top of page

ดร.นพ.สกล สิงหะอาจารย์ แพทย์สาย Blink กับงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ

...เกิด แก่ เจ็บ ตาย... สิ่งที่คนเป็นหมอพบเจอทุกวัน ยิ่งกว่าดูซีรีส์เรื่องเดิมวนซ้ำไปซ้ำมา ชีวิตกว่า 20 ปีบนเส้นทางสาย Palliative Care หรือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ทำให้ ดร.นพ.สกล สิงหะ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คุณหมอเพียงหนึ่งเดียวของศูนย์ความเป็นเลิศชีวันตาภิบาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ได้เห็นภาวะเจ็บและตายของคนไข้รายแล้วรายเล่า ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ช่วงท้ายสุดของชีวิตนั้นสำคัญเพียงใด

 

เรื่อง-ภาพ: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร 




เมื่อเรารู้ว่า เวลาชีวิตใกล้หมดแล้ว

 

อาจารย์สกลคุยกับเราด้วยน้ำเสียงสบายๆ แต่เนื้อหาหนักแน่นจริงจัง กับประเด็นการดูแลรักษาและความเป็นความตายในช่วงท้ายของชีวิต โดยเริ่มจากการอธิบายถึงความหมายของคำว่า “Palliative Care หรือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่คนส่วนใหญ่แทบไม่เคยได้ยินคำนี้

 

“Palliative Care เป็นการดูแลระยะประคับประคองสำหรับคนไข้กลุ่มจำเพาะที่ถูกวินิจฉัยว่าถึงระยะที่ควรรักษาแบบปรับเป้าหมาย จากเดิมเพื่อรักษาให้หายจากโรค แต่เมื่อคนไข้เป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือไม่มีวันหาย หมอต้องร่วมกำหนดเป้าหมายการรักษากับผู้ป่วยและครอบครัวให้ถูกต้องมากขึ้น ถ้าหมอไม่เตรียมเรื่องนี้ให้ดี อาจเสี่ยงทำให้เกิดความเสียหายกับคนไข้ได้”

 

อาจารย์สกลสรุปสั้นๆถึงหัวใจของการทำงานนี้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของการดูแลระยะประคับประคองคือ การที่เราตระหนักรู้ว่า เวลาของเราไม่ได้มีเหลือเฟือ”

 

“ถ้าไม่มีการทำ Palliative Care เราอาจไม่ปรับเป้าหมายการรักษา คำสำคัญคือ ‘เป้าหมายการรักษา’ คนไข้ต้องรู้ตัวถึงสถานการณ์ของเขาเอง เขาจึงจะเริ่มจัดลำดับความสำคัญใหม่ เช่น พวกเรามีแผนว่าอาทิตย์หน้าจะทำอะไร แต่ถ้ามีข่าวออกพร้อมกันเย็นนี้ว่าอุกกาบาตจะวิ่งมาชนโลก ทั้งโลกตายหมด ถามว่าแผนจะเปลี่ยนไหม ผมการันตีได้ว่าเปลี่ยนทุกคน ทำนองเดียวกัน ตราบใดที่คนไข้คิดว่าเขายังมีโอกาสรอด หรือหายขาด โดยไม่รู้ตัวว่าเวลาของเขาเหลือน้อย เขาจะคิดแบบหนึ่ง เขาจะยังไม่ได้ทำเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะคิดว่ายังมีเวลาเหลือเฟือ”

 

“องค์การอนามัยโลกนิยามมานานแล้วว่า สิ่งสำคัญของ Good Palliative Care คือ ‘เวลา’ เพราะ Good death หรือการตายดีนั้นต้องมีการเตรียมตัว บางคนต้องไปขอโทษใครสักคน บางคนอยากให้อภัย บอกรัก ชื่นชม หรือขอบคุณใครสักคน แต่ยังผัดวันประกันพรุ่ง หมอจะเป็นคนทำให้เขาคิดถึงเรื่องพวกนี้ เมื่อไหร่ที่คนวินิจฉัยโรคไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ และไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องนี้ องค์การอนามัยโลกบอกว่าล้มเหลว คือส่งมา Palliative Care ช้าเกินไป”

 

“กุญแจวัดประสิทธิภาพตัวหนึ่งที่ใช้กันคือ คนไข้ที่เป็นโรคที่รักษาไม่หายทุกคนควรเริ่มได้รับการดูแลระยะสุดท้ายแบบประคับประคองอย่างน้อยที่สุดประมาณ 3 เดือนก่อนเสียชีวิต ตอนนี้ที่เป็นอยู่ทั่วไปคือประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำอะไรไม่ได้มาก เช่น เมื่อคนไข้เจ็บปวดอย่างมากจากอาการของโรค ก็อัดมอร์ฟีนทำให้คนไข้สลบไป ซึ่งไม่ใช่ Good Palliative Care เป็นการทำให้หมดสติเท่านั้น”



