top of page

รีวิวบทความ Toward a Fourth Turning of Buddhism | เคน วิลเบอร์ ชี้ จุดเปลี่ยนใหญ่ของพุทธศาสนา "การบูรณาการวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ"

“จิตวิวัฒน์” ชวนอ่านความเห็นเกี่ยวกับพุทธศาสนาล่าสุดของเคน วิลเบอร์ (Ken Wilber) นักทฤษฎีบูรณาการ (Integral Theory) คนสำคัญของโลก ในบทความ “Toward a Fourth Turning of Buddhism” เขากล่าวถึงโอกาสที่พุทธศาสนาจะวิวัฒน์ใหญ่ครั้งที่ 4 และจะกลายเป็นศาสนาแห่งอนาคต


เขียน: มัสลิน ศรีตัญญู

อ่านบทความ “Toward a Fourth Turning of Buddhism” ฉบับเต็มได้ที่:


3 สายธารจุดเปลี่ยนพุทธธรรม เถรวาท มหายาน วัชรยาน


เคน วิลเบอร์ศึกษาวิวัฒนาการของพุทธศาสนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขาพบว่าศาสนาพุทธมีกระบวนการใคร่ครวญและวิวัฒนาการตัวเองอยู่เสมอ ดังเห็นได้จากแนวคิดเกี่ยวกับหลักพุทธธรรมที่มีจุดเปลี่ยนหรือพัฒนาการสำคัญ 3 ครั้ง แต่ละครั้งก็ก้าวข้าม หลอมรวม และเพิ่มเติมของใหม่เข้ากับของเดิม (transcended and included) ทำให้พุทธศาสนาเติบโตและมีวิวัฒนาการอย่างไม่ขาดสาย ผ่านกระบวนการไตร่ตรองใคร่ครวญในพุทธปรัชญาดั้งเดิมและคลี่คลายไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น


วิลเบอร์เล่าถึงกงล้อพระธรรมที่หมุนครั้งแรกเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจ 4 คือความจริงของชีวิตอันเป็นทุกข์และหนทางออกจากความทุกข์สู่นิพพานอันสงบเย็น ซึ่งเป็นแก่นคำสอนหลักในนิกายเถรวาท


ราว 700 ปีต่อมา พุทธศาสนาเผชิญจุดเปลี่ยนใหญ่ครั้งที่ 2 เมื่อพระนาคารชุน นักพุทธปรัชญาสำนักมาธยมิกะนิกายมหายาน กล่าวถึง “สุญญตา” หรือความว่าง ท่านสงสัยในความเป็นทวิภาวะของสังสาระและนิพพาน (หรือรูปและความว่าง) และพบว่าความจริงสูงสุดไม่มีสภาวะที่แบ่งแยก พุทธภาวะเป็นทางสายกลางที่อยู่เหนือโลกแห่งทวิภาวะที่เป็นขั้วตรงข้าม เป้าหมายของชีวิตไม่ใช่การข้ามจากสังสาระหรือชีวิตทางโลกไปสู่นิพพาน หากในสังสาระมีนิพพาน ในนิพพานมีสังสาระ การฝึกภาวนาให้มองเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงโดยปราศจากการคิดปรุงแต่ง คือการอยู่ในสภาวะนิพพานแล้ว


ปรัชญาสุญญตาส่งอิทธิพลต่อพุทธศาสนานิกายโยคาจารหรือนิกายวิชญาณวาท ที่กล่าวถึงหัวใจของความจริงคือ สภาวะสุญญตาที่ไร้การแบ่งแยกระหว่างรูปและความว่าง ท่านอสังคะและวสุพันธุใช้คำว่าจิตแทนคำว่ารูป ท่านเห็นว่าทุกสิ่งมาจากจิต จิตและรูปเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีรูปที่คงอยู่หรือแยกออกไปจากจิต ตัวจิตนั้นเองคือความว่าง ด้วยทรรศนะเช่นนี้ ทำให้ทุกอย่างในชีวิตประจำวันเป็นหนทางบรรลุธรรมได้ โดยเริ่มจากการฝึกสติในชีวิตประจำวัน นี่เป็นการเปิดประตูสู่จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งที่ 3 คือการเกิดนิกายตันตระหรือวัชรยาน นิกายตันตระเจริญรุ่งเรืองที่มหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียในช่วงคริสตศวรรษที่ 8-11 แม้จะไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้างเหมือนจุดเปลี่ยนครั้งก่อน แต่เป็นพุทธศาสนาเวอร์ชั่นล่าสุดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักในปัจจุบัน


ณ ศตวรษที่ 21 เป็นเวลาครบรอบ 1,000 ปีนับจากพุทธศาสนานิกายตันตระหรือวัชรยานเสื่อมคลายมนต์ขลัง ท่านทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต พยายามเชื่อมโยงความรู้ของศาสตร์ตะวันตกและศาสตร์ทางจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ท่านสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำระดับโลกและนักวิจัยหลากหลายสาขามาร่วมกันเติมเต็มความรู้ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบเกี่ยวกับการทำงานของจิตได้ส่งผลโดยตรงต่อแก่นความคิดในพระพุทธศาสนา เช่น ลำดับขั้นพัฒนาการและวิวัฒนาการทางจิต สภาวะและหน้าที่ของความรู้สึกตัว การทำงานของสมองและสารสื่อประสาทขณะทำสมาธิภาวนา และการฝึกภาวนาแบบต่างๆที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพต่างๆ เป็นต้น



ความจริงใหม่เรื่องจิตสำนึก – จิตมีทั้งสภาวะและโครงสร้าง


เคน วิลเบอร์ทำงานร่วมกับท่านทราเลกรินโปเช (Traleg Rinpoche) ก่อนท่านเสียชีวิต เพื่อนำเสนอว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นประโยชน์ให้พุทธศาสนาวิวัฒน์ตัวเองครั้งที่ 4 ได้อย่างไร เขายกตัวอย่างประเด็นสำคัญ 3 เรื่องมาเสนอในบทความนี้ คือ ความการเข้าใจเรื่องโครงสร้างและสภาวะ การทำงานกับเงามืด และอภิทฤษฎีที่หลอมรวมวิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน


ในประเด็นความเข้าใจเรื่องโครงสร้างและสภาวะของจิตสำนึก วิลเบอร์กล่าวว่า ความตระหนักรู้ทางจิตวิญญาณ (Spiritual Awareness) ที่สำคัญที่สุดนั้นมีอย่างน้อย 2 แบบ คือ


(1) สภาวะของจิตสำนึก (states of consciousness) เป็นการตระหนักรู้โดยตรงที่เกิดจากการกลับเข้ามามองสภาวะภายในตนเอง ส่วนใหญ่พบในการทำสมาธิภาวนา โดยแต่ละคนมีสภาวะตามธรรมชาติเหล่านี้อยู่แล้ว 3-5 ระดับไล่ตามความหยาบและละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ในนิกายวัชรยานและนิกายเวทานตะแบ่งสภาวะของจิตสำนึกเป็น 5 ระดับคือ การตื่น – การฝัน - การหลับลึก – ความว่างหรือการมีสติตัวรู้ - สติรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยแต่ละสภาวะจะมีกายที่เป็นมวลพลังงานจากหยาบไปละเอียดรองรับอยู่ 5 ระดับเช่นกันคือ นิรมาณกาย - สัมโภคกาย - ธรรมกาย – สวภาวิกะกาย – วัชรกาย แต่มักเรียกรวมกันเป็น 3 ระดับ หรือตรีกาย ได้แก่ นิรมาณกาย เป็นกายเนื้อขั้นหยาบที่สุด – สัมโภคกาย กายที่ละเอียดมากขึ้น - ธรรมกาย กายที่ละเอียดมาก ความว่าง ทั้งนี้ระบบการฝึกภาวนารูปแบบต่างๆในหลากวัฒนธรรมมักพัฒนามาจากสภาวะความรู้สึกตัวตามธรรมชาติ 5 ระดับนี้ โดยเริ่มฝึกจากระดับหยาบไปสู่ระดับละเอียดยิ่งขึ้น


