top of page

รีวิวหนังสือ Man’s Search for Meaning | ในความทุกข์สาหัส ทำไมบางคนเลือก “อยู่ต่อ” และบางคนเลือก “จากไป”วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล ตอบคำถามนี้ไว้ใน“ชีวิตไม่ไร้ความหมาย (Man’s Search for Meaning)”

หนังสือ: Man’s Search for Meaning. Viktor Emil Frankl. 1985. Simon and Schuster.

แปลไทย: ชีวิตไม่ไร้ความหมาย. นพมาส แววหงส์. 2558. โซเฟีย.


รีวิว: มัสลิน ศรีตัญญู




มนุษย์เฝ้าวนเวียนหาคำตอบของคำถามหนึ่งมาแสนนาน “เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” มันอาจเกิดขึ้นในช่วงที่ต้องเลือกทางเดินชีวิต หรือเผชิญกับวิกฤตที่ยากข้ามผ่าน และคำตอบที่ได้ล้วนแตกต่างไปตามเรื่องราวชีวิตแต่ละคน  จิตวิวัฒน์ขอชวนอ่าน “ชีวิตไม่ไร้ความหมาย” (Man’s Search for Meaning) ของวิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล หนังสือเล่มเล็กๆที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดเพียง 1 ปี หนังสือเล่มนี้ส่งเสียงบอกเราอย่างเข้มข้นว่า มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานในการแสวงหาความหมายให้ชีวิต และหากไม่พบความหมายที่ว่า เราก็อาจไม่เห็นค่าที่จะอยู่ต่อไป

         

หนังสือเล่าถึงชีวิตผู้เขียน ซึ่งเป็นจิตแพทย์ชาวยิวที่ถูกคุมขังในค่ายกักกันของนาซี 4 แห่ง นาน 3 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันน่าสยดสยอง และเป็นกรณีตัวอย่างของทฤษฎี “โลโกเทอราปี” ที่เชื่อว่า มนุษย์มีชีวิตอยู่เพื่อแสวงหาความหมาย

 

หมอฟรังเคิลเริ่มจากการเล่าถึงประสบการณ์ในค่ายกักกัน ที่ความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนเหลือเป็นเพียงวัตถุหรือสัตว์เดรัจฉานที่ไม่เหลือคุณค่าภายในใดๆ เขาสังเกตว่า สภาพจิตใจของนักโทษแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกจะช็อกกับสิ่งที่เจอ และอาจมีหวังเล็กๆว่าจะได้รับการปล่อยตัว แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ นักโทษจะเข้าสู่ความเฉยชา ซังกะตาย ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตัวในภาวะที่ต้องสัมผัสความทุกข์ตลอดเวลา คิดถึงอาหารตลอด เพราะมีภาวะขาดอาหารอย่างถึงที่สุด ส่วนช่วงหลังจากที่นักโทษถูกปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว พวกเขาจะเผชิญภาวะ “บุคลิกวิปลาส” (depersonalisation) หรือที่เรียกกันว่าโรคบุคลิกภาพแตกแยก หรือโรคสองบุคลิก คือไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเป็นความจริงหรือความฝัน เกิดความบิดเบี้ยวทางศีลธรรม ความขมขื่น และอาการตาสว่างจากภาพลวง ซึ่งคือการพบว่า สิ่งที่เคยเฝ้าฝันและตั้งตารอคอยมาตลอดกลับไม่มีอยู่จริง เช่น หวังว่ามีครอบครัวรออยู่ที่บ้าน แต่เมื่อกลับถึงบ้านก็พบว่าไม่เหลือใครอยู่เลย เป็นต้น

 

นักโทษที่ถูกกดขี่ข่มเหงจนแทบไม่เหลือเศษซากความเป็นมนุษย์ และอยู่ในภาวะเฉยชาซังกะตายแบบมีชีวิตไปวันๆ ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องต่อสู้กับความคิดที่จะฆ่าตัวตาย บางคนยอมแพ้ แต่บางคนกลับเลือกทนอยู่กับความทุกข์ต่อไป นี่เป็นประเด็นสำคัญที่หมอฟรังเคิลค้นพบ คือมนุษย์เราไม่จำเป็นต้องยอมจำนนต่อสถานการณ์บีบคั้นเสมอไป เรามีเจตจำนงเสรีที่จะเลือกมอง เข้าใจ และให้ความหมายกับความทุกข์ที่เผชิญ

