แม้ดูเหมือน “อาณาจักร” และ “ศาสนจักร” จะแยกขาดกันในการปกครองของประเทศต่างๆทั่วโลก แต่ ดร.เอโดอาร์โด ออนกาโร (Edoardo Ongaro) ผู้เขียนหนังสือ “Religion and Public Administration” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่ผ่านมา กลับชวนเราสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการบริหารรัฐกิจที่พบได้ทั่วไปในยุโรป และชวนคิดถึงหน้าตาของนโยบายสาธารณะเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม
จิตวิวัฒน์ชวนส่องงานเสวนาน่าสนใจ ที่จัดโดยสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา -- Policy Seminar “Religion and Public Administration” โดย ดร.เอโดอาร์โด ออนกาโร อาจารย์ด้านการบริหารรัฐกิจ จาก Open University ประเทศอังกฤษ
รายงานโดย ภาณุพัธ ชาตตระกูล นักวิจัยสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภูมิหลัง
ดร.เอโดอาร์โด ออนกาโร (Edoardo Ongaro) นักวิชาการชาวอิตาเลียน จบการศึกษาขั้นสูงในอิตาลี ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ London School of Economics and Political Science (LSE) และได้ปริญญาเอกจาก King's College London เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรวิชาการ เช่น เป็นประธานของ European Group for Public Administration (EGPA) ช่วงปี ค.ศ. 2013-2019 ทำให้เห็นช่องว่างในการบูรณาการวิชามนุษยศาสตร์และการศึกษาศาสนาเข้ากับการวิจัยการบริหารรัฐกิจ ปัจจุบัน ดร.ออนกาโร อยู่ที่อังกฤษ และมีบทบาทสำคัญในสมาคมวิชาการหลายแห่ง รวมถึง Academy of Social Sciences และ Joint University Council of the Applied Social Sciences
บูรณาการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สู่การบริหารรัฐกิจ
งานวิจัยช่วงแรกของ ดร.ออนกาโร เน้นการเปรียบเทียบการปฏิรูปการบริหารรัฐกิจของประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และกรีซ ซึ่งพบว่า บริบทที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรม การเมือง และวิธีบริหารของประเทศต่างๆนั้น มีผลต่อการปฏิบัติและผลลัพธ์ของการบริหารรัฐกิจ ความเข้าใจนี้ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงศาสตร์ 3 ศาสตร์เข้าด้วยกัน คือ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ (โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับศาสนา) และนโยบายสาธารณะ เพื่อร่วมกันสร้างความเข้าใจต่อเรื่องการบริหารรัฐกิจ
ดร.ออนกาโรกล่าวว่า ขณะที่สังคมศาสตร์ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าแต่ยังไม่เพียงพอ มนุษยศาสตร์สามารถเสนอข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ จริยธรรม ค่านิยมทางวัฒนธรรม รวมทั้งมุมมองทางปรัชญาและศาสนาของผู้คน การบูรณาการมุมมองเหล่านี้เข้ากับการบริหารรัฐกิจ จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการปฏิบัติที่มีความอ่อนไหวต่อวัฒนธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลากมิติความสัมพันธ์ของ “ศาสนา” และ “การทำงานภาครัฐ”
ดร.ออนกาโร ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจากวารสารภาษาอังกฤษในช่วง 60 ปี ตั้งแต่ปี คศ.1960- 2020 ในกลุ่มวารสาร 3 ประเภท คือ นโยบายสาธารณะ ธุรกิจและการบริหาร และรัฐศาสตร์ เพื่อค้นหาว่า มีการกล่าวถึงศาสนาในบริบทของการบริหารรัฐกิจอย่างไรบ้าง
ผลการวิจัยพบว่า มีบทความวิชาการ 67 บทความที่ศึกษาประเด็นนี้ โดยจัดหมวดหมู่การศึกษาได้เป็น 10 กลุ่ม คือ
บทบาทของศาสนาในการสร้างความสอดคล้องระหว่างค่านิยมส่วนบุคคลกับวัฒนธรรมองค์กร (Person-Organization Fit)
ความเชื่อศาสนาที่มีผลต่อแรงจูงใจในการทำงานบริการสาธารณะ (Religion and Public Service Motivation)
ความเชื่อทางศาสนาและพฤติกรรมการตัดสินใจในการจัดการงานภาครัฐ (Religious Beliefs and Public Manager Behavior)
ผลของศาสนาต่อดุลพินิจของข้าราชการระดับแนวหน้าและการปฏิสัมพันธ์กับประชาชน (Religious Influence on Bureaucratic Discretion)
บทบาทและผลกระทบขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนา และองค์กรที่มีพื้นฐานทางศาสนาในการบริหารรัฐกิจ (Faith-Based Organizations)
การแก้ไขความซับซ้อนและพลวัตของการจัดสรรทุนสนับสนุนแก่องค์กรทางศาสนา (Public Funding of Religious Organizations)
