top of page
สุขภาวะทางปัญญา banner.jpg

สุขภาวะทางปัญญา

"สุขภาวะทางปัญญา" คืออะไร

คุณเคยรู้สึกถึงความสุขสบายแบบเย็นกาย เย็นใจ บ้างไหม

เป็นความสุขที่มาจากจิตใจที่สงบ รู้สึกเป็นอิสระ สบายเนื้อตัว เปิดกว้าง เป็นมิตร

เชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งอื่นๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น

มาจากการสัมผัสได้ถึงความรัก ความเมตตากรุณา เสียสละ ให้อภัย อดทนอดกลั้นได้ต่อความแตกต่าง

มีความสัมพันธ์ที่เอื้ออาทร ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนหรือสังคมที่ยุติธรรมและปลอดภัย

มาจากการมีโอกาสได้เรียนรู้และเจริญงอกงามตามธรรมชาติของชีวิต

และได้ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย

ความสุขแบบนี้เป็นความสุขที่ติดตรึงใจและยากจะลืมเลือน

นั่นล่ะ เค้าลางหรือรอยทางของสุขภาวะทางปัญญา หรือจะเรียกว่า สุขภาวะทางจิตวิญาณ

สุขภาพทางปัญญา Spiritual health หรือ Spiritual well-being ก็ได้

สุขภาวะทางปัญญาในพื้นที่สุขภาพโลก

 

เทรนด์การทำงานสุขภาพระดับโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาค่อยๆเคลื่อนตัวเข้าสู่การทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น จากการมองปัญหาสุขภาพในมิติของการรักษาโรคและการให้บริการสุขภาพ มาสู่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพและสุขภาพแบบบูรณการ โดยมีภาคส่วนต่างๆนอกหน่วยงานสาธารณสุขและนอกภาครัฐเข้ามาร่วมมือและมีบทบาทในการกำหนดภูมิทัศน์ นิยาม และขอบเขตการทำงานสุขภาพที่กว้างขวางขึ้น

การเคลื่อนตัวของมิติสุขภาวะทางปัญญาก็ร่วมในกระแสใหญ่นี้ เริ่มจากการก่อตั้งองค์การอนามัยโลก เมื่อปี พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมนิยาม “สุขภาพ” ว่า คือ “สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางกาย จิต และสังคม มิใช่เพียงแต่การปราศจากโรคหรือความป่วยไข้” ซึ่งแสดงให้เห็นองค์ประกอบหลัก 3 ประการของสุขภาพ สุขภาวะทางกาย (physical well-being) สุขภาวะทางจิต (mental well-being) และสุขภาวะทางสังคม (social well-being) โดยยังไม่มีการกล่าวถึงสุขภาวะทางปัญญา (spiritual well-being)

จุดเริ่มต้นของสุขภาวะทางปัญญาในเวทีโลกเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 คณะกรรมการวิจัยทางการแพทย์ องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ได้ทำเอกสาร “มิติจิตวิญญาณของสุขภาพ -- Spiritual Aspects of Health” เสนอต่อคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก เพื่อให้มิติทางจิตวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “สุขภาพดีถ้วนหน้า 2543 -- Health for All by the year 2000”

จนถึงปี พ.ศ. 2541 การประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การอนามัยโลกได้มีมติยอมรับให้เพิ่ม “สุขภาวะทางปัญญา” เข้าไปในนิยามสุขภาพ แต่ในภาพใหญ่ขององค์การอนามัยโลกก็ยังไม่มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงนิยามสุขภาพอย่างเป็นทางการ  ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 การประชุมส่งเสริมสุขภาพโลกครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “กฎบัตรกรุงเทพฯเพื่อการส่งเสริมสุขภาพในโลกโลกาภิวัฒน์ -- Bangkok Charter for Health Promotion in a Globalized World” ได้เกิดและเกิดกฎบัตรกรุงเทพฯ ที่ระบุให้ มิติของจิตใจและจิตวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยกำหนดสุขภาพด้วย

ปี พ.ศ. 2550 สมาชิกประเทศมุสลิมขององค์การอนามัยโลกเสนอให้องค์การอนามัยโลกปรับนิยามของคำว่า “สุขภาพ” โดยเพิ่ม spiritual well-being เข้าไปด้วย แต่ไม่สำเร็จ ด้วยความกังวลว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 การประชุมส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 11 ที่เซี่ยงไฮ้ ในหัวข้อ “การส่งเสริมสุขภาพกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” เน้นความสำคัญของกลยุทธ์ในการส่งเสริมสุขภาพแบบบูรณาการ (ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม พร้อมๆไปกับการบรรลุเป้าหมายทางสุขภาพ) โดยนิยามคําว่าสุขภาพว่า “ไม่ใช่ภาวะที่ปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญาด้วย”

