top of page

ธำรงรัตน์ บุญประยูร คนหลังเลนส์ที่ชวนคนมาซ้อมตายผ่านการถ่ายภาพ

เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร


ธำรงรัตน์ บุญประยูร หรือ พี่ตุ่ย ช่างภาพรุ่นใหญ่ที่คร่ำหวอดผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการถ่ายภาพมากว่า 40 ปี ผ่านงานมาแล้วทั้งการถ่ายภาพนางแบบระดับท็อปของวงการ ผู้บริหารระดับสูงองค์กรชั้นนำต่างๆ เป็นทั้งช่างภาพหนังสือ โฆษณา ห้างสรรพสินค้า กราฟิก หรือแม้กระทั่งเปิดสตูดิโอส่วนตัว วันนี้พี่ตุ่ยวางกล้องคู่ใจชั่วคราว คว้าสมุดจดบันทึกประจำตัวมานั่งคุยกับเราถึงชีวิตและโปรเจ็กต์การถ่ายภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น เรานั่งคุยกันสบายๆในร้านกาแฟแอร์เย็นๆ หลบอากาศระอุอ้าวชนิดดาวไข่ได้สำเร็จด้วยพลังแสงอาทิตย์ มะนาวปั่นหรือกาแฟดำ หลังจากคิดอยู่ครู่หนึ่ง ช่างภาพวัยเก๋าก็ตัดสินใจได้ “กาแฟดำแหละ แค่นี้น้ำตาลก็ขึ้นเอาๆจะแย่แล้ว” ตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะอารมณ์ดี





40 ปีแห่งเส้นทางสายช่างภาพที่เต็มไปด้วยการทดลองและจดบันทึก

 

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด การก้าวสู่ความเป็น “มืออาชีพ” ก็ไม่ได้มาโดยง่ายฉันนั้น คนที่เป็น “ตัวจริง” ทุกคนล้วนทำงานหนักทั้งสิ้น และมีสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นวัตรปฏิบัติบางอย่างที่ก่อร่างสร้างตัวตนมาจนทุกวันนี้ สำหรับช่างภาพรุ่นใหญ่คนนี้ สิ่งนั้นคือการเขียนบันทึก

 

“พี่เชื่อว่าการเขียนเป็นการทบทวนชีวิต เป็นการยืนยันความรู้สึก มันไม่ใช่อยู่ดีๆจะเขียนอะไรได้ มันต้องผ่านความรู้สึก” พี่ตุ่ยเล่าต่อ “มันไม่มีอะไรทดแทนสิ่งที่เราคิดได้เท่ากับการเขียน เขียนทุกวัน เขียนเรื่องงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานมันถูกแก้ไขอย่างไร เพราะอาชีพพี่คืออาชีพแก้ปัญหาให้ลูกค้า จำเป็นมากเพราะมีการทดลองเยอะ เราจะได้รู้ว่า อันนี้ทำยังไง ผลออกมาเป็นยังไง แล้วก็เอากลับมาอ่าน เมื่อก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ เป็นการถ่ายรูปที่ใช้เทคนิคการถ่ายรูปจริงๆ แล้วมีลูกน้องคนหนึ่งเอาการเขียนแบบนี้ไปใช้ บอกขอบคุณลุงตุ่ยมากที่แนะนำ ผมใช้มาจนถึงทุกวันนี้”

 

ไม่เล่าเปล่า พี่ตุ่ยพลิกเปิดสมุดบันทึกเล่มสีดำขนาดใหญ่กว่าเหมาะมือเล็กน้อยให้เราดูแบบไม่หวง “บันทึกประจำวันเขียนทุกอย่าง มันเหมือนได้ทบทวนตัวเอง ทุกวันจะเขียนไว้ทั้งก่อนและหลังการทำงาน พี่เขียนแบบนี้ปีนึงสองเล่ม แล้วก็เอากลับมาอ่าน” พี่ตุ่ยเล่าพลางชี้ให้ดูลายเส้นที่ร่างไว้

 

“อันนี้สเก็ตช์งาน” เป็นคำอธิบายถึงตำแหน่งกล้องและไฟที่จัดไว้ตอนทำงาน “เขียนหมดแหละ จะพูดอะไรก็เขียน จะอ่านให้ฟัง -- Last Photo พูดคุยถ่ายรูป ได้ประสบการณ์เชื่อมโยงกับตัวเอง สะท้อนความเป็นตัวของเขาออกมา ชวนเขาผ่อนคลาย ปลดล็อกอะไรบ้าง สายตาท่าทางเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่เคยเห็นตัวเอง อย่างอันนี้... บอกว่าทุกครั้งที่ดูรูปถ่าย ชีวิตเราเข้าไปอยู่ในช่วงเวลานั้น และที่สำคัญเราเลือกจะอยู่ตรงไหนก็ได้ในอดีต”

 

