top of page

การเดินทาง 4 "รักข้ามคลอง"

“รักข้ามคลอง”: สิ่งที่หลอมรวมเราเข้าด้วยกัน คือ สายน้ำ


เขียนโดย: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร ถ่ายภาพโดย: ธำรงรัตน์ บุญประยูร

เดินทางกันต่อกับทริปที่ 4 “รักข้ามคลอง” ของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ Spiritual Tourism ชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ความพิเศษที่แตกต่างจากทั้ง 3 ทริปที่ผ่านมาคือ ทริปนี้มี 2 Ep. ต่อเนื่อง 2 วัน (เช้ามาเที่ยว เย็นกลับบ้าน แล้วมาเที่ยวด้วยกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น) และอีกหนึ่งความพิเศษ คือ ได้ล่องเรือบนสายน้ำที่คนทั่วโลกหลงเสน่ห์ และพลัสไปอีกด้วยการล่องสายน้ำ 2 วัน 2 สไตล์ โดย Ep.1 ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา Ep.2 ล่องคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่ เราเริ่ม Ep.แรกกันตั้งแต่เช้าที่ท่าช้าง สมาชิกผู้ร่วมทริปทักทายกันอย่างคุ้นเคยด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม 1 สัปดาห์ผ่านไปได้กลับมาเที่ยวด้วยกันอีกชวนให้กระชุ่มกระชวยหัวใจดีจริงๆ พี่ติ๋ม หรือ คุณสุภาพ ดีรัตนา วิทยากรผู้นำเที่ยวพูดคุยทักทายกับทุกคนพร้อมระบายยิ้มชนิดที่ใครเห็นก็พลอยยิ้มตามไปด้วยเช่นเคย ก่อนลงเรือ พี่ติ๋มแจกความรู้เรื่องชื่อของ ‘ท่าช้าง’ ว่าเป็นเพราะสมัยก่อนมีการนำช้างลงอาบน้ำในบริเวณนี้และ ที่เรียกกันว่า ‘ท่าพระ’ เพราะเคยเป็นท่าพักแพประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งพระเจ้าอยู่หัว ร.1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญล่องแพมาจากวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย เพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พี่ติ๋มบอกพวกเราถึงความสำคัญของทริป “รักข้ามคลอง” ที่พาล่อง 2 สายน้ำว่าเป็นเครือข่ายโยงใยประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่ง ก่อนที่เราจะเข้าสู่ยุคสมัยที่ใช้ถนนบนแผ่นดินแทนสายน้ำ “แผ่นดินแยกเราออกจากกันตลอดเวลา สิ่งที่รวมเราเข้าด้วยกันไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คือ สายน้ำ”...คมสมกับความเป็นพี่ติ๋ม แล้วการเดินทางเพื่อไปสัมผัสหัวใจของสิ่งที่หลอมรวมเราไว้ด้วยกันก็เริ่มต้นขึ้น ระหว่างล่องเรือทวนสายน้ำเจ้าพระยา ลมเย็น ๆ ปะทะใบหน้า พวกเราใช้ประสาทสัมผัสกันอย่างเต็มที่ ตาก็ชมวิว มือก็ถ่ายรูป หูก็ฟังพี่ติ๋มอย่างเพลิดเพลิน “เรากำลังเข้าสู่เขตแดนของเจ้านาย เป็นเขตยุทธศาสตร์ เป็นด่านตรวจเช็คพอยต์ (checkpoint) ก่อนถึงอยุธยา” พี่ติ๋มบรรยายพาเราย้อนเข้าสู่ช่วงเวลาในอดีต ให้เราได้เห็นภาพบ้านเมืองที่เป็นสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์สูงสุดในวันวาน ด้านหลังของพวกเราเป็นท้ายน้ำซึ่งเป็นโซนการค้า พ่อค้านานาชาติ ตลาดอันคึกคักอยู่ที่นั่น (บริเวณจากท่าช้างไปท่าสาทร) และด้านหน้าของพวกเราเป็นเขตแดนเจ้านาย เขตยุทธศาสตร์ เราผ่านพระราชวังเดิม วังบางขุนพรหม และมุ่งหน้าสู่วัดราชาธิวาสวิหาร ฟังพี่ติ๋มไปก็จินตนาการถึงบ้านเมืองในยุคนั้น การขยายเมืองในแต่ละครั้งมาพร้อมกับกำแพงเมือง จนกระทั่งไม่มีกำแพงเมืองอีกต่อไป