การเตรียมตัวตายดี ทำให้ใช้ชีวิตดี

 

ไม่มีใครรู้ว่าวันสุดท้ายในชีวิตจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ หากเราเตรียมตัวตายไว้เนิ่นๆ

 

“เตรียมได้เตรียมเลย เตรียมช้าไปจะมีปัญหา เตรียมเร็วไปไม่ค่อยมีปัญหา” อาจารย์สกลย้ำหนักแน่น

 

“การมีชีวิตโดยตระหนักถึงการตายดีของตัวเอง เราจะใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง สมมุติประเทศเรามีเป้าหมายว่าจะอยู่อย่างไรให้ตายดี เราจะไม่ทำหลายเรื่องที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้ เราจะไปทำเรื่องอื่นแทน”

 

อาจารย์สกลแบ่งปันเรื่องการเตรียมตัวตายในต่างประเทศว่า “ที่ออสเตรเลียมีเว็บไซต์ให้ประชาชนลงทะเบียนและเขียน Advance Care Plan (การวางแผนล่วงหน้าก่อนที่ตนจะหมดความสามารถในการตัดสินใจหรือเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต อาจเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้) ว่าตอนใกล้ตายอยากได้รับการดูแลอย่างไร และเราสามารถกลับไปแก้ข้อมูลได้เรื่อยๆตามอายุหรือสิ่งที่พบเจอ”

 

“แค่ทำให้คนได้คิดถึงเรื่องนี้ ชีวิตก็เปลี่ยนแล้วนะ เมื่อได้เขียน เขาจะรู้เองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้สงสัยจะทำให้ตายดียาก ในออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ มีการชวนกันคุยเรื่องตายดี เป็นอุบายที่ผมคิดว่าเจ๋งมาก ตายก่อนตายก็คือทำนองนี้ เป็นสังคมที่มองอะไรเป็นองค์รวม ทันทีที่เราเริ่มปรับการให้คุณค่าของเรา และเราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ วิธีใช้ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปตามนั้น หลายๆเรื่องที่เคยคิดว่าสำคัญเหลือเกิน ก็อาจกลายเป็นเรื่องไร้สาระไปอย่างไม่น่าเชื่อ”

 

อาจารย์สกลบอกว่า การคิดถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองเพื่อการตายที่ดี จึงไม่ได้มีไว้สำหรับวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น แต่ควรเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตทุกวัน

 

“Palliative Care กับ End of Life Care ไม่เหมือนกัน สมัยก่อนคนคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน End of Life Care เป็นการดูแลช่วงเวลาสั้นๆก่อนตาย ซึ่งไม่พอสำหรับมิติทางสุขภาวะหรืออื่นๆอีกหลายเรื่อง”

 

“แต่อุปสรรคใหญ่ของงานนี้คือ เมฆหมอกของการตายดีซึ่งยังมีอยู่มากในสังคม การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองจะทำได้ดีเมื่อสังคมช่วยกัน สังคมต้องอยากได้สิ่งนี้จริงๆ ไม่ใช่ให้วงการแพทย์เป็นคนกำหนด ถ้าเมื่อไหร่ที่คนไทยเรียกร้องว่า ‘ฉันอยากตายดี’ และเรามีเวทีพูดเรื่องตายดีเยอะๆ  เรามีนักการเมืองที่ฟังประชาชน เห็นและยอมรับว่าสังคมเรามีปัญหาเรื่องนี้ ผมว่าเมื่อนั้นเราจะเป็นมหาอำนาจทาง Palliative Medicine ได้” อาจารย์สกลยืนยันอีกครั้ง



การปรับแนวทางรักษาเพื่อมุ่งสู่สถานีสุดท้าย... การตายดี

 

อาจารย์สกลอธิบายว่า เมื่อเป้าหมายการรักษาเปลี่ยนจากหายจากโรค เป็นการนำไปสู่การตายที่ดี แนวทางการดูแลรักษาจึงเปลี่ยนตามไปด้วย โดยสามารถดูความสอดคล้องและสมเหตุสมผลในด้านต่างๆ ได้แก่

 

