top of page

ผศ.ดร.อรอร ภู่เจริญ อนาคตศาสตร์ x นโยบายสาธารณะที่มีจิตวิญญาณ กับพลังงานอันร่าเริง และการมุ่งตรงไปยังอนาคตที่เราออกแบบร่วมกัน

ผศ.ดร.อรอร ภู่เจริญ เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำให้เกิดสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันเกี่ยวกับศาสตร์นโยบายสาธารณะโดยตรงแห่งแรกของไทย ปัจจุบันอาจารย์เป็นผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ เป็นนักอนาคตศาสตร์คนสำคัญในคณะทำงานของ Asia Pacific Futures Network อาจารย์อุทิศชีวิตการทำงานให้งานด้านนโยบายสาธารณะมากว่า 20 ปี และยังคงก้าวเดินต่อไปในเส้นทางนี้อย่างแน่วแน่ ด้วยเชื่อมั่นว่า “นโยบายสาธารณะ” และ “สุขภาวะทางปัญญา” หรือ “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” เป็นเครื่องมือที่สามารถนำพาคนให้ตื่นรู้ และพาสังคมให้หลุดพ้นจากปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากได้


เรื่อง-ภาพ: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร





ทุกเรื่องตั้งแต่เกิดจนตายคือ “นโยบายสาธารณะ”

 

ดร.อรอร ภู่เจริญ อินโทรถึงความหมายของนโยบายสาธารณะให้ฟังว่า

 

“นโยบายสาธารณะ คือร่มใหญ่ของแนวทาง กฎเกณฑ์ กฎหมาย ระเบียบทั้งหมดของทุกระดับ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ เช่น นโยบายการใช้บิตคอยน์ การใช้คริปโตเคอร์เรนซีของไทย ก็ต้องอิงกับนโยบายของประเทศอื่นๆด้วย เป็นต้น  ทุกเรื่องในโลกนี้ ตั้งแต่เราตื่นมาจนเราตาย มันคือนโยบายสาธารณะทั้งหมด เพราะเราใช้ชีวิตเป็นส่วนรวม ไม่ได้อยู่ในถ้ำคนเดียวที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน ตราบใดที่พูดถึงกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน มันก็คือนโยบายสาธารณะ”

 

อาจารย์ขยายความว่า “เช่น น้ำดื่มที่บ้านเรามาจากไหน บางคนซื้อน้ำขวด บางคนต้มน้ำ บางคนติดเครื่องกรองน้ำ คำถามคือ จำเป็นไหมที่เราต้องซื้อน้ำดื่ม น้ำแต่ละหยดราคาเท่าไหร่ เป็นราคาที่เป็นธรรมกับเราหรือเป็นธรรมกับโลกใบนี้หรือไม่ แล้วคนประเทศอื่นเขาซื้อกันหรือเปล่า หรือดื่มจากก๊อกได้เลย การตั้งราคาน้ำ ใครทำ ทำอย่างไร การใช้น้ำตั้งแต่ดื่มจนถึงกดชักโครกเป็นนโยบายสาธารณะทั้งหมด”

 

“นี่แค่เรื่องน้ำนะ ลองคิดดู ในชีวิตเราข้องเกี่ยวกับเรื่องอีกมากมาย ไฟฟ้า ขนส่งสาธารณะ ถนนหนทาง ยานพาหนะ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ใครบริหาร ราคาเท่าไหร่ ควบคุมความปลอดภัยอย่างไร ควบคุมไม่ให้เอารัดเอาเปรียบกันอย่างไร เรื่องการศึกษา ใครควบคุมคุณภาพ ใครดูแลทิศทาง การแพทย์การรักษาพยาบาล ทุกเรื่องคือนโยบายสาธารณะ”

 

อาจารย์อธิบายต่อว่า “คนไทยเข้าใจเรื่องกฎหมาย แต่จริงๆแล้วกฎหมายเป็นส่วนย่อยของนโยบายสาธารณะ เพราะบางทีนโยบายที่ออกมาอาจไม่มีกฎหมายรองรับ อาจเป็นแนวปฏิบัติ เช่น ขอความร่วมมือ หรือคำขวัญก็ถือเป็นทิศทางของนโยบายสาธารณะ หรือข้อตกลงร่วมกันของชุมชนก็เป็นนโยบายสาธารณะเช่นกัน”



ทุกคนเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะได้

 

“นโยบายสาธารณะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องของทุกคน เสียดายที่คนส่วนใหญ่ได้ศึกษาเรื่องนี้น้อย เลยคิดว่าไม่เกี่ยวกับฉัน ทั้งที่จริงๆแล้วมันเกี่ยวทุกมิติ”

 

ดร.อรอร บอกว่านโยบายสาธารณะไม่จำเป็นต้องมาจากผู้บริหารหรือนักการเมืองเท่านั้น เราทุกคนสามารถสร้างนโยบายสาธารณะได้ด้วยตัวเอง

 

“ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ภาครัฐหรือกระทรวงที่รับผิดชอบยังขาดข้อมูล จึงตามสถานการณ์ไม่ทัน แต่ในภาคประชาชน เกิดสภาลมหายใจเชียงใหม่ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ มีกลุ่มนักวิชาการที่รวมตัวกันเพื่อบอกว่า เราใช้ PM 2.5 เป็นวิธีวัดความไม่ปลอดภัยของอากาศอีกขั้นหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ PM 10 ที่เราเข้าใจกันมา ในที่สุดกรมควบคุมมลพิษก็เปลี่ยนตัวมาตรฐานให้สอดคล้องกับหลักสากลมากขึ้น อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่ภาครัฐทำขึ้น แต่ภาคประชาชนและภาควิชาการช่วยกันรวบรวมองค์ความรู้และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

 

สำหรับใครที่อยากลงมือสร้างนโยบายสาธารณะด้วยมือของเราเอง ดร.อรอรแนะนำให้รวมตัวกับคนที่มีความปรารถนาหรือมีเป้าหมายเหมือนกัน จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน “หากลุ่ม หาชุมชน แล้วลองดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเรา ลองดูสิ ขยะเก็บเป็นเวลาไหม ถนนหนทางดีไหม เราได้รับบริการสาธารณสุขอย่างที่เราต้องการไหม เหล่านี้เราตั้งคำถามได้ตลอด อาจารย์ว่าการที่จะทำให้ประชาชนคนธรรมดานึกถึงเรื่องนโยบายสาธารณะ มันน่าจะมาเชื่อมกับความเป็นพลเมือง ถ้าคนยังไม่รู้สึกถึงความเป็นพลเมืองอย่างแท้จริง ก็จะอยู่แบบแล้วแต่ผู้บริหารประเทศ แล้วแต่ผู้นำสั่งมา ซึ่งเป็นภาวะที่นโยบายสาธารณะไม่ค่อยเบ่งบาน เพราะความเป็นพลเมืองของชุมชนหรือสังคมมีน้อย จะรู้สึกไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง ไม่มีอำนาจ ไม่มีหน้าที่ใดๆ”

 

เมื่อถามถึงหนทางที่จะทำให้ผู้คนตระหนักในความเป็นพลเมือง อาจารย์ตอบว่า “ต้องไปที่รากเหง้าของทุกเรื่อง หลายอย่างเป็นมายาคติที่เรายึดติดไว้และเปลี่ยนยาก เป็นความเชื่อมั่นถือมั่นคุ้นชินกับบางอย่าง หลายอย่างเป็นความกลัวเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีความแน่นอนและไม่คุ้นชิน เราจะกลับไปสู่สิ่งที่รู้แล้ว ถึงแม้สิ่งนั้นอาจไม่ดีที่สุด แต่เราก็ขออยู่กันแบบนั้น เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร”



นโยบายสาธารณะที่ดีต้องไม่ย้อนแย้งกับเป้าหมายของสังคม

 