(2) โครงสร้างของจิตสำนึก (structures of consciousness) เรื่องนี้เป็นประเด็นใหม่ที่วิลเบอร์นำเสนอเข้ามาในเรื่องจิตสำนึกของการทำสมาธิภาวนา โดยเขาอธิบายว่าคือปรากฏที่เป็นลำดับขั้นชัดเจนของวิวัฒนาการทางจิต โดยขั้นสูงกว่าจะรวมคุณสมบัติของขั้นที่ผ่านๆมาเอาไว้ และบวกกับคุณสมบัติเฉพาะตัวแบบใหม่ที่เกิดขึ้น และมีการเรียกสิ่งนี้กันว่าเป็น “ความฉลาดทางจิตวิญญาณ” (spiritual intelligence)


วิลเบอร์กล่าวว่า ความฉลาดทางจิตวิญญาณไม่เหมือนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เพราะประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเป็นความจริงแบบอัตวิสัยของฉัน หรือมุมมองแบบบุคคลที่ 1 ซึ่งแตกต่างไปตามผู้ที่รับรู้ความจริงนั้นๆ ส่วนความฉลาดทางจิตวิญญาณเป็นโครงสร้างของจิตแบบวัตถุวิสัย ที่มองผ่านมุมมองแบบบุคคลที่ 3 ซึ่งเกิดจากการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์จำนวนมาก รวมทั้งเก็บข้อมูลจากคนจริงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้พบว่า มนุษย์ทุกคนมีโครงสร้างทางจิตสำนึกเป็นระดับต่างๆแบบเดียวกัน เหมือนการพูดภาษาอังกฤษ ที่ลีลาการพูดของแต่ละคนคือประสบการณ์แบบสภาวะ แต่กฎไวยากรณ์เบื้องหลังการพูดคือโครงสร้างของภาษาที่เป็นสากล


วิลเบอร์ชี้ให้เห็นว่า ความรู้เรื่องโครงสร้างของจิตสำนึกนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา และยังไม่ปรากฏอยู่ในระบบการฝึกภาวนาใดๆเลย นี่จึงเป็นเป็นมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาเติมเต็มพุทธศาสนาในก้าวย่างต่อไป


เขายกตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างจิตสำนึก คือ ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีความฉลาดหลากหลายรูปแบบ เช่น ความฉลาดทางจิตวิญญาณ ความฉลาดด้านอารมณ์ ความฉลาดด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ความฉลาดด้านภาษา เป็นต้น ความฉลาดด้านต่างๆเหล่านี้มาจากโครงสร้างจิตสำนึกของคนคนนั้น คนทั่วไปใช้ความฉลาดเหล่านี้ได้ แต่จะบอกไม่ได้ถึงกฎหรือโครงสร้างพื้นฐานของความฉลาดนั้นๆ


ความฉลาดด้านต่างๆเหล่านี้มีเส้นพัฒนาการ (developmental lines) ของตัวมันเอง แต่ละเส้นมีพัฒนาการช้าเร็วแตกต่างกัน บางคนจึงอาจฉลาดด้านภาษามาก อาจฉลาดด้านดนตรีปานกลาง และอาจฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์น้อย นักวิจัยรุ่นก่อนเคยจำแนกระดับของเส้นพัฒนาการต่างๆด้วยเฉดสี ตัวเลข และการตั้งชื่อ เช่นที่ จีน เก็บเซอร์ (Jean Gebser) นักพัฒนาการแนวหน้าของโลก ตั้งชื่อระดับต่างๆในเส้นพัฒนาการพหุปัญญาเป็น 7 ระดับ ได้แก่ ระดับสัญชาตญาน (Archaic), ไสยเวท (Magic), มายาคติ (Mythic), เหตุผล (Rational), พหุนิยม (Pluralistic), บูรณาการ (Integral) และซูเปอร์บูรณาการ (Super-Integral) โดยวิลเบอร์เรียกค่าเฉลี่ยโดยรวมของเส้นพัฒนาการทุกเส้นในชีวิตหนึ่งๆว่า โครงสร้างของจุดศูนย์ถ่วง (structure center of gravity)



