top of page

อายดรอปเปอร์ ฟิลล์ นักออกแบบพื้นที่ประสบการณ์ที่ทำให้คนเห็นใจตัวเอง และเห็นใจกัน

ฉันนั่งส่องเฟสบุ๊กของบริษัทพวกเขา Eyedropper Fill

 

หากมองเผินๆ นี่คือบริษัทที่ทำงานด้านสื่อผสม ภาพเคลื่อนไหว แสงสีเสียงที่วูบไหวไปมา งาน Event Experience ที่ชวนคนมาทำนู่นทำนี่ในพื้นที่จัดแสดง มีความงานศิลปะนิดๆ นิทรรศการหน่อยๆ โดยยังมีการค้าการขาย เพราะจัดเปิดตัวสินค้าให้บริษัทต่างๆ

 

แต่หากมองและอ่านงานของพวกเขาในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าชายหนุ่มผู้ก่อตั้งทั้งสอง คือ นัท--นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และ เบสท์--วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เป็นคนที่สนใจประเด็นสังคมหลากหลาย ทั้งเรื่องคนจนเมือง การเมือง การศึกษา และสุขภาพจิต ไม่ใช่แค่สนใจ แต่เคลื่อนไปเป็นงาน เป็นเนื้อเป็นตัว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

 

เรื่อง-ภาพ: พรรัตน์ วชิราชัย





อายดรอปเปอร์ ฟิลล์ เป็นที่รู้จักจากงานสารคดีและนิทรรศการ Event Experience ต่างๆ เช่น “ณ บ้านของเขาเรื่องของเราทุกคน” (สารคดีเรื่องชุมชนคนจนเมืองที่ทำร่วมกับ 101) “School Town King ‘แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’” (สารคดีว่าด้วยชีวิตของเด็กคลองเตยที่ฝันอยากเป็นแรปเปอร์ ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ พ.ศ. 2563 หาชมได้ทาง Netflix) และไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาหันมาทำเรื่องนามธรรมอย่างการ “พาใจกลับบ้าน” นิทรรศการฮีลใจอันโด่งดังในกลุ่มวัยรุ่น ที่พาคนกลับเข้ามาภายในตัวเองผ่านสื่อที่ผสมหลากหลาย ทั้งแสงสีเสียง กระดานดำ กระดาษ จดหมาย กระจก ลูกบอล หมอน โซฟา ฯลฯ

 

สิ่งเหล่านี้พาฉันมานั่งมองหน้าสองหนุ่มคนนี้ ไม่ใช่ผ่านจอสี่เหลี่ยมเหมือนครั้งก่อนๆ แต่มานั่งอยู่ที่โฮมออฟฟิศของพวกเขา บนโต๊ะและเก้าอี้ทำงานของอายดรอปเปอร์ ฟิลล์

 

คนหนุ่มเบื้องหน้าฉันใส่แว่นทั้งคู่ นัทสวมเสื้อเชิ้ตที่ดูทางการกว่า ชวนพูดชวนคุยอย่างเป็นมิตร บอกว่าเขาเป็นไดเร็กเตอร์ด้านการจัดการ ด้านเบสท์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ สวมเสื้อยืดสบายๆ กับหมวกแก๊ปปิดเรือนผมสีชมพู ดูบุคลิกเป็นศิลปินอินโทรเวิร์ตมากกว่านัท

 

ฉันเริ่มต้นถามไถ่ถึงการเดินทางทั้งภายในและภายนอกกว่าสิบห้าปีที่ผ่านมาของอายดรอปเปอร์ ฟิลล์ เพื่อรู้จักพวกเขา และรู้จักตัวฉันเอง





ทำสิ่งที่ชอบ และอยู่ได้

 

“มารวมตัวเป็น อายดรอปเปอร์ ฟิลล์ ได้ยังไง”

 

นัท:  เราเรียนสายศิลปะมาเหมือนกัน (หลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ Communication Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) โตมาในครอบครัวคนจีนเหมือนกัน ถ้าเราเรียนหมอหรือวิศวะ ครอบครัวก็จะเข้าใจง่ายว่าจบไปแล้วทำอะไร แต่พอเรียนศิลปะ เขาก็งง

 

เราฐานะกลางๆ ไม่ค่อนบนหรือล่าง เราชอบงานหลากหลาย ทั้งอนิเมชั่น ถ่ายรูป สื่อผสม ฯลฯ และอยากทำอะไรที่ที่บ้านจับต้องได้โดยไม่ฝืนตัวเองเกินไป เลยรวมกลุ่มหาประสบการณ์และทำงานด้วยกัน แรกๆก็รับทำงานภาพเคลื่อนไหวในคอนเสิร์ต สมัยเรียนเริ่มจากงานที่แบ่งกันแล้วได้คนละ 500 บาท

 

พวกเรารู้สึกไม่ฟิตอินกับงานบริษัท และคิดภาพตัวเองไปทำอย่างอื่นไม่ออก จึงตัดสินใจตั้งบริษัทด้วยกันสองคนตอนปี 2557-2558 เราเป็นสตูดิโอแรกๆที่เล่นกับแสงสีเสียงเพื่อเล่าเรื่อง ตอนนั้นยังไม่มีเป้าหมายชัดว่าอยากทำอะไร แค่หาที่ทางให้ได้ทำงานแบบนี้และพออยู่ได้ ไม่ได้คิดว่างานสื่อผสมจะกลายเป็นเทรนด์ในยุคนี้

 

เบสท์:  ตอนนั้นคนทำงานภาพเคลื่อนไหวก็จะไปอยู่เอเจนซี่ ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับงานโฆษณา ซึ่งเราไม่ชอบ แต่ถ้าจะทำงานศิลปะ ความกดดันทางเศรษฐกิจและครอบครัวก็ไม่เอื้ออำนวย จะไปทำหนังเฉยๆก็ยากอีก เลยคิดว่าทำอะไรที่พอเลี้ยงชีพได้ และได้ทำงานที่สนใจ เลยเลือกทำงานที่ใช้สื่อหลายๆอย่างผสมกัน ช่วงปีแรกส่วนใหญ่จะเป็นงาน On screen อย่างภาพเคลื่อนไหวในคอนเสิร์ต Movie image ไปจนถึง MV

 

ช่วงที่สองของการทำงาน เราเริ่มเรียนรู้และนำงานภาพเคลื่อนไหวมาอยู่บนพื้นที่จริง กลายเป็นงาน Experiential events ซึ่งมีตลาดอยู่

 

