top of page

ชวนกันเติมมิติจิตวิญญาณในการทำงานวิจัย ปีที่ 2

การขับเคลื่อนการทำงานวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณในปีที่ 2 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการด้วยเวิร์กชอป “การอบรม Spirituality Workshop สู่โครงการพี่เลี้ยงร่วมพัฒนางานวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณ” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี เมื่อ 21-22 มีนาคม ที่ผ่านมา


แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร รายงาน




กลุ่มนักวิจัยสวนสรรค์ ปันปัญญา x Homemade 35 x ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีผู้เข้าร่วม 26 คน จาก 11 คณะ 10 มหาวิทยาลัย รวมถึงสำนักวิชาการ สถานพยาบาล และองค์กรอิสระ ที่พาตัวและหัวใจมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างงานวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณ โดยมี ดร. สมสิทธิ์ อัสดรนิธี (อ.หมู) และดร.สิรินันท์ นิลวรางกูร (อ.กุ๊กไก่) จาก Homemade35 และ ดร.อริสา สุมามาลย์ (อ.เหมียว) ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ และจะเป็นพี่เลี้ยงในการร่วมพัฒนางานวิจัยที่มีจิตวิญญาณร่วมกับนักวิจัยต่อไป

 

บรรยากาศการพบกันเต็มไปด้วยความคึกคัก ครึกครื้น และไหลลื่น เพราะนักวิจัยกลุ่มใหม่ได้เจอกันมาก่อนแล้วทางออนไลน์ และเพิ่มดีกรีความครื้นเครงเมื่อนักวิจัยที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานในปีแรกมาร่วมสานต่องานและเข้าร่วมเวิร์กชอปนี้ด้วย

 

ความตั้งใจร่วมกันของผู้เข้าร่วมคือ การมาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในงานวิจัยและหน้างานของตัวเอง และสิ่งที่ได้มากกว่าความตั้งใจ คือการต่อยอดประสบการณ์กับเพื่อนมิตรจากพื้นที่ทำงานหลากหลาย เช่น ในวงย่อยวงหนึ่ง มีทั้งวิสัญญีแพทย์ สูตินรีแพทย์ นักกิจกรรมสังคม และอาจารย์ผู้คร่ำหวอดงานวิจัย ได้จุดประกายความคิด เกิดไอเดีย เห็นแนวทางสร้างงานวิจัยชิ้นใหม่ จนคนในวงอดตื่นเต้นไม่ได้ “เดี๋ยวก็ได้งานแล้ว เพราะความรู้อยู่ตรงนี้... ขอขิงไว้ตรงนี้นะคะ” อาจารย์ท่านหนึ่งสะท้อนความสุขที่เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากผู้เข้าร่วมวงใหญ่





ถอดบทเรียนการทำงานปีที่ผ่านมา

 

หลังจากการเชื่อมโยงกันแบบข้ามศาสตร์แล้ว น้องๆเฟรชชี่ (ที่อาจมากอาวุโสกว่าพี่ๆปีแรก) ได้ร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ของนักวิจัยปีแรกใน 4 ประเด็นคือ

 

1. การนำมิติจิตวิญญาณไปใช้ในงาน

โดยเกิดการพัฒนาการฟัง การสนทนา การบันทึก เชื่อมโยงมิติสังคม รู้เนื้อรู้ตัว เห็นตัวเอง เกิดการพัฒนาเชิงลึก เกิดพลังชีวิต และตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในหน้างานได้

 

2.  ความประทับใจหรือประโยชน์ที่ได้รับ

ได้เห็นงานวิจัยหลากหลาย เช่น แม่มด กลุ่มเพศหลากหลาย เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคม เห็นระเบียบวิธีวิจัยใหม่ๆ ได้ฮีลใจจากการทำวิจัย เรื่อยไปจนถึงเกิดการเชื่อมโยงสัมพันธ์ของกลุ่มคน แลกเปลี่ยนเครื่องมือและประสบการณ์ มีกลุ่มหรือสังฆะที่ทำให้อุ่นใจไม่เคว้งคว้าง เกิดเครือข่ายแม่มดที่มีทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กวัยมัธยม เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องนามธรรมที่อธิบายโดยวิทยาศาสตร์

