ภาพสุดท้าย | The Last Photo Project
เวลา
กันยายน 2565 - สิงหาคม 2566
ธำรงรัตน์ บุญประยูร
ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา
สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จัดทำโดย
ร่วมกับ
สนับสนุนโดย
ทุกคนรู้ดีว่าไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ เมื่อความตายต้องมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง จะดีหรือไม่หากเราเตรียมตัวให้พร้อมเสมอสำหรับวันนั้น และจะเป็นอย่างไรหากเราสามารถออกแบบและเลือก “ภาพสุดท้าย”…ภาพแห่งความสุขความทรงจำที่จะเป็นตัวแทนของเราไว้ประดับในงานสุดท้ายของชีวิตได้ด้วยตัวเอง
“ภาพสุดท้าย” The Last Photo เป็นการนำ “ภาพถ่าย” มาใช้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือด้านศิลปะที่ทรงพลัง เข้าถึง และจับต้องได้ง่าย สามารถสะท้อนสีหน้า แววตา และความรู้สึกของผู้ถูกถ่ายภาพ เกิดเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่องการตายดี อยู่ดี และการมีสุขภาวะทางปัญญา ผ่านกระบวนการถ่ายภาพ โดยมี คุณธำรงรัตน์ บุญประยูร ช่างภาพสตูดิโอมืออาชีพที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพบุคคล มาเป็นผู้สื่อสาร ดึงความสุขของผู้ถูกถ่ายภาพ แล้ว Capture the Moment จับจังหวะวินาทีแห่งความสุขนั้นผ่านเลนส์ ออกมาเป็นผลงานศิลปะภาพถ่ายขาว-ดำที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งชีวิตภายใต้รอยยิ้มของคนในภาพ
มีการจัดกิจกรรมอุ่นเครื่อง “ภาพสุดท้าย” The Last Photo หลายครั้ง ทั้งกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ป่วย ผู้ดูแล เครือข่ายภาคี และผู้สนใจทั่วไป ในการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา เช่น ศูนย์แพทย์หนองแวง จ.ขอนแก่น, โรงพยาบาลศูนย์แพทย์ขอนแก่น, โรงพยาบาลราชบุรี, งาน “สุขสุดท้ายที่ปลายทางครั้งที่ 4” จ.นนทบุรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นต้น
ในระหว่างการถ่ายภาพ ช่างภาพจะชวนพูดคุยในประเด็นและมุมมองเกี่ยวกับการตาย มีการนำภาพที่ถ่ายขึ้นจอทีวีขนาดใหญ่ และเลือกภาพสุดท้ายร่วมกันโดยช่างภาพและเจ้าของภาพถ่าย การได้เห็นภาพตัวเองในจอขนาดใหญ่นี้เองทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เห็นตัวเองในมุมที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน ได้ทบทวนตัวเอง เข้าใจ และยอมรับตัวเองมากขึ้น การถ่ายภาพทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างช่างภาพกับผู้ร่วมกิจกรรม เกิดประสบการณ์และช่วงเวลาแห่งความสุขที่ช่างภาพและผู้ร่วมกิจกรรมมอบให้กันระหว่างกระบวนการทำงาน ได้ทบทวนความหมายของความตายอย่างเป็นรูปธรรม ได้ใคร่ครวญ พร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิตและความตายมากกว่าเดิม และยอมรับว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อบุคคลยอมรับธรรมชาติความจริงของชีวิต เขาจะสงบนิ่งขึ้น กลับมาเป็นตัวของตัวเอง กล้าเปิดเผยตัวตนอย่างซื่อตรง และสื่อสารถึงความเป็นตัวเองที่แท้จริงให้คนอื่นได้รับรู้ ซึ่งเป็นมิติสำคัญของการมีสุขภาวะทางปัญญา
หลังเสร็จกระบวนการทำงาน มีการจัดนิทรรศการ โดยนำภาพที่ช่างภาพทำ Workshop: Last Memory กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม 12 คน ที่มีทั้งผู้มีชื่อเสียงในวงสังคม บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้ป่วยและญาติ มาจัดแสดง อีกทั้งยังมีการเสวนาพูดคุยกับช่างภาพและผู้มาถ่ายภาพเกี่ยวกับความหมายของชีวิต รวมถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานร่วมกัน