Spiritual Intelligence – ความฉลาดทางจิตวิญญาณ


เมื่อทำสมาธิภาวนา เราสามารถสัมผัส “ประสบการณ์ตรง” ทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาวะของจิตสำนึกตั้งแต่ความหยาบ ละเอียดขึ้น และละเอียดยิ่งๆขึ้นไป แต่จะ “ตีความ” ประสบการณ์ที่พบอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับ “ระดับพัฒนาการ” หรือโครงสร้างจิตสำนึกที่แตกต่างกัน เช่น คนสองคนมีสภาวะความรู้สึกตัวที่ละเอียดเหมือนกัน ถ้าคนหนึ่งมีระดับพัฒนาการขั้นมายาคติ ก็จะตีความแบบหนึ่ง อีกคนมีระดับพัฒนาการขั้นบูรณาการก็จะตีความอีกแบบ สิ่งสำคัญคือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าตัวเองตีความจากระดับไหน ไม่ว่าจะเชี่ยวชาญการฝึกภาวนามากแค่ไหนก็ตาม เราจะรู้ได้จากการถอยออกมามามองสิ่งที่แสดงหรือปรากฏออกมาเป็นเชิงประจักษ์เท่านั้น


วิลเบอร์ชี้ถึงช่องว่างของระบบการฝึกภาวนาต่างๆ ที่เน้นการสำรวจจิตใจผ่านประสบการณ์ตรง แต่แทบไม่มีการพูดถึงโครงสร้างหรือระดับพัฒนาการทางจิต ซึ่งอยู่เบื้องหลังการตีความประสบการณ์ต่างๆ


เช่นในพุทธศาสนา เขายกตัวอย่างงานวิจัยเรื่องพุทธศาสนาและสังคม (Buddhism and Society) ของ เมลฟอร์ด สปิโร (Melford Spiro) ที่ศึกษาศาสนาพุทธในเมียนมาร์ และแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับการแบ่งตามระดับพัฒนาการ ได้แก่


พุทธสายไสยเวท เน้นการปกป้องคุ้มครองจากภูตผีวิญญาณชั่วร้าย มีการใช้เครื่องรางของขลังและร่างทรง จัดอยู่ในระดับพัฒนาการขั้นไสยเวท


พุทธสายกรรม เน้นการทำบุญหวังผลในชาติหน้า จัดอยู่ในระดับพัฒนาการขั้นมายาคติ อีกตัวอย่างคือการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองของกลุ่มชาตินิยมพุทธสิงหลในศรีลังกา ซึ่งเชื่อว่าชนชาติตนเหนือกว่าชนชาติอื่น เป็นระดับพัฒนาการขั้นมายาคติเช่นกัน


พุทธสายนิพพาน กลุ่มนี้สนใจการบรรลุนิพพาน ซึ่งอยู่ในระดับการพัฒนาขั้นเหตุผล มีความใกล้เคียงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าในนิกายเถรวาท ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกเพศ สีผิว ชนชั้นวรรณะ และเชื้อชาติ


ปัจจุบันนี้ พุทธศาสนาในพื้นที่ต่างๆกำลังก่อกำเนิดการพัฒนาขั้นพหุนิยม เห็นได้จากความสนใจประเด็นความเป็นธรรมทางสังคม เน้นความเสมอภาค ปราศจากชนชั้น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ต่อต้านสงคราม ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