นัท:  เราทำงาน Experiential events เยอะขึ้นในช่วงปี 2558-2562 ทำไปเรื่อยๆจนเริ่มมีแบรนด์ใหญ่ๆมาใช้งานเรา งานเราจะแปลกกว่าชาวบ้านตรงที่เล่นกับแบรนด์ สร้างอินเตอร์แอกทีฟกับคนที่เดินเข้ามาในงาน ทำงานเปิดตัวสินค้าแบบไม่เน้นเชิญดาราดังๆดึงคนเข้างาน

 

ช่วงที่มีงานคอมเมอร์เชียลพีคมากๆ เราก็ตั้งคำถามว่า ทำไปแล้วได้อะไรวะ เพราะหลักๆคือเราทำงานให้ฝ่ายกลยุทธ์การตลาดของลูกค้า ปีนี้ลูกค้าเป็นแบบนี้ อยากได้งานแบบนี้ อีกปีเขาก็ยังอยากทำกับเรา แต่อยากได้นู่นนี่พิ่ม บรีฟเหมือนเดิม แต่ขอวิธีการใหม่ ขอความรู้สึกใหม่ ขอให้บียอนด์กว่านี้ ทำให้คนเข้าร่วมกับแบรนด์มากกว่านี้ แต่คุยกับคนกรุงเทพฯ เหมือนเดิม จัดที่ห้างเดิม ลานเดิม ทำแบบนี้ทุก 2-3 ไตรมาส

 

แรกๆก็สนุกกับสเกลงานใหญ่ขึ้น ได้คนรู้จักเยอะขึ้น แต่ทำไปเรื่อยๆมันเริ่มว่างเปล่าและเหนื่อย มันเป็นการบียอนด์ที่ไม่รู้กำลังจะไปไหน พอมองไปที่เรื่องที่เราสนใจ อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิ การศึกษา สุขภาพจิต ฯลฯ เราก็เห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ได้เคลื่อนไปไหน



เริ่มเส้นทางคู่ขนาน

 

เบสท์:  เราสนใจเรื่อง Voice of voiceless people มาตลอด เวลาทำงานสื่อสารให้แบรนด์ เราสื่อสารให้คนที่มีเสียงอยู่แล้วคือนายทุน ระหว่างนั้นเราเลยทำงานอีกปีก คืองานประเด็นทางสังคม ประตูบานแรกคือโปรเจ็กต์ศิลปะชื่อ “Dreamscape” (พ.ศ. 2558) เราไปลงชุมชนแล้วถามว่า ความฝันเขาคืออะไร ปีต่อมาสำนักข่าว 101 ก็ชวนไปทำสารคดีชื่อ “ณ บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน” เราลงพื้นที่คนจนเมืองสามแห่งที่พยายามกลับมามีบ้าน หลังจากนั้นเราก็ทำ “Connext Klongtoey” และ “School Town King” ซึ่งเป็นโครงการที่เราปั้นกันเอง

 

งานเหล่านี้ทำให้เราเห็นคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน แต่ไม่เคยฟังว่าเขาคิดอะไรอยู่ พอไปฟังจริงๆ ไปขยายเสียงเขาออกมา เราก็เห็นว่างานของเรามีความหมาย คนเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น แม้แต่งาน “พาใจกลับบ้าน” ก็คือการฟังเสียงที่ถูกกดเอาไว้ในสังคม สังคมไทยเป็นสังคมที่เสียงคนตัวเล็กๆไม่ค่อยถูกได้ยิน

 

นัท:  ปกตินักออกแบบแบบเราจะทำงานในออฟฟิศ อีกทีก็ไปที่สเตจ สุดทางคือไปทำงานกับแบรนด์ระดับโลก ทั้งที่คิดว่านี่เป็นสังคมใหญ่แล้ว แต่พอเรามาทำงานแบบนี้ มันฉีกกฎของเราไปเลย

 

การทำ “Dreamscape” ทำให้เราได้คุยกับคนหลากหลาย ทั้งนักเรียน ครู ยาม คนมลายู คนไร้บ้าน คนสติฟั่นเฟือน ฯลฯ มันระเบิดประตูออกไปเลยว่า จริงๆแล้วเราอยู่ด้วยกันในสังคมนี้ พอช่วงหนึ่งได้ฟังเพลง “คืนความสุข” ทุกวัน ผมว่าเป็นอะไรที่ประหลาดมาก เป็นความเงียบที่ประหลาดที่เคยเห็นแต่ในหนัง มันทำให้เราตั้งคำถามว่า นักออกแบบอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง

 


ฟังเสียงที่เขย่าความเป็นเรา

 

“ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการลงพื้นที่ในประเด็นสังคม?”

 

นัท:  สิ่งที่เขย่ามากคือ ตอนคุยกันในห้องทำงาน เราคิดว่าคำถามที่เตรียมไว้ถามคนในชุมชนนั้นเข้าใจง่ายแล้ว เราเตรียมงานร่วมกับนักศิลปะบำบัดแล้ว แต่พอไปคุยกับเขาจริงๆ เริ่มจากคุยว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง เขาตอบไม่ได้ เขาไม่ตอบ ตอบมาก็ไม่ใช่เรื่องนี้ ตอนแรกคิดว่าจะเอาไอแพดไปให้เขาเขียนดีไหม แต่เขาไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ง่ายๆเลย เรายื่นปากกาเมจิกกับกระดาษให้ ชวนเขาวาดรูปไป คุยไป

 

คำถามสั้นมาก แต่เราคิดนานมาก เราลงพื้นที่หลายครั้งกว่าจะได้คำถามนี้มา คือ ความฝันของเขาหน้าตาเป็นยังไง ฮีโร่ของเขาหน้าตาเป็นยังไง แล้วมันทำอะไรบ้างในความฝันนั้น คือทันทีที่มีฮีโร่ นั่นแปลว่าเขามีปัญหา และอยากมีคนช่วย เราเห็นเป้าหมายของเขาผ่านรูปวาดและเรื่องเล่าเหล่านั้น เราได้เรียนรู้ว่าการคุยกับคนมันยากนะ พื้นที่การรับฟังไม่ใช่อยู่ๆจะเกิดขึ้นเลยทันที เหมือนคำถามที่เราถือไปคุยกับเขา ถ้าถามโต้งๆ คนไม่ตอบ เราต้องแคร์วิธีการคุยด้วย

 

อย่างตอนที่ทำสารคดี “ณ บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน” เราไปที่ชุมชนพระรามหก ซึ่งเขาโดนทุบไล่รื้อบ้าน 5-6 ครั้ง สุดท้ายก็ต้องกลับมาสร้างบ้านจากซากที่ถูกทุบอยู่ดี และชีวิตมันแย่ลงทุกครั้งที่กลับมา เหมือนคนที่ถูกกระทืบซ้ำๆ แต่ไม่มีการไกล่เกลี่ยอะไร ฉะนั้นจึงไม่ง่ายที่เขาจะเล่าออกมาได้หมด