  1. Medically Sound คือการตัดสินใจของหมอผู้รักษาต้องสมเหตุสมผลทางการแพทย์

  2. Ethically Sound คือความสมเหตุสมผลด้านจริยธรรม และการให้ความสำคัญกับระยะเวลาที่เหมาะสม ให้คนไข้เข้าร่วมในการวางแผนการรักษามากขึ้น

  3. Legally Sound คือความสมเหตุสมผลทางกฎหมาย “ระยะหลังคนไข้ทุกข์ทรมานจากโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น บางคนอยากยุติชีวิตช่วงสุดท้าย เขาไม่อยากตาย แต่ก็ไม่อยากทรมาน จึงขอให้หมอช่วยฉีดยาให้หมดทุกข์หมดโศก แต่การที่หมอจะช่วยเหลือเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงกฎหมายและต้องอิงกับจริยธรรมด้วย”

  4. Economically Sound คือความสมเหตุสมผลด้านการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องเชิงระบบ “ตัวอย่างชัดที่สุดคือยุคโควิด-19 ในช่วงปี 2020 บางประเทศในยุโรปเผชิญความท้าทายขั้นสุด เช่น อิตาลี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส สเปน ถ้าผู้สูงอายุติดโควิดจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง ไม่คุ้มที่จะรักษา พอจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นถึงขนาดทรัพยากรในโรงพยาบาลจะหมดประเทศ จึงมีการออกกฎหมายว่า ถ้าอายุเกิน 60 ปีแล้วติดโควิด คุณไม่ต้องมาโรงพยาบาล หมอที่โรงพยาบาลก็ต้องให้คนไข้กลับไปตายที่บ้าน”

  5. Humanistically Sound คือความสมเหตุสมผลในความเป็นมนุษย์ “บทเรียนสำคัญในช่วงโควิดคือ บางคนเสียชีวิตโดยไม่ได้สั่งเสีย ตอนป่วยก็ห้ามเยี่ยม ติดป้ายหน้าโรงพยาบาลว่าห้ามเยี่ยม 100% เป็นช่วงที่วงการ Palliative Care สั่นสะเทือนมาก เราได้แต่มองหน้ากันแล้วถามว่า คนไข้ที่เสียชีวิตแบบนี้ตายดีหรือเปล่า ญาติต้องรับศพกลับบ้านในถุงดำสามชั้นพ่นฟอร์มาลีน เราตั้งคำถามตัวเองเยอะเหมือนกันว่า เราทำถูกต้องตามเหตุผลทุกอย่าง ทั้งทางการแพทย์ กฎหมาย ทรัพยากร แต่เหตุผลของความเป็นมนุษย์ล่ะ ถูกต้องไหม”

 

“เมื่อเกิดคำถามจึงเปลี่ยนวิธีการดูแล เริ่มใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพื่อให้เยี่ยมผู้ป่วยได้แบบออนไลน์ นี่ไม่ใช่เรื่องการแพทย์ แต่เราทำเพราะรู้ว่ามนุษย์ต้องการสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่เรียกว่าเราแคร์กัน”





สิ่งสำคัญที่สุดคือ ดูแลคนตรงหน้าอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

อาจารย์สกลอธิบายถึงวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว สูตรที่อาจารย์ใช้บ่อยคือ “ก็แล้วแต่” หมายความว่า แล้วแต่บริบทตอนนั้น ซึ่งเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

 

“เราต้องอยู่กับปัจจุบัน สิ่งดีที่สุดตอนนี้ ไม่ใช่ดีที่สุดที่เป็นความจริงแท้ แต่เป็นดีที่สุดของปัจจุบัน ณ เวลานั้นเท่านั้นเอง”

 

“คนทำเรื่องนี้ต้องมีทักษะ ไม่ยึดกฎเหล็กว่าต้องทำอะไร ถ้าจะมีกฎก็มีอยู่ข้อเดียวคือ พิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้คนตรงหน้าได้รับการดูแลอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่เป็นสาระสำคัญที่สุด นอกจากนั้นสามารถปรับและยืดหยุ่นได้ เนื่องจากคนไข้เปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา บางคนเคยบอกว่าขอกลับไปใช้โอกาสสุดท้ายที่บ้าน แต่พอเหนื่อยมากๆก็เปลี่ยนใจเป็นขอใส่ท่อ เราต้องปรับตามความต้องการของคนไข้ซึ่งเปลี่ยนใจกันได้ ตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าจะเหนื่อยขนาดนี้ ถ้าเรายึดติดหรือคุ้นชินกับแนวทางแนวคิดแบบเดิม อาจทำให้เราไม่เข้าใจ และกลายเป็นทำร้ายคนไข้ได้เหมือนกัน”