“นโยบายสาธารณะที่ดี หรือ Sound Public Policy คือ นโยบายสาธารณะที่อยู่กับร่องกับรอย ไม่เรียกว่า good แต่เรียกว่า sound หมายถึงนโยบายที่ไม่ย้อนแย้งกับเป้าหมายที่แท้จริงของสังคม มีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงผลกระทบ ตัดสินใจบนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์หรือ Evidence based มีความเข้าอกเข้าใจผู้คนหรือ Empathy based มีฐานคิดที่ชัดเจน มีค่านิยมและคุณค่าที่ต้องการขับเคลื่อน ถ้าเป้าหมาย ค่านิยม ข้อมูลเชิงประจักษ์ และความเข้าอกเข้าใจผู้คนไม่ไปในทิศทางเดียวกัน จะเกิดความย้อนแย้งในตัวนโยบาย และเกิดปัญหาต่างๆตามมาเต็มไปหมด เราจึงต้องคำนึงถึง Sound Public Policy ให้มากขึ้น”

“หลักการที่ทีมอาจารย์ตั้งไว้ในการทำงานนโยบายสาธารณะคือ ต้องมีการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) คือคิดตั้งคำถามว่า Why ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เป็นการคิดเชิงวิพากษ์แบบถอนรากถอนโคน เช่น ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามว่าทำไมอากาศไม่บริสุทธิ์ ทำไม PM 2.5 ถึงสูง แต่ตั้งคำถามไปถึงโครงสร้างว่า เรามีโครงสร้างสังคมแบบไหนที่ทำให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ โครงสร้างเป็นสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเห็นได้ยากถ้าเราไม่เคยตั้งคำถาม”

 

ดร.อรอร กล่าวถึงความตั้งใจว่า “ปณิธานของอาจารย์และทีมคือ อยากให้ประเทศไทยมีศาสตร์นโยบายสาธารณะและมีการศึกษาเรื่องนี้กันมากขึ้น ทั่วโลกมีหลักสูตร Public Policy ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาเรื่องนี้ คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร จึงทำให้ไม่มีส่วนร่วม เราควรมีศาสตร์นี้ในทุกมหาวิทยาลัย คนที่จะเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผน หรือคนที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะทุกคน ต้องผ่านศาสตร์นี้มาระดับหนึ่ง”



อนาคตศาสตร์กับการสร้างนโยบายสาธารณะ

 

“สิ่งที่ทีมอาจารย์คิดนอกจาก Critical Thinking แล้ว ก็มี Futures Thinking คือการคิดเชิงอนาคต ซึ่งตอนนี้มันมีความเป็นศาสตร์ขึ้นมา เพราะมีการศึกษาวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้พูดคุยถึงอนาคต มีชุดองค์ความรู้และชุดเครื่องมือหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการคุยประเด็นไหน ตอนนี้มีกลุ่มคนเยอะมากที่นำมาใช้ เกิดเป็นเครือข่ายอนาคตศาสตร์สากลระดับโลก ในไทยก็มีหน่วยงานต่างๆที่ขับเคลื่อนเรื่องอนาคตศาสตร์ด้วยกัน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงการคลัง” ดร.อรอร เล่าถึงบทบาทของสถาบันนโยบายสาธารณะในการเป็นหน่วยงานวิชาการที่ส่งต่อความรู้ด้านอนาคตศาสตร์ สร้างความเข้าใจ และขยายการรับรู้ให้องค์กรและภาคส่วนต่างๆของสังคม เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างนโยบายสาธารณะร่วมกัน

 

สิ่งที่นักอนาคตศาสตร์ทำคือ การมองปัจจุบันอย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วจินตนาการว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เป็นวิสัยทัศน์ที่พุ่งไปข้างหน้า และจับจ้องในสิ่งที่จะทำเพื่อไปให้ถึงอนาคตที่ต้องการ





อนาคตเปลี่ยนได้ ถ้าเราตื่นรู้ถึงจิตสำนึกของตนเองและสังคม

 

“สิ่งสำคัญของอนาคตศาสตร์ คือการยอมรับตัวตนทั้งของตนเองและสังคม ในแนวคิดของ ‘ภาวะตื่นรู้’ หรือ Consciousness นั้น การรับรู้หรือจิตสำนึกขององค์รวมเกิดจากการรับรู้หรือจิตสำนึกของปัจเจก มีแนวคิดที่รวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันอย่างแยบยล คือ Integral Futures Framework เป็นการวิเคราะห์อนาคตแบบบูรณาการ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นเรื่องปัจเจก-ภายใน ปัจเจก-ภายนอก ส่วนรวม-ภายใน และส่วนรวม-ภายนอก ถ้าเราวิเคราะห์ทั้ง 4 ส่วนนี้เราจะเห็นความเชื่อมโยงของอนาคตที่เป็นไปได้และพึงอยากให้เป็น สรุปคือเป็นการเชื่อมโยงภายใน-inner กับภายนอก-outer”