จะเห็นได้ว่า สำนักพุทธสายต่างๆที่อยู่ในระดับพัฒนาการต่างกัน จะมีมุมมองการตีความหลักธรรมแตกต่างกัน และเราสามารถนำเรื่องของระดับมามองพัฒนาการของปัจเจกบุคคลได้ด้วย วิลเบอร์ย้ำว่า การมีแผนที่ระดับพัฒนาการอยู่ในใจเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ฝึกภาวนา เพราะเราจะรู้ได้ว่าครูสอนภาวนาของเราอยู่ระดับพัฒนาการไหน และครูเองก็สามารถใช้มุมมองเช่นนี้มาพิจารณาหลักพุทธธรรมได้รอบด้านขึ้น โดยคัมภีร์ส่วนมากอยู่ในระดับบูรณาการ และสภาวะหนึ่งเดียว (nondual state) แต่มักถูกตีความโดยผู้สอนระดับต่ำกว่า ดังนั้นระบบการฝึกภาวนาที่สมบูรณ์ จะต้องพิจารณาการพัฒนาทั้งสภาวะและโครงสร้างของจิตไปพร้อมกัน และสิ่งนี้ควรปรากฏในพระธรรมคำสอนด้วย โดยการพัฒนาสภาวะคือการหาวิธีที่เราจะ “ตื่นรู้” และการพัฒนาโครงสร้างคือการหาวิธีที่เราจะ “เติบโต” ต่อไป



การทำงานกับ “เงามืด”


วิลเบอร์กล่าวว่า การฝึกภาวนาของทั้งพุทธศาสนาและระบบภาวนาอื่นๆยังมีช่องว่างเรื่องจิตไร้สำนึกและเงามืด (shadow) ซึ่งเป็นอารมณ์ความทุกข์ที่เจ้าตัวปฏิเสธ การเพิกเฉยต่อแรงขับหรือกิเลสที่ไม่อยากยอมรับ และกดทับสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตไร้สำนึกจนก่ออาการทางจิตประสาท ศาสนาพุทธพูดถึงเรื่องเหล่านี้น้อยมาก ทั้งๆที่ผู้สอนภาวนาพบว่า คำถามราว 80% ที่เกิดในคอร์สภาวนานั้นเป็นเรื่องอาการทางจิตที่ใช้ความรู้เรื่องจิตบำบัดรับมือได้ และมีคำถามเพียง 20% เท่านั้นที่เกี่ยวกับการภาวนาโดยตรง


การฝึกภาวนาไม่ได้แก้ไขปัญหาเงามืดในจิตใจ แม้บางกรณีอาจช่วยได้ แต่การภาวนาส่วนมากเป็นการฝึกให้เพิกเฉยต่อกิเลสหรือปล่อยวางความเป็นตัวตน เมื่อใช้วิธีนี้กับสิ่งที่ถูกปฏิเสธอยู่แล้วก็จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง ทางออกคือการยอมรับอารมณ์ความทุกข์ที่ถูกปฏิเสธเหล่านั้น และอนุญาตให้สิ่งที่เราปฏิเสธหลอมรวมเข้ากับจิตใจแบบปกติก่อน แล้วเราจึงจะปล่อยวางได้



อภิทฤษฎีของจิตวิญญาณและวิทยาศาสตร์


แนวโน้มของศาสนาในโลกอนาคตจะไม่แยกขาดจากวิทยาศาสตร์อีกต่อไป ดังนั้นอภิทฤษฎีหรือ Meta-theory ทั้งหลายจึงควรบูรณาการจิตวิญญาณและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม อภิทฤษฎีเหล่านี้ยังคงเป็นเพียงความคิดทางทฤษฎีและปรัชญาเท่านั้น ขณะที่ประเด็นโครงสร้างหรือระดับพัฒนาการนั้นเป็นวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์