 

ผมชอบชื่อสารคดีมาก “ณ บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน” เพราะมันเป็นเรื่องของเราด้วย คนที่อยู่ในสลัมที่เราด่า คือคนขายข้าวให้เรากิน คือคนเข็นรถขายผลไม้ให้เราซื้อ เขาพยายามทำให้สะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเอาเงินมาส่งลูกเรียน เพื่อสุดท้ายเขาจะได้พ้นไปจากตรงนี้ แต่คนอื่นกลับพูดว่า ทำไมไม่กลับบ้านเกิดล่ะ มาอยู่ทำไมในที่ที่เขาไม่อนุญาตให้อยู่

 

พี่คนหนึ่งบอกว่า ถ้าขายผลไม้ที่บ้าน เขาขายได้วันละสามกิโล แต่ถ้าอยู่นี่ เขาขายได้ทั้งคันรถเลย อยู่ที่บ้าน เขาได้นอนในที่ที่ดีกว่านี้ แต่อยู่ที่นี่ เขาต้องนอนในกองนี้ และบังคับลูกให้นอนด้วย แต่เขามองเห็นโอกาสที่ชีวิตเขากับลูกจะเปลี่ยนได้ ลูกจะได้เรียนในที่ที่ดีกว่า รายได้ของเขาดีกว่า

 

ฟังเขาแล้วผมกระจ่างหมดเลย ทั้งเรื่องการเมือง ความเหลื่อมล้ำ ระบบจัดการสาธารณูปโภค ไปจนถึงทัศคติของเราที่มองว่าคนจนทำผิดเสมอ มันสั่นเราหมดเลย ฉะนั้นเวลาที่อ่านความเห็นคนชั้นกลางด่าม็อบ เราจะมองเห็นอีกด้านทั้งหมด เพราะเราเคยฟังเสียงเหล่านี้มาแล้ว

 

เบสท์:  ถ้าเราเป็นคนชั้นกลาง แล้วไม่เอาตัวไปเกลือกกลั้วกับประสบการณ์จริง เราจะตัดสินจากมุมของเรา อย่างม็อบทะลุแก๊ส ที่เด็กวัยรุ่นเอาประทัด เอาพลุ ไปยิงทหารตำรวจ คนก็ด่ากันว่าทำไปทำไม โง่เหรอ แต่เราเข้าใจเลยว่าทำไมเป็นแบบนั้น เราเห็นชีวิตเขาแล้ว รู้เลยว่าลำบากมาก เขาโกรธเพราะโดนกดขี่สารพัด

 

การลงพื้นที่เรื่อยๆ ทำให้เราตั้งคำถามกับทักษะที่เรามี การทำงานสองอย่างคู่ขนานแบบนี้ ทำให้เรามีคำถามต่องาน มีตลอด มีเสียงตะโกนมาเรื่อยๆ



เห็นตัวเรา ในตัวเขา

 

“ทำไมเลือกทำโปรเจ็กต์หนัง Connext Klongtoey กับ School Town King ด้วยตัวเอง”

 

เบสท์:  เราสนใจเรื่องชุมชนคนจนเมือง กรุงเทพฯ เป็นที่ที่ทุกคนเข้ามาหาโอกาส ทำไมเป็นแบบนั้นล่ะ ขณะที่ประเทศอื่นไม่เห็นเป็นแบบนี้

 

มีช่วงหนึ่งเพื่อนที่เป็นครูอาสาชวนไปสอนที่คลองเตย เราได้สัมผัสเด็กที่นั่นแล้วชอบพลังงานของเด็กมาก เด็กกล้าแสดงออกสุดๆ กรอบของโรงเรียนมันหน่อมแน้มเกินไปกับชีวิตเขาที่เจออะไรหนักๆกว่าครูตี กว่าครูหักคะแนนเยอะ ระบบการศึกษาไทยที่ One fit all จึงไม่เข้ากับชีวิตเขาเลย แล้วระบบการศึกษาก็เหมือนระบบอื่นๆในประเทศนี้ ที่จำกัดและไม่เห็นความหลากหลาย

 

เราสนใจเรื่องระบบการศึกษามานาน ตัวเราก็มีปัญหากับระบบการศึกษามาแต่เด็ก สิ่งที่รู้สึกร่วมกับเด็กคลองเตยคือ การศึกษาทำให้รู้สึกว่า เราไม่เก่ง เราโง่ ทั้งๆที่เราก็มีข้อดีที่ภูมิใจในตัวเองได้

 

เราชอบความ Underdog แบบนี้ เพราะเราก็ไม่ใช่เด็กเก่ง ไม่อยู่ในแสงที่คนจะเห็น พอไปคลองเตย เราเห็นชัดเลยว่า Underdog จริงๆเป็นยังไง เราเลยทำโครงการด้วยทุนตัวเอง เราทำ R&D แล้วถามกันว่า next move ของเราคืออะไร ก็ได้คำตอบว่า เราสนใจประเด็นสังคม จึงใช้เงินจำนวนหนึ่งลงทุนทำเรื่องนี้

 

นัท:  เราเริ่มจากไปคุยกับครูในโรงเรียนว่าขอทำคลาสศิลปะให้นักเรียนทุกอาทิตย์ โดยอยู่ในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แทนที่จะเรียนอบขนม ซ่อมคอม เราชวนเด็กๆทดลองทำงานครีเอทีฟ เพราะถ้าเขาไม่มีทุนเป็นของข้างนอก ก็เอาของในหัวเป็นต้นทุนได้ เราเปิดให้เขาเลือกว่าจะลองทำอะไร ภาพถ่าย สักแทททู แรป แล้วก็ชวนคนที่อยากร่วมเหนื่อยด้วยมาทำ จุดหมายเราไม่ได้อยากให้เขาเก่งถึงขั้นฝึกอาชีพ แต่ให้เขาเรียนรู้วิธีถ่ายทอดออกมา ให้เขากล้าเล่าเรื่องตัวเอง

 

เบสท์:  หลักการคือการ Voice การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้เล่า หลายสิ่งที่เขาพูดในคลาส เขาไม่เคยพูดกับใครเลย พื้นที่แบบนี้สำคัญกับสังคมนี้มาก

 