 

“อนาคตศาสตร์มองถึงระดับรากลึก ระดับโครงสร้าง และลึกลงไปอีกคือระดับความเชื่อ ระดับ Worldview หรือมุมมองต่อโลกซึ่งเกี่ยวข้องกับเรา รวมถึงวาทกรรมที่สืบทอดกันมา เป็นประเพณีที่อยู่ลึกมาก จับต้องไม่ได้ ถ้าไม่พูดถึงชัดๆ ก็จะไม่เห็นหรือไม่รู้สึกเลยด้วยซ้ำ”

 

อาจารย์ยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้เห็นภาพว่า “เช่น บทบาทของผู้หญิง ถ้าเราดูบนภูเขาน้ำแข็ง เราอาจไปนับจำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้นำ ซีอีโอในบริษัท นักวิทยาศาสตร์ แล้วเราก็จะเห็น เอ๊ะ... ทำไมผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย แต่พอลงใต้ภูเขาน้ำแข็งถึงในระดับโครงสร้าง อาจมีอะไรบางอย่างในสังคมที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถไต่เต้าขึ้นเป็นผู้บริหารได้เท่าผู้ชาย อาจเป็นโครงสร้างเกี่ยวกับการได้ตำแหน่ง เช่น ต้องออกต่างจังหวัดจึงจะเลื่อนขั้นได้ ถ้าเราลงใต้ภูเขาน้ำแข็งว่าทำไมผู้หญิงเดินทางไม่สะดวก จะได้เห็นโลกทัศน์ เช่น ผู้หญิงเชื่อว่าต้องอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ดูแลลูก ลงใต้ภูเขาน้ำแข็งไปอีกจะพบว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกมองว่าอ่อนแอกว่า หรือต้องรับผิดชอบความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือตีความว่าเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่มีความเป็นแม่ หรือทางศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์มองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่เป็นบาป ทำให้เห็นเบื้องลึกข้างล่างที่ตอบโจทย์เราได้ว่า ทำไมไม่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ นี่คือวิธีคิดของอนาคตศาสตร์”

 

“ถ้าอยู่ในเวทีพูดคุย อาจารย์จะถามผู้หญิงว่า มองบทบาทของตัวเองยังไง ย้อนแย้งกับสิ่งที่อยากเป็นไหม เคยมีโอกาสเปิดใจกับตัวเองไหมว่า จริงๆแล้วอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเป็นอะไร แต่ต้องมาเป็น อันนี้เป็นการตั้งคำถามแบบอินเนอร์ ซึ่งมันเชื่อมโยงกับ Spiritual Health สุขภาวะทางปัญญา สุขาวะทางจิตวิญญาณ การที่เราสามารถกะเทาะตัวตนที่ปลอมออกไปได้ทีละเปลาะๆ จนถึงข้อที่เป็นตัวตนที่แท้จริงให้ได้เพื่อเห็นตัวตนที่แท้จริงของเราโดยไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆที่หล่อหลอมเรามา”

 

อาจารย์ยังเพิ่มเติมอีกว่า การจะกะเทาะตัวตน หรือการลงไปสำรวจสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามกับสิ่งที่เผชิญอยู่จนคุ้นชิน

 

“อาจารย์จัดมาหลายเวทีแล้ว คนที่ไม่เคยสำรวจอินเนอร์ของตัวเอง ไม่เคยทำอินเนอร์เวิร์กของตัวเองและของสังคม พอให้วิเคราะห์ใต้ภูเขาน้ำแข็งอย่างบทบาทผู้หญิงที่ยกตัวอย่างไป เขาไปต่อไม่ได้เลย เพราะเขาไม่เคยแม้กระทั่งฉุกคิดเลยว่า ที่เป็นอยู่นี้ควรตั้งคำถามไหม แม้การคิดว่าควรตั้งคำถามไหม เขาก็ไม่เคยคิดจะตั้งคำถามกับมัน”