พี่ตุ่ยเผยถึงที่มาของการเขียนบันทึก “จริงๆติดมาจากแม่ แม่เขียนเรื่องค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ ไปเชียงใหม่หมดเงินไปเท่าไหร่ ซื้อของฝากอะไรบ้าง ให้ใครบ้าง ราคาเท่าไหร่ ช่วงสุดท้ายของชีวิตแม่ มีสมุดเล่มเล็กๆแม่เขียนว่า ตุ่ยยืมไป 40,000 บาท” เล่ามาถึงตรงนี้ ช่างภาพใหญ่อดยิ้มให้กับวัตรปฏิบัติอันซื่อตรงของแม่ไม่ได้ พร้อมเล่าถึงปลายทางของเงินก้อนนั้น “ยืมเงินแม่ 40,000 บาท ซื้อกล้องฮัสเซลบลัด นอนกอดเลย เป็นกล้องในฝัน สมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เงินเดือนคนจบปริญญาตรี อย่างเพื่อนพี่ทำงานเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครได้ 2,300 บาท ตอนนั้นพี่ได้เงินเดือน 6,000 บาท ซื้อกล้อง 40,000 นะ คิดดู”



Last Photo - ภาพระลึกชีวิต

 

จากกล้องในฝันตัวแรก จากการเริ่มเส้นทางอาชีพช่างภาพในปี 2525 มาถึงตอนนี้พี่ตุ่ย ธำรงรัตน์ บุญประยูร เริ่มแชปเตอร์ใหม่ เติมความหมายใหม่ให้การถ่ายภาพด้วย “Last Photo – ภาพระลึกชีวิต” โปรเจ็กต์ที่ใช้เวลายาวนาน 15 เดือน โดยใช้ “ภาพถ่าย” เป็นเครื่องมือด้านศิลปะที่ทรงพลัง เข้าถึงและจับต้องได้ง่าย มาสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่องการตายดี อยู่ดี และการมีสุขภาวะทางปัญญา ให้ผู้คนเข้าใจความหมายของการมีชีวิตผ่านการถ่ายภาพ

 

“สิ่งที่อยากบอกคือ ให้เข้าใจแค่คำเดียวว่า ชีวิตและความตายเป็นของคู่กัน นี่คือคีย์เวิร์ดของงานพี่”

 

“เราสามารถพูดเรื่องความตายได้ทุกเวลา ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมเรา เหมือนลมหายใจ มีลมหายใจเข้าก็คือการเกิด ลมหายใจออกก็คือตาย มันเป็นสากล คนเรากลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น เหมือนอย่างผีกับความตายเราไม่เคยเห็นผี เราเลยกลัวผี ไม่เคยตาย เลยกลัวความตาย เรากลัวตายเพราะมีสิ่งที่ยึดไว้เยอะ เราเริ่มยึดเมื่อไหร่ เราก็จะเริ่มไม่อยากตาย เวลาเรามีความสุขมากๆ ยึดกับความสุข เราก็ไม่อยากตาย แต่เวลามีความทุกข์ ก็จะบอกว่าตายไปซะก็ดี แม้กระทั่งคนที่ทำเรื่องอยู่ดี ตายดี ถามว่าไม่กลัวตายเหรอ กลัวสิ แต่ทำอย่างไรให้อยู่กับเรื่องนี้ได้ ถามว่าง่ายไหม ไม่ง่ายเลย เราต้องเตรียมใจไว้ก่อน เรียนรู้จากคนที่เขาใกล้ตายไว้ก่อน ทุกอย่างเป็นการเตรียมตัว”





ชวนผู้คนคุยเรื่องความตายผ่านการถ่ายภาพ

 

“จะทำยังไงให้คนหันมาสนใจที่อยู่ดีๆก็ชวนคุยเรื่องตาย พี่ว่า 9 ใน 10 คนต้องบอก พี่ตุ่ยบ้าหรือเปล่า แต่ถ้าบอกว่า ไปถ่ายภาพสุดท้ายกัน เตรียมตัวไว้ก่อน คนก็โอเค อยากถ่าย” พี่ตุ่ยเล่าถึงแต้มต่อของความเป็นช่างภาพ แล้วบอกเราถึงความพิเศษของการถ่ายภาพ

 

“ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือเดียวในโลกนี้ที่สามารถหยุดเวลาเอาไว้ได้ กล้องถ่ายภาพสามารถหยุดเวลาช่วงนั้นไว้ได้ การย้อนกลับไปดูภาพอีกครั้ง มันเป็นการย้อนอดีต ซึ่งสามารถเลือกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนั้นได้ มันสำคัญไหมล่ะ พอกลับมานั่งดูภาพนี้ ก็จะนึกได้ถึงบรรยากาศและเหตุการณ์ในตอนนั้น ทำให้พี่รู้สึกว่าเครื่องมือนี้เหมาะกับการที่จะทำงานเรื่องภาพสุดท้าย พี่เลยเลือกกล้องถ่ายรูปเพื่อบันทึกภาพถ่าย แล้วภาพถ่ายอะไรที่จะไม่แบ่งคนในโลกไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน นั่นคือภาพขาวดำ คือชีวิตมาอย่างไรก็ถ่ายอย่างนั้นไม่ต้องแต่งหน้า การถ่าย Portrait Head Shot (เป็นการถ่ายภาพบุคคลที่ถ่ายเฉพาะช่วงบนของลำตัวตั้งเเต่หัวไหล่ขึ้นไป) จะแสดงศักยภาพของคนแต่ละคนออกมาได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่จะเห็นในภาพขาวดำ คือดวงตา สีหน้า ซึ่งสามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนั้นได้”



ประสบการณ์ล้ำค่าของชีวิต จุดประกายความคิด “ภาพสุดท้าย”

 

ในปี 2535 พี่ตุ่ยสูญเสียคุณพ่อไปอย่างไม่มีวันหวนกลับโดยไม่มีโอกาสร่ำลา การจากไปของพ่อทำให้ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญที่กระตุกความคิด เมื่อพบว่าไม่มีรูปพ่อที่จะใช้เป็นรูปหน้าศพ ทั้งๆที่ตัวเขามีอาชีพเป็นช่างภาพ ถ่ายภาพคนมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่กลับไม่ได้ถ่ายภาพให้คนสำคัญในชีวิต สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้น คือนำรูปติดบัตรประจำตัวประชาชนของพ่อไปอัดขยาย เพื่อนำมาใช้ในงานสำคัญครั้งสุดท้ายของพ่อ ทั้งที่รู้ดีว่านั่นไม่ใช่รูปที่ดีพอที่จะอยู่ตรงนั้น “เป็นสิ่งที่ค้างในใจ เพราะรูปนั้นไม่มีความเป็นพ่อเลย”

 

หลังจากครั้งนั้น ช่างภาพมืออาชีพไม่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดเดิมซ้ำอีก คราวนี้รู้แล้วว่าต้องเตรียม ภาพสุดท้ายในงานสำคัญ ควรเป็นภาพที่ดี และที่สำคัญคือเราควรเลือกได้เอง พี่ตุ่ยจึงถ่ายภาพให้คุณยาย --อย่าหาว่าผมแช่งเลยนะยาย โชคดีที่คุณยายเข้าใจและทันสมัยพอที่จะไม่คิดมาก ไม่ถือสาว่าจะเป็นลางแต่อย่างใด ถ่ายรูปให้ฉันสวยๆก็ดีแล้ว พี่ตุ่ยจึงได้ถ่ายภาพตามที่คุณยายชอบ ประแป้งยิ้มสวยในเสื้อคอกระเช้าตัวโปรด เรียกให้เปลี่ยนก็ไม่ยอม ก็ฉันชอบตัวนี้

 

และเมื่อวันของคุณยายมาถึงในหลายปีต่อมา ภาพที่คุณยายเลือกก็ได้นำมาใช้ตามที่คุณยายต้องการ พี่ตุ่ยและพี่ๆน้องๆหลานยายทั้งสามคนช่วยกันทำหนังสืองานศพให้ยาย ภาพยายยิ้มหวานประแป้งสวยงามในเสื้อคอกระเช้าได้ใช้เป็น “ภาพสุดท้าย” ที่ยายเตรียมไว้ทักทายญาติมิตรที่มาหามาส่งกันในเวลาสุดท้ายของชีวิต



Last Photo การถ่ายภาพที่แตกต่าง

 

“ซ้ายหน่อย ยิ้ม ค้างไว้ๆ สวย ดีมากครับ ก้มหน้าอีกนิด ดีมาก สวย” เรามักได้ยินคำพูดเหล่านี้เป็นธรรมดาในการถ่ายภาพบุคคล แต่ไม่ใช่สำหรับ Last Photo

 

“ครั้งแรกพี่จะมองในแง่ศิลปะก่อน ให้หันซ้ายหันขวาดูว่ามุมไหนของเขาดูดี ซึ่งพอเห็นก็จะเริ่มคุย พี่แนะนำตัวว่า ชื่อตุ่ยนะครับ คุณชื่ออะไร หาเรื่องพูดคุยให้เขาสบายใจก่อน แล้วถามคำถามที่เกี่ยวกับชีวิตและความตาย จะไม่ถามเยอะ บางคนคำถามเดียว บางคนสองหรือสามคำถาม แล้วแต่ว่าเราจะสามารถดึงเขากลับมาอยู่กับเราตรงนั้นได้เร็วแค่ไหน”

 