สื่อนัยยะถึงการเข้าสู่สยามใหม่ที่เปิดกว้างสู่นานาชาติอย่างถึงที่สุด เป็นชั่วขณะพิเศษที่ทำให้เรารู้สึกถึง “พระนครอันตรธาน” สัมผัสถึงเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองของคนผิวเหลืองที่ดีที่สุดในโลกในสายตาคนผิวขาว ได้มอง และได้ ‘เห็น’ บ้านเมืองตัวเองในสายตาแบบเดียวกับคนต่างชาติต่างภาษาที่ล่องเรือมาถึงสยามในครั้งนั้น ไม่นานเราก็มาถึงวัดราชาธิวาสวิหาร สิ่งแรกที่สะดุดสายตาคือพระอุโบสถทรงขอม มองอย่างไรก็ศิลปะเขมรแน่ๆ ทั้งรูปทรงอาคาร ซุ้มพัทธสีมา หน้าบัน ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีผังแบบที่เราเห็นที่นครวัดนครธมด้วย “มีสะพานนาคข้ามคลองสื่อถึงการเชื่อมกับสวรรค์” ยังไม่ทันขาดคำพี่ติ๋มดี พวกเราพร้อมใจกันเหลียวหลังหันกลับไปมองสะพานข้ามคลองเล็กๆ ที่เดินข้ามมาอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ถ้ามาเที่ยวเองเราคงเดินดุ่มเข้าพระอุโบสถไปโดยไม่ทันสังเกตเป็นแน่ เมื่อเราก้าวเข้าไปในพระอุโบสถก็ได้พบว่า ความเป็นขอมที่ได้เห็นจากด้านหน้าได้เปลี่ยนเป็นฝรั่งอย่างสมบูรณ์ นี่คือโบสถ์ฝรั่งดีๆนี่เอง เป็นแผนผังการแบ่งพื้นที่พระอุโบสถแบบคูหา 3 ตอนอย่างโบสถ์ฝรั่ง คือ ระเบียงด้านหน้า เป็นการกั้นส่วนสวรรค์กับพื้นที่ตรงกลาง โถงกลางที่ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี และคูหาด้านในสุดที่ประดิษฐานพระสัมพุทธวัฒโนภาส พระประธานดั้งเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยาเมื่อครั้งที่นี่ยังใช้ชื่อว่า “วัดสมอราย” ก่อนเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 4 และในส่วนของโถงกลางนี่เองที่เราได้รับพลังแห่งงานศิลป์ที่พุ่งเข้าหาอย่างตั้งตัวแทบไม่ติด ทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง มองไปทางไหนก็สวยงามพาใจเต้นแรง ไม่แปลกใจเลยที่พี่ติ๋มบอกว่าที่นี่เป็นจุดหักเหสำคัญยิ่งยวดของทั้งศาสนจักร อาณาจักร ศิลปกรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย ก็ในเมื่อตรงหน้าเรา คือ พระสัมพุทธพรรณี ในซุ้มปูนปั้นทาทองอร่ามตาตามแบบศิลปะบาโรก เป็นงานประติมากรรมลอยตัวที่โดดเด้งราวจะพุ่งออกมาจากผนังซุ้ม เป็นงานที่ละเอียด อ่อนช้อยตามแบบไทย อีกทั้งยังเป็นตราสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว ร.1- ร.5 ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏในซุ้มเหนือองค์พระประธานเป็นภาพองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมอัครสาวกที่น้ำหนักและความพลิ้วไหวของงานให้ความรู้สึกเหมือนภาพทูตสวรรค์หรือเทพปกรณัมกรีกโรมันก็ไม่ปาน ความเชื่อมโยงระหว่างประติมากรรมลอยตัวและงานจิตรกรรมฝาผนังที่เราเห็นอยู่นี้เป็นศิลปะแบบบาวาเรียนบาโรกที่พบได้มากในตอนใต้ของเยอรมัน จะไม่ให้ใจเต้นแรงได้อย่างไรในเมื่อความเป็นไทยเปล่งประกายอยู่ในความเป็นฝรั่งที่ฉายแสงสมกับคุณค่าแห่งงานศิลป์ เท่านั้นยังไม่พอ จิตรกรรมฝาผนังที่โอบล้อมเราเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก งานชั้นครูของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่เหล่านักเรียนศิลปะยกให้เป็น “สมเด็จครู” ทรงร่างภาพแล้วริโกลี (Rigoli) ศิลปินชาวอิตาลีเป็นผู้เขียนด้วยเทคนิคเฟรสโก (Fresco) คือเขียนสีลงไปในขณะที่ปูนยังเปียกอยู่ ต้องใช้ทั้งความสามารถ ความประณีต และความเร็วเพื่อจบงานให้ได้ก่อนที่ปูนจะแห้ง พลาดเพียงนิดคือรื้อทำใหม่ “เป็นบุญตาจริงๆ” เราพร่ำรำพันกับตัวเอง เพราะนอกจากจะได้เสพงานศิลป์อันงดงามหลากหลายเทคนิคแล้ว ยังได้ดำดิ่งไปกับคติและมิติต่างๆที่ซุกซ่อนแฝงความหมายพิเศษอยู่ในแต่ละภาพ เป็นศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก ขณะเดียวกันก็กล่าวได้ว่าเป็นงานศิลปะของช่างตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลของตะวันออก แล้วพี่ติ๋มก็พาเราเข้าสู่อีกจุดที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ คือสะพานเชื่อม 2 พื้นที่ศักด์สิทธิ์ระหว่างวัดราชาธิวาสวิหารและวัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า พร้อมกับเล่าเรื่องราวการสนทนาธรรมของ ร.4 (ขณะทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชย์เป็น ร. 4) และพระสหาย จุดกำเนิดของธรรมยุติกนิกาย มิติสากลที่สะท้อนความบริสุทธิ์ทางกายภาพและจิตวิญญาณ ความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าชายสิทธัตถะและพระเยซู ส่งผลสำคัญระหว่างรอยต่อของสยามโบราณและสยามใหม่ เราล่องเรือกลับมาขึ้นที่ท่าเรือวัดกัลยาณมิตร นกพิราบที่ท่าเรือได้รับความสนใจจากพวกเราเป็นพิเศษเพราะเพิ่งได้รับความรู้ใหม่จากพี่ติ๋มว่าฝนโบกขรพรรษซึ่งเป็นฝนที่ตกในวาระโอกาสมงคลสุดแสนพิเศษเท่านั้น และแน่นอนว่าฝนนี้ย่อมมีลักษณะพิเศษด้วย นั่นคือมีสีเหมือนเท้านกพิราบ เราจึงมามุงถ่ายรูปกันยกใหญ่จนนกพิราบอาจงงใจเล็กน้อยทำนอง “มาจ้องเราทำไมกันอ่ะนุด?” ต่อจากนั้น พวกเรายกขบวนไปชุมชนกุฎีจีนที่มีชื่อเสียงด้านการอยู่ร่วมกันแบบแตกต่างอย่างกลมกลืนของคนหลากเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ทั้งจีน ไทย โปรตุเกส พุทธ คริสต์ อิสลาม เมื่อถึงบ้านกุฎีจีน มีสมาชิกร่วมทริปถามถึงรูปไข่ในโลโก้ของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน (ตาดีมากเพราะโลโก้นั้นจุดเด่นคือรูปไก่ ส่วนไข่น่ะอยู่ตรงมุม แถมยังใบเล็กนิดเดียว) เรียกเสียงฮือฮาเพราะไม่คิดว่าจะมีคนถาม (หรืออาจยังไม่ทันสังเกตเห็นไข่ใบจิ๋วเสียด้วยซ้ำ) คำตอบที่ได้จากพี่ติ๋มยิ่งเพิ่มดีกรีความฮือฮา เพราะตอบได้เป็นเรื่องเป็นราว ฟังเพลินแถมได้คติจริงจังลึกซึ้ง ว่าไข่ใบน้อยนี้เป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นยืนอีกครั้งอย่างสง่างามของผู้บริสุทธิ์ “ดูสิ ยังอุตส่าห์ตอบได้” เสียงชื่นชมลอยมาจากมุมหนึ่ง อีกคนแซวว่า “ช่างสรรหาถาม แล้วก็ช่างสรรหาตอบ” เรียกรอยยิ้มทั่วกัน ช่วงบ่ายเป็นช่วงเวลาของโบสถ์ซางตาครู้ส ศาลเจ้าเกียนอันเกง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ฝรั่ง จีน ไทย มาครบ ตอกย้ำความเป็นพื้นที่ตัวอย่างของผู้คนต่างภาษาที่มาอยู่รวมในชุมชนเดียวกันได้อย่างราบรื่น “เราไม่สามารถดูสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดดๆเพียงที่เดียวโดยไม่เชื่อมโยง” พี่ติ๋มบอกกับพวกเราไว้อย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ ไม่ว่าจะชนชาติไหน เราล้วนคือ ‘คน’ เหมือนกัน ต้องการความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัยไม่ต่างกัน ความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และสงบงามของศาสนสถานแต่ละแห่งเปิดกว้างให้เราเข้าไปพักพิงหัวใจได้เสมอ พระวิหารหลวงของวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) องค์ใหญ่โตงดงาม น่าทึ่งตะลึงตะลาน เห็นแล้วสตั๊นราวตกอยู่ในภวังค์ไปชั่วขณะ และด้วยความสูงกว่า 15 เมตรขององค์ท่านทำให้เราต้องถอยออกมาเพื่อให้ภาพตรงหน้าปรากฏในคลองสายตาได้ชัดเจนขึ้น ด้วยความมโหฬารและรโหฐานที่กลมกลืนกึกก้องถ่ายทอดผ่านศิลปกรรมอันเป็นผลสะท้อนของฉากในสังคมและฉากในจิตใจของผู้สร้าง เป็นอีกหนึ่งอัจฉริยวัฒน์สูงสุดของยุคสมัย ได้เห็นรูปของพุทธะพร้อมๆกับรูปของพระพุทธรูป เป็นความงามที่ลึกล้ำไปกว่าความสวยทั่วไป ซึมซับความอิ่มเอมกันสักพัก พี่ติ๋มพาพวกเราไปที่พระอุโบสถซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) คือ นั่งบนก้อนหินห้อยเท้าทั้งสองข้างลง เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวพุทธประวัติและชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งภาพทั้งที่ฝาผนังและตัวเสามีบางส่วนชำรุดไปตามกาลเวลา สิ่งที่จับใจเรามาก คือ ปริศนาธรรมที่ซุกซ่อนอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ความสวยย่อมมีวันเสื่อมไปเป็นของธรรมดา แต่ในความเสื่อมนั้นเองกลับมีความสวยงามที่แทรกซ้อนและดำรงอยู่ไปพร้อมกัน ความงามอันเปล่งปลั่งมลังเมลืองขององค์หลวงพ่อโตทำให้เราตกตะลึง แต่ความงามอันเรียบง่ายของพระพุทธป่าเลไลยก์ทำให้เราหลงรัก เรารู้สึกลึกซึ้งถึงความเรียบง่าย ความธรรมดา ความงาม ความสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบ ความเสื่อม ความเจริญ ที่ปราฏขึ้นกลางใจ เป็นชั่วขณะที่ได้ก้าวไปสู่ความเข้าใจชีวิตมากขึ้นไปอีกขั้น จบท้ายวันกันที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หนึ่งในวัดประจำราชินิกุลตระกูลบุนนาค ที่สร้างในสมัย ร.3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้อุทิศสวนกาแฟซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทาน สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามสำหรับพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรม สิ่งแรกที่เราเห็น คือ ดอกบุนนาคที่หน้าบันซึ่งสวยสดใส เบ่งบาน เด่นชัด ภาษาวัยรุ่นต้องบอกว่า ‘สวยแบบตะโกน’ แต่ที่ลึกลงไปจากความสวยผาดที่พุ่งเข้าสู่สายตาในทันทีนั้น คือสัญลักษณ์สากลสุดลึกซึ้ง Flower of Life หรือ ดอกไม้แห่งชีวิตที่ซ้อนรองรับดอกบุนนาค เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ทั่วโลกในทุกแวดวงตั้งแต่ศาสนาไปจนถึงศิลปะ เชื่อมโยงจิตใต้สำนึกของมนุษย์ให้เข้าถึงต้นกำเนิดพลังงานผู้สร้างและความรู้อย่างไร้ขีดจำกัดในทุกสิ่ง เรียกได้ว่าที่นี่สวยแบบตะโกนทั้งภายนอกและภายใน การคลี่คลายขยายตัวที่ซ้อนทับไปสู่มิติจักรวาล สะท้อนผ่านภาพเสาที่ต่อสูงขึ้นไปสู่ดาวเพดานในพระอุโบสถ สอดคล้องกับการที่วัดตั้งอยู่บนพื้นที่กึ่งกลางซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการค้า เป็นตลาดการค้าสากลนานาชาติ กุมสภาพทุกมิติทั้งวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม จบ Ep.1 แบบลึกซึ้งท่ามกลางแสงสีทองยามเย็นที่อาบไล้ให้เห็นครบเครื่องทั้งสวยผาดสวยพิศเลยทีเดียว