ทำงานกับชีวิตภายในตนเอง

 

เมื่อถามถึงวิธีฝึกอินเนอร์เวิร์กของอาจารย์อรอร ก็ได้คำตอบว่า “อาจารย์มองว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health) เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาวะทางจิต (Mental Health) คือเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า grounded คือความรู้สึกหนักแน่น รู้ตัวรู้ตน ภาวะตื่นรู้ ภาวะที่จับได้ตลอดว่าเราคิดอะไร ทำอะไร ในหัวเรามีเสียงอะไรบ้าง เราจะทำไปเพื่ออะไร แสดงออกอย่างไร เป็นการฝึก Spirituality Emotional Health ผ่านทางจิตวิทยา”

 

“Spiritual Health เป็นวิธีการหรือเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราตระหนักถึงความเชื่อมโยงของตัวเรากับจักรวาลตลอดเวลา พูดง่ายๆเหมือนเรามีสติอีกขั้นหนึ่ง แล้วเราก็จะสามารถรับมือหรือตัดสินปัญหาต่างๆในชีวิตได้อย่าง sound คืออยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น ไม่ผิดหวังในตัวเองภายหลังกับเรื่องราวต่างๆที่ทำหรือเลือกจะทำ”

 

“อาจารย์ฝึกด้วยแนวจิตวิทยา มีศาสตร์รองรับชัดเจน มีทฤษฎี แล้วก็ฝึกไปเรื่อยๆ เช่น เรื่อง 3 คอนเซ็ปต์ คือ Inner child, Projection และ Ego  Inner child คือเด็กในตัวเรา ตอนเป็นเด็กเราอาจได้รับการเลี้ยงดูแบบที่ทำให้เข้าใจบางอย่างผิดไป เช่น เราร้องไห้แล้วถูกบอกว่าอ่อนแอ ต้องเข้มแข็ง เด็กเข้มแข็งเท่านั้นถึงจะดี ห้ามร้องไห้นะ นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆที่ทำให้เรากดทับตัวเอง ซึ่งจริงๆการร้องไห้เป็นอาการทางกายที่ปกติ แต่เด็กคนนั้นจำมาตลอดว่าฉันไม่ควรร้องไห้ ทำให้พอโตอายุ 30, 40, 50 ปี นอกจากจะไม่ร้องไห้แล้ว ยังอาจลืมการร้องไห้ไปเลย หรือไปออกฤทธิ์ออกเดชในรูปแบบอื่น ที่น่ากลัวที่สุดคืออาการโกรธ เพราะเป็นอาการที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคม เช่น การติดยาเสพติด พนันออนไลน์ สิ่งเหล่านี้มักเกิดจากอารมณ์โกรธที่ค้างในใจ”

 

“Projection คือตัวเราที่เรายังไม่ยอมรับ ลองนึกถึงใครที่ทำให้เรารำคาญ เช่น รำคาญจังเลย ทำไมถึงชอบมาสายและขี้นินทา ถ้าเรามีความปะทุร้อนแรงขึ้นมากับพฤติกรรมแบบนี้ของคนอื่น แทบจะ 100% สิ่งนั้นคือตัวเราที่เรายังไม่ยอมรับ คือเราเองก็มาสายและขี้นินทา”

 

“ส่วน Ego ก็คือตัวเรานี่แหละ ที่สร้างพฤติกรรมขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวตนที่แท้จริงของเรา มีพฤติกรรมที่ตัวเองก็ไม่ชอบ แต่เราก็ทำไป ต้องดูอีโก้ของตัวเอง และดูเหตุผลที่แท้จริงว่าอีโก้มาจากไหน ปกป้องอะไรอยู่ แล้วเราก็ค่อยกะเทาะเขาออกไป อีโก้เราจะได้ลดน้อยลง”

 

นอกจากนี้ อาจารย์ยังแชร์วิธีที่อาจารย์ทำทุกคืนก่อนนอนด้วย นั่นคือการระลึกขอบคุณ 3 สิ่ง จะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรืออะไรก็ได้ ฟรีสไตล์ไร้กรอบขอบเขต เช่น ขอบคุณกลิ่นหอมของกาแฟที่ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น ขอบคุณแอร์เย็นๆที่ช่วยเราในวันนี้ที่อากาศร้อนมาก เป็นต้น

 

เรารู้เคล็ดลับที่ช่วยฝึกความรู้สึกขอบคุณเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงจากภายในแล้ว คืนนี้ เริ่ม!!!