 

อาจารย์หมอเพิ่มเติมว่า “ส่วนใหญ่เวลาเข้าไปหาคนไข้ Palliative Care เราจะวางกระเป๋าเครื่องมือไว้หน้าห้อง เพราะมันส่งผลต่อวิธีคิดของเรา คนสำคัญที่สุดคือคนเบื้องหน้าเรา และคนเบื้องข้างของเขา เราเป็นตัวประกอบ”

 

“ผมชอบสอนนักเรียนแพทย์ว่า วิชาชีพแพทย์เราต้องเป็นตัวประกอบ พระเอกนางเอกคือคนไข้และครอบครัวของเขา แต่ตัวประกอบจะได้ออสการ์ก็ได้นะ อยู่ที่คุณจะเล่นยังไงให้เป็นตัวประกอบยอดเยี่ยม”

 

“คำตอบที่ได้ก็น่าสนใจ แต่ก็มีบางคนบอกว่า ขอเป็นผู้กำกับที่สั่งให้พระเอกนางเอกทำอะไร บางคนบอกว่าขอเป็นผู้ประพันธ์ เป็นคนเขียนบททั้งหมดว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร การที่เรากำหนดบทบาทตัวเองว่าจะทำอะไร มีผลต่อความสัมพันธ์และสิ่งที่เราทำ เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดีว่า วิชาชีพเราควรเป็นอะไรกันแน่”



การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองในประเทศไทย

 

เมื่อถามย้อนไปถึงที่มาของงานนี้ อาจารย์สกลเชื่อว่า วัฒนธรรมบ้านเราทำสิ่งนี้กันมานานแล้ว

 

“ผมเชื่อว่าเราทำมาตลอด และมาทำกันในระบบสุขภาพทีหลัง อย่างที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ก็เริ่มก่อนปี 2000 นิดหน่อย อาจารย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี เป็นรังสีแพทย์ที่ ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ไปเรียนต่ออังกฤษ แล้วไปเห็น Palliative Care ซึ่งเขามีมานานแล้ว อาจเป็นที่แรกของโลกด้วยซ้ำ พอกลับมาพูดคุยกัน ม.อ.ก็จัดทีมไปดูงานที่ออสเตรเลีย ได้คู่มือเล็กๆมาเล่มหนึ่งก็เอามาแปลเลย เพราะตั้งต้นใหม่คงไม่ทัน”

 

“ส่วนผมมาทำตอนกลับจากอังกฤษประมาณปี 2002 ตอนนั้น ม.อ.มีคณะกรรมการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative Care สองสามปีต่อมาก็เริ่มนำมาใส่ในหลักสูตร เราพูดคุยกันในกลุ่มคณะกรรมการแพทยศาสตร์ สถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่ละมหาวิทยาลัยก็ทำเท่าที่มีทรัพยากร”

 

“ผมเป็นคณะกรรมการร่างศัพท์บัญญัตินิยามเชิงปฏิบัติการของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองของประเทศไทย เพิ่งทำเสร็จเมื่อสามปีก่อน เราแบ่งบริการ Palliative Care เป็น 3 ระดับ คือ

 

  1. Palliative Care Approach ทุกคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทำงานเรื่องนี้ได้ ทุกคนมีพื้นฐาน และองค์กรนั้นต้องใส่เรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรการเรียนแพทย์และพยาบาล

  2. Palliative Care Service Unit คือมีหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง สมัยอาจารย์รัชตะ (ศ.นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้วางรากฐานไว้ว่าให้ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรและบุคลากรมาก เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมะเร็ง (เดิมเรียก ว่าศูนย์มะเร็ง) โรงพยาบาลจังหวัด ต้องมีหน่วยบริการ Palliative Care ถือว่ามีโครงสร้างเชิงระบบเกิดขึ้น

  3. Palliative Care Training Center คือการเป็นหน่วยฝึกอบรมเรื่องนี้ ในที่ที่มีทรัพยากรเพียงพอ เราก็จะไปฝึกอบรมให้คนอื่นด้วย แต่เงื่อนไขคือ ต้องมีหน่วยบริการก่อนจึงจะไปฝึกอบรมได้ สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย ที่อาจารย์ศรีเวียง (รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล) เป็นประธาน ผมเป็นอุปนายก ได้ช่วยกันร่างหลักสูตร 1 ปี อยู่ในร่มของราชวิทยาลัย สำหรับหมอสาขาไหนก็ได้มาเรียนต่อยอดและได้ประกาศนียบัตร เราใช้หลักสูตรนี้เป็นตัวชี้วัดของหน่วยฝึกอบรมต่างๆ ตอนนี้โรงพยาบาลที่มีหน่วยฝึกอบรมคือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ รามา ศิริราช จุฬา เชียงใหม่”