หลักๆคือเป็นพื้นที่ที่เราฟังกันได้โดยไม่ตัดสินกัน สังคมเราไม่ค่อยมีพื้นที่แบบนี้ หายากมาก บางเรื่องกับพ่อแม่เรายังพูดไม่ได้ มีแฟนก็บอกไม่ได้ กินเหล้าดูดบุหรี่ก็บอกไม่ได้ ที่โรงเรียนยิ่งแล้วใหญ่ เราถูกตัดสินว่าเป็นเด็กดี ไม่ดี เก่ง ไม่เก่ง ตลอดเวลา ในครอบครัว ในความสัมพันธ์ ในประเทศนี้ ถ้าคุณคิดต่าง คุณโดน คุณถูกขู่ทำร้าย ถูกฟ้องร้อง ฯลฯ แต่ความหลากหลายมันมีอยู่จริง เพียงแต่เราไม่มีที่อยู่ให้ความหลากหลายนั้น

 

นัท:  นี่เป็นต้นทางของการออกแบบทุกอย่าง การสร้างพื้นที่พูดคุยจึงสำคัญ เราพยายามสร้างพื้นที่แบบนั้น อาจเป็นแค่กำแพงว่างๆให้เขาเขียน มีเวลาให้ตกตะกอน จะเขียนก็ได้ ไม่เขียนก็ได้ จะนอนพักเฉยๆก็ไม่ว่ากัน แค่ไม่ทำลายพื้นที่หรือรบกวนคนอื่นก็พอ



พังทลาย และเลือก

 

นัท:  ช่วงที่ทำงานสองด้าน เป็นช่วงที่เหนื่อยและหนักมาก เพราะ 3-4 วันเราทำงานคอมเมอร์เชียล อีก 2 วันทำงานสังคม แล้วเม็ดเงินสองด้านมันต่างกันมาก แรกๆเราไม่อยากพูดเยอะว่าเราทำแบบนี้ ถ้าย้ำว่ามีจุดยืนแบบนี้เราอาจเสียงาน เพราะอัตลักษณ์สองด้านมันชนกันมาก เช่น วันหนึ่งเราปล่อยงานเด็กสลัมคลองเตย อีกวันโพสต์อีเวนต์เปิดตัวคอนโดหรูห้องละ 30-40 ล้าน เพจเราจะดูประหลาดมาก เดี๋ยวก็จน เดี๋ยวก็รวย คนคงงงว่าเราทำอะไรกันแน่ ช่วงหนึ่งจึงทำแบรนด์ย่อยชื่อ Eye on field เพื่อทำงานสังคมโดยเฉพาะ คิดว่าเราตั้งคุณค่าอีกด้านให้คนเห็น แล้วให้เขาเลือกเองว่าจะเข้าร่วมกับเราทางประตูไหน

 

แต่พอโควิดมา มันเปลี่ยนทุกอย่างไปเลย ปีแรกๆเราคิดว่าโควิดจะไม่นานขนาดนี้ แต่สุดท้ายแล้วมันยาว จนเราคิดว่าต้องเลือก ตอนนั้นสิ่งที่ยึดถือพังลงหมด เรากำลังจะเคลมว่า เราเป็นมือหนึ่งด้าน Experiential marketing เราเปลี่ยนงานอีเวนต์จากการแจกของเป็นชวนคนมาร่วมประสบการณ์ แต่อยู่ๆทุกคนต้องอยู่บ้าน แล้วคุณค่าของเราคืออะไร พนักงานที่รักเกือบสิบคนต้องออกหมดเลย ติดหนี้เป็นล้าน

 

เบสท์:  โควิดคือจุดเปลี่ยนที่เราต้องเลือก และกลายมาเป็นวันนี้ เราได้รู้ว่า สิบปีที่ผ่านมาเราทำได้หมด เราใช้หลากหลายศาสตร์มาทำงานสื่อสาร แต่ใช้เพื่ออะไรล่ะ ก่อนนั้นมันไม่มีจุดมุ่งหมาย ถ้าเป็นบริษัท เราก็ไม่มีวิสัยทัศน์ แต่วิสัยทัศน์เราชัดขึ้นเพราะลงมือทำโปรเจ็กต์เหล่านั้น

 

เราตั้งคำถามว่า อะไรสำคัญสำหรับเรา คุยกับนัทเป็นปีว่า วิสัยทัศน์ของเราคืออะไรกันแน่ เขียนกระดาษ 200-300 แผ่นเพื่อทบทวนชีวิตที่ผ่านมา หาว่าอะไรคือจุดตรงกลางระหว่างเรา สังคม และโลก

 

ส่วนตัวผมสนใจเรื่อง Empathy เพราะโตมาในครอบครัวและสังคมที่ขัดแย้ง มีความไม่ลงตัวตลอดเวลา เลยคิดว่า ถ้าเรามีคุณสมบัติของการฟังกันดีๆ เราอาจผ่านเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ในฐานะคนทำงานสื่อสาร เราน่าจะเป็นสะพานระหว่างคนที่หลากหลายให้เข้าใจกันได้ สังคมน่าจะน่าอยู่มากขึ้น เราอาจไม่มีประเด็นเฉพาะ แต่เราอยากให้สังคมมี Emphaty กันมากขึ้น งานห้าปีหลังเลยลุยงานสังคมเป็นส่วนใหญ่ตามวิสัยทัศน์นี้

 

นัท:  เราคิดวิสัยทัศน์ไว้หลายคำมาก จนมาเจอคำว่า “Experiential Design for Empathic Society” คือการทำงานออกแบบผ่านประสบการณ์เพื่อสร้างสังคมที่ Empathy พอได้คำนี้แล้วก็หาคำอื่นมาล้มไม่ได้อีกเลย เป็นคำที่เชื่อมทุกอย่างเข้าหากัน จะอยู่ในอะไรใหญ่ๆอย่างนโยบายก็ได้ เป็นแค่อีเวนต์งานหนึ่งก็ได้ หรืออาจอยู่ในความสัมพันธ์เล็กสุดระหว่างคู่รักก็ได้ งานออกแบบของเราเข้าร่วมได้หมดในวิสัยทัศน์นี้ และทำให้งานตอนนี้เปลี่ยนไปเลย เป็นงานสังคมเป็นส่วนใหญ่ 80:20 ส่วนงานคอมเมอร์เชียลที่รับก็เป็นงานที่มีคุณค่าทางสังคมด้วย

 




พาใจตัวเองกลับบ้าน

 

นัท:  ก่อนจะเป็น “พาใจกลับบ้าน” เวอร์ชั่นนี้ เรากรุยกันมา 3-4 ปี เริ่มจาก “อารามอารมณ์” (นิทรรศการใน Bangkok Design Week 2021 ที่นำเสนอพื้นที่สำรวจและฮีลใจ) พวกเราทำวิจัยกันว่าจะทำประเด็นอะไรดี ก็พบว่าเทรนด์โลกเขาทำเรื่อง wellness กัน เราไปคุยกับหมอ กับจิตแพทย์ และคนที่ทำงานด้วยกันเพื่อออกแบบงานนี้ จากนั้นก็ทำ “Mental-Verse จักรวาลใจ” (ภาพยนต์สารคดีว่าด้วยโรคซึมเศร้า ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2565) สุดท้ายก็พัฒนาเป็น “พาใจกลับบ้าน” ทั้งหมดเป็นงานที่ดูได้ซ้ำๆ และรู้สึกดีมาก ทำแล้วภูมิใจที่สุดในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเลย

 

เรามีประสบการณ์ตรงเรื่องสุขภาพจิตในช่วงโควิด ทั้งๆที่คิดว่ามีความรู้ มีความตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่พอเจอโควิดเต็มๆก็ตามตัวเองไม่ทันนะ ตอนนั้นเบสท์กลับมามีอาการแพนิกทั้งที่หายเป็นไปพักใหญ่ น้องผมก็เป็นซึมเศร้าเรื้อรัง ทำให้เราย้อนกลับมาดูชีวิตตัวเอง และเห็นว่าเราก็เป็นหนึ่งในคนที่ดีลไม่เป็น ไม่มีความตระหนักรู้ และทำให้เรื่องบานปลาย ถ้าเบสท์เป็นตัวแทนของคนที่อยู่ในปัญหา ผมก็เป็นคนที่ไม่รู้และสร้างปัญหา เราเพิ่งมารู้ตัว แล้วจะทำอย่างไรดี

 

มันใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจและยอมรับได้ เลยรู้สึกว่านี่เป็นงานที่ทำให้เราเติบโตทางความคิด เป็นการเดินทางข้างในของเรา เป็นเรื่องของเราโดยตรง

 

เบสท์:  งานนี้มีความส่วนตัวกว่าทุกงาน เมื่อก่อนความไม่มั่นคงเป็นประเด็นหลักของชีวิต แต่หลังๆพอมีอะไรมากระทบก็นิ่งได้มากขึ้น มีสติมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นช่วงที่ทำ “พาใจกลับบ้าน” เราได้คุยกับนักจิต และคิดตลอดว่า จะออกแบบประสบการณ์อย่างไรให้คนคุยกับตนเองได้ ก่อนจะออกแบบได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่ากระบวนการมันเป็นอย่างไร

 

เรามีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตตั้งแต่เด็กจนโต งานนี้ค่อยๆเปลี่ยนเรา ทำให้เราทำงานภายในตัวเอง ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านๆมา เราเปลี่ยนไปเยอะเชิงบุคลิกภาพ เมื่อก่อนเรารับมือไม่ได้ เราจะพุ่งและก้าวร้าวกว่านี้ ตอนนี้เรารับมันได้มากขึ้น สนิทใจกับตัวเองมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะดูแลก้อนพลังงานเหล่านี้ ความสัมพันธ์ในชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย

 

การออกแบบ “พาใจกลับบ้าน” มันดูน้อย แต่จริงๆเยอะมาก เราต้องผ่านสิ่งนั้นมาก่อน เราต้องมีประสบการณ์ร่วม ต้องเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆ ถึงจะออกแบบประสบการณ์ให้คนอื่นได้ กว่าจะออกแบบแต่ละจุด งานสี งานองค์ประกอบต่างๆ นี่คือหัวใจของงานอายดรอปเปอร์ ฟิลล์

 

ตอนทำ “Mental-Verse” เราก็ทำเรื่องพ่อแม่ตัวเอง ทำให้ได้คุยกับที่บ้านเยอะ ได้แก้ปัญหาบางอย่าง เช่น ถ้าเมื่อเช้าพ่อแม่ทะเลาะกัน เมื่อก่อนเราจะทุกข์ใจมาก แต่เดี๋ยวนี้เราถอยออกมาได้ เราเข้าใจได้ว่านี่คือเรื่องของเขา สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ เราวางใจมากขึ้นกับปัญหา งานมันพาใจให้เราทำงานกับตัวเอง

 

เวลาไปยืนอ่านสิ่งที่คนเขียนบนกำแพงในนิทรรศการ “พาใจกลับบ้าน” เรารู้สึกมีเพื่อนเต็มเลย เมื่อก่อนเราคิดว่าเราเจอมันอยู่คนเดียว แต่พออ่านแล้วไม่ใช่เลย มันทำให้เห็นว่า เราอยู่ใน sickness society สังคมนี้ป่วย และทำให้เราป่วย

 

จากนี้เราอยากเยียวยาสังคมนี้ โลกนี้ด้วย เราเห็นความรุนแรงจนชินตา เราเหนื่อยแล้วที่จะพูดเรื่องการเมือง ถึงสังคมไทยจะมีรัฐบาลใหม่ แต่เชื้อความป่วยยังอยู่เหมือนเดิม ในฐานะนักออกแบบ เราคิดว่าเราต้องทำงานกับตัวเองไปพร้อมกันด้วย

 

 

ออกแบบด้วยสัญชาตญาณ

 

“ในงานที่เป็นนามธรรมมากๆ อย่างเรื่องจิตใจ จิตวิญญาณ นักออกแบบต้องทำงานอย่างไร”

 

เบสท์:  ในงานออกแบบ ด้านหนึ่งเราทำงานทางโลกมากๆ เช่น ใช้งบเท่าไหร่ ใช้อุปกรณ์อะไร การประสานกับทีมงาน ปกติเราจะใช้สมองเยอะ แต่ชีวิตเรามี head heart hand ถ้าใช้หัวอย่างเดียว เราจะบิดเบือนบางอย่างไป งาน “พาใจกลับบ้าน” เราใช้ร่างกายช่วยคิดด้วย จริงๆมันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ด้วยซ้ำ แต่เวลาออกแบบ เราลืมสัญชาตญาณง่ายๆไปเลย

 

การทำงานกับด้านในของคน เราคิดเชิงตรรกะมากไปไม่ได้ เพราะชุดประสบการณ์ของแต่ละคนเฉพาะตัวมาก เราเลยพยายามบาลานซ์ ทำอย่างไรจึงจะทำงานทางโลกและรักษาคุณภาพเชิงจิตวิญญาณไว้ได้ หลายอย่างจึงให้สัญชาติญาณเป็นตัวบอก  

 

มนุษย์เรามีผัสสะพื้นฐาน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เราช่วยกันระบุว่า ชุดประสบการณ์แบบไหนที่ช่วยให้คนรู้สึกปลอดภัย เช่น เวลาเท้าแตะดิน เราจะรู้สีกดี เวลามองต้นไม้ เราจะสบายใจ การนั่งเอนตัวพิงบางอย่าง เราจะผ่อนคลาย แล้วก็ทำวิจัยด้วย ทำแบบสอบถามว่า สี แสง สัมผัส แบบไหนที่พาเขากลับมา ซึ่งได้คำตอบคล้ายๆกัน คือการ back to nature

