลืมถอดแมสก์... สนุกทั่วกันทั้งช่างภาพและนางแบบ


ออกจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ไปชมพระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ และวัดนครโกษา ทำให้เราเข้าใจความเชื่อมโยงของพระปรางค์สามยอด ปรางค์แขก พระปรางค์ที่ศาลพระกาฬ กับพระปรางค์ที่อยุธยา เรื่อยมาจนถึงพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่ล้วนมาจากรากฐานหนึ่งเดียวคือทวารวดี และสิ่งที่อยู่เหนือรากฐานนั้นคืออิทธิพลศิลปะเขมรในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รวมทั้งเห็นการเดินทางของศิลปะเขมร ที่พัฒนาการมาเป็นศิลปะพื้นเมืองในแบบลพบุรี อยุธยา และส่งต่อมายังรัตนโกสินทร์


จบทริปวันแรกที่พระที่นั่งเย็น (พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระตำหนักทะเลชุบศร) เป็นสถานที่สำหรับราชกิจส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ การศึกษาดาราศาสตร์ครั้งแรกของไทยเกิดขึ้นที่นี่ คำถามเชิงวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งของพระองค์ทำให้มีการนำไปศึกษาต่อทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ เราปิดท้ายวันด้วยบรรยากาศสบายๆกับแสงสีทองของพระอาทิตย์ยามเย็นที่ค่อยๆคล้อยต่ำลงราวจะหล่นลงในพระที่นั่ง เป็นภาพที่สวยงาม มีพลัง และชวนให้รู้สึกผ่อนคลายได้ในเวลาเดียวกัน



อุ่นเครื่อง ทริปที่ 5 "รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว"


Commenti


I commenti sono stati disattivati.
bottom of page