แม้อภิทฤษฎีต่างๆที่เชื่อมโลกวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณเข้าด้วยกันจะเป็นส่วนสำคัญของจุดเปลี่ยนใหญ่ครั้งต่อไปของศาสนาแห่งอนาคต แต่วิลเบอร์เห็นว่า ณ ขณะนี้ บางครั้งก็มีความพยายามเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณเข้าด้วยกันแบบแปลกๆ เช่น การนำเสนอเรื่องของควอนตัมฟิสิกส์ในสารคดี What the Bleep Do We Know? ประเด็นหลักอยู่ที่การวัดค่าต่างๆในสมการคลื่นของเชอโรดินเจอร์ ที่สามารถบอกตำแหน่งที่เป็นไปได้ของอนุภาคในอะตอม แต่เราจะไม่รู้ว่ามีอนุภาคนั้นจริงหรือไม่จนว่าจะลงมือวัด นักฟิสิกส์ตีความเรื่องนี้แตกต่างกัน บางคนเห็นว่าตัวการวัดเองทำให้อนุภาคมีอยู่ ส่วนใหญ่เชื่อว่าการวัดที่ไม่เจออนุภาค ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอนุภาคนั้น เพียงแต่เรายังไม่รู้ตำแหน่งของมัน บางคนเชื่อว่าการรับรู้ของเราเป็นตัวทำให้อนุภาคนั้นมีอยู่ และไม่ได้มีเฉพาะการรับรู้ของเราเท่านั้น ยังมีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนหนึ่ง (One Self) หรือจิตหนึ่ง (One Spirit) เป็นผู้สำแดงการมีอยู่ของทุกสิ่งด้วย ซึ่งวิลเบอร์เห็นว่า ทรรศนะเช่นนี้จะถูกนำไปสนองอัตตาที่ว่า เราสามารถคิดดลบันดาลทุกสิ่งที่ต้องการได้


เขาบอกว่า สิ่งที่น่าเชื่อถือกว่าคือมุมมองเรื่อง “จักรวาลวิวัฒน์ตนเอง” เช่น แนวคิดว่า อีรอส (Eros – เทพแห่งการสร้างสรรค์ในตำนานกรีก) เป็นพลังงานแรกเริ่มที่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งต่างๆในจักรวาล รวมทั้งก่อเกิดกระบวนการวิวัฒนาการและการกลายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับความคิดที่ว่า จักรวาลเป็นหน่วยจัดการตนเอง (self-organization) นอกเหนือไปจากการมีพลังนิวเคลียร์ พลังแม่เหล็กไฟฟ้า และแรงโน้มถ่วง


อภิทฤษฎีของเคน วิลเบอร์ บูรณาการแนวคิดจักรวาลวิวัฒน์ตนเอง และเพิ่มเติมสิ่งที่เรียกว่า “สี่เสี้ยวส่วน” (the four quadrants) ซึ่งเป็นวิธีมองปรากฏการณ์จาก 4 มุมมอง ทั้งภายในและภายนอก ทั้งจากปัจเจกและส่วนรวม ได้แก่ (1) มุมมองแบบ “ฉัน” (I) เป็นการมองออกมาจากภายในของปัจเจกบุคคล เป็นอัตวิสัย เช่น ความคิด อารมณ์ความรู้สึก ความจำ สติ การรับรู้ (2) มุมมองแบบ “สิ่งนั้น” (It) เป็นการมองเข้าไปจากภายนอกของปัจเจกบุคคล เป็นภววิสัยหรือมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ เช่น ร่างกาย สมอง สิ่งที่เห็นหรือจับต้องได้ (3) มุมมองแบบ “เรา” (We) เป็นการมองออกมาจากภายในของส่วนรวม เช่น วัฒนธรรม คุณค่าร่วม ความหมาย เชื้อชาติ ภาษา และ (4) มุมมองแบบ “พวกนั้นนั้น” (Its) เป็นการมองเข้าไปจากภายนอกของส่วนรวม คือวิธีที่กลุ่มถูกมองอย่างไร เช่น ระบบการเงิน เศรษฐกิจ กฎหมาย เครือข่าย รัฐบาล สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เป็นต้น สี่เสี้ยวส่วนกล่าวถึงสิ่งเดียวกันในมุมมองที่ต่างกัน คล้ายๆกับการกล่าวถึงความดี (เรา) ความจริง (สิ่งนั้น) ความงาม (ฉัน) หรือพระพุทธ (ฉัน) พระธรรม (สิ่งนั้น) พระสงฆ์ (เรา)