“ถ้าเขาหยุด ไม่คิดอะไรแล้ว อยู่ตรงหน้ากับเรา มองเรา โฟกัสเรา พี่ก็จะถ่ายรูปแล้ว เพราะมันมีความสนใจให้กันแล้ว ก็ถ่ายไปคุยไป เช่น คิดอย่างไรเกี่ยวกับความตาย คิดว่าเรื่องความตายสามารถพูดคุยกันได้ไหม คำถามที่ถามเกือบทุกคนคือ ถ้ารูปนี้เป็นรูปสุดท้าย คุณจะบอกกับคนที่มายืนตรงหน้าว่าอย่างไรโดยไม่ใช้คำพูด ให้ใช้สายตาอย่างเดียว นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะบอกกับเขาแล้ว”

 

“พอเขาฟังพี่จบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการประมวลความคิด จังหวะนั้นพี่ก็กดชัตเตอร์ ก็คือได้ภาพที่ต้องการแล้ว เพราะเขาจะมีอีกหลายความคิดที่เข้ามา แต่ความคิดแรกเราก็ยิงเข้าไปแล้ว” ช่างภาพมืออาชีพเปิดวิธีการทำงานอย่างหมดเปลือก ในการดึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความเป็นตัวตนของคนที่อยู่หน้าเลนส์





ศิลปะที่มาพร้อมการใคร่ครวญชีวิต

 

“ถ้าเลือกได้ อยากจากไปแบบไหน”  “อยากให้คนจดจำเราแบบไหน”  “ถ้ามีคนที่รักยืนอยู่ตรงนี้ อยากบอกอะไรเขาโดยไม่ต้องใช้คำพูด” นี่คือบางตัวอย่างจากบทสนทนา ด้วยความเป็นมืออาชีพของพี่ตุ่ยที่สามารถชวนคุยเรื่องความตายพร้อมกับ Capture the Moment จับฉวยจังหวะแห่งชีวิตของคนตรงหน้า แม้เป็นเพียงชั่วขณะ แต่กลับสามารถบอกเล่าอารมณ์ ความรู้สึก และความเป็นตัวตนที่ดำรงมาหลายสิบปีของเจ้าของภาพ ผ่านสีหน้า แววตา รอยยิ้มที่อยู่ในภาพเพียงภาพเดียว

 

แน่นอนว่าการถ่ายภาพครั้งนี้ย่อมให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากที่เคยผ่านมาทุกครั้ง ศิลปินใช้ศิลปะให้ทำงานกับ “ข้างใน” ของมนุษย์ได้โดยไม่ต้องอารัมภบทใดๆ ระยะเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่ถ่ายภาพ คือการย้อนใคร่ครวญและทบทวนชีวิตที่ผ่านมา เกิดมุมมองและความหมายใหม่ในใจ เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การตัดสินใจใหม่

 

ในการถ่ายภาพ พี่ตุ่ยจะฉายภาพทั้งหมดที่ถ่ายขึ้นจอขนาดใหญ่ เมื่อถ่ายภาพเสร็จ ช่างภาพและนางแบบหรือนายแบบจะมาเลือกภาพร่วมกัน “แรกๆพี่ก็ช่วยเลือก อาจมีตรงกันบ้าง ไม่ตรงบ้าง แต่ส่วนมากจะตรงกัน เขามักเลือกภาพที่รู้สึกว่าดูดีที่สุด แต่หลังๆก็เปลี่ยนไปนะ คือจะเลือกภาพแทนความรู้สึกว่าอยากพูดอะไร”

 

การเลือกภาพจึงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญ ระหว่างที่เจ้าของภาพได้เห็นและเลือกภาพที่ชอบที่สุดนั้น คือช่วงเวลาสำคัญของการ “เห็น” ตัวเอง เชื่อมโยงกับบางสิ่งที่อยู่ภายใน และเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในทำให้ยอมรับและเข้าใจเรื่องความตาย



พัฒนาการของ Last Photo

 

“โปรเจ็กต์นี้ยาวนานมาก พี่ไม่เคยทำอะไรนานขนาดนี้ แต่อย่างที่บอก ครั้งนี้มันแตกต่าง”

 

ก่อนถึงวันงานนิทรรศการ พี่ตุ่ยถ่ายภาพผู้คนกลุ่มต่างๆเกือบ 400 คน ทั้งคนที่ทำงานเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับชีวิตและความตาย กลุ่มผู้ป่วยและผู้ดูแลที่สัมผัสประสบการณ์เข้าใกล้ความตายกว่าคนกลุ่มอื่น และกลุ่มที่รู้สึกห่างเหินกับความตาย ด้วยอาชีพการงานที่อยู่นอกแวดวงการแพทย์ และด้วยวัยที่ยังไม่เบญจเพศหรือเลยมาไม่มาก เป็นวัยรุ่นถึงผู้ใหญ่ตอนต้น

 

