top of page

การเดินทาง 3 "รักแห่งสยาม...ใหม่"

“รักแห่งสยามใหม่”: ความรัก ปัญญา และการต่อสู้ที่ผสมกลมกลืนไปกับความสวยงามของวัดวาอาราม


เขียนโดย: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร

ถ่ายภาพโดย: ธำรงรัตน์ บุญประยูร


ทริปนี้เป็นทริปที่ 3 “รักแห่งสยามใหม่” ของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ที่คุณสุภาพ ดีรัตนา (พี่ติ๋ม) วิทยากรผู้นำเที่ยวพาพวกเรา “เข้าถึง” หัวใจแผ่นดินแม่ผ่านการเที่ยววัด สัปดาห์นี้คณะเราคุ้นหน้าคุ้นตาและคุ้นเคยกันมากขึ้นแถมพอมายืนรวมกันก็พบว่ากลุ่มเราใหญ่ขึ้นจากทริปก่อนอย่างเห็นได้ชัด จากความประทับใจทำให้บางคนบอกต่อและชวนเพื่อนมาเที่ยวด้วยกันอีกกลุ่มใหญ่ ถ้าพี่ติ๋มถือธงอะไรสักอย่างเป็นสัญลักษณ์ให้เราเดิมตาม พวกเราก็คงคล้ายกรุ๊ปนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดแล้วน่าสนุกดี


เราเริ่มทริปกันที่สวนสราญรมย์หรือพระราชอุทยานสราญรมย์ “เลือกพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ตั้งใจให้มาเตะตะกร้อวงใหญ่ แต่เพราะเป็นจุดหักเห เชื่อมต่อ และซุกซ่อนมิติของความใหม่ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นเมื่อราว 150 ปีที่แล้ว” แหม...ถ้าพี่ติ๋มไม่เบรกไว้ คงไปแจมกับวงตะกร้อแล้ว..อิอิ พี่ติ๋มให้ข้อมูลว่าสวนแห่งนี้ ร.4 ท่านสร้างขึ้นโดยมีพื้นที่ติดต่อกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะมาอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์เมื่อส่งมอบพระราชกรณียกิจต่อให้ ร.5 แล้ว โดยที่นี่เป็นพระราชอุทยานตะวันตกแบบแรกสุดที่มีทั้งสวนสัตว์ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆเหมือนที่อังกฤษมีสวน Botanic นอกจากนี้ ยังมีกระโจมแตร สัญลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมตะวันตก อาคารเรือนกระจกที่ในอดีตคืออาคารทวีปัญญาสโมสร เปิดครั้งแรกในสมัย ร.6 พร้อมกับมิติใหม่ของสังคมทำให้เห็นถึงปัญญาของทางตะวันตกที่แทรกซึมอย่างรวดเร็วและทวีพลังมหาศาล “วันนี้จะเป็นการคลี่คลายขยายตัวของสังคมที่หยุดนิ่งมาเป็นพันปี เกิดการขยับตัวครั้งใหญ่ของปลาอานนท์และเขาพระสุเมรุ” พี่ติ๋มบอกพร้อมกับพาพวกเราออกเดินทางสู่สยามใหม่

ครู่เดียวพวกเราก็เดินมาถึงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามและเห็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นคติใหม่ นั่นคือมหาพัทธสีมาที่ปรากฏอยู่ตรงเขตแดนนอกสุดของวัด (ติดกับป้ายชื่อวัด) ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ทุกตารางนิ้วภายในวัดเป็นเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ราวกับอยู่ในกำแพงแก้วทั้งหมด เมื่อเข้ามาในพระวิหารหลวงก็ได้พบว่าเป็นแหล่งรวมของพระพุทธรูปซึ่งจำลองจากพระพุทธรูปองค์สำคัญๆทั้งสิ้น พระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ร. 4 ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล พระนิรันตรายในครอบแก้ว เป็น 1 ใน 18 องค์ ที่ทรงหล่อจำลองจากพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระราชทานไว้ในพระอารามของคณะสงฆ์ธรรมยุต พระพุทธชินราชน้อย พระพุทธชินศรีน้อย และพระศรีศาสดาน้อย ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก


หนึ่งไฮไลต์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ บานหน้าต่างไม้ประดับมุกที่ ร.4 สั่งทำพิเศษจากสกุลช่างนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นภาพวิถีชีวิตที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน งานนี้สนุกและน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกเพราะคุณอัดฉีด-ณัฐพล หาญต๊ะ เจ้าหน้าที่บูรณะบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นซึ่งประจำอยู่ที่วัดมาเล่าถึงความพิเศษของศิลปวัตถุนี้ ตั้งแต่การพิสูจน์สัญชาติด้วยภาพไก่ที่ปรากฏบนชิ้นงาน ส่วนประกอบ เทคนิคการสร้างและการซ่อมอันซับซ้อน รวมถึงการทำงานในการบูรณะบานหน้าต่างอันทรงค่าด้วยความยากลำบากเพราะมีรายละเอียดและความเปราะบางเต็มไปหมด นอกจากนี้ พี่ติ๋มยังเล่าให้เราเห็นภาพความเชื่อมโยงทั้งศิลปะ เศรษฐกิจ การต่างประเทศ ไทยค้าขายกับญี่ปุ่น (โอกินาว่า) ลายรักในงานศิลปะทำให้อิทธิพลจีนแผ่ไปถึงเกาหลี ต่อไปถึงญี่ปุ่น ทำให้เราเห็นงานศิลปะจีนอันมีต้นทางที่ซีอานหรือนครฉางอานเมื่อ 2,300 ปีก่อนได้ที่นารา เรานั่งฟังเพลิน ตัวอยู่ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามแท้ๆ แต่พี่ติ๋มพาไปทัวร์ภูมิทัศน์วัฒนธรรมถึงซีอาน เกาหลี โผล่ไปเล่นกับกวางที่นารา ประเทศญี่ปุ่นได้ซะอย่างนั้น


วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามยังมีงานจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นด้วยศิลปะและประวัติศาสตร์ซึ่งแฝงนัยยะไว้มากมาย ทั้งเรื่องราวพระราชพิธี 12 เดือน ภาพชุมนุมเทวดาที่ล่องลอยไปสู่แดนพุทธภูมิซึ่งผสมผสานระหว่างจิตรกรรมไทยประเพณีและศิลปะตะวันตก เราได้เห็นภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ ร.4 เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ใช้ศาสตร์ตะวันตกในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำแม้จะคำนวณล่วงหน้าถึง 2 ปีซึ่งเป็นการเชื่อมเปิดศักราชมิติจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาลอีกต่อไปแต่เป็นพระอาทิตย์เข้ามาแทนที่ ปลาอานนท์และเขาพระสุเมรุสั่นคลอนอย่างหนัก ถึงตอนนี้เราได้แต่ทึ่ง พี่ติ๋มไม่ได้พาไปโผล่แค่ญี่ปุ่น แต่พาเราออกนอกโลกไปสู่จักรวาลเลยทีเดียว


ช่วงบ่ายเป็นเวลาของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พวกเราโชคดีได้ฟังธรรมจากพระมหาคณิศร (อภิญญา อภิญฺโญ) “ทุกความเจริญย่อมมาจากความเสื่อม ไม่มีใครไม่ทุกข์และไม่มีใครทุกข์ตลอดเวลา เช่นเดียวกับไม่มีใครสุขตลอดเวลา”...สาธุ นอกจากแสดงธรรมแล้ว ท่านยังบรรยายถึงสถาปัตยกรรมของวัด ความหมายที่แฝงอยู่ในตราสัญลักษณ์ ความพิเศษของกระเบื้องเบญจรงค์ที่นำเข้าจากจีนโดยใช้การปักลวดลายบนผืนผ้าไปเป็นต้นแบบ


นี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกแห่งสยามที่มีวัดในแบบที่ศิลปะด้านนอกเป็นไทยอันงามหมดจดแต่ภายในพระอุโบสถกลับเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งที่สวยงามตระการตาด้วยลักษณะพิเศษเหมือนโบสถ์คริสต์ในศิลปะแบบโกธิคที่พบได้ในมหาวิหารชั้นนำระดับโลก ฝ้าเพดานเป็นวงโค้ง ประดับลวดลายพันธุ์พฤกษาเลื้อย มีเสาเซาะร่องแบบศิลปะตะวันตกรองรับ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างยุคสมัย คติที่ยึดโยงการสร้างศาสนสถาน ความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คติเขาพระสุเมรุ กำแพงจักรวาลที่สะท้อนให้เห็นทั้งในภาพกว้างคือการวางพระมหาเจดีย์เป็นหลักสำคัญ แล้วจึงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศ และพระระเบียงคดล้อมรอบ และย่อลงมายังลวดลายของกระเบื้องแต่ละแผ่นก็ยังคงมีคตินี้แฝงอยู่