มุมมองทั้งสี่มิตินี้ เกิดขึ้น มีวิวัฒนาการ ตั้งอยู่ และเสื่อมลงด้วยกัน และแต่ละมิติไม่อาจตั้งอยู่อย่างแยกขาดจากมิติอื่นๆได้ มุมมองจากภายใน (ฉัน, เรา) เป็นเรื่องของประสบการณ์ตรงทางจิตวิญญาณ ส่วนมุมมองจากภายนอก (สิ่งนั้น, พวกนั้น) เป็นมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า การปฏิบัติภาวนาจนจิตมีความละเอียด (ฉัน) มีความสัมพันธ์กับรูปแบบคลื่นสมอง (สิ่งนั้น) การภาวนาเป็นกลุ่มจะอยู่ในระบบความเชื่อและวิถีปฏิบัติร่วมกัน (เรา) และกลุ่มภาวนาก็อาจอยู่ในกระแสความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ (พวกนั้น)


วิลเบอร์ยังกล่าวถึงเรื่องชวนคิดอีกหลายประเด็น เช่น


ในการฝึกภาวนาร่วมกันเป็นสังฆะ หากมีการแบ่งปันประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล (ฉัน) จะเกิดอะไรขึ้นในมิติส่วนรวม (เรา)


ความสับสนเรื่อง “นิพพาน” มาจากการสื่อความหมาย การที่บางคนไม่เชื่อว่านิพพานมีจริง เพราะ “คำว่านิพพาน” กับ “สภาวะนิพพาน” ไม่ได้อยู่ในโลกมิติเดียวกัน และคำพูดในโลกกายภาพหยาบๆ ใช้อธิบายความจริงสูงสุดในมิติที่ละเอียดกว่าไม่ได้ เราจะรู้ได้ว่าสภาวะนั้นมีจริงหรือไม่ ก็ต่อเมื่อฝึกจิตให้อยู่ในสภาวะละเอียดมิติเดียวกันกับความจริงนั้น การจะคลี่คลายความสับสนนี้จึงต้องเข้าใจเรื่องระดับความละเอียดของสติและการสื่อความหมาย


เราสามารถมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณได้จาก 3 มุมมอง คือ ฉัน (ตัวตนแท้จริงที่ไร้ตัวตน) เธอ (วิญญาณยิ่งใหญ่หรือจิตของคุรุ) และมุมมองแบบบุคคลที่ 3 ที่เป็นความจริงแบบภววิสัย (ความเป็นเช่นนั้นเอง ข่ายใยแห่งชีวิต) ทุกมุมมองในการมองแบบพุทธเป็นจริงและถูกต้อง การมีมุมมองที่หลากหลายเช่นนี้จะช่วยให้ยอมรับผู้อื่นและป้องกันความขัดแย้งรุนแรงได้ ต่างจากหลายศาสนาที่ทำสงครามกันเพราะยึดความจริงของตัวเองเป็นใหญ่


สุดท้าย วิลเบอร์ชวนให้พุทธศาสนาใช้มุมมองแบบวิทยาศาสตร์เพื่อพิจารณาตนเองให้รอบด้านมากขึ้น เขาบอกว่า การผสานปัญญาจากโลกตะวันตกและตะวันออก เป็นพลังสำคัญที่จะส่งเสริมให้พุทธศาสนาเกิดวิวัฒนาการครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนครั้งที่ 4 และจะกลายเป็นศาสนาแห่งอนาคต




Yorumlar


Yorumlara kapatıldı.
bottom of page