 

“มนุษย์สามารถเอาชนะความเฉยชาและอดกลั้นต่อความไม่สบายกายไม่สบายใจได้ มนุษย์สามารถรักษาเศษซากของเสรีภาพทางจิตวิญญาณ และเศษซากของความเป็นไทในความรู้สึกนึกคิด แม้กระทั่งในสภาพการณ์ที่เลวร้ายของความกดดันทางจิตและทางกายแบบนั้นได้

 

“วิธีที่พวกเขาทนต่อความทุกข์ทรมานเป็นความสำเร็จภายในอย่างแท้จริง เสรีภาพทางจิตวิญญาณที่ไม่มีใครแย่งไปจากพวกเขาได้นี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายและมีจุดประสงค์

 

“หากว่าชีวิตจะมีความหมายใดๆก็ตาม มันต้องมีความหมายอยู่ในความทุกข์ ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่กำจัดทิ้งไม่ได้ เช่นเดียวกับชะตากรรมและความตาย หากปราศจากความทุกข์และความตาย ชีวิตย่อมขาดความบริบูรณ์”

 

ด้วยสายตาของจิตแพทย์ หมอฟรังเคิลเห็นว่า คนที่รอดชีวิตไม่ใช่คนที่มีร่างกายบึกบึน แต่เป็นคนที่รู้ว่าจะทนทุกข์ไปทำไม เป็นคนที่มีความหวังในอนาคต มีคนรักที่อยากเจอ หรือมีสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จหลังได้รับอิสรภาพ ส่วนคนที่ไม่สามารถหาความหมายจากความทุกข์ที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุดจะเลือกจบชีวิตตัวเอง เขาจะไม่ยอมลุกออกไปทำงานไม่ว่าจะถูกบังคับแค่ไหน หรือหากป่วยก็ไม่ยอมรักษา นั่นเป็นสัญญาณที่หมอเห็นว่าเขายอมจำนนกับชีวิต และจะตายในอีกไม่ช้า บางคนแขวนคอตัวเอง หรือวิ่งเข้าใส่รั้วลวดหนามไฟฟ้า

 

“นักโทษที่สูญเสียศรัทธาในอนาคตย่อมหมดหนทางรอด เมื่อเขาสูญสิ้นความเชื่อในอนาคต เขาก็สูญเสียการยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณด้วย

 

“ลักษณะเฉพาะของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่มองไปสู่อนาคต... นี่คือหนทางอยู่รอดของคนเราในเวลาที่อัตตาเผชิญความยากลำบากที่สุด ถึงแม้ว่าบางครั้งต้องฝืนใจทำก็ตาม”

 

สำหรับหมอฟรังเคิลเอง ในภาวะที่รู้สึกทุกข์ยากเกินจะทน จากร่างกายที่ขาดอาหาร ความเจ็บปวดจากหิมะกัดเท้า ความเหนื่อยจากการใช้แรงงาน และการถูกกดขี่อย่างทารุณและไร้เหตุผล เขาใช้การพูดคุยกับภรรยาในความคิดของตัวเองบ่อยๆ ทำให้เขารู้ชัดว่า ความรักเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย

 

“มนุษย์จะรอดพ้นได้ก็ด้วยความรักและยามอยู่ในห้วงรัก ผมเข้าใจว่า คนที่หมดสิ้นทุกสิ่งในโลกก็ยังรู้จักความสุขได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อได้คิดถึงคนที่เขารัก”

 