“ทำไมท่านถึงต้องทำขนาดนี้?” พี่ติ๋มบอกเล่าสิ่งที่ตั้งคำถามกับตัวเอง ทั้งความเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมและศิลปะไทย พระพุทธอังคีรส พระประธานปางสมาธิที่เปล่งปลั่งงดงามที่สุด พระพักตร์ให้ความรู้สึกสงบเย็น มีพระรัศมีขนาดใหญ่เป็นเปลว พระกรรณสั้นเหมือนมนุษย์ปกติไม่ยาวเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป จีวรจับริ้วแบบธรรมชาติ สถิตในสถานที่เดียวกับความเป็นที่สุดแห่งความงดงามตามแบบศิลปะของอีกฟากฝั่งทั้งโกธิค บาโรก และโรโคโค โดยทั้งหมดนี้สร้างขึ้นจากฝีมือช่างชาวสยามทั้งสิ้น


ถึงตอนนี้ ความสวยงามที่ปรากฏแก่สายตากลายเป็นจิ๊กซอว์ที่ปะติดปะต่อความเข้าใจให้สว่างวาบขึ้น เหมือนได้ย้อนกลับไปอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแสนสำคัญนั้น พระอัจฉริยภาพของพระเจ้าแผ่นดินที่พาเราเข้าสู่สยามใหม่ให้รอดพ้นจากการรุกคืบของตะวันตก นี่คือภาพที่คมชัดที่สุดของ “การอยู่เป็นอย่างทรงพลัง” การประกาศศักดาในนามของการโอนอ่อนผ่อนตาม การสู้อย่างถึงที่สุดในนามของการยอมรับ การหลอมรวมของตัวตนที่คงอยู่อย่างเข้มแข็ง ความเป็นสยามที่เปล่งประกายอย่างเต็มเปี่ยมขณะที่โอบรับไปด้วยความศิวิไลซ์แห่งโลกตะวันตกที่น่าภูมิใจและพอใจ


ได้คำตอบของคำถามจากพี่ติ๋มพร้อมๆกับปณิธานที่สว่างขึ้นกลางใจ...ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน...สิ่งนี้นำทางชีวิตเรามาโดยตลอด และจากวันนี้ ยิ่งทำให้ชัดเจนว่าเราจะเลือกเดินไปในเส้นทางไหน และไม่ลืมสิ่งที่แฝงไว้กับตราประจำแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่เหนือประตูวิหาร “สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา-ความสามัคคีเท่านั้นที่ทำให้เรารอดร่วมกัน”


ส่งท้ายทริปด้วยกิจกรรมเพื่อสุขภาวะทางปัญญา “ให้หัวใจพากลับบ้าน” ที่ชวนทุกคนเข้าสู่ช่องว่างระหว่างรูปธรรมและนามธรรม เชื่อมต่อไปสู่ความว่างโดยใช้ลมหายใจ รับรู้ถึงความรู้สึกตัว เชื่อมโยงถึงความรัก ดูแลเพื่อนร่วมทริป ดูแลคนที่เรารัก ดูแลสังคมของเรา ดูแลโลกของเรา ขยายออกไปเท่าที่พลังงานของเราจะไปสู่จุดนั้นได้ จบวันด้วยความอิ่ม เบา และสบายใจ พร้อมกับแสงสีทองยามเย็นที่ฉาบทาให้รู้สึกอิ่มสุข


อยากชวนกันมาร่วมสัมผัสประสบการณ์และค้นพบบางสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในตัวเราผ่านการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ที่ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา จับมือกับ SOOK Enterprise โดยการสนับสนุนจากแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยทริปหน้า “รักข้ามคลอง” ล่องเรือสู่สายนทีแห่งความศรัทธา สายธาราแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ราชธานี เที่ยววัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ศาลเจ้าเกียนอันเกง โบสถ์ซางตาครู้ส วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร วัดศรีสุดารามวรวิหาร วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร และวัดกำแพงบางจาก เป็นทริป 2 วัน เช้าไป-เย็นกลับ ไม่ค้างคืน (แต่ถ้าไม่มาอาจจะค้างคา อิอิ)



อุ่นเครื่อง ทริปที่ 3 "รักแห่งสยาม...ใหม่"


ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมทริปที่ 3 "รักแห่งสยาม...ใหม่"


Comentários


Os comentários foram desativados.
bottom of page