top of page

การเดินทาง 5 “รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว” ตอนที่ 2 : สืบสายธาราสู่อโยธยา

“รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว”: ก่อนที่เราจะเป็นเราในวันนี้


เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร

ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร


ตอนที่ 2 สืบสายธาราสู่อโยธยา


วันนี้เป็นวันที่ 2 ของทริป “รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว” ในการเดินทางท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” เพื่อเข้าถึงละโว้ – อโยธยา - อยุธยา เราเริ่มเช้าวันใหม่กันที่วัดดุสิดาราม ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา พี่ติ๋ม - สุภาพ ดีรัตนา ชวนเข้าใจความหมายของศิลปะ ปรัชญา และปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในใบเสมา ผ่านสัญลักษณ์ของวงกลม สี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม ที่สากลยืนยงมานับพันปี เมื่อวงกลมรวมกับสี่เหลี่ยมแล้วหมุนหาองศา ถึงจุดหนึ่งจะพบว่าได้แปดเหลี่ยม เจดีย์ประธานซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของวัดก็ปรากฏสัญลักษณ์นี้ คือมีฐานสี่เหลี่ยม ตรงกลางที่เป็นส่วนล่างของเจดีย์เป็นฐานรูปแปดเหลี่ยม ด้านบนเป็นองค์ระฆังทรงเรียว ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนทรงวงกลมและปลียอด


พระอุโบสถที่นี่แอ่นเป็นท้องสำเภาตามแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีศาลเจ้าแม่ดุสิต ซึ่งเป็นแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสมเด็จพระเพทราชา ตั้งอยู่ให้สักการะด้วย


เราได้รับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่วัดมเหยงคณ์ และเห็นศิลปะซุ้มโค้งแหลมแบบสมัยพระนารายณ์อีกครั้งที่วัดกุฎีดาว รวมถึงสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่เป็นอาคาร 2 ชั้น ซึ่งเป็นต้นแบบที่ ร.5 ทรงนำมาสร้างที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร รวมทั้งรูปแบบของโถงภายในที่ไม่ปิดตายแบบกรุอีกต่อไป


จุดหมายต่อไปคือวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระเจ้าทรงธรรม มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือสกุลช่างเดียวกับที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ขรัวอินโข่งก็ได้ศึกษางานจิตรกรรมจากที่นี่ด้วย จิตรกรรมฝาผนังที่นี่มีลักษณะเฉพาะตัวเนื่องจากเป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่น เป็นภาพพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า มีการละเล่นต่างๆในงานพิธีถวายพระเพลิง ภาพเทพชุมนุม ทศชาติชาดก เป็นต้น

หลังอาหารกลางวัน เราแวะวัดธรรมาราม ที่จำพรรษาของพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แห่งวัดพุทไธสวรรย์ ให้เป็นพระอุปัชฌาจารย์ออกไปลังกาทวีปตามพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตามคำร้องขอจากทางลังกา เนื่องจากพุทธศาสนาในลังกาเสื่อม จึงเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนาลัทธิสยามวงศ์ในลังกาทวีปนับแต่นั้นมา


ช่วงบ่ายเป็นเวลาของวัดอโยธยา จุดเชื่อมต่อระหว่างละโว้มายังอโยธยา “อะไรทำให้ละโว้ต้องย้ายตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองมาที่นี่” พี่ติ๋มตั้งคำถามสำคัญชวนคิด


ธรรมชาติกำหนดมนุษย์ ภูมิทัศน์กำหนดวัฒนธรรม เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาสำคัญขึ้นแทนที่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งคดเคี้ยวมากจนเรือใหญ่เข้าออกไม่ได้ ชามอ่างทรัพยากรของสิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยาเป็นชามอ่างขนาดยักษ์ จึงไม่แปลกที่จีนต้องการเข้ามาทำการค้าแถบนี้ และหันสู่เส้นทางแพรไหมทางทะเลแทนการพึ่งพาเส้นทางแพรไหมทางบกตามเดิม ละโว้เองที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินก็รู้ตัวว่าไม่สามารถไปต่อได้ จึงเริ่มสร้างเมืองแฝดทางตอนล่างของสายน้ำคือ “อโยธยา” และย้ายตัวเองมาสู่อโยธยาในที่สุด


ที่วัดสมณโกฏฐาราม เรารู้สึกถึงพลังแห่งความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สัมผัสความสงบในพระอุโบสถแบบก่ออิฐถือปูนทึบ ลักษณะตกท้องสำเภาแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย มีประตูซ้ายขวา 4 ด้าน ไม่มีหน้าต่าง


วัดหันตรา ซึ่งตั้งอยู่สุดขอบตะวันออกของอโยธยา มีความสำคัญยิ่งยวดจากการเป็นทุ่งหลวงหรือทุ่งนาข้าวของราชอาณาจักร เป็นที่ประกอบพิธีกรรมด้านการเกษตร พิธีบูชาแม่โพสพ เพื่อความเจริญในข้าวปลาอาหาร ซึ่งเป็นนาฏกรรมสำคัญแห่งรัฐ


เราปิดท้ายวันที่ 2 ที่วัดไชยวัฒนาราม ตามเสียงเรียกร้องของสมาชิกผู้ร่วมทริปเพื่อซึมซับความอิ่มเอมของบรรยากาศพระอาทิตย์ตกท่ามกลางโบราณสถานสำคัญของอยุธยาด้วยกัน



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page