 

งานนี้จึงเป็นการกลับสู่พื้นฐานของประสาทสัมผัส เราออกแบบพื้นที่ให้เปิดรับพอที่จะให้คนระบายสิ่งที่อยู่ในใจ ปลอดภัยพอจะคลายความรู้สึกบางอย่างออกไปได้ พอมันออกไป ก็ทำให้เรารู้จักตัวเอง และไม่โกหกตัวเองได้มากขึ้น ลดกลไกป้องกันตัวเองลง เพราะบางเรื่องก็สุดจะแย่ จนเราไม่อยากกลับไปแตะมัน

 

สังคมไทยหาพื้นที่แบบนี้ได้ยากมาก พื้นที่ของการเห็นความทุกข์ของกันและกัน ให้กำลังใจกัน พื้นที่ที่เราไม่ต้องทำให้ดีในงานศิลปะก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรให้สำเร็จก็ได้ เราแค่มานอนเฉยๆก็ได้

 

ผมรู้สึกว่ายุคนี้คนต้องการความเงียบที่สุด สิ่งเหล่านี้หายไปในศตวรรษนี้ที่เรามีโซเชียลมีเดีย เราอยากมีพื้นที่ที่วางทุกอย่างลงได้ ตอนเด็กๆเรายังมีวันอาทิตย์ที่นั่งมองแดดได้ ไม่ต้องคิดอะไร แต่พอโตมามันหายไป ทุกอย่างไวมาก ท่วมท้นมาก แล้วต่อไปจะมีแว่น Apple อีก สื่อเกิดใหม่ขึ้นมาเพื่อแย่งความสนใจของคนให้สนใจข้างนอกมากขึ้นๆ เราอยากใช้สื่อตรงนั้นทำให้เราเดินทางด้านในมากกว่า

         

 

การรู้สึกตัว ความเรียบง่าย ความเงียบ และทางเลือกใหม่

 

“แล้วเราหาความเงียบ หรือเหยียบเบรกได้อย่างไรบ้าง ในยุคสมัยที่ทุกอย่างเสียงดัง ทุกอย่างเร็วไปหมด”

 

เบสท์:  การเหยียบเบรกเกิดขึ้นตอนที่เรารู้สึกว่ามันเยอะไปแล้ว ผมใช้เวลาสิบนาทีนั่งสมาธิก่อนนอน ซึ่งต้องอาศัยการมีวินัย หรือเวลาขับรถก็จะไม่ฟังเพลง และโฟกัสกับข้างหน้า เราฝึกสติได้ตลอด ผมสนใจการทำสมาธิ แต่ไม่ใช่ชาวพุทธจ๋า ถ้าต้องการความสงบมากๆบางทีก็ไปเข้าคอร์ส ลี้จากเมืองไปเลย ไปอยู่ป่า ไปภูเขา

 

การฝึกความรู้สึกตัวช่วยได้เยอะมาก เช่น กำลังรู้สึกอะไร นั่งอยู่ท่าไหน เราปฏิบัติได้เลยในชีวิตประจำวัน ที่ทำบ่อยๆคือเวลาแปรงฟัน อาบน้ำ เรารู้ว่ามือกำลังสระผม แปรงฟัน ทำให้ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น เพราะปกติจะคิดไปเรื่อย ยิ่งทำงานสายครีเอทีฟจะเป็นพวกหัวโต คิดตลอด เราฝึกอยู่กับความเงียบบ้าง ถ้ามีอะไรเป็นตัวกระตุ้นขึ้นมา ความรู้ตัวมันจะทำงานอัตโนมัติว่า นี่เรากำลังโกรธมากนะ เราจะตอบสนองยังไงวะ ถ้าเมื่อก่อนจะไม่รู้ว่ากำลังโกรธ ไม่โกรธ แต่โต้กลับเลย

 

ความรู้สึกตัวเป็นกุญแจที่เปลี่ยนเราจากการทำทุกอย่างแบบอัตโนมัติ จากการตอบสนองตามประสบการณ์เก่าของเรา มาสู่การเลือกได้ว่าจะทำอย่างไร เราอาจเลือกทำแบบเดิมก็ได้ แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าเลือกเพราะอะไร พอทำไปเรื่อยๆ การตอบโต้ของเรากับคนอื่นจะเปลี่ยนไปเอง เราจะแยกได้ว่านี่เป็นเรื่องของเขานะ พอถอยออกมาได้จะทุกข์น้อยลง และมีทางเลือกในสถานการณ์นั้นมากขึ้น

 

ถามว่ารู้ตัวได้ตลอดไหม ก็ไม่ขนาดนั้น แต่ถือเป็นการปฏิบัติสำคัญที่ใช้กับชีวิตปัจจุบันได้จริง และช่วยเรื่องงานมากๆว่า เราจะไปไหนต่อดี ระหว่างที่เราวางเป้าหมายว่า ปีนี้เราอยากได้เงินเท่าไหร่ ทิศทางเป็นยังไง ฯลฯ การรู้สึกตัวจะอยู่ในทุกขั้นของชีวิตเลย

 

นัท:  คล้ายกันนะ ผมเป็นสายวิตกกังวล เป็นนักเชื่อมโยงนี่นั่นนู่น เป็นมนุษย์ที่ทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เคยคิดว่ามันเจ๋งมาก แต่จริงๆไม่ดีสักอย่างเลย กลัวพลาด กินข้าวอยู่ก็อดรับโทรศัพท์ไม่ได้ รับแล้วก็จำอะไรไม่ได้ ต้องกลับไปถามว่าเมื่อกี้คุยอะไรกัน เหมือนโลกพยายามให้เราทำทุกอย่างพร้อมกัน แต่เรารับไม่ได้ขนาดนั้น กลายเป็นทุกอย่างฉาบฉวยและวิ่งตามอัลกอริทึม คนทำงานโฆษณาจะเชื่อข้อมูลแบบนี้มาก แต่สุดท้ายมันคือเทรนด์ของ anxiety

 

ผมฝึกปิดโหมด multitasking  ฝึกการไม่รู้สึกผิดที่จะอยู่เฉยๆ เงียบๆ อยู่ตรงนี้แล้วทำอย่างเดียว ไม่ทำอะไรอย่างอื่น เหมือนคนอินวิ่ง ก็วิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องคิดเรื่องเส้นชัย ไม่ต้องใส่หูฟัง เดี๋ยวหูเราก็ตัดเสียงรบกวนให้เอง


 

ผู้เชื่อมโยงจุดต่างๆเข้าหากัน

 

“หากมองย้อนกลับไปในเส้นทางที่ผ่านมา เรามองว่าเราเป็นใครในโลกใบนี้”