 

3. ข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานวิจัยที่มีจิตวิญญาณ

- สนับสนุนให้ตีพิมพ์บทความในฐานวารสาร Scopus

- สนับสนุนให้จัดทำวารสารงานวิจัยทางจิตวิญญาณที่รองรับหลากหลายศาสตร์โดยมีมิติจิตวิญญาณเป็นแกน

- ประชุมวิชาการเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาหรืองานประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ต่อเนื่องและถี่ขึ้น

- หาทุนสนับสนุนและหาภาคีเครือข่าย

- ถอดบทเรียนความเป็นมิติจิตวิญญาณ และถ่ายทอดความเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้คนทำงานที่ไม่ได้ร่วมเวิร์กชอปได้เรียนรู้และนำไปใช้ได้ด้วย

 

4. ข้อแนะนำสำหรับทีมทำงาน

  • อยากให้นำกระบวนการทำวิจัยของแต่ละคนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนมากขึ้น และมีการบูรณาการในกลุ่มนักวิจัยศาสตร์เดียวกันและแบบข้ามสาขาให้มากขึ้น

  • อยากให้ขยายพื้นที่การเรียนรู้ไปภูมิภาค เพราะในท้องถิ่นมีประเด็นจิตวิญญาณจำนวนมาก

  • อยากได้รับทุนสนับสนุน เพราะโครงการมีความน่าเชื่อถือ และมีคนช่วยขัดเกลาแก้ไขให้งานมีคุณภาพมากขึ้น

  • มีแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสื่อสารกันเป็นชุมชน และอัปเดตงานและความรู้ใหม่ๆที่น่าสนใจ เช่น เฟซบุ๊กกลุ่มปิด การทำ Reading group แบ่งปันหนังสือกัน

  • ในการทำงานร่วมกัน อยากให้มีการติดตามความคืบหน้าของงานวิจัยอย่างเป็นระบบ และมีกำหนดส่งงานแต่ละขั้นเพื่อให้งานคืบหน้าตามเป้าหมาย





เรียนรู้การเข้าถึงความจริงหลากระดับ

 

ในช่วงการเติมแนวคิดและทักษะของงานวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณ อาจารย์หมูบรรยายถึง “ความจริงระดับต่างๆ” ตั้งแต่ชั้นที่เป็นรูปธรรม ชั่งตวงวัดได้ หรือที่เป็น “วัตถุวิสัย” ต่อด้วยระดับ “ตรรกะ” ที่ใช้ความคิด ความเป็นเหตุเป็นผล ไม่มีความรู้สึกเข้ามาเจือปน ตามด้วยระดับ “ความหมาย” ที่มองถึงคุณค่า ความรู้สึก เข้าสู่ระดับ “ความงาม” ซึ่งเป็นความจริงที่ลึกลงไปอีกขั้น และก้าวสู่ความจริงอันเป็นแก่นแกนลึกที่สุด เป็นความจริงที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆเป็นองค์รวมแบบไม่แบ่งแยก คือระดับ “จิตวิญญาณ” โดยแต่ละระดับมีภาษา ไวยากรณ์ และวิธีการเข้าถึงความจริงของตัวเอง ทำให้เราสามารถมองเห็นพื้นที่ความจริงอันหลากหลาย อยู่ที่ผู้วิจัยจะเลือกยืนตรงจุดไหน จากนั้นเป็นการให้เครื่องมือการทำวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณ

 

1. ฟังอย่างลึกซึ้ง

ช่วงท้ายวันแรก อาจารย์หมูและอาจารย์เหมียวชวนผู้เข้าร่วมฝึกขยายพื้นที่การฟัง โดยจับคู่ฟังกันและกันเพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างการฟังปกติและการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังทั้งเสียงที่ได้ยินและเสียงที่เงียบงัน เพราะบ่อยครั้ง ความเงียบนั้นดังกว่าเสียงที่เปล่งออกมาเสียอีก นักวิจัยสามารถนำทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งนี้ไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานวิจัย รวมทั้งนำไปปรับใช้และผสมผสานกับเครื่องมืออื่นๆ โดยต้องไม่ลืมการรู้เท่าทันและหมั่นเช็คอคติของตนเองด้วย