อนาคตศาสตร์ที่มีมิติจิตวิญญาณ ลายแทงสู่สังคมอุดมคติ

 

“สุขภาวะทางปัญญา หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ช่วยให้เราไม่กลัวสิ่งที่ไม่แน่นอน” อาจารย์อรอรค่อยๆเชื่อมโยงเส้นทางตื่นรู้ของปัจเจกไปสู่การตื่นรู้ร่วมกันของสังคม

 

“ประเทศไทยต้องค่อยๆแกะภาวะของความกลัวอนาคต และตื่นรู้ที่จะรับรู้สิ่งที่เป็นอยู่อย่างแท้จริง ถ้าเทียบกับเรื่องทรอม่าหรือบาดแผลทางใจของคน มันก็มีทรอม่าของสังคมด้วย ถ้าเรายอมพูดเรื่องทรอม่าระดับสังคมอย่างตรงไปตรงมา ยอมรับให้มันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง ยอมเห็นความจริงจริงๆ เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกคน การมองคนเป็นคน ยอมรับกันด้วยความรัก ความปรารถนาดี อาจารย์ว่าจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างพื้นที่ของความเป็นพลเมือง”

 

“ยกตัวอย่างทรอม่าร่วมของไทย เช่น เรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นบาดแผลทางใจที่มีอยู่ทุกวันมาสิบกว่าปีแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสมัยใหม่ ก็เป็นความทรงจำสมัยใหม่ที่เราไม่ได้ตื่นรู้ร่วมกัน ถ้าเราเอาตรงนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของความจริงได้ ก็จะเกิดการปลดล็อกร่วมกัน ยอมรับ และช่วยกันก้าวข้าม ก็อาจช่วยให้คนไทยโดยรวมมีวิวัฒนาการในการมองสังคมและสร้างกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น”

 

การยอมรับและไม่กลัวความไม่แน่นอนของอนาคตนี้เอง คือจุดเชื่อมโยงของสิ่งที่ลึกที่สุด คือมิติทางจิตวิญญาณของบุคคลและสังคม สิ่งที่ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมากที่สุด คือนโนบายสาธารณะ และความสามารถในในการกำหนดทิศทางของตัวเราและสังคม คืออนาคตศาสตร์

 

“อนาคตศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ช่วยให้เราวิเคราะห์อนาคต และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้อย่างไม่กลัว อนาคตศาสตร์ไม่ใช่การทำนายอนาคต แต่เป็นการยอมรับความไม่แน่นอนของอนาคต กวาดสัญญาณต่างๆ แล้วคิด สำรวจความเป็นไปได้ของอนาคตแบบต่างๆ จินตนาการเผื่อไปได้เลย เช่น มี 100 ฉากทัศน์นี้ที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้วางใจ ไม่ตกใจกลัวหรือกังวลเกินเหตุ กลัวอนาคตน้อยลง และมีความพร้อมต่อความไม่แน่นอนของอนาคต”

 

“ถ้าเอาอนาคตศาสตร์กับมิติทางจิตวิญญาณมาผนวกให้ลงรอยกันดีๆ จะช่วยขับเคลื่อนจิตสำนึกสาธารณะ คือขับเคลื่อนสติปัญญาในระดับจิตวิญญาณของส่วนรวมให้ไปด้วยกันได้ไกลกว่านี้ และไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน”

 

ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยประกายแห่งความหวัง อาจารย์อรอรบอกว่า “อนาคตศาสตร์ที่มีมิติจิตวิญญาณจะมองทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด มันจะรอบด้านมากขึ้น ถ้าเราตื่นรู้ แล้วใช้อนาคตศาสตร์เข้ามาทำงาน ประเทศไทยอาจกลายเป็นสังคมอุดมคติไปได้เลยนะ ทุกคนมีความรักเอื้ออาทร เข้าใจเพื่อนมนุษย์บนพื้นฐานของการตื่นรู้ ให้อภัย มันน่าจะช่วยให้เราสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงได้”