การประเมินการมีส่วนร่วมของชุมชนทางศาสนาในการส่งเสริมความสามัคคีในท้องถิ่น (Faith-Based Leadership in Local Governance)
การประเมินบทบาทของศาสนาในการเป็นพื้นฐานของความชอบธรรม ความรับผิดชอบ และอำนาจในการบริหารรัฐกิจ (Religion as a Source of Legitimacy)
ผลกระทบทางจริยธรรมและการมีส่วนร่วมของความเชื่อทางศาสนาในการบริหารรัฐกิจ (Ethics and Religion)
อิทธิพลของศาสนาต่อค่านิยมสาธารณะ และการนำค่านิยมเหล่านั้นไปใช้ในนโยบายสาธารณะ (Religious Influence on Public Values)
อิทธิพลของศาสนาต่อการบริหารรัฐกิจ
จากข้อค้นพบดังกล่าว ดร.ออนกาโร ได้สรุปกรอบแนวคิดที่ระบุถึงอิทธิพลของศาสนาต่อการบริหารรัฐกิจ ใน 3 ประเด็นหลัก คือ
อิทธิพลต่อระบบบุคลิกภาพ (Personality System) คือการที่ศาสนากำหนดรูปแบบบุคลิกภาพของบุคคล ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของพวกเขาในบทบาทการบริหารรัฐกิจ อิทธิพลนี้ครอบคลุมถึงค่านิยม จริยธรรม และแรงจูงใจที่ขับเคลื่อนการให้บริการสาธารณะ
อิทธิพลในการเป็นแหล่งแนวคิด (Ideational Source) โดยศาสนาเป็นที่มาของแนวคิดและกรอบจริยธรรมที่มีผลต่อนโยบายสาธารณะ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และจริยธรรมของการบริหารรัฐกิจ
อิทธิพลต่อพฤติกรรมสาธารณะ (Public Behavior) หมายรวมถึงการกำหนดพฤติกรรมและกระบวนการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐด้ว
โดยบริบทของศาสนาที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ จะนำไปสู่อิทธิพลที่แตกต่างกันต่อการปฏิบัติในการบริหารรัฐกิจ
การบูรณาการศาสนาและการบริหารรัฐกิจเข้าด้วยกัน
ดร.ออนกาโร นำเสนอกรณีศึกษาหลายกรณี ที่พบการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรศาสนาและภาครัฐ เช่น
องค์กรที่มีพื้นฐานทางศาสนาในบริการสังคม (Faith-Based Organizations in Social Services) พบว่า องค์กรเหล่านี้มักเติมเต็มช่องว่างการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ โดยนำความเชื่อทางศาสนามาทำงานให้บริการชุมชน หากรัฐเข้าใจบทบาทขององค์กรเหล่านี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงาน
อิทธิพลของศาสนาต่อนโยบายการศึกษาของภาครัฐ (Religious Influence on Public Education Policies) พบว่า ความเชื่อทางศาสนาของผู้ปกครองมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลานและการเลือกโรงเรียน ส่งผลต่อการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ และความต้องการเข้าโรงเรียนทางศาสนา
ศาสนาและสาธารณสุข (Religion and Public Health) พบว่า องค์กรศาสนามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ การรณรงค์ฉีดวัคซีน และการให้บริการสุขภาพ โดยเฉพาะในชุมชนที่ขาดแคลน
ทิศทางการวิจัยในอนาคต
ดร.ออนกาโร กล่าวถึงประเด็นที่ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและการบริหารรัฐกิจ เช่น
- บทบาทของความเชื่อทางศาสนาในการกำหนดรูปแบบการนำสาธารณะ (Religion and Public Leadership)
- ผลกระทบของค่านิยมทางศาสนาต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร (Religion and Well-being in the Workplace)
- คำสอนทางศาสนาที่ส่งเสริมการปกครองที่ไม่ใช้ความรุนแรง (Religion and Non-Violence Approaches to Governance)
- ค่านิยมทางศาสนาที่มีผลต่อค่านิยมสาธารณะและบริบททางวัฒนธรรม (Religion and Public Value)
สรุป
ดร.ออนกาโร สรุปโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับศาสนา เข้ากับการวิจัยและการศึกษาด้านการบริหารรัฐกิจ เขาให้เหตุผลว่า ความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจต้องการข้อมูลเชิงลึกจากทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยพิจารณามิติทางวัฒนธรรม จริยธรรม และศาสนาร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้นักวิชาการและผู้ปฏิบัติการสามารถพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติที่มีความอ่อนไหวต่อวัฒนธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้แนวนี้แก้ไขปัญหาการบริหารรัฐกิจในปัจจุบันได้ ซึ่งเขายังสนับสนุนให้มีการสำรวจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างศาสนาและการบริหารรัฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการวิจัยและความร่วมมือระหว่างสาขาวิชา
Comments