 

เบสท์:  เห็นตัวเองเป็นสะพาน ทำให้คนไปเชื่อมกับคนอื่น และเชื่อมกับตัวเอง connect the dots ต่างๆ เรารู้สึกเหมือนโลกกำลังแยก แตกเป็นเสี่ยงๆ คนไม่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่เชื่อมโยงกับคนด้วยกัน ไม่เชื่อมโยงกับศาสนา กับครอบครัว กับตัวเอง หน้าที่เราคือคอนเน็กต์ให้คนกลับเข้าไปเชื่อมโยงกับจุดต่างๆ อย่างโลกร้อนก็คือเราไม่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เราเห็นว่าต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้

 

งาน “พาใจกลับบ้าน” คือการพาคนเชื่อมโยงกับตัวเองก่อน เราไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นเพราะไม่เชื่อมโยงตัวเอง เลยคิดว่าถ้าเราเชื่อมโยงกับตัวเองได้ ก็จะมีพื้นที่ที่เราเชื่อมโยงกับคนอื่นที่เห็นต่างได้ งานของเราคือเป็นคนสร้างสะพาน และออกแบบสะพาน

 

จริงๆทุกคนเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว แต่เพราะโลกช่วงนี้ไม่เชื่อมโยง เช่น เรื่องของเด็กที่โตมาในครอบครัวหนึ่ง วันหนึ่งเขาลุกไปยิงคนที่พารากอน เราไม่รู้หรอกว่า เราอาจโดนยิงก็ได้ ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด มีผลต่อกันหมดเลย เราไม่ได้อยู่คนเดียว เราอยู่กับคนแปลกหน้าที่จริงๆไม่แปลกหน้า เหตุการณ์สู้รบตรงนู้น ความตายตรงนั้น วิ่งมาหาเราในเสี้ยวนาที เราไม่เชื่อว่าเราจะรวยๆๆ แล้วเอาลูกไปอยู่ในสังคมดีๆ แล้วจะไม่เจอปัญหา เราจะเจอปัญหา เพราะสังคมมันกระทบกับเราไม่มากก็น้อย

 

ถ้าอยู่ในสังคม เราต้องดูแลสังคมนั้นด้วย การดูแลสังคมก็คือการดูแลตัวเอง เราดูแลตัวเองพร้อมดูแลสังคมของเราไปด้วย เช่น เพื่อน ญาติ พ่อแม่ หรือคนแปลกหน้าที่ผ่านพบกันครู่ยามหนึ่ง ในฐานะอายดรอปเปอร์ ฟิลล์ เราอยากสร้างชุดความรู้บางอย่างเพื่อเชื่อมโยงคนในสังคม

 

นัท:  เรามองว่าตัวเองเป็นทูต เราเรียกตัวเองว่าอยู่วงการไหนไม่ได้เลย แต่อยู่ทุกวงการ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร ไม่ได้เป็น Innovator ไม่ได้เป็น NGOs ไม่ได้อยู่วงการการศึกษาแต่ลงไปคลุกกับเรื่องนี้ ไม่ได้ทำหนังแต่ได้สุพรรณหงษ์ คือเรารู้หมดทุกอย่าง ทำได้หลายอย่าง และอยากเข้าไปทำงานเชื่อมให้คนมาเจอกัน

 

เบสท์:  เรามีความสุขทุกวันที่ได้ทำงานแบบนี้ แม้จะไม่รวยล้นฟ้า แต่เราได้ทำงานที่มีความหมาย เราใช้เวลาสิบกว่าปีจนถึงจุดที่เราได้ทำงานแบบที่เราอยากทำ และอยู่ได้จริง บริษัทที่ทำงานด้วยเขาไม่ได้เห็นแค่ทักษะของเรา หลังๆทักษะไม่จำเป็นเท่าวิสัยทัศน์ของเรา เช่นล่าสุด เราทำโปรเจ็กต์ขายบ้าน บริษัทไม่ได้มองว่าเราทำอะไรเก่ง แต่เห็นว่าเรามองอะไรคล้ายเขา เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมีคนทักษะเก่งๆเยอะมาก แต่สิ่งที่เราต่างคือการที่เรามองเห็นคุณค่าบางอย่าง และเพราะเราทำงานหนักมาเยอะว่า เราคือใคร

 


งานระยะยาวของชีวิต

 

เบสท์:  เรายังอยากเชื่อมคนให้เห็นเรื่องการเมือง ความเหลื่อมล้ำ สุขภาพจิต แม้เรื่องสุขภาพจิตดูเป็นเรื่องที่แยกออกมา แต่มันเกี่ยวกับทุกเรื่อง เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกของงานได้ แกนของเราคือพาคนเชื่อมโยงกับตัวเอง และพาไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ

 

ในเชิงธุรกิจ เราอยากให้ประเด็นนี้ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากใช้ด้วย ไม่ใช่ว่าทำแล้วจนมาก จนต้องเลิก เพราะมีช่วงหนึ่งเราเคยผ่านจุดแบบนั้นมา และคิดว่าไม่ใช่ทางที่จะทำได้ยาว 

 

เราอยากทำ “พาใจกลับบ้าน” ให้เข้าถึงคนกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่วัยรุ่นหรือชนชั้นกลางในเมือง อยากเข้าถึงคนแก่ คนที่อยู่ในความเหลื่อมล้ำ อยากให้เขารู้ว่าภาวะต่างๆที่เขามี สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจเขา มาจากสังคมที่มันป่วยหนัก แค่นี้ก็ใหญ่มากนะ อยากค่อยๆทำ ค่อยๆแตกโปรดักต์ เหมือนเราทำเมนูจานแรกแล้ว ต่อไปก็สร้างสรรค์เมนูอื่นต่อ 

 

นัท:  เราไม่อยากเป็นนักจุดพลุแล้ว งานคอมเมอร์เชียลอาศัยเราเป็นนักจุดพลุ จากนั้นจะมีคนขายสินค้าต่อ แต่งานทางสังคม เหมือนเราจุดพลุไปเรื่อยๆแล้วไม่มีใครทำต่อ อย่างที่เราทดลองในงาน “Connext Klongtoey” และ “School Town King” เราพาประเด็นไปได้ประมาณหนึ่ง แต่ลงเงินเป็นล้าน ใช้เงินบริษัทไปเกือบครึ่ง เลยมองว่าถ้าเราทำต่อ อย่างแรก เราต้องไม่เบียดเบียนตัวเองเกินไป สองคือเราจะขยายจุดไปเรื่อยๆ        

 