วันรุ่งขึ้นพวกเรานัดพบกันเช้ากว่าเดิม มาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ประทับบนพระเพลา ที่พลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรณีย์ซึ่งถือเป็น “มณฑลศักดิ์สิทธิ์” ที่ออกแบบตามคติเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่บนมหานทีสีทันดรคือ สระน้ำสีฟ้าใสล้อมรอบพลับพลาทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้าพลับพลาเป็นคลองขุดด้วยฝีมือมนุษย์ที่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดใหญ่ของบ้านเมืองเราในที่สุด ส่วนแม่น้ำสายหลักในอดีตกลับกลายเป็นลำคลอง “เรากำลังอยู่ในสถานที่กึ่งกลางระหว่างฝีมือการทำงานของมนุษย์และธรรมชาติ” พี่ติ๋มเปิดทริปรักข้ามคลอง Ep.2 พาและพวกเราลงเรือล่องคลองบางกอกน้อย ครู่เดียวเราก็ถึงที่หมายแรก วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร สถานที่ประหารเชลยศึกในสมัยพระเจ้าตาก ต่อมาสมัย ร.1-ร.3 ใช้ที่นี่เป็นเป็นพระเมรุใหญ่สำหรับทั้งเจ้านาย ข้าราชบริพาร และประชาชนทั่วไป ในอีกด้านหนึ่ง สถานที่แห่งเดียวกันนี้เองที่เราได้ชื่นชมงานจิตรกรรมฝาผนังชั้นครูของกรุงรัตนโกสินทร์ที่อยู่ด้านซ้ายขององค์พระประธาน เป็นการประชันผลงานของจิตรกรเอกสมัย ร.3 คือ รูปเนมีราชของหลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) และรูปมโหสถฝีมือหลวงเสนีบริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) ทั้งคู่มีความสามารถทัดเทียมกัน มักจะเขียนภาพภายในพระอุโบสถเดียวกันและผนังติดกัน นอกจากนี้ เรายังได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระประธานและภาพจิตรกรรมที่มีการใช้พื้นที่ว่างเดียวกัน เป็นระบบระเบียบในการทำจิตรกรรมฝาผนังให้เนื่องถึงกันทั้งหมดอีกด้วย ล่องเรือต่อมาที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร หรือ วัดชีปะขาว เราได้เห็นจิตรกรรมฝาผนังแนวใหม่ แปลกตา และแตกต่างจากทุกวัดในทริป คล้ายศิลปะแบบโฟวิสม์ (Fauvism) ที่ใช้สีสดใสตัดกัน ทั้งเขียว แดง ม่วง ส้ม แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่ตายตัว ไม่ให้ความสำคัญกับมิติ ใช้การตัดเส้นรอบนอกเพื่อสร้างความโดดเด่น พี่ติ๋มเล่าถึงเรื่องราวของชีปะขาว (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด) แล้วคุณวรรณดี ไอสเนอร์ (พี่อ้อน) หนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมทริปที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้แบ่งปันประสบการณ์การได้เป็นคณะทำงานการสร้างรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตไทยคนสำคัญของสยามและบรรยากาศการนำไปประดิษฐาน ณ ถนนสยาม เมืองแบรสต์ ฝรั่งเศส เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสัมพันธ์อันดี รวมทั้งเรื่องที่คาดไม่ถึง “มีคนขโมยไป อย่างไรไม่ทราบ รีบเอามาคืนในวันรุ่งขึ้น รีบจนวางหันหน้าผิดด้าน” พี่อ้อนเล่าเรียกเสียงฮือฮาจากคณะ ไม่รู้หัวขโมยโดนอะไรดีเข้าให้ ไม่เล่าเปล่า พี่อ้อนยังมีหนังสือที่ระลึก “นิวัติทัศนา โกษาปาน – Le Retour de Kosa Pan” มามอบให้พี่ติ๋ม 1 เล่ม และให้ไว้เป็นของขวัญแก่ผู้โชคดีที่จะมาร่วมทริปหน้าของ “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ด้วย กราบขอบพระคุณพี่อ้อนมา ณ ที่นี้ค่ะ เรามากลับเรือกันตรงจุดที่คลองบางกอกใหญ่ตัดกับคลองมหาสวัสดิ์ แล้วล่องเข้าคลองชักพระ ได้สัมผัสประสบการณ์ “เรือติด” เป็นครั้งแรกในชีวิตเพราะมีการปิดประตูระบายน้ำ เรือทุกลำจึงต้องมารอมาออกันอยู่ตรงนี้ ระหว่างรอประตูน้ำเปิด พี่ติ๋มก็เล่าถึงเหตุการณ์ละม้ายคล้ายอย่างนี้ที่ทะเลเหนือและทะเลบอลติก...