 

“ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม ถ้ามีคนที่เข้าใจเรื่องสุขภาพจิต บวกกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และบวกกับอนาคตศาสตร์ มาจัดการปัญหายาเสพติด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การค้าประเวณีเด็ก การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ อาจารย์ว่าปัญหาใหญ่ๆในสังคมจะถูกแก้อีกแบบหนึ่งเลย ทุกวันนี้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ด้วยการกดทับซ้ำลงไป ใช้ความรุนแรงแก้ความรุนแรง เป็นความเข้าใจผิดเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ ทำไมเขาถึงค้ามนุษย์ ทำไมเล่นพนันออนไลน์ ติดยาเสพติด ทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว เรากำลังเผชิญปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างอยู่ ต้องค่อยๆชี้ให้เห็น ให้สังคมตื่นรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเรามองแบบองค์รวมจริงๆ เรื่องสุขภาวะทางปัญญากับนโยบายสาธารณะน่าจะเป็นเครื่องมือได้”

 

“เรื่องที่อาจารย์อยากเน้นคือ ไม่อยากให้สังคมเข้าใจว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องการเข้าวัดเข้าวา ไม่เชื่อมโยงกับปัญหาจริงๆในปัจจุบัน ไม่ใช่นะ อาจารย์มองว่าสิ่งนี้เป็นทางออกของการหลุดพ้นจากปัญหาปัจจุบัน ทั้งลงลึกเชิงโครงสร้าง เชิงความเชื่อ มุมมองต่อโลก ทั้งเชิงการสำรวจอินเน่อร์ตัวเองจริงๆข้างในว่า เราขับเคลื่อนด้วยความเชื่อหรือความกลัวอะไรภายในของเรา ซึ่งส่งผลให้ภายนอกเราก็เป็นเช่นนั้น สรุปคือมีความหวังมากว่า เราน่าจะช่วยกันขยายผลขยายเรื่องราวเหล่านี้ไปได้อีกเรื่อยๆ”





ชวนกันพิสูจน์ความจริง

 

เมื่อถามถึงความต่างของนโยบายสาธารณะที่มีและไม่มีมิติจิตวิญญาณ อาจารย์อรอรให้คำตอบว่า

 

“อาจารย์ว่าการเป็นนักนโยบายสาธารณะที่ตื่นรู้ กับไม่ตื่นรู้ น่าจะส่งผลมากกับการคิดวิธีแก้ปัญหาของเขา อาจารย์อยากทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ตรงนี้มากเลย เปรียบเทียบคนที่มีภาวะตื่นรู้ เข้าใจ แยกแยะ รู้จักอารมณ์ของตัวเอง มาวิเคราะห์นโยบาย และหาทางออกกับนโยบายเรื่องหนึ่ง กับอีกคนหรืออีกกลุ่มที่ไม่เคยคิดเชิงวิพากษ์ ไม่เคยคิดเรื่องอินเนอร์อะไรเลย อาจารย์เชื่อว่าสองกลุ่มนี้จะออกแบบนโยบายสาธารณะต่างกันมาก กลุ่มที่ไม่มีภาวะตื่นรู้น่าจะมองแบบผิวเผิน แยกส่วน กลุ่มที่มีน่าจะมองได้ลึกซึ้งกว่า เพราะมองแบบองค์รวมและเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งได้ดีกว่า น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ออกแบบนโยบายได้เหมาะสมกว่า”

 

“อาจารย์คิดว่าถ้าไม่มีทักษะด้านจิตวิญญาณ อาจไม่ควรเป็นนักนโยบายสาธารณะนะ” อาจารย์อรอรปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

 

ถ้างานวิจัยชิ้นนี้ปรากฏขึ้นจริง เราอาจได้ข้อพิสูจน์สำคัญของนโยบายสาธารณะที่มีและไม่มีมิติจิตวิญญาณ และวันนั้น เราจะเปิดบทสนทนากับอาจารย์อีกครั้ง

 


ติดตามงานประชุมของเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ Asia Pacific Futures Network Conference ในวันที่ 4-5 กันยายน 2567 นี้ ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.asiapacificfutures.net/  

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page