เกาะขอบเวทีประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2567 “จิตตปัญญาศึกษา กับความท้าทายในการพัฒนามนุษย์” และการประชุมโครงการหยั่งรากจิตตปัญญา สู่สังคมแห่งความสุข เมื่อ 22-23 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต ชวนส่องหัวใจสำคัญจาก 4 เวทีเสวนา ที่อ่อนโยนในท่วงท่า หนักแน่นในแนวทาง และลึกซึ้งในเนื้อหา ในงานที่เรียกได้ว่าเป็นงาน “รวมพลคนเป็นครู” ครั้งนี้...
แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร รายงาน
หนึ่ง
ชวนเปลี่ยนจุดบอดเป็นจุดไบร์ท ด้วย Meta Skills -- ทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
เปิดงานด้วยปาฐกถา “การพัฒนาคน เพื่อสร้างสุขภาวะให้กับสังคม” โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณหมอเล่าถึงทักษะสำคัญในการพัฒนาคนที่ต้องมีคู่กัน คือ “ฮาร์ดสกิล” ซึ่งเป็นทักษะเชิงเทคนิคและความรู้ความสามารถด้านอาชีพที่เปลี่ยนตลอดเวลา ต้องอัปเดตเสมอ กับ “ซอฟต์สกิล” ซึ่งเป็นทักษะด้านสังคมที่สำคัญในการทำงานและอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งฮาร์ดและซอฟต์สกิลหลอมรวมกันและเกิดเป็นทักษะย่อยๆมากมายที่เรียกว่า “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” เช่น การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การรู้เท่าทันข้อมูลและสื่อ ความร่วมมือ เป็นต้น
คุณหมอยกตัวอย่างซอฟต์สกิลด้าน Work-Life Balance ว่าไม่ใช่การเอา 24 ชั่วโมงมาหารสองเป็นเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวอย่างละครึ่งแบบทื่อๆ แต่เป็นการรู้และจัดลำดับสิ่งที่ต้องทำได้ตามความสำคัญและจำเป็น แถมคุณหมอแสดงให้เห็นเลยว่า บางสถานการณ์เราสามารถ Balance ให้ Work และ Life เดินไปพร้อมกันได้
“ด้วยส่วนสูงของผม ผมควรเดินวันละประมาณ 20,000 ก้าว แต่วันนี้ผมมีบรรยายเยอะมาก ผมเลยขอบรรยายไปเดินไปพร้อมกันนะครับ” เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้หนึ่งกรุบ แล้วคุณหมอก็เดินตลอดการบรรยายจริงๆด้วย ได้ทั้งสุขภาพ เนื้อหาไม่ตกหล่น และคนฟังอย่างเราก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่มากกว่าเนื้อหาอีกต่างหาก win-win ทุกฝ่าย
อีกหนึ่งไฮไลท์ของคุณหมอคือ Meta Skills ทักษะสำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งสำคัญคือทัศนคติแบบ Growth Mindset ที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ พร้อมเติบโต สนุกกับการแก้ปัญหา พัฒนาสิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย และเป็นทักษะที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทั้งฮาร์ดและซอฟต์สกิล โดยมีทักษะสำคัญๆคือ
“การปรับตัว” คนที่ล้มแล้วลุกซ้ำๆจนไม่ล้มอีกและรอดจากนานาวิกฤตในช่วงโควิด-19 คือคนที่รู้จักปรับตัว
“Self Awareness” รู้จัก เข้าใจ และยอมรับในตัวเอง ทำให้เห็นปัญหาและจุดบอดของตัวเอง นำไปสู่การเปลี่ยนจุดบอดเป็นจุดไบรท์ การรู้ตัวตนที่แท้จริงของตนเองจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่สำคัญได้ในที่สุด สอดคล้องกับที่ชาลส์ ดาร์วิน กล่าวว่า "ผู้ที่อยู่รอดได้ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดด้วยสิ่งที่มีอยู่"