อย่างงาน “พาใจกลับบ้าน” ไปได้ดีกับกลุ่มเยาวชน แต่อีกกลุ่มที่สนใจงานนี้มากคือคนแก่ คนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูดเลย แต่มายืนดูกระดานเพราะอยากรู้ว่าคนรุ่นหลังคิดอะไร โกรธอะไร เครียดอะไร หาความสนุกได้จากอะไร

 

อีกประเด็นที่อยากทำเพิ่มใน “พาใจกลับบ้าน” คือ อยากชวนคนเขียนถึงสิ่งที่อยากให้คนอื่นช่วยแก้ นี่ประเด็นที่แยบคายนะ เพราะคือการร้องขอ และการยืนยันบางอย่าง บางทีเราแก้ปัญหาที่ตัวเองอย่างที่สุดแล้ว แต่ยังเหลือคือสิ่งควบคุมไม่ได้ที่มากระทบเรา อันนี้คนอื่นต้องเปลี่ยน ซึ่งอีกฝ่ายก็อาจไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ถ้าไม่มีใครบอก

 

หลายครั้งคนคิดว่าจิตวิทยาเป็นแค่เรื่องของการโอบกอดกัน แต่จริงๆมันมีมุมของความชัดเจนด้วย เรายืนยันบางอย่างเพื่อรักษาสุขภาพจิตตัวเอง ไม่ใช่ปลอบใจตัวเองไปเรื่อยๆ เราไม่อยากให้พื้นที่นี้เป็นแค่ยาแก้ปวด แม้พื้นที่ปลอดภัยอาจเป็นที่ให้ทุกคนได้อ้วก ได้ระบาย แต่เป้าหมายสุดท้าย เราอยากพาคนไปให้ถึงการจัดการต้นตอปัญหา ตอนเดินออกไป เขาจะรู้สึกว่ามีบางอย่างต้องทำงานต่อในชีวิต

 

 

ข้อความถึงคุณ

 

“ถ้าจะมีข้อความถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเคยทุกข์คล้ายๆเรา อยากส่งข้อความถึงใคร และบอกอะไรบ้าง”

 

เบสท์:  คิดถึงกลุ่มคนที่รู้สึกว่า พยายามเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที อายดรอปเปอร์ ฟิลล์ มาได้ถึงตรงนี้ไม่ใช่เพราะใคร แต่เป็นตัวเราเองสัก 90% เราสร้างโอกาสด้วยตัวเอง ไม่มีคอนเน็กชั่นส่วนตัวอะไรเยอะแยะ เราทำงานหนักในเชิงทักษะการทำงาน แต่เราต้องดูแลและหล่อเลี้ยงตัวเองด้วย ไม่งั้นเราจะทำงานๆ แต่มันพัง ซึ่งเราเคยทำแบบนั้นมาก่อน แล้วเห็นผลตอนวัยสามสิบห้าว่า ‘เฮ้ย ร่างกายไม่ไปแล้ว ความรู้สึกก็ไม่เอาแล้ว’

 

เราคิดว่าเด็กหลายคนที่ทำงานออกแบบอยากทำแบบเรามาก เรารู้ว่ามันยาก และอยากให้กำลังใจเขา อยากให้เขาไม่ลืมดูแลตัวเองด้วย ไฟแรงจัดๆบางทีมันก็เผาตัวเอง แล้วสังคมก็ทำให้เราแพ้ได้ตลอดเวลา

 

นัท:  คิดถึงคนสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนทำงาน ซึ่งคิดเหมือนเบสท์ เราทำงานตั้งแต่สิบปีก่อน ทำงานยาก ทำมากได้น้อยตลอด ทำไม่เหมือนคนอื่น ไม่ได้เป็นงานแมส แต่ก็ไม่ได้อินดี้ มันมีทางแบบนี้ให้ทำได้ เราคิดว่าคนทำงานสายเดียวกันอาจเห็นเรา อาจพอเอาเราไปเป็นแรงบันดาลใจได้บ้าง

 

กลุ่มที่สองคือพาร์ตเนอร์ของเรา คือคนทำงานประเด็นเดียวกัน อยากเติมพลังให้กันและกัน บางประเด็นมันจมมาก มันยากมาก เช่น นักกิจกรรมที่ทำงานกับคนชายขอบ คนชายขอบเป็นกลุ่มที่ไม่มีใครอยากฟังเขา แต่เขาสำคัญ ถ้าขาดเขาไปโลกก็รั่ว ถ้าเรารวยและมีแรง ก็อยากเติมพลังให้คนที่เป็นพาร์ตเนอร์มากขึ้น เรารู้ว่ามันเหนื่อย เหมือนวิ่งไปในที่มืด แต่เราอยากวิ่งไปด้วยกับเขา

 

กลุ่มที่สามคือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต คนที่มีปัญหากับระบบการศึกษา เพราะเราก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน เราเป็นผู้ร่วมชะตากรรม เราอยากเป็นเครื่องขยายเสียงให้เขา เราอยากพาคนที่เหมือนกันมาเจอกัน 

 



 

ฉันปิดสมุดคำถาม แปลกใจที่ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในนิทรรศการ “พาใจกลับบ้าน” พาฉันมานั่งคุยกับชายหนุ่มทั้งสองหลายชั่วโมง ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้ยินไม่ใช่แค่พาใจกลับบ้าน แต่คือการพาชีวิตทั้งชีวิตกลับสู่ความหมายที่สอดคล้องกัน ทั้งเสียงข้างในที่ตะโกนถามเขาทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งกับการงานภายนอกที่ดำเนินไป เมื่อสองสิ่งนี้เดินไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง เราก็หมดคำถาม

 

ก้าวทุกก้าวนั้นไม่ได้เรียบง่าย แต่ทุกความเจ็บปวด คือการเรียนรู้ที่พาให้แต่ละคนเป็นตัวเองในทุกวันนี้

 

ฉันกล่าวขอบคุณสองหนุ่ม ชวนถ่ายรูป ถามถึงโฮมออฟฟิศที่บรรยากาศผ่อนคลายของพวกเขา คุยถึงฉากในหนัง School Town King ที่ฉันประทับใจ และบอกลากัน

 

ระหว่างทางกลับบ้าน มือฉันไถมือถือเล่นอีกครั้งและอีกครั้ง มันเป็นนิสัยอัตโนมัติ จังหวะหนึ่งฉันเอามือถือลง ถอดหูฟังเก็บเข้ากระเป๋า และเดินขึ้นรถไฟฟ้าอย่างที่เดินเพื่อเดินเท่านั้น อยู่กับตรงนี้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดอะไร นั่งมองวิวที่วิ่งไปไม่หยุด รับรู้ว่าใบโลกนี้วิ่งเร็วเหลือเกิน และเสียงในหัวฉันก็ดังไม่แพ้กัน


Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page