การปล่อยจินตนาการให้โลดแล่นกลับสู่ความทรงจำในอดีต หรือบางครั้งการได้ชื่นชมความงดงามของวิวทิวทัศน์ ก็ช่วยสะกดให้เขาลืมความทุกข์ระทมไว้ชั่วขณะ ช่วงที่ต้องทนทรมานจากพิษไข้รากสาดใหญ่ เขาก็เอางานเขียนที่ถูกยึดไปกลับมาเรียบเรียงใหม่ในหัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำให้สำเร็จหลังได้รับอิสรภาพ และสิ่งสำคัญคือการมีอารมณ์ขันกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ ซึ่งทำให้เขาผ่านคืนวันที่ยากลำบากมาได้ และมีกำลังใจอยู่ต่อไปแต่ละวัน

 

ค่ายกักกันยังเผยให้เห็นเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งมืดและสว่าง “คาโป” หรือนักโทษที่เป็นหัวหน้าคุมนักโทษอีกทีนั้นเลวร้ายที่สุด คอยกดขี่ข่มเหงคนที่อยู่ต่ำกว่า ขณะที่นักโทษบางคนคอยปลอบประโลมเพื่อน และสละอาหารให้แม้อยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารถึงที่สุด แม้คนพวกหลังจะมีน้อยกว่าพวกแรก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ก็ยังมีเสรีภาพในการเลือกว่าจะเป็นเทวาหรือซาตาน

 

“ในห้องทดลองที่มีชีวิตและสถานที่ทดสอบแห่งนี้ ผมเฝ้าดู และมองเห็นสหายบางคนทำตัวเหมือนหมูเหมือนหมา ขณะที่บางคนทำตัวเหมือนนักบุญ มนุษย์เป็นไปได้ทั้งสองด้าน ด้านไหนจะกลายเป็นจริงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เขาเผชิญ”

 

ส่วนหลังของหนังสืออธิบายถึงทฤษฎี “โลโกเทอราปี” (Logotherapy) หรือจิตบำบัดที่ทำให้ค้นพบความหมายของชีวิต ทฤษฎีนี้เชื่อว่า การแสวงหาความหมายเป็นแรงขับขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่การแสวงหาความสุข อย่างที่ซิกมันด์ ฟรอยด์เชื่อ หรือแสวงหาอำนาจ อย่างที่อัลเฟรด แอดเลอร์มุ่งเน้น และความหมายของชีวิตนี้เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ

 

หมอฟรังเคิลบอกว่า เราสามารถพบความหมายในชีวิตได้ 3 ทาง ได้แก่

  1. การสร้างงานหรือกระทำการใดๆ

  2. การประสบพบเห็นบางสิ่งหรือบางคน ได้แก่ การพบความดี ความจริง ความงาม หรือพบความรัก ที่ทำเห็นคุณลักษณะและศักยภาพในคนที่เรารัก และช่วยส่งเสริมให้เขาบรรลุศักยภาพนั้นได้

  3. การเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความทุกข์ที่เราเลี่ยงไม่ได้ เช่น การสูญเสียคนรัก การเป็นมะเร็ง เป็นต้น 

 

จากประสบการณ์ในค่ายกักกัน หมอฟรังเคิลเน้นการแสวงหาความหมายจากความทุกข์เป็นพิเศษ แม้ว่าตัวเขาเองแทบจะไม่เหลืออะไรอยู่เลยแม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ และอยู่ในสถานการณ์ความทุกข์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การเห็นคุณค่าความหมายของชีวิตที่ไม่อาจมีอะไรมาทดแทนได้ เป็นความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้กับความทุกข์ยากทั้งปวง

 

ในยามที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ที่มากมายจนเกินทน และดูเหมือนไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องทนทุกข์อีกต่อไป แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง แทนที่จะวิ่งหนีหรือพยายามขับไล่มัน ความทุกข์กลับเป็นประตูเปิดสู่กระบวนการแสวงหาและตอบคำถามถึงความหมายของชีวิต ทำให้เราเข้าใจคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของตัวเราเอง ของสิ่งที่เราทำหรือเป็น และเป็นวาบสว่างของความสุขสงบ ที่ช่วยให้เรามีเรี่ยวแรงเผชิญสถานการณ์ที่ยากเกินทน และค่อยๆพาเรากลับสู่ความปกติของชีวิตที่มีเสรีภาพทางจิตวิญญาณ ที่ใครก็พรากไปจากเราไม่ได้

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page