“Connecting the dots" เป็นการหาความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม บุคคล เวลา ฯลฯ จุดแต่ละจุดคือประสบการณ์ชีวิต ยิ่งประสบการณ์มาก จุดยิ่งมาก และความสำเร็จมักมาจากการที่เราสามารถเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือแก้ไขปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้มาก่อน คำนี้มาจาก สตีฟ จอบส์ เขาบอกว่า “คุณจะสามารถเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมองย้อนกลับไป แนวทางนี้ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง ความแตกต่างมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตผมล้วนมาจากสิ่งนี้”
“Resilience” ความสามารถในการอยู่เหนือความไม่แน่นอนหรือความยากลำบากต่างๆ และสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ท้อถอย คุณหมอยกคำพูดของ โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์คนสำคัญของโลกขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่า จากหนังสือ ‘Dare to Fail กล้าล้มเหลว’ โดย บิลลี่ ลิม มีคนมาถามเอดิสันว่า รู้สึกอย่างไรที่สร้างหลอดไฟมา 700 หลอดแล้วก็ยังไม่สำเร็จ เขาตอบว่า “สำหรับหลอดที่ 701 ก็มี 700 อย่างที่ผมจะไม่ทำครับ”
หลังจากแจกทักษะสำคัญแล้ว ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างสุขภาวะให้สังคมคือ ศีลธรรมและความดีงาม (Morality & Ethics) ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวทรัพยากรบุคคลในทุกช่วงเวลา
ก่อนหมดเวลา คุณหมอเล่าถึง “พายุ 7 ลูก” หรือ The Cyclones of Changes ที่เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งการพัฒนาคนในปัจจุบันและอนาคตต้องคำนึงถึง
Globalization โลกไร้พรมแดนที่คนทั้งโลกเดินทางถึงกันง่ายๆ เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโรค
Digitalization โลกดิจิทัลในทุกอณูชีวิต โดยเฉพาะแวดวงการศึกษาและการดูแลสุขภาพ
Disintermediation การหมดบทบาทของตัวกลาง เช่น อุดมศึกษาอาจหายไปหากไม่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตอบโจทย์สังคมและโลก
Disruptive Technologies การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน โดยเฉพาะ AI ที่คุณหมอบอกว่า “จับโกหกได้หลายครั้งแล้ว”
Global Warming และ Climate Change การเปลี่ยนแปลงสำคัญจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
Geopolitical Conflicts หนึ่งในวิธีการรีเซ็ตความวุ่นวายและความตกต่ำของเศรษฐกิจคือการสร้างสงคราม และขณะนี้มีสัญญาณของสงครามโลกแรงมาก
Socio-demographic Changes การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประชากร
สอง
ฟื้นฟูจิตวิญญาณแห่งการศึกษาด้วยการเรียนรู้แบบ Inside Out
จากเวทีเสวนา “ฟื้นฟูจิตวิญญาณแห่งการศึกษา” รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มิติการศึกษาในปัจจุบันขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เป็นการศึกษาแบบ Outside In คือการใส่สิ่งที่ผู้เรียนยังขาดหรือไม่รู้เข้าไป เป็นการใส่จากภายนอก และใส่มากจนสิ่งที่อยู่ในตัวผู้เรียนไม่ปรากฏออกมา
การฟื้นฟูจิตวิญญาณการศึกษาในแนวทางจิตตปัญญาศึกษาเป็นการกลับสู่ธรรมชาติในตนเอง การตระหนักรู้และเท่าทันภายใน ดึงศักยภาพที่มีอยู่แล้วในตัวผู้เรียนออกมา เป็นการศึกษาแบบ Inside Out ที่มาจากตัวผู้เรียน เกิดปฏิสัมพันธ์ เกิดการเรียนรู้ภายใน ฟื้นคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเอง เป็น Contemplative Education ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างประเทศยอมรับและไปไกลมาก เชื่อมโยงกับ Meta Skill คือ Self Awareness การเห็น เข้าใจ และยอมรับจุดบอดของตัวเอง