“กลุ่มแรกที่พี่เลือกถ่ายเป็นกลุ่มคนทำงานเรื่อง Palliative Care คือการดูแลแบบประคับประคอง เป็นหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ดูแล อสม. คนในแวดวงนี้ทั้งหมด ที่เลือกเพราะเขาเข้าใจเรื่องความตายได้ดี ง่ายที่เราจะสื่อสาร วันนั้นพี่ไปจัดถ่ายภาพในงานสุขสุดท้ายที่ปลายทาง ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คาดว่าจะมีคนมาถ่ายสัก 20 คน สองวันก็ 40 คน พอเอาเข้าจริงวันนึง 60 กว่าคน สองวันก็ 120 กว่าคน พอคนมาก บางครั้งพี่ก็ไม่สามารถสื่อสารให้เขาเข้าใจตรงนั้นได้ ได้ 75% ก็โอเคแล้ว ส่วนอีก 25% อย่างน้อยก็จะได้รูปที่เขาพอใจ พี่ก็รู้สึกว่าเป็นของขวัญให้เขา” พี่ตุ่ยเล่าถึงการถ่ายภาพครั้งแรกสุดของ Last Photo

 

“หลังจากนั้นหลายคนที่มางานนี้ก็ไปบอกต่อ โรงพยาบาลราชบุรีชวนพี่ไปถ่าย ได้ทำงานกับกลุ่มคนที่คล้ายกับกลุ่มแรก คือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และมีกลุ่มคนที่เพิ่มมา คือกลุ่มอาสาสมัครและผู้ป่วยระยะท้ายที่คุณหมอเล่าให้เขาฟังและชวนมาถ่าย  หลังจากนั้นก็ไปถ่ายที่ศูนย์แพทย์ชุมชนวัดหนองแวง โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นกลุ่มผู้ป่วย ผู้ดูแล บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ เป็นการลงพื้นที่ทำงานร่วมกันครั้งแรกระหว่าง Last Photo กับชุมชนกรุณา เป็นครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับภาคี สองครั้งแรกพี่ทำเอง เห็นเลยว่าถ้ามีคนมาช่วย เราร่วมมือกัน งานจะง่ายขึ้น”

 

พี่ตุ่ยเล่าถึงความลงตัวที่ได้จับมือทำงานกับกลุ่ม Peaceful Death ชุมชนกรุณา ซึ่งทำงานด้านการชวนให้ผู้คนเข้าใจเรื่องการอยู่ดี ตายดี อย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง “ผู้เข้าร่วมได้อะไรไปมากกว่าภาพถ่าย เช่น ได้พูดคุย ได้ระบายความรู้สึก ได้ถามคำถามที่ยังติดค้างหรือมีเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ Peaceful Death ทำกระบวนการให้คนเข้าใจเรื่องนี้ก่อนจะมาถ่ายรูป พี่ก็จะเหลือแค่คำถามไม่มากกับการถ่ายรูป”

 

“เราทำงานประสานสอดคล้องกัน เข้าใจตรงกัน คือผู้เข้าร่วมต้องได้รูปถ่ายและความทรงจำ ได้ใคร่ครวญชีวิตที่ผ่านมา ขอบคุณและรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตที่เหมือนเป็นของขวัญ และเรียนรู้เรื่องสำคัญคือการมีชีวิตอยู่ผ่านเรื่องความตาย”



ชวนคนรุ่นใหม่คุยเรื่องความตาย

 

ด้วยความคิดความเชื่อว่า ความตายเป็นเรื่องของทุกคน ไม่สงวนไว้เฉพาะคนป่วยหรือคนแก่ พี่ตุ่ยจึงขยายการถ่ายภาพ Last Photo ไปยังกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ที่ยังผลิบานสนุกสนานกับการใช้ชีวิตและห่างไกลความสูญเสีย จึงไปถ่ายภาพให้คนทำงานที่ชูใจ กะ กัลยาณมิตร เอเจนซี่โฆษณาที่รักงานเพื่อสังคม

 

“พี่ลงลึก ใช้คำพูดให้เขาเชื่อว่า คุณตายแล้วนะ พ่อกับแม่มายืนตรงนี้ ตรงรูปของคุณเป็นกระดาษสีขาว ว่างเปล่า ตอนนี้เป็นโอกาสเดียวที่จะบอกกับเขา คุณจะบอกอย่างไรโดยไม่ใช้คำพูด ให้ส่งความรู้สึกนั้นมาที่กล้องพี่  ไม่ได้แกล้งหรือดราม่านะ แต่อยากให้เข้าถึงความรู้สึกนั้น ความสูญเสีย เพื่อจะได้รู้ว่าการมีชีวิตสำคัญอย่างไร 40% ร้องไห้เพราะเขารู้สึกถึงความตายจริงๆ”



เรื่องเล่าหลังภาพที่มีพลัง

 

