“รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว”: ก่อนที่เราจะเป็นเราในวันนี้
เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร
ภาพ: ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, กนิษฐา ปวีณะโยธิน, อรภา ตรีสวัสดิ์ไพบูลย์
ตอนที่ 3 อยุธยา เมืองท่านานาชาติ
พี่ติ๋ม - สุภาพ ดีรัตนา ผู้นำเที่ยวและให้ความรู้ตลอดทริป “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” พาเราเริ่มต้นเช้าวันที่ 3 ของทริปที่วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งตั้งอยู่นอกเกาะอยุธยา พี่ติ๋มพาชมเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคลซึ่งมีสัญลักษณ์สี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยม และวงกลม เป็นรูปแบบเดียวกัน ทรงเดียวกันกับเจดีย์ที่วัดดุสิดารามและวัดอโยธยา ที่พวกเราได้ชมกันมาเมื่อวาน บรรยากาศคึกคักเต็มไปด้วยรอยยิ้มจากนักท่องเที่ยวทั้งเอเชียและยุโรป ที่เอ็นจอยกับเด็กนักเรียนในชุดไทยที่โรงเรียนจัดมาเป็นกลุ่มสำหรับแนะนำสถานที่ให้นักท่องเที่ยวและฝึกภาษาไปในตัว
จุดหมายต่อไปคือวัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นจุดบรรจบอันทรงพลังอย่างถึงที่สุดของภูมิทัศน์วัฒนธรรม ความเป็นเมืองท่านานาชาติ และศูนย์กลางการค้าสากล ที่ถูกส่งต่อจากละโว้ สู่อโยธยา และอยุธยา รับฟังชีวิตอันโลดแล่นของเจิ้งเหอหรือซำปอกง ชาวจีนมุสลิมที่รับราชโองการจากจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์หมิง ให้มาติดต่อทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยา ทำให้การค้าสำเภาของอยุธยากลายเป็นการค้าสากลอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจในการครองบัลลังก์ให้เจ้านครอินทร์เพราะมีจีนสนับสนุน
พระนครอันตรธานเริ่มปรากฏกับใจ ตลาดการค้าทางน้ำอันคึกคักในแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งรัตนโกสินทร์ ที่รับรู้มาจากทริปที่ 4 “รักข้ามคลอง” ค่อยๆฉายภาพขึ้นซ้อนทับกับภาพเมืองท่าสากลที่กรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ โดยมีช่วงเวลาของกรุงธนบุรีคั่นกลาง ระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินได้พยายามฟื้นการติดต่อกับจีนถึง 7 ครั้ง จนสำเร็จในที่สุด
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือจิตรกรรมฝาผนังของวัดพนัญเชิง มีทั้งเรื่องราวของมหานทีสีทันดร นักปราชญ์ 7 องค์และกำแพงจักรวาล การสลายตัวตน ความเป็นพุทธจักรมณฑล การตั้งใจวางตำแหน่งให้เปลวพระเศียรของพระพุทธรูปตรงพอดีกับสระอโนดาตในภาพด้านหลังอย่างไม่ขาดไม่เกิน ล้วนเป็นปริศนาธรรมที่ซุกซ่อนและรอการถอดรหัสจากผู้มาเยือน
ที่วัดพุทไธสวรรย์ ทำให้เราได้เห็นพระปรางค์แทนที่เจดีย์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นพระปรางค์แบบดั้งเดิมที่ถ่ายทอดแบบมาจากวัดมหาธาตุ จ.ลพบุรี อีกสิ่งสำคัญของที่นี่ คือจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ชั้น 2 ของตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ ปรากฏทั้งเรื่องไตรภูมิ ทศชาติ พระพุทธบาท ได้เห็นกินนรกินรีที่อ่อนช้อย ถ่ายทอดอุดมคติและจิตวิญญาณ สระอโนดาต การผจญภัยทางจิต และภาพแสดงการเชื่อมปราณตามการไหลของการหายใจ ซึ่งคุณเป้ – ภัคพล เจนพาณิชย์ สถาปนิกหนุ่มผู้มีความรู้ด้านนี้ได้ช่วยอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น รวมถึงภาพช้าง ม้า โค สิงห์ ซึ่งเป็นภาพสากลแทนค่าปฐมธาตุทั้งสี่
