top of page

สุขภาพองค์รวม (Holistic Health) คืออะไรและมีผลต่อการปฏิรูประบบบริการสุขภาพอย่างไร

เรื่องเล่าจากชีวิตติดเตียงหนึ่งเดือนในโรงพยาบาลศิริราช ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ที่ความทุกข์สาหัสจากโรคหัวใจและโรคซึมเศร้าถูกทำความเข้าใจ และถ่ายทอดเป็นบทเรียนสำคัญให้สังคม

 

จิตวิวัฒน์ชวนอ่านบทความชิ้นแรกหลังท่านออกจากโรงพยาบาล และเริ่มต้นเขียนอีกครั้ง เป็นการเขียนกลางมรสุมความซึมเศร้า การจำยอมเผชิญ และพบความจริง


ประเวศ วะสี




นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ พยายามส่งเสริมให้โรงพยาบาลชุมชนซึ่งเป็นสถาบันฐานแผ่นดินไทยมีสมรรถนะในด้านต่างๆ อย่างหนึ่งคือสามารถวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวม (Holistic Health)

 

“การบูรณาการสู่ความเป็นองค์รวม” น่าจะสำคัญที่สุดในทุกเรื่อง ไม่ใช่การคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน ซึ่งนำไปสู่การเสียสมดุลและวิกฤต

 

สุขภาพบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด จึงกล่าวว่า “สุขภาพคือทั้งหมด” (Health is the whole)

 

ฉะนั้น Holistic Health จึงอยู่ที่เราสามารถพัฒนาเรื่องของสุขภาพสู่ความเป็นทั้งหมดได้มากหรือน้อย แน่นอนว่าคงมีปัจจัยที่เรายังไม่รู้อีก แต่ก็จะรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากประสบการณ์และการสังเกต

 

..........

 

เมื่อเร็วๆนี้ผมมีประสบการณ์ในการเป็นคนไข้อยู่ในไอซียูโรคหัวใจที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นเวลาเดือนกว่า ทำให้ได้พบบางสิ่งบางอย่างที่น่าจะเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ

 

ผมได้รับการรักษาจากแพทย์ที่เก่งที่สุด พยาบาลที่ดีที่สุด และด้วยเครื่องมือที่ดีที่สุด

 

แต่การที่ผมถูกแยกตัวจากสภาวะเดิมที่คุ้นเคยมาอยู่ในห้องแยกคนเดียว นอนดูนาฬิกาและฝาผนัง กินอาหารโรงพยาบาลที่ผมไม่คุ้นเคย ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่ทำให้การรักษาได้ผลไม่ตรงตามคาดหวัง

 

หมู่แพทย์เห็นกันว่า mood หรืออารมณ์น่าจะเป็นเหตุ จึงอนุญาตให้ภรรยาเข้ามาเยี่ยมคราวละหลายชั่วโมง จากตามปกติที่อนุญาตครั้งละ 10 นาที อารมณ์ก็ดีขึ้น

 

แต่อย่างไม่รู้ตัว เจ้าอารมณ์ที่ว่านี้ได้กลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ที่ผมวินิจฉัยได้เอง

 

ตามปกติจิตใจผมไม่เคยซึมเศร้า มีจิตใจที่มีความสุข

 

ผมเริ่มสังเกตว่า ในตัวมีความทุกข์ที่อธิบายไม่ได้กระจายอยู่ทั่วตัว และรุนแรงโดยปราศจากเหตุทางกาย

 

ผมจับได้ว่า ผมไม่สามารถรวบรวมความคิดเป็นหนึ่งเดียว มันฟุ้งกระจาย

 

ผมจับได้ว่า คนปกติสามารถรวบรวมความคิดเป็นหนึ่ง หรือ Harmony ของกระแสความคิด เหมือนวงดนตรีที่เครื่องเล่นทุกชิ้นเล่นเพลงเดียวกัน เพลงอันไพเราะ คนฟังมีความสุข

 

แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าความคิดฟุ้งกระจาย รวมความคิดไม่ได้ เป็นการสิ้นความสุขอย่างรุนแรงทั้งเนื้อทั้งตัว ความรุนแรงเช่นนั้นทำให้คนไข้ทนไม่ได้ และฆ่าตัวตาย

 

เราอาจเขียนเป็นภาพได้เป็น

“การรวมตัวไม่ได้ของความคิดจากโรคซึมเศร้า” ที่ปลายข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นความทุกข์สุดๆ

มี “ความคิดของคนปกติธรรมดา” อยู่ตรงกลาง

และ “การมีสติและสมาธิ” อยู่อีกปลายอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นความสุขสุดๆ

เพื่อให้เข้าใจสภาวะอารมณ์ของผู้ป่วย และลดอารมณ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและการรักษา

 

..........

 

ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในที่อันเป็นสัปปายะของเขา

 

คือบ้าน ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม การรักษาจะง่าย หายเร็ว

 

ผมเคยพบคนไข้ในโรงพยาบาล เป็นไข้ไม่รู้สาเหตุ พอกลับบ้านไข้ก็หายไป

 

ผมพบคนไข้เด็กสาวคนหนึ่งเป็น acute asthma อาการหนัก บอกคนไข้ว่า หมอจะรับหนูไว้ในโรงพยาบาล แทนที่จะดีใจ เด็กบอกว่า คุณหมออย่าให้หนูอยู่โรงพยาบาลเลย เพราะตอนเป็นมากจะไม่มีใครช่วย ถ้าอยู่บ้าน แม่ยังกอดหนูไว้

 

คุณหมออพภิวันท์ ภรรยาหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เคยเล่าถึงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งจากภาคอีสาน เป็นมะเร็งมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับเคมีบำบัดอย่างดี แต่ก็ไม่มีความสุข พอกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน มีผู้คนมาช่วยเหลือมากมายทั้งแพทย์ไทย จีน ชาวบ้าน พระที่วัดให้เธอบวชชี แล้วใช้การปฏิบัติธรรมทำให้เธอมีความสุขอย่างเต็มเปี่ยม นี่คือการรักษาในฐานวัฒนธรรม

 

ควรมีการศึกษาวิจัยการหายของโรค เทียบระหว่างเมื่อคนไข้อยู่ในสถานพยาบาลกับอยู่ในวัฒนธรรมของเขา และอาจเกิดความรู้ที่นำมาสู่การรักษาแบบ “ใกล้บ้านใกล้ใจ” ซึ่งราคาถูกกว่า ได้ผลดีกว่า

 

ส่วนโรคซึมเศร้า อาจมีหลายดีกรีและสาเหตุหลากหลาย ถ้าผู้รักษาใส่ใจความรู้เรื่องนี้ จะช่วยแก้ทุกข์ของผู้ป่วยได้อย่างสำคัญ

 

..........

 

เรื่องที่ผมเล่า อาจเป็นส่วนหนึ่งของ Holistic Health หากโรงพยาบาลชุมชนสามารถเป็นสถาบันวิจัยเรื่อง Holistic Health น่าจะทำให้เราพบความจริงเกี่ยวกับสุขภาพองค์รวม และการรักษาทำได้ผลมากขึ้นอีกมาก

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page