 

อาจารย์สกลเล่าต่อถึงศูนย์ความเป็นเลิศชีวันตาภิบาล ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่อาจารย์ดูแลอยู่ โดยบอกว่าความหมายของ “ชีวันตาภิบาล” คือ การดูแลผู้ป่วยจนกว่าชีวิตจะถึงที่สุด

 

“ม.อ.ทำเรื่องนี้มานาน กลมกลืนอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร แม้เรามีจำนวนคนไม่พอที่จะตั้งหน่วยบริการ แต่ก็มีหน่วยชีวันตาภิบาลมานานแล้ว เราเทรนทั้งนักเรียนแพทย์และพยาบาลทุกวอร์ด คณบดีคณะแพทย์คนแรกที่ช่วยเหลือหน่วยชีวันตาภิบาลตั้งแต่ต้นคือ อาจารย์พันธ์ทิพย์ (รศ.พญ.พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อ) ท่านพูดคำเดียวว่า ‘พี่คิดว่าเรื่องนี้ทุกคนต้องทำ’ เราจึงใช้คอนเซ็ปต์นี้มาโดยตลอด ต่อมาสมัยอาจารย์กิตติ (รศ.นพ.กิตติ ลิ่มอภิชาต) เป็นคณบดี มี KPI ชัดเจนมากคือ 100% ของนักเรียนแพทย์ แพทย์ใช้ทุน พยาบาล รวมทั้งอาจารย์ใหม่ ต้องได้รับการอบรม Palliative Care ขั้นพื้นฐาน อันนี้เวิร์กมาก เป็นวัฒนธรรมองค์กรของ ม.อ.ที่ค่อนข้างดีมาก”

 

“ถ้าถามว่า ม.อ.มีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองเชิงระบบแล้วหรือยัง ต้องตอบว่ามีครึ่งเดียว ตอนเป็นหน่วยชีวันตาภิบาลยังไม่ได้เป็นหน่วยบริการเต็มที่ แต่เป็นหน่วยอบรมเรื่องนี้ให้โรงพยาบาล เรามีพยาบาลเต็มเวลา 1 คน มีแบคออฟฟิศ 1 คน มีหมอพาร์ทไทม์ 1 คนคือผม เพราะผมเป็นอาจารย์แพทย์ด้วย มีหน้าที่หลักคือสอน ดูแบบนี้เรายังไม่เป็นหน่วยบริการแน่นอน ถ้าเป็นการทำงานเชิงระบบจริงๆต้องมีหน่วยบริการที่การันตีได้ว่าคนไข้ 1,000 คน จะได้รับการดูแลแบบประคับประคองทุกคน อย่างที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น รู้สึกว่าเขามีพยาบาล 8 คน หมอ 6 คน อันนั้นถึงจะเป็นหน่วยบริการและฝึกอบรมได้”

 

“ผมได้เขียนแผนโครงสร้าง Palliative Care Excellence Center ศูนย์ความเป็นเลิศชีวันตาภิบาล ให้เป็นศูนย์บริการและศูนย์ฝึกอบรมที่เป็นรูปธรรม พัฒนาได้ยั่งยืนก่อนเกษียณ ซึ่งในอนาคตประชาชนจะมีอายุเฉลี่ยยาวนานมากขึ้น แต่ก็จะมีภาวะความเจ็บป่วยในระยะท้ายที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วย ศูนย์นี้มีพันธกิจในการให้การบริการอย่างเป็นระบบ วิจัยสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาระบบฝึกอบรมแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย รวบรวมและเผยแพร่ความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการประกันคุณภาพว่าบุคลากร องค์กร มีความรู้ ทักษะ และความสามารถพร้อมจะให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ถือเป็นศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในวิชาชีพของพวกเรา”

 

อาจารย์สกลเล่าถึงจุดสำคัญของการเคลื่อนงานนี้ไปสู่การบริการประชาชนในวงกว้าง “เรามี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 เป็นกฎหมายที่พอจะบอกได้ว่า เอื้อให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองเกิดขึ้น มีการนิยามคล้ายๆว่า ตายดีคืออย่างไร มีเรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้า (Advance care plan) ซึ่ง รมว.อนุทินเซ็นเมื่อมกราคม ปี 2022 สปสช. เริ่มมีงบบริการดูแลแบบประคับประคอง แต่ถามว่ามีหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองทั่วประเทศหรือยัง ก็ยัง อยู่ในช่วงการพัฒนา ตอนนี้ที่เราต้องการคือการสร้างการทำงานเชิงระบบ การจะบอกว่าเรามี Palliative Care เชิงระบบ คือต้องเห็นเรื่องนี้ในกระทรวงสาธารณสุข”