จะเห็นได้ว่า ความก้าวหน้าในการเคลื่อนตัวของการนำมิติสุขภาวะทางปัญญาให้เป็นประเด็นร่วมที่สำคัญในเรื่องสุขภาพของเวทีโลก ริเริ่มจากผู้ปฏิบัติและมีประสบการณ์การนำไปใช้และเห็นประโยชน์จริงและค่อยๆก่อประกอบกันในแนวทางการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากล่างขึ้นบนมากกว่าการริเริ่มจากภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์ซึ่งขยับช้ากว่าในประเด็นนี้

สุขภาวะทางปัญญาในพื้นที่สุขภาพไทย

ต้นทางการขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาในประเทศไทยเริ่มจากคลื่นเจตนารมณ์ของภาคประชาสังคมไทยที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ระบุทิศทางของประเทศให้มุ่งสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม กระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดองค์กรอิสระในกำกับรัฐด้านสุขภาพขึ้นหลายองค์กร โดยองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส., 2544), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช., 2550) และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ., 2552) โดยประเด็นสุขภาวะทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นงานในองค์กร

ในปี พ.ศ. 2543 คำว่า “สุขภาพทางจิตวิญญาณ” เริ่มปรากฏในเอกสารของสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส. - ต่อมาคือ สช.)  ที่กล่าวถึงการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติสู่กระบวนทัศน์ใหม่ และเปลี่ยนมาใช้คำว่า “สุขภาพทางปัญญา” แทนเมื่อปี พ.ศ. 2545 เมื่อองค์กรพุทธบางส่วนเสนอให้เลิกใช้คำว่า “สุขภาพทางจิตวิญญาณ”

และในปี พ.ศ. 2546 เกิด “กลุ่มจิตวิวัฒน์” โดยการนำของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ที่ชักชวนเพื่อนมิตรสนใจประเด็น “จิตสำนึกใหม่ – New Consciousness” มารวมตัวกันเป็นกลุ่มศึกษาประเด็นนี้อย่างชัดเจนขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพูดคุยกันเป็นประจำทุกเดือนที่ห้องมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเป็นต้นธารสำคัญสายหนึ่งของการทำงานประเด็นนี้ที่เชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ การศึกษา และการทำงานด้านประชาสังคมของไทย ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดย นพ.ประเวศกล่าวว่า “การตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่ ทำให้เกิดสุขภาวะสูงสุด เป็นสุขภาวะทางปัญญา ที่พาไปสู่สุขภาวะทั้งหมด และเป็นเอกมรรคที่จะพามนุษยชาติก้าวข้าม (Transcend) วิกฤตการณ์ปัจจุบันไปสู่อารยธรรมใหม่” โดยสุขภาวะทางปัญญานั้นเป็น “สภาวะของการเข้าถึงความจริง เกิดเป็นอาการของการตื่นรู้ คือรู้สึกเป็นอิสระ เบาเนื้อเบาตัว มีความสุขอย่างลึกล้ำทั่วสรรพางค์กาย ประสบความงามอันล้นเหลือ เกิดไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล”

หลังจาก สสส. ตั้งแผนงานเพื่อสนับสนุนการทำงานส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาขึ้นเป็นการเฉพาะในปี พ.ศ. 2547 ก็ได้ให้นิยาม “สุขภาวะทางปัญญา” ในปี พ.ศ. 2548 ว่า คือ “ความรู้ทั่ว รู้เท่าทัน และความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์ และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่การตื่นรู้ และเกิดปัญญาในการดำรงชีวิตที่สมดุลและเป็นสุข”

ต่อมา พ.ศ. 2550 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 1 นิยามคำว่า “สุขภาพ” หรือ “สุขภาวะ” ว่า “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล” แสดงให้เห็นความก้าวหน้าในระบบสุขภาพระดับประเทศของไทยที่รวมสุขภาพทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งในองค์รวมที่สำคัญของนิยามสุขภาพด้วย

แต่ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศนั้น ในธรรมนูญฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2552 ยังไม่มีการกล่าวถึงสุขภาพทางปัญญาเป็นการเฉพาะ และเริ่มมีการกล่าวถึงในธรรมนูญฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ซึ่งกล่าวถึงหลักการสำคัญของ “สุขภาพทางปัญญา” ว่า “สุขภาพทางปัญญาเป็นรากฐานของสุขภาพองค์รวม การปฏิบัติเพื่อสุขภาพทางปัญญานำไปสู่ภาวะของมนุษย์ที่มีความรู้ทั่ว ความรู้เท่าทัน และความเข้าใจทัน และความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์ และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตใจอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” และ “สุขภาพทางปัญญาสัมพันธ์กับสุขภาพทางกาย ทางจิต และทางสังคม ทั้งมิติแนวดิ่งคือการเชื่อมโยงมนุษย์กับศรัทธาความเชื่อ อุดมคติหรือคุณค่าสูงสุดที่คนยึดถือ และมิติแนวราบคือการเชื่อมโยงมนุษย์กับสรรพสิ่งรอบตัว ดังนั้นการบรรลุซึ่งสุขภาพทางปัญญาจำเป็นต้องมีความสมดุลกันทั้งในมิติแนวดิ่งและแนวราบ”