ช่วงสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพ Last Photo คือการถ่ายภาพผู้ป่วย ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยและผู้ป่วยระยะท้าย พี่ตุ่ยเล่าถึงประสบการณ์ที่มีค่านี้ว่า “พี่ถ่ายรูปผู้ป่วยระยะท้ายช่วงบ่าย ถึงเขาจะเหนื่อยเพราะต้องมาหาหมอมาตั้งแต่ตี 4 ตี 5 แต่เขาก็มาถ่ายรูป เขาเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเขาเป็นผู้ป่วยระยะท้าย เช่น ลุงชนินทร์ ที่เข้าใจแต่ไม่สามารถแสดงสีหน้าได้ คือหน้านิ่งแต่โคตรเท่ เป็นคนป่วยที่ดูแล้วเท่มาก ผมขาวหมดเลยนะ หนวดสีขาว ทุกอย่างขาว แม้เป็นผู้ป่วยระยะท้ายแต่ไม่รู้สึกว่าเขาโทรม เขาดูดีมาก นั่นเพราะเขาเข้าใจว่า ระยะสุดท้ายต้องมาถึง ไม่รู้สึกว่าต้องยื้ออะไรเลย ก็ดูแลตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น เป็นภาพไม่ถึง 1% ที่พี่ถ่ายแล้วเขาไม่ยิ้มเลย การไม่ยิ้มไม่ได้แปลว่าเขากังวล หน้านิ่งๆเฉยๆกลับทำให้รู้สึกว่าเขาไม่กังวลอะไรเลย พี่รู้สึกว่าเขารู้สึกดี ไม่ใช่ไม่ดี”

 

การยอมรับและเข้าใจเป็นยาขนานวิเศษของมนุษย์ที่ทำให้ไม่ว่าชีวิตจะเจออะไรก็ไม่ทุกข์ เช่นเดียวกับสายสัมพันธ์ของหัวใจและความเป็นมนุษย์ที่สร้างปาฏิหาริย์ได้เช่นกัน ช่างภาพรุ่นใหญ่มีอีกหนึ่งความประทับใจที่อยากแบ่งปัน “แกชื่อลุงชวาล ภายนอกดูเหมือนแข็งแรงดี แต่แกน่าจะมีอาการป่วยอยู่บ้างจากการเดินที่ไม่ปกติ แล้วแกก็เล่าให้ฟังว่าเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง เคยป่วยหนักจนแทบช่วยตัวเองไม่ได้ แทบไม่มีความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ แต่แกมีเมียคอยให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเหนื่อยหนักแค่ไหนก็ไม่ท้อ คอยดูแลจนในที่สุดลุงค่อยๆกลับมาเดินได้อีกครั้ง ถึงจะยังไม่คล่องเหมือนเดิม ลุงบอกว่า ชีวิตกลับมาดีขึ้นก็เพราะเมียที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของลุงเลย"



ของขวัญวันเกิด ของขวัญวันตาย

 

“เมื่อก่อนรู้สึกว่าวันเกิดเป็นวันสำคัญ ตอนทำงานที่เซ็นทรัล ทุกคนในแผนกถ่ายภาพหลอกพี่ไปเดินในห้าง แล้วแอบมาจัดงานวันเกิดให้พี่ในสตูดิโอ สิ่งที่เขาทำ ทำให้พี่รู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ สิ่งที่อยากได้ในวันเกิดคือเรามีความสำคัญ เราทำอะไรให้คนอื่นได้”

 

“หลังๆมาได้ไปสวนโมกข์ ช่วงวันล้ออายุของท่านพุทธทาส แทนที่จะไปฉลองวันเกิดแฮปปี้เบิร์ธเดย์ ทุกคนจะไม่กินอะไรเลยนอกจากน้ำ พี่รู้สึกว่าเข้าท่าดี เราต้องเข้าใจความสำคัญของวันเกิดเรา แทนที่จะมาฉลอง กินเยอะๆ กินเหล้า กินเค้ก เราไม่กิน รู้สึกว่ายิ่งวันเกิดยิ่งต้องตัดอะไรไปมากขึ้น เเล้วกลับมามองว่า ที่ผ่านมาเราทำอะไร วันนี้เราจะทำอะไรเพื่อวันหน้า ปีนี้เลยอยากเป็นวันเกิดที่จะอยู่คนเดียว ไม่มีการสื่อสารใดๆ เพราะอยากทบทวนชีวิต อยากรู้สึกว่าปีที่ผ่านมาทำอะไร”

 

“จริงๆพี่ทบทวนทุกวัน ไม่ต้องรอปีใหม่ ทุกวันนี้อยากทำอะไรจะทำเลย พี่คิดเสมอว่าพรุ่งนี้อาจไม่มี (หัวเราะ) พี่จะทำทุกอย่างที่อยากทำ เพราะรู้สึกว่าพรุ่งนี้อาจไม่มาถึง”

 

