top of page
Banner หนังสือปัญญาความสุข.jpg
  • Facebook

หนังสือ “ปัญญาความสุข” ในโลกอันผันผวน

จัดพิมพ์      

มีนาคม 2565

ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา

  • อำนวยการผลิต – จารุปภา วะสี

  • บรรณาธิการต้นฉบับ ออกแบบ จัดทำรูปเล่ม – สำนักพิมพ์สารคดี

  • นักเขียน – พรรัตน์ วชิราชัย, ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ, ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์ และกุลธิดา สืบหล้า

  • ประสานงาน - ธำรงรัตน์ บุญประยูร และชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์

  • จัดพิมพ์ - โครงการสานพลังการสื่อสารภาคีเครือข่ายระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา

 

เครือข่ายพุทธิกา, กลุ่ม Peaceful Death, บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด,  ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ธนาคารจิตอาสา, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สวนโมกข์กรุงเทพ, ชูใจ กะ กัลยาณมิตร, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, โครงการส่งเสริมวิถีสุขภาวะทางปัญญาผู้นำจิตอาสาด้วยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน, Free Spirit Thailand และมูลนิธิสหธรรมิกชน

สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จัดทำโดย

ร่วมกับ

สนับสนุนโดย

      เคล็ดวิชาความสุขที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของความสุขทั้ง 4 ฐาน คือ กาย ใจ สังคม และปัญญา พัฒนาฝึกฝนให้เข้าถึงความสุขทั้งสี่อย่างสมดุล ในโลกวัตถุนิยม ความสุขทางกายเป็นสิ่งคุ้นเคย จับต้องง่าย และเป็นที่ต้องการมากที่สุด จนละเลยความสุขทางใจ สังคม และปัญญา ก่อผลเสียรุนแรงต่อสมดุลความสุข

    หนังสือ “ปัญญาความสุข” ในโลกอันผันผวน (Spiritual Health for Resilient Society) เกิดขึ้นจากความคิดของกลุ่มคนทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญาที่เห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานอันหลากหลาย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเรียนรู้ร่วมกันในการขับเคลื่อนและพัฒนางานสุขภาวะทางปัญญา ประกอบกับวาระ 20 ปีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญามาต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 โดย 12 องค์กรต้นเรื่องในหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นภาคียุทธศาสตร์สุขภาวะทางปัญญา ของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ที่ยังทำงานเชื่อมโยงกันใกล้ชิด

      เนื้อหาของหนังสือว่าด้วยวิธีคิด มุมมอง และการทำงานของ 12 องค์กรที่ขะมักเขม้นรดน้ำพรวนดิน “ปัญญาความสุข” ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติให้ฟื้นตื่น เข้มแข็ง และเติบโต จนเกิดเป็นศักยภาพภายในที่คนแต่ละคน รวมทั้งสังคมจะสามารถมีและเป็น “สุขภาวะทางปัญญา” เรื่องราวร้อยเรียงตามเส้นเวลาที่องค์กรและประเด็นงานสำคัญปรากฏตัวขึ้น เริ่มต้นจากการรวมตัวของ “กลุ่มจิตวิวัฒน์” ราว 20 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการขับเคลื่อนสร้างเสริมปัญญาความสุขเพื่อให้ผู้คนและสังคมมีสุขภาวะทางปัญญา

     หมุดหมายแรกของการเดินทางเกี่ยวข้องกับสมาชิกก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์สองสาย คือ หนึ่ง พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล และเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งเชื่อมโยงการทำบุญกับงานอาสาสมัคร ทำความดีเพื่อผู้อื่นพร้อมกับการขัดเกลาตนเอง จนมาถึงการขยายความเรื่องความตายจากพระอาจารย์ไพศาลสู่ประเด็นการตายดีของกลุ่ม Peaceful Death และเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้เรื่องความตายอย่างรอบด้านของ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

     เส้นทางเดินที่เข้มแข็งอีกสายหนึ่ง คือ สมาชิกก่อตั้งของจิตวิวัฒน์ได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย เช่น ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร, ดร.สรยุทธ   รัตนพจนารถ และธีระพล เต็มอุดม กำลังสำคัญในการก่อร่างสร้างศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้อำนวยการคนแรก คือ ดร.อนุชาติ พวงสำลี ต่อมา ดร.สรยุทธและธีระพลแยกมาก่อตั้งธนาคารจิตอาสา ส่วน ดร.อนุชาติก่อตั้งโครงการผู้นำแห่งอนาคต และ ก่อการครู ภายใต้การทำงานของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

      การปรากฏของสวนโมกข์กรุงเทพ และ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ในช่วงต่อมา ได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ของปัญญาความสุขให้งอกงามในสังคมอย่างกว้างขวางและสร้างสรรค์ สวนโมกข์กรุงเทพนำปัญญาและความเมตตาจากธรรมะของท่านพุทธทาส มาสู่คนเมือง เชื่อมโยงพุทธบริษัทสี่ร่วมเผยแผ่พุทธธรรมอย่างเข้มแข็งและร่าเริง ขณะที่ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ได้แปลงคอนเทนต์เกี่ยวกับความจริงของโลกและชีวิตที่เคยเป็นเรื่องเชยให้น่าจดจำและพุ่งตรงเข้าสู่หัวใจคนดูอย่างมหัศจรรย์

     ถัดมาเป็นการเสริมปัญญาความสุขในคนทำงานอาสาสมัครผ่านโครงการอาสาคืนถิ่นของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมซึ่งเป็นองค์กรสร้างอาสาสมัครรับใช้สังคมมายาวนาน และโครงการส่งเสริมวิถีสุขภาวะทางปัญญาผู้นำจิตอาสาด้วยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดยพระวินย์ สิริวฑฺฒโน ที่เน้นให้คนทำงานอาสาสมัครได้ดูแลกาย ใจ สังคม และปัญญาของตนอย่างองค์รวม ไม่ใช่ช่วยเหลือผู้อื่นจนตัวเองหักพัง รวมทั้งเชื่อมงานจิตอาสาเข้ากับวาระโลกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

       เส้นทางเดินต่อมาสู่ช่วงท้ายเล่มโดยไม่หลงลืมคนรุ่นใหม่ Free Spirit Thailand ที่เคียงข้างคนวัยเยาว์ที่กำลังหลงทางชีวิต เปิดพื้นที่สนทนาสู่สาธารณะ เลื่อนไหล และเปี่ยมชีวิตชีวา ขณะที่มูลนิธิสหธรรมิกชนสนใจเป็นพิเศษในสภาวะการรับรู้ของจิตระดับญาณปัญญาและเชื่อมั่นในหนทางการอยู่ร่วมของกลุ่มกัลยาณมิตรเพื่อ “ตื่นรู้” ร่วมกัน

      ชวนเดินทางไปกับเรื่องราวของ 12 องค์กรด้วยใจเบาๆ ปล่อยตัวให้อยู่ในบรรยากาศและกระแสของความรักที่เชื่อมโยงพวกเขาไว้ด้วยกันบนเส้นทางนี้ ดังที่ใครบางคนบอกว่า ความรักไม่ใช่การนั่งมองตากันและกัน แต่เป็นการมองไปในทิศทางเดียวกัน...

bottom of page