หมอก็เป็นคน... เราบกพร่องและมีข้อจำกัดเหมือนคนอื่น

 

เราเคลื่อนประเด็นจากงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง มาเป็นเรื่องส่วนตัวของอาจารย์สกลบ้าง อาจารย์หมอคนที่ย้อมผมสีแสบตา และสวมเสื้อผ้าคูลๆเป็นประจำ โดยเฉพาะการใส่เสื้อยืดลายนักร้องคนโปรด ลิซ่า แบล็กพิงค์ - ลูกสาวแห่งชาติ ใครเห็นเข้าก็คงอยากรู้ว่า โลกภายในของอาจารย์หมอคนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

 

เราเริ่มจากสิ่งที่อาจารย์อยากเห็นในวงการแพทย์ อาจารย์สกลให้คำตอบว่า “อยากเห็นรุ่นน้องๆเปราะบางบ้างก็ได้ เป็นหมอที่ไม่ต้องเก่งทุกอย่าง มีเซนส์กับความทุกข์ของคนมากขึ้น และไม่ต้องมีทางแก้ไขให้กับทุกปัญหา”

 

“ผมเคยถามหมอโรซาลี ชอว์ (Dr. Rosalie Shaw) ปรมาจารย์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองของออสเตรเลียว่า บางเรื่องของ Palliative Care มันเศร้า ร้องไห้ได้ไหม แกก็ยิ้มอย่างเมตตาและตอบว่าได้ ผมถามต่อ ร้องอย่างไรอาจารย์ แกมองหน้าผม ถอดแว่นแล้วทำให้ดู ก็ร้องไห้เหมือนคนธรรมดา”

 

“เราไม่ได้เป็นเอ็กซ์เมนหรือซูเปอร์แมน เราเป็นคนทำอาชีพหนึ่งที่มีความรู้ Bio-Medicine มากกว่าคนอื่นเท่านั้น ที่เหลือเราก็มีข้อบกพร่องและข้อจำกัดไม่ต่างจากคนอื่น เรื่องนี้เป็นทักษะสำคัญ พอเราเข้าใจความจริงเหล่านี้ บางทีมันจะเป็นก๊อกสำรองให้เราดูแลคนได้ในอีกมิติหนึ่ง”

 

“ผมไม่รู้เหมือนกันว่ามีทางลัดอะไรหรือไม่ที่จะช่วยให้หมอเข้าใจเรื่องเหล่านี้ การสร้างการเรียนรู้ในระบบอาจช่วยได้ ระยะหลังดีใจที่เห็นการใช้ Reflection หรือการสะท้อนความคิด เริ่มมี Contemplation หรือการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดี เป็นการทำให้ได้หยุดพักสักนิด ทำชีวิตที่เร่งรัดให้ช้าลง จนสามารถเห็นมิติต่างๆที่ซ้อนกันอยู่ และเห็นว่ามีคุณค่าอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ดีขึ้น แล้วบางทีชีวิตเราจะเบาลง ทั้งเรื่องการงาน การแพทย์ รวมถึงการใช้ชีวิตเป็นคนธรรมดาๆ”

 

อาจารย์สกลเล่าถึงงานสอนนักเรียนแพทย์ว่า “ผมสอนเรื่องจริยธรรมและทักษะการสื่อสารให้นักเรียนแพทย์ด้วย หัวข้อหนึ่งคือ Self-Disclosure การเปิดเผยตัวตนหรือสิ่งที่เราคิด เพราะหมอมักถูกคนไข้ย้อนถามเยอะเวลาที่เราบังคับให้เขาตัดสินใจเรื่องยากๆ เช่น ถ้าเป็นหมอจะทำอย่างไร ถ้าเป็นแม่หมอจะถอดท่อไหม ถ้าเป็นลูกหมอล่ะ นี่เป็นทักษะ เราต้องใคร่ครวญมากจึงจะมีทักษะเรื่องนี้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นหมอจะกลายเป็นเครื่องจักรกลชิ้นหนึ่งที่ทำหน้าที่ถอดหรือไม่ถอดท่ออย่างขาดความเมตตากรุณา ทั้งที่จริงแล้วเราควรดูแลเขาดีกว่านั้น ให้เขาได้ตัดสินใจโดยไม่ถูกบีบบังคับให้เลือกภายใน 1- 2 นาที”