ส่วนของขวัญวันตาย พี่ตุ่ยบอกว่า “พี่บริจาคทุกอย่างไว้แล้ว สมุดเบาใจก็เขียนแล้ว ของขวัญวันตายพี่คือ หลังจากไปเป็นอาจารย์ใหญ่แล้ว เผาแล้ว พี่อยากให้เอากระดูกไปฝังไว้ใต้ต้นไม้ที่เคยปลูกที่หนองขาว กาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของพี่คนหนึ่งที่รักกันมาก ชื่อป้าแอ๊ด จะไปนอนสงบอยู่ใต้ต้นไม้ตรงนั้นที่พี่ปลูก”





‘ภาพระลึกชีวิต’ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตช่างภาพ

 

Last Photo ภาพระลึกชีวิต ชวนให้ผู้คนมีประสบการณ์ในการทบทวนชีวิต มองชีวิต และเห็นชีวิตอย่างละเอียดลึกซึ้งขึ้น ยอมรับตัวเองและยอมรับความตาย เกิดการเรียนรู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ร่วมถ่ายภาพเท่านั้นที่ได้รับสิ่งนี้ แต่เกิดขึ้นกับช่างภาพด้วยเช่นกัน

 

“พี่เป็นช่างภาพสายโลกมา 35 ปี เปรียบเทียบกับ 5 ปีที่ทำงานตรงนี้ ต่างกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งวิธีคิดในการทำงาน ทัศนคติ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพี่ทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆสร้างเราเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่ค่อยๆเติบโต แทนที่จะฝ่อไป พี่พัฒนาขึ้น เติบโตในทิศทางที่พุ่งขึ้นไปหาแสงมากขึ้น ไม่ได้โตทางขวาง มันโตทางสูง”

 

“ตอนนี้เติบโตอย่างมีความสุข สมัยก่อนเติบโตอย่างมีสตางค์ แต่เงินทองหายได้นะ หายหมด แต่ความสุขไม่หาย สะสมเรื่อยๆ รู้สึกดี มีความปีติขึ้นเรื่อยๆในแต่ละวันที่ทำงาน ได้คุยกับคน ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเขาทำให้ใจฟู ใจก็เติบโตขึ้น”

 

การทำงานในโปรเจ็กต์นี้ “ให้” การเติบโตและการเรียนรู้แก่ช่างภาพรุ่นใหญ่ชนิดที่เรียกว่าเกินคาด

 

“ในการถ่ายภาพ พื้นที่ที่เราพูดคุยกันเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ละเรื่องที่เขาเล่าให้พี่ฟัง หรือเรื่องที่พี่เล่าให้เขาฟัง อารมณ์ความรู้สึกที่เขาได้รับ ความสุขที่เขามี ทุกอย่างถูกสะท้อนกลับไปมาระหว่างพี่กับเขา สิ่งที่ให้กับสิ่งที่รับจะสะท้อนไปกลับตลอดเวลา รูปสวยที่เขารู้สึกดีอันนี้พี่ให้เขา ความรู้สึกดีที่เห็นรูปสวยอันนั้นเขาให้พี่ มันตอบโต้กันตลอดเวลา”

 

“พี่เปลี่ยนแปลงจนวันหนึ่งพี่ให้อภัยได้กับเรื่องที่ไม่เคยทำได้มาทั้งชีวิต การเรียนรู้ชีวิตคนอื่น ทำให้เรากลับมาเรียนรู้ชีวิตตัวเอง อย่างลุงชวาลที่กลับมาได้เพราะเมียดูแล เราก็กลับมาคิดว่าถ้าเป็นเรา เราจะกลับมาได้ไหม จะมีใครมาดูแลเรา จะได้โอกาสครั้งที่สองในการมีชีวิตแบบลุงชวาลไหม หลายคนไม่มีใคร ในที่สุดก็ต้องตายไปอย่างเงียบๆ ไม่มีใครดูแล”

 

โปรเจ็กต์นี้จึงเป็นการรวบรวมทุกประสบการณ์ตลอด 40 ปีของชีวิตความเป็นช่างภาพ “คือชีวิตทั้งชีวิตพี่เลย พี่เอาความสามารถทั้งหมดในชีวิตมาลงกับโปรเจ็กต์นี้หมด สิ่งสำคัญที่สุดที่เรียนรู้มาตลอดชีวิต ประสบการณ์ที่ถ่ายรูปคน ทำงานกับคนมาตลอดชีวิต หลักทุกอย่างทั้งที่เคยถูกด่ามาก็เอามาใช้ที่นี่หมด การจัดการ ถ่ายรูป จัดแสง งานกระบวนการ กราฟิก ทำรูปสื่อสารโซเชียล เป็นการทำแบบมีความสุขต่างจากเมื่อก่อน เพราะตอนนี้ชีวิตมีอิสระ ทุกอย่างจบในตัวพี่ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าเขาจะพยักหน้าหรือยัง”

 

“ขอบคุณสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ชุมชนกรุณา Peaceful Death พี่น้องภาคีทุกคนมีส่วนประกอบร่างทั้งหมด คนที่มาถ่ายรูปด้วยทุกคนเหมือนกับครู สิ่งที่เราเรียนรู้จากเขานั่นคือเขาเป็นครูเรา สิ่งที่พี่ทุ่มเททำทั้งหมดเพื่อให้กับงานนี้ยังน้อยกว่าสิ่งที่พี่ได้รับ”



เพราะชีวิตคือของขวัญ

 

“ชีวิตกับความตายเป็นของคู่กัน การที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้คือของขวัญจริงๆ” และของขวัญชิ้นนี้มีค่าต่อชีวิตและการทำงานของพี่ตุ่ยมาก “อยากทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ่าย Last Photo อยากให้เขาได้รูปพร้อมกรอบหลังจากเสร็จงานแล้ว ใช้ได้จริงๆ อยากไปทำทุกภาคทั่วประเทศเพื่อให้ทุกคนได้คิดเรื่องนี้ ทุกวันนี้พี่คิดว่าพี่จะทำอะไรให้คนอื่นได้บ้าง การทำงานตลอด 35 ปีแรกเป็นความพอใจของพี่เอง เหมือนเป็นความเห็นแก่ตัว แต่พอตรงนี้ รู้สึกว่าการที่เราทำอะไรให้คนอื่น ชีวิตมันมีคุณค่ามากกว่าที่เราทำอะไรให้ตัวเอง”

 

“กล้องถ่ายรูปเป็นสิ่งที่บอกถึงความเป็นจริง คนเราหลบหนีความจริงบางอย่าง เราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น พี่ทำเรื่องนี้เพราะอยากให้คนยอมรับเรื่องการตาย เกิดมาโดยไม่ตายนี่มันไม่บาลานซ์ ยอมรับเถอะว่ามันมาแน่ ไม่ว่าคุณอยากหรือไม่อยากให้มันมา แต่คุณจะจากไปแบบไหน”

 

“อายุพี่ขนาดนี้แล้ว งานนี้เป็น Last Memory ของพี่เหมือนกัน มันเป็นการสะท้อนกลับระหว่างช่างภาพกับคนที่มาถ่ายภาพ รอยยิ้มที่เขาส่งมามันเป็นพลังให้เรารู้ว่าเราวางใจไว้ด้วยกัน เรียนรู้ว่าทุกวินาทีในชีวิตมีค่า กังวลกับชีวิตน้อยลง ประมาทน้อยลง พยายามทำงานทุกอย่างให้เสร็จ เสร็จแล้ววาง ไม่กลับไปกังวล สำหรับพี่ตอนนี้ อยู่ก็ได้ ตายก็ไม่เสียดาย นี่อาจเป็น Last Project ของพี่ด้วยซ้ำ ถ้ามีชีวิตอยู่ต่อก็จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ถ้าตายก็ไม่เสียดาย เพราะเราทำเต็มที่แล้ว”



‘Real Life Real Image’ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่จริง


Last Photo น่าจะไม่ใช่ Last Project ของช่างภาพวัยเก๋า เพราะแว่วข่าวมาว่าพี่ตุ่ยกำลังจะมีโปรเจ็กต์ใหม่ในชื่อ “Real Life Real Image” ที่ต้องการสื่อสารว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีอยู่จริง

 

“ในโลกไม่ได้มีเราหรือคนที่เหมือนเราแค่กลุ่มเดียว แต่ยังมีคนอีกหลายกลุ่ม คนที่ไม่เหมือนเรา ซึ่งเขาก็เป็น ‘คน’ เหมือนกัน”

 

พี่ตุ่ยเลือกสะท้อนประเด็นนี้ผ่านกลุ่มเฉพาะ เช่น คนไร้บ้าน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ คนพิการ เพื่อสร้างความสุข แสดงชีวิต และสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้มีพื้นที่ของการแสดงตัวตนภายในที่หลากหลาย ขยายพื้นที่การเรียนรู้ ยอมรับ และเคารพในระดับปัจเจกและสังคม

 

นัดแรกที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ เป็นการถ่ายภาพเพื่อเข้าถึงความสุขทางจิตวิญญาณกับกลุ่มเพศหลากหลาย LGBTQ+ ในวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ บ้านเพื่อน Café & Creative Space (ปากซอยจรัญฯ 36 ปิ่นเกล้า)



ภายใน 29 กุมภาพันธ์นี้ ไม่มีค่าใช้จ่าย


พี่ตุ่ยทิ้งท้ายอย่างสบายๆแต่หนักแน่นว่า

“ความเท่าเทียมมีจริงหรือไม่มีจริงไม่รู้ แต่ความสุขและความเป็นมนุษย์น่ะมีจริง”

Komen


Komen telah dimatikan.
bottom of page