แน้...ยังสรรหาเรื่องราวมาเล่าให้พวกเราฟังเพลินๆได้อีก พอประตูน้ำเปิด เรือทุกลำก็ทยอยกันออก เรามุ่งหน้าสู่วัดคูหาสวรรค์และวัดกำแพงบางจากซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ เป็นพื้นฐานสำคัญของ “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” ระหว่างล่องเรือ ผ่านแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำ ชมทิวทัศน์ชุมชน เรากลับตกใจความคิดตัวเองที่จู่ๆก็นึกว่ากำลังล่องเรือเข้ามาในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นไปได้อย่างไรแต่ก็เป็นไปแล้ว ทั้งๆที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทั้งด้านการเป็นผู้ประสบภัย และด้านการเป็นผู้ฝ่ามวลน้ำเข้าไปช่วยเหลือ นี่เราใช้ชีวิตห่างสายน้ำปานนี้เชียวหรือ ทำให้คิดขึ้นได้ว่า ถ้าเราไม่ทันระวังใจ ไม่เท่าทันความคิด หรือไม่รู้ตัว อะไรจะสลับขั้วได้อีก แท้-เทียม วุ่น-ว่าง สิ่งที่เห็น-สิ่งที่เป็น ถูก-ผิด หรือแม้กระทั่ง ดี-ชั่ว ปิดทริปโดยล่องมาขึ้นเรือกันที่ท่าเรือราชินี ฝั่งตรงข้ามเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ พี่ติ๋มให้ข้อมูลส่งท้ายอย่างน่าคิด พื้นที่ตรงนี้มีผังของป้อมปราการเป็นรูปดาว หรือ Star-shaped Fort มีความเชื่อมโยงโดยเริ่มต้นจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสำเร็จในสมัย ร.5 เป็นป้อมปราการแทนที่กำแพงเมือง ร่วมสมัยในสายตาคนยุโรป ทำให้เราคิดต่อไปว่าของร่วมสมัยอย่างป้อมปราการนี้เองที่ได้เคยช่วยให้บ้านเมืองเรารักษาอธิปไตยและดำรงเอกราชของชาติไว้ได้จนถึงทุกวันนี้ อยากชวนกันมาร่วมเดินทางด้วยหัวใจแบบใหม่ในที่คุ้นเคยและสัมผัสประสบการณ์เพื่อค้นพบบางสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในตัวเราผ่านการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ที่ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา จับมือกับ SOOK Enterprise โดยการสนับสนุนจากแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยทริปหน้า “รักแห่งสากล ไม่สิ้นสุด และเป็นหนึ่งเดียว” เต็มอิ่ม 3 วัน 2 คืน เดินทางออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี เข้าชมวัดไลย์ พระปรางค์สามยอด เทวสถานปรางค์แขก พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ต่อเนื่องไป จ.อยุธยา วัดอโยธยา วัดมเหยงคณ์ วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดพุทไธสวรรค์ บึงพระราม หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น วัดนักบุญยอแซฟอยุธยา สถานฝังศพปฐมจุฬาราชมนตรี เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)


อุ่นเครื่อง ทริปที่ 4 "รักข้ามคลอง"


ความรู้สึกผู้เข้าร่วม ทริปที่ 4 "รักข้ามคลอง"


Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page