 

2. ภาวนาเพื่อความว่าง

วันที่สอง อาจารย์หมูพาฝึกการภาวนาร่วมกัน เพื่อฝึกการกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นการคลายล็อกของการติดอยู่ในความคิดหรือความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงในระดับลึก ความว่างภายในที่เกิดขึ้นจากการจางคลายสิ่งที่ติดยึดช่วยเปิดพื้นที่ของการเข้าสู่ความจริงระดับจิตวิญญาณ โดยใช้กายและใจตนเองเป็นภาชนะที่เปิดกว้างและพร้อมรองรับสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง

เช้านี้หลายคนสะท้อนตรงกันว่า เมื่อวางความคิดได้ จะเข้าใจและทำสิ่งต่างๆได้ผลลัพธ์ดีกว่าเดิม เห็นประโยชน์ของการอยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน ไม่กังวลกับอดีต อนาคต หรือเรื่องอื่นๆ บางคนเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นจากการการบ้านการเขียนสะท้อนตนเอง (Self-reflection) ขณะที่บางคนเห็นอคติของตนในการฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง

 

3. เปิดสัมผัสทั้งหมด

อาจารย์กุ๊กไก่นำทางผู้เข้าร่วมฝึกเปิดประสาทสัมผัสเพื่อรับรู้ความจริงทั้งภายนอกและภายในอย่างต่อเนื่องด้วยเครื่องมือจากวิทยาศาสตร์แบบเกอเธ่ (Goethean science) ที่บอกว่า “มนุษย์เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา” จึงเกิดแนวทางศึกษาธรรมชาติ ทั้งคน สัตว์ ต้นไม้ แสง สี เมฆ และแร่ธาตุ ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ การอยู่กับประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างแท้จริงแบบเป็นปัจจุบัน ทำให้เกิดความว่างภายใน และการมองเห็นความจริงจะบังเกิด สิ่งนี้เป็นพื้นฐานให้รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นำมาพัฒนาต่อเป็นแนวคิดมนุษยปรัชญา

ผู้เข้าร่วมได้ฝึกเปิดหู ตา และกายสัมผัส จากการรับรู้สัมผัสของแขนและมือตนเอง หัวใจที่กำลังเต้น มองแบบไม่มีโฟกัส (soft gaze) เอามือป้องหูเพื่อรับเสียงจากทิศทางต่างๆ แล้วเดินออกไปฟังเสียงธรรมชาติภายนอก จับคู่และผลัดกันเล่าว่า “ฉันเป็นคนยังไง” โดยให้ใช้ทุกประสาทสัมผัสเพื่อรู้จักเพื่อน เอามือมาใกล้กัน วางมือลงบนมือเพื่อน ลองสัมผัส จับมือเพื่อน ทุกคนรู้สึกถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจนและตรงกันว่า การสัมผัสกันทำให้ใจเราเปิดกว้าง รับรู้ และยอมรับคนตรงหน้าได้มากขึ้น และความเป็นเนื้อเป็นตัว (embodiment) ของเรานั้นส่งผลต่อคู่สนทนาตรงหน้า และส่งผลเชื่อมโยงถึงคนในห้องทั้งหมด

 

4. ตั้งคำถาม

อาจารย์หมูบอกว่า การเปิดที่ว่างเพื่อให้ความเข้าใจปรากฏขึ้น ทำให้เรารู้จักคนตรงหน้ามากกว่าการตั้งหน้าตั้งตาถามไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้คู่สนทนาพร้อมและตั้งใจเล่าออกมาเอง ถึงตอนนั้น สิ่งดีๆจะออกมามากกว่าคำถามที่เราเตรียมมาด้วยซ้ำ

แนวทางการสัมภาษณ์เชิงลึกคือ Brief -- กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ, Open -- เปิดให้คู่สนทนาได้เล่า, Honest --  การถามที่จริงแท้กับคู่สนทนา อยากรู้จักเขาอย่างแท้จริง โดยหวังผลที่ได้ในระดับลึก ผ่านข้อสรุปหรือความคิด อารมณ์ความรู้สึก ลงไปถึงระดับตัวตนหรือการดำรงอยู่ของคู่สนทนา