 

ในปี พ.ศ. 2564 สสส. ได้ปรับนิยามสุขภาวะทางปัญญา ว่าหมายถึง “ศักยภาพในการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง นำมาสู่ชีวิตที่สมดุลและมีความสุข มีจิตใจมั่นคง เห็นความสัมพันธ์กับผู้อื่นและธรรมชาติ สามารถดูแลตนเอง ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดสังคมที่เกื้อกูล เคารพความแตกต่างหลากหลาย และมีศักยภาพในการฟื้นคืน”

และล่าสุด ในปี พ.ศ. 2565 ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ก็ได้ปรับนิยามสุขภาพทางปัญญาเช่นกัน ว่าหมายถึง “คุณภาพใหม่ของจิตใจที่เกิดจากการเข้าถึงความจริง คุณค่า และความหมายอย่างรอบด้าน ทั้งของตนเอง ผู้อื่น ธรรมชาติ และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวศรัทธา ซึ่งเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ โดยผ่านช่องทางทั้งทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และปัญญาญาณ การมีสุขภาพทางปัญญาที่ดี ทำให้เกิดคุณภาพของจิตใจที่สงบ สันติ มีอิสระ เปิดกว้าง มีความรัก ความเมตตากรุณา เสียสละ ให้อภัย อดทนอดกลั้นได้ต่อความแตกต่าง และสมานฉันท์ ส่งผลให้บุคคลพัฒนาตนไปในทิศทางของการละวางการยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เข้าใจ และเข้าถึงคุณค่าและความหมายของสิ่งต่างๆ และดำเนินชีวิตอย่างเชื่อมโยงเป็นมิตรกับตนเอง ผู้อื่น ธรรมชาติ และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวศรัทธา รวมทั้งขยายขอบเขตจิตสำนึกและมุมมองต่อโลกและชีวิตได้กว้างและลึกยิ่งขึ้นตามลำดับ”

 

ปล่อยการคิดถึงความหมาย และสัมผัสถึงสุขภาวะทางปัญญาในลมหายใจนี้

อย่างไรก็ตาม การคิดถึงความหมาย ย่อมทำให้เกิดนิยามได้หลากหลายไปตามประสบการณ์การเข้าถึงสิ่งนั้นๆของผู้คิด ที่แต่ละคนเข้าถึงคนละเสี้ยวส่วนของภาพใหญ่เดียวกัน และถกเถียงกันไม่รู้จบถึงความถูกต้องของนิยามจากประสบการณ์ของตน สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการเปิดโอกาสมากที่สุดให้ผู้คนมีประสบการณ์ตรงที่หลากหลายในการเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ในวิถีทางที่เหมาะสมและเปี่ยมความหมายสำหรับชีวิตตนเอง และค่อยๆก่อประกอบนิยามขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้น และในท่ามกลางหนทางอันหลากหลายของการมีสุขภาวะทางปัญญา เราจะพบว่า โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์มีความคล้ายกันมากกว่าความแตกต่าง

แม้มนุษย์จะมียีนที่ทำให้เราเข้าอกเข้าใจและมีความรู้สึกร่วม (empathy) กับมนุษย์ด้วยกัน และต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีบางอย่างใกล้เคียงกับเรา แต่สำหรับความเมตตากรุณาที่ทำให้เราอยากช่วยเหลือชีวิตอื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก (compassion) นั้นต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝนจนเป็นทักษะ รวมทั้งต้องมีแรงหนุนสำคัญจากการอยู่ในสังคมที่ให้คุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพกันและกัน

เส้นทางของสุขภาวะทางปัญญาจะนำเราไปสู่คุณภาพของชีวิตที่ประณีตขึ้น และศักยภาพที่สูงขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันเป็นสนามการเรียนรู้เพื่อเข้าใจความจริงในตัวเอง ผู้อื่น และความจริงของโลก จนความรู้และความจริงผสานเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต

และเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสี่เสาหลักของสุขภาวะ คือกาย ใจ สังคม และปัญญา ที่เชื่อมโยงและงอกงามเติบโตไปด้วยกันอย่างสมดุล เป็นสี่เสาของบ้านแห่งชีวิตและสังคมอันมั่นคง

bottom of page