 

อาจารย์หมอเล่าเรื่องราวการใช้หัวใจความเป็นมนุษย์ให้เราฟังเรื่องหนึ่ง “เด็กเอ็กซ์เทิร์น (นักศึกษาแพทย์ปี 6) คนหนึ่งได้ยินว่าคนไข้ที่กำลังจะเสียชีวิตอยากไปเชียงใหม่ ถามว่าทำไม เขาบอกว่าอยากเห็นดอกไม้เมืองหนาว เขาไม่เคยไป แต่ตอนนี้ป่วยติดเตียงจึงไปไม่ได้แล้ว วันต่อมาน้องเอ็กซ์เทิร์นมาบอกผมว่า กลับไปแล้วนอนไม่หลับ ไม่รู้จะช่วยเขาอย่างไร จึงดาวน์โหลดรูปดอกไม้เมืองหนาวและปริ้นต์ไปให้คนไข้ เขาดีใจใหญ่ น้องก็รู้สึกปีติว่าทำให้คนไข้มีความสุข”

 

“สิ่งนี้เป็นแก่นแท้ของงานที่เราควรจะได้ในทุกวัน ผมบอกเขาไปว่า ที่คนไข้ดีใจอาจไม่ใช่เพราะรูปดอกไม้ แต่เขาดีใจเพราะมีคนฟังเขา และหมอตั้งใจให้ความสำคัญกับเรื่องของเขา ซึ่งเป็นการเยียวยารักษาจริงๆ แค่ฟังคนไข้ก็รับรู้แล้ว การฝึกการรับรู้ของเราเพื่อให้เห็นคุณค่าของคนที่อยู่ตรงหน้าเป็นเรื่องสำคัญ เราจะได้ไม่ต้องเป็นกามนิตหนุ่ม บางทีหมออยากช่วยอย่างเดียวโดยไม่รู้ตัวเลยว่าคนไข้ข้างหน้าของเราคือพระโพธิสัตว์ แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาจะไปสอนเขา ในบริบทแบบนั้นเราก็อดเรียน เพราะจิตเรามุ่งแต่จะไปสอนเขา เราคิดว่ารู้มากกว่า จริงๆแล้วผมเชื่อว่าชาวบ้านหลายคนเก่งกว่าเราตั้งเยอะ แต่เรามักอหังการ์ว่าเราเรียนมาเยอะ เราเหนือกว่า ทันทีที่คิดอย่างนั้นก็คืออดเรียน เพราะฉะนั้นเป็นหมอคงต้องมี Humbleness มีทั้งความถ่อมตัวและความนอบน้อมถึงจะดี”





การ ‘ฮีลใจตัวเอง’ ของคุณหมอสาย Blink

 

“หมอก็คน และเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงด้วย เพราะว่าเราเจอมากกว่าคนอื่น” อาจารย์สกลบอกเล่าความรู้สึก ที่เป็นความรู้สึกร่วมกันของคุณหมอทั้งหลาย

“เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ตัวว่าเราเปราะบาง ก็ต้องไปเยียวยา การรู้ตัวว่าเรามีช่องโหว่หรืออ่อนแอ แล้วยังดันทุรังต่อนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หมอเราต้องเปราะบางและยอมอ่อนแอได้ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าต้องไปเติมพลัง ต้องไปดู BlackPink ต้องไปฟังเพลง เหมือนได้เติมสารอาหารเข้าร่างกาย”

 

“แต่ถ้าเราไม่รู้ตัวนี่น่ากลัว เราใช้พลังงาน มันก็หมดได้ เราต้องเติมเข้าไป ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นทักษะ คือบางทีที่เราทุกข์ เราโทษใครไม่ได้ เพราะคนแรกที่ควรดูแลตัวเราคือเราเอง เราเรียนมา ถ้าเรากำลังแย่ แล้วยังต้องให้คนอื่นมาบอกอีกก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย บางทีเรามีจุดบอดได้ แต่เมื่อเราวินิจฉัยคนอื่นมากมาย เหลือเวลาสักนิดวินิจฉัยตัวเองบ้างก็ดี ว่าเราต้องการความช่วยเหลือแล้ว เราต้องการพักแล้ว เป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์เกิดขึ้นจากตัวเราเอง”

 