คำถามปลายเปิดที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย เช่น ชอบอะไร ให้คะแนนความเป็นเป็ดของตัวเองกี่คะแนน ยังรู้สึกกังวลเรื่องลูกอยู่ไหม รวมถึงใช้อิริยาบถหรือท่านั่งในการพูดคุยที่ทำให้คู่สนทนาเปิดใจ รู้สึกว่าผู้ถามตั้งใจฟังและอยู่กับเราจริงๆ





เตรียมไปต่อด้วยกัน


ในช่วงท้าย ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนกันในกลุ่มคนทำงานวิจัยหัวข้อใกล้เคียงกัน แบ่งเป็นกลุ่มแพทย์ กลุ่มละคร/สื่อ กลุ่มอาจารย์ และกลุ่มสังคม/การศึกษา ก่อนจะเช็คเอาต์ที่เป็นเสียงของความความรู้สึกที่เหมือนพรของความรักและความเบิกบานร่วมกัน

“เหมือนเปิดหนังสือบทใหม่ของชีวิต”

“ได้กัลยาณมิตรและการเรียนรู้ใหม่ๆเสมอ”

“ขอเดินทางต่อด้วยกัน”

“ได้ปิ๊งแว๊บจากวง”

“สิ่งที่คิดและที่หวังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และจะนำไปผลักดันต่อไป”

“ความหวังเปล่งประกายชัดขึ้น”

“บรรยากาศในวงทำให้รู้สึกเติบโตและแข็งแรงขึ้น”

“ทำให้มีแพชชั่นในการก้าวออกจาก ‘พื้นที่ระหว่าง’ ที่ไม่เคยก้าวข้ามได้”

“เป็นพื้นที่อบอุ่นของชุมชนความเป็นมนุษย์ มีพื้นที่ของการกลับมาเชื่อมโยงกับข้างใน และพร้อมเป็นอีกเสียงที่ทำให้แนวทางนี้ชัดเจนขึ้น”

“งานวิจัยที่อยู่ในหัวเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เป็นรูปธรรมมากขึ้น”

“มิติจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการ อยากไปต่อและทำงานด้านนี้มากขึ้น”

“มั่นคงกับเส้นทางที่จะเดินมากขึ้น”

“การทำวิจัยคือชีวิต คือการใช้ชีวิต เห็นความเคลื่อนบางอย่างของวง มีพลังงานที่เบิกบาน”

“อยากเห็นความเชื่อมโยงขององค์ความรู้ ผู้ปฏิบัติงาน และขยายผลให้เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคม”

“สร้างผลกระทบในวงกว้าง ดีใจที่เกิดงานนี้ และยืนหยัดในเรื่องนี้”

“เห็นดาวและแสงเปล่งประกายเต็มไปหมด เอาใจช่วยในการทำงานวิจัย”

“วงนี้มีค่าเพราะมีทุกคนมาอยู่ที่นี่ด้วยกัน”

“เห็นเพื่อนเติบโตเเล้วใจฟู รู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมเติบโต สร้างชุมชนที่มีการแบ่งปัน เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ เห็นหนทางเข้าสู่พื้นที่ว่างในตนเอง ยอมรับตัวเองและเคารพในสรรพสิ่ง”

ความมุ่งมั่นที่จะทำงานวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณ และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ ทักษะ และกระบวนการทำวิจัยเพิ่มเติม ถือเป็นสัญญาใจระหว่างผู้เข้าร่วมและทีมพี่เลี้ยงในการเดินหน้าสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณ เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการทำงานวิจัย โดยมีนัดหมายพบกันครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคมนี้

ผู้สนใจติดตามข่าวสารเพิ่มเติมจาก “สวนสรรค์ปันปัญญา” ชุมชนแห่งการวิจัยที่มีมิติจิตวิญญาณ ได้ที่ เพจจิตวัฒน์ และ Homemade 35

 


ขอขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้ จาก

- ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

- คณะครุศาสตร์ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

- คณะแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

- คณะศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรดนตรีบำบัด บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

- วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต

- คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

- คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

- สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

- โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

- สภาลมหายใจ เชียงใหม่

- เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ (T-HAT)

Comentários


Os comentários foram desativados.
bottom of page