“สิ่งที่น่าห่วงคือ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่เห็นจุดบอดของตัวเองก็ซึมเศร้า จิตตปัญญาศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้เกิดความสงบ connect หรือเชื่อมโยงกับตัวเอง มี Self Observation อยู่กับตัวเองทั้งดีและไม่ดี ชอบและไม่ชอบ ไม่ใช่เลือกที่จะยอมรับแต่ของดีๆ แล้วกลบความไม่ดีไว้ เพราะนั่นเท่ากับอยู่กับโลกแค่ครึ่งใบ ต้องอยู่กับโลกทั้งใบ ทั้งมืด-สว่าง สุข-ทุกข์ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ชีวิต ยอมรับในสิ่งเหล่านี้และไปต่อได้ การเรียนรู้ในวิถีนี้ต้องฝึกฝนให้มีคุณภาพภายในที่แท้จริง” ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษากล่าว
อ.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพการทำงานกับบุคลากรสำคัญในห่วงโซ่การศึกษาอย่าง “ครู” ของ “โครงการก่อการครู” ว่าเป็นพื้นที่ให้ครูกลับมาตั้งหลัก ตั้งแกน เห็นคุณค่าความหมายของตัวเอง สร้างความสัมพันธ์กับตัวเองอย่างซื่อตรงและเป็นมิตร เมื่อครูกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเอง เคารพตัวเอง ความรู้สึกผิด คิดว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่ชอบตัวเองก็หายไป การพลิกวิธีคิดแบบนี้ส่งผลดีที่ขยายไปสู่บรรยากาศการทำงาน เกิดวัฒนธรรมที่เข้าใจและเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน เคารพกันและกัน ทำให้วงจรส่งต่อความเครียดเป็นทอดๆ จากผู้อำนวยการสั่งครู ครูสั่งเด็กนักเรียน ก็หายไป
“เด็กพร้อมที่จะรักครูอยู่แล้ว แค่ครูเขย่าวิธีคิดจากภายในก็เกิดการเปลี่ยนแปลง วิธีการฟัง สายตา น้ำเสียงที่พูดคุยกับเด็กก็เปลี่ยน ไม่ด่วนลงโทษหรือตัดสินเด็กนักเรียน แต่มีพื้นที่ให้พูดคุยและหาข้อตกลงร่วม เด็กก็รู้สึกปลอดภัยที่ครูไม่ใช้อำนาจไปกดทับเขา กลายเป็นความร่วมมือ ครูกับเป็นเด็กเป็นทีมเดียวกัน”
อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (CivicNet) เล่าประสบการณ์ตรงใน “การตื่นทางจิตวิญญาณ” ผ่านงานศิลปะทั้งบทกวีและวรรณกรรม รวมถึงความงามของธรรมชาติที่เข้าไปทำงานกับมิติภายใน ทำให้เกิดความปีติสุขอันล้ำลึก และการตระหนักรู้ถึงสภาวะภายในนี่เองที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต อาจารย์เชื่อว่า แนวทางจิตตปัญญาศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการใส่ใจหัวใจตัวเองและคนอื่นจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการฟื้นฟูจิตวิญญาณแห่งการศึกษา
สาม
สัมผัสประสบการณ์แห่งจิตตปัญญาศึกษา เข้าถึงความรู้ที่มีอยู่ในตัวเอง
เช้าวันที่สองของงานประชุมวิชาการ รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดคลาสให้ผู้เข้าร่วมราว 150 คน (ส่วนใหญ่จากโครงการจากหยั่งรากจิตตปัญญา สู่สังคมแห่งความสุข คือกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันการอาชีวศึกษา วิทยาลัยพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนในแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ด้วยการดูคลิปสั้นๆ แล้วสังเกตดูปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดขึ้นต่อกายและใจ รู้สึก connect หรือเชื่อมโยงกับภาพที่เห็นอย่างไร ดูว่าข้างในเกิดอะไรขึ้นบ้าง จากนั้นลองบันทึกสิ่งที่สังเกตเห็น แล้วจับคู่ผลัดกันสะท้อนให้เพื่อนฟัง
เป็นคลาสชิมลองที่สนุก เห็นความเชื่อมโยงของการเรียนแบบ Outside In และ Inside Out เข้าใจความเป็นจิตตปัญญาศึกษาที่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียน ช่วยเตรียมมิติภายในที่มั่นคง มีตัวเองอยู่ในนั้น ไม่ตัดตัวเองออกจากการเรียนรู้ ได้เห็น “ของจริง” จากการนิ่งสงบกับตัวเอง เข้าถึงธรรมชาติของ Experiential learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เน้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นสดๆโดยไม่ปรุงแต่ง อย่างที่ อ.ชัชวาลย์ เรียกว่า “ไม่มีโพยให้ตอบอาจารย์”