อาจารย์หมอเปิดใจถึงการเป็น Blink หรือแฟนคลับวง BlackPink ว่า “ภาพรวมของเกาหลีใต้คือการนิยมในความสมบูรณ์แบบ เขาฝึกซ้อมกันเข้มงวดมาก ทำศิลปะให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ สามารถผนวกความเข้มงวดในความสมบูรณ์แบบเข้ากับศิลปะและจินตนาการได้อย่างอัจฉริยะ แล้วประสบความสำเร็จ ขายให้คนจำนวนมากได้ ผมนับถือสิ่งที่เขาทำ เขาฝึกเด็กตั้งแต่อายุ 12-13 ปี แล้วสกรีนออกทุกเดือน ไม่แกร่งจริงก็ถูกคัดออก ฉะนั้นเรื่องจิตใจของ BlackPink ได้แสดงให้เราเห็นศักยภาพบางอย่างที่เราจับต้องได้ ชาวต่างชาติอย่างลิซ่าถูกบล็อก ถูกเหยียดมากมายเพราะชาตินิยมแรงมาก ผมเลยอยากมีส่วนในความสำเร็จของเขา ผมรู้ว่าเขารวยกว่าผมเยอะ แต่ผมก็ยังซื้ออัลบั้มเขา ซื้อเสื้อ อยากสนับสนุนคนแบบนี้ คล้ายเป็นพิธีการว่า เราสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะเขาช่วยตอกย้ำความเชื่อของเรา”



ศักยภาพอันจริงแท้ของมนุษย์เกิดจากตัวเอง

 

อาจารย์เล่าถึงอีกหนึ่งคนโปรดที่ไม่ได้มีพรสวรรค์เท่านั้น แต่มุ่งมั่นในพรแสวงอย่างถึงที่สุด จนก้าวสู่การเป็นคนดังและได้การยอมรับระดับโลก “สมัยก่อนผมชอบเบ็คแฮม ชอบทีมแมนยู ไม่ใช่เพราะเขาหล่อ แต่เป็น


เพราะเขาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคน เขาพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่สิ่งที่เขาทำ ไม่ว่าจะวิ่งหรือเดิน เขาสามารถเตะบอลตรงนี้ให้ไปอยู่ตรงไหนก็ได้ใน 30 หลาข้างหน้า ทักษะเชี่ยวชาญนี้มาจากการฝึกฝน เขาฝึกมากที่สุดคนหนึ่งของทีม หลังจากฝึกเสร็จแล้วก็ยังฝึกต่อ ฝึกเตะเป็นหมื่นๆลูก คล้ายๆผมไม่ได้ชอบคนที่มีพรสวรรค์อย่างเดียว ผมชอบคนที่ทำงานหนัก สุดท้ายเขาก็ได้รับสิ่งที่ควรได้ ตรงนี้ผมว่าคือจิตตปัญญา เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์แสดงออกมา”

 

“ผมว่าเรามีทางเลือกสองอย่าง คนหนึ่งเชื่อว่า Perfect Life หรือชีวิตที่สมบูรณ์แบบมีจริง เขาจะใช้เวลาทั้งชีวิตค้นหาชีวิตที่สมบูรณ์แบบ อีกคนเชื่อว่าชีวิตที่สมบูรณ์แบบไม่มีจริง เขาจะทำอีกแบบ คือทำอย่างไรที่จะอยู่กับชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างมีความสุข ผมไม่แนะนำว่าใครควรใช้ชีวิตแบบไหน แต่สองคนนี้ใช้ชีวิตต่างกันแน่นอน”

 

“ในทางการแพทย์ เราเห็นเด็กที่เพิ่งเกิดก็ตาย เห็นคนที่ไม่สมควรตายก็ตาย หรือคนที่ควรจะตายก็ยังไม่ตาย เห็นขนาดนี้แล้วเราจะไปค้นหาชีวิตที่สมบูรณ์แบบกันอยู่อีกหรือ”

 

“แต่ประสบการณ์คนอื่นอาจไม่เหมือนกัน ผมค่อนข้างโน้มเอียงไปทางที่คิดว่าจะใช้ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างไรให้มีความสุข คนไข้เราสอนเราเยอะมาก คนไข้มะเร็งยังยิ้มได้ เขาทำได้ มีจิตวิญญาณสูงส่ง เขาทำได้จริงๆ”



เชื่อว่าสิ่งที่ ดร.นพ.สกล สิงหะ อาจารย์แพทย์แห่งศูนย์ความเป็นเลิศชีวันตาภิบาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำตลอดมา จะผลิบานและปักหลักมั่นคงในเส้นทางของงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ที่เต็มไปด้วยความหมายของชีวิตและจิตวิญญาณ

コメント


コメント機能がオフになっています。
bottom of page