หลังจบมื้อกลางวันและตะลุยเส้นทางสายไหม (ของฝากจากอยุธยา) กันเต็มที่แล้ว เราไปต่อที่หมู่บ้านโปรตุเกส ที่จริงที่นี่คือโบสถ์นักบุญเปรโต คณะโดมินิกัน ภายในมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยชัดเจน เช่น พื้นที่ประกอบศาสนกิจ ที่พักของนักบวช และมีสุสานที่มีโครงกระดูกอยู่ด้วย จุดสำคัญคือ ที่นี่เป็นสถานีการค้า โดยเป็นด่านขนอนที่ 3 แสดงให้เห็นความตั้งใจจริงของชาวโปรตุเกสว่าต้องการทำการค้าเป็นหลัก ไม่ใช่เผยแผ่ศาสนา
ภาพเส้นทางการค้ายุคนั้นชัดเจนขึ้นเหมือนปรากฏตรงหน้า ตอกย้ำความเจริญของอาณาจักรทางน้ำ ที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนถ่ายเทสินค้าบนเส้นทางการค้าสำคัญอีกครั้ง พี่ติ๋มแถมด้วยเกร็ดน่าสนใจว่า โรงเรียนสอนการเรือแห่งแรกอยู่ที่โปรตุเกส และโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เชื่อว่าโลกกลม บนธงชาติจึงมีแผนที่โลก เส้นรุ้ง และเส้นแวง
เราปิดทริปที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วเสร็จในสมัยพระเพทราชา คณะธรรมทูตรุ่นแรกแห่งปารีสได้ทำประโยชน์ต่อชาวกรุงศรีอยุธยา จึงทูลขอที่ดินจากสมเด็จพระนารายณ์เพื่อสร้างวัดและโรงเรียน โดยเป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในไทย
กรุงศรีอยุธยาเปิดตัวสู่สากล และเปิดรับความเป็นสากลของชนชาติต่างๆเข้ามาหลอมรวม ส่งผลต่อการสั่งสมความเจริญทุกทาง ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีทุกแขนงสาขา และก้าวกระโดดสู่ความเป็นราชธานีใหญ่ที่สุดแห่งลุ่มเจ้าพระยา
ก่อนกลับบ้าน พี่ติ๋มไม่ลืมหนังสือที่ระลึก “นิวัติทัศนา โกษาปาน – Le Retour de Kosa Pan” ที่คุณวรรณดี ไอสเนอร์ (พี่อ้อน) อดีตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ สมาชิกผู้ร่วมทริป “รักข้ามคลอง” ได้ฝากไว้เป็นของขวัญแก่ผู้ร่วมทริปนี้ รวมกับภาพพระพุทธเมตตาอีก 2 ภาพ จากพระวินย์ สิริวฑฺฒโน แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ที่ร่วมเดินทางมาด้วย จึงมีผู้โชคดี 3 ท่านรับของขวัญพร้อมรอยยิ้มปิดท้ายทริปอย่างอิ่มใจ กราบขอบพระคุณพระวินย์และพี่อ้อนมา ณ ที่นี้ค่ะ
การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ที่ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นร่วมกับศูนย์กิจการสร้างสุข SOOK Enterprise ของสสส. ผ่านไปครบถ้วนทุกทริปแล้ว และยังเหลือกิจกรรมพิเศษอีก 1 วาระ ที่พี่ติ๋มจะมานำเสนอเรื่องราวส่งท้ายในรายการ Spiritual Tourism Dialogue ในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคมนี้ ที่ สสส. ซ.งามดูพลี โปรดติดตามกำหนดการได้เร็วๆนี้ที่เพจจิตวิวัฒน์
ความรู้สึกผู้เข้าร่วม ทริปที่ 5 "รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว"
Commentaires