ผศ.ดร.มนตรี เพชรนาจักร ผู้เข้าร่วมจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สะท้อนว่า “การศึกษาเป็นการเรียนรู้จากปัญหา เป็นการเอาความรู้จากตัวนักศึกษาออกมา ซึ่งแต่ละคนมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว อย่างเมื่อวานกิจกรรมในกลุ่มย่อยทำให้ผมรู้จักตัวเองและเพื่อน ผมเริ่มรู้ว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่แค่คำพูด แต่มีองค์ความรู้เชิงลึกในมิติมนุษยศาสตร์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ การอยู่ท่ามกลางสังคมแวดล้อมแบบยั่งยืน เอื้อเฟื้อต่อธรรมชาติ โดยมีมิติจิตใจเข้ากับธรรมชาติ การนำไปใช้แน่นอนว่าเราต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ ให้นักศึกษาสะท้อน ร่วมคิดร่วมทำตามที่ออกมาจากใจจริง หลักสูตรการจัดการความขัดแย้งที่ผมทำงานอยู่เป็นการให้การศึกษาอีกแบบ ที่ให้เขาอยู่ได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย เปิดใจให้กว้าง เป็นเรื่องยากแต่ค่อยๆเติมได้ สงครามความรู้ การแบ่งแยกพื้นที่ทางความคิด สิ่งที่คิดว่าต้องทำคือการยอมรับในสิ่งที่แต่ละคนเป็นและมี นั่นคือสังคมพหุวัฒนธรรม”
สี่
การเชื่อมต่อ “AI” กับ “จิตใจของมนุษย์”
ส่งท้ายประชุมวิชาการแบบล้ำๆ กับเวทีเสวนา “AI กับอนาคตของการพัฒนาจิต” ที่ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล พาเปิดโลก โดยนำอุปกรณ์คล้ายที่คาดผมมาคาดที่หน้าผากแทน และสามารถตรวจ EEG (Electroencephalography) หรือคลื่นไฟฟ้าสมอง และแสดงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองให้เราเห็นเป็นภาพคลื่นสมอง 4 แบบอย่างชัดแจ๋ว คือ เดลตา เทตา อัลฟา และเบตา ซึ่งบอกได้ว่าเจ้าตัวมีสมาธิอยู่ระดับใด (ชนิดที่คุณหมอเรียกว่าไม่ต้องมีพระอาจารย์มาสอบอารมณ์) สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อมีข้อมูลจำนวนหนึ่ง AI จะสามารถจับสัญญาณและเห็นรูปแบบบางอย่าง (pattern) ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาจิตต่อไปได้
ด้าน ผศ.ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยแนวหน้า ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience Center for Research and Innovation - NX) สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เล่าถึงงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า สมองของเด็กสัมพันธ์กับกรอบคิดหรือทัศนคติ เศรษฐสถานะ วัฒนธรรม การเลี้ยงดู และการให้รางวัล เช่น แรงจูงใจหรือรางวัลมีผลต่อสมองของเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่รวยมากและมีทัศนคติแบบเติบโต (Growth Mindset) ขณะที่ไม่มีผลต่อเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่รวยมากและมีทัศนคติแบบยึดติดอยู่ในกรอบ (Fixed Mindset)
ดร.ศิรวัจน์ อัปเดตให้ฟังด้วยว่า ขณะนี้นิวโรเทคโนโลยีที่นำมาใช้พัฒนาวิธีการหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Technology) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบประสาทเพื่อตรวจสอบหรือปรับการทำงานของระบบประสาท กำลังเป็นเทคโนโลยีเนื้อหอมฟุ้งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจกันมาก
น่าจับตามองว่าสิ่งนี้จะเข้ามามีบทบาทส่งเสริมการศึกษา จิตวิญญาณ และการพัฒนามนุษย์อย่างไร
Comments