“เยือนยล มนตรา มาตุคาม”: เสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ
เขียนโดย: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร
ถ่ายภาพโดย: ธำรงรัตน์ บุญประยูร
ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อทริป “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ก็รู้สึกได้ถึงความละมุนละเอียดละเมียดละไมชวนต้องมนต์ การเดินทางนี้ต้องมีอะไรดีๆรอเราอยู่แน่...
คุณสุภาพ ดีรัตนา (พี่ติ๋ม) ผู้นำเที่ยวเริ่มต้นทริปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ด้วยการปูพื้นความเข้าใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกร่วมกันถึงการเป็นวัดอันเป็นหมุดหมายใหม่ที่สร้างขึ้น 235 ปีก่อน “การกลายจาก space เป็น place มีสถานที่ไม่มากแห่งในกรุงเทพฯ ที่เป็นแบบที่วัดโพธิ์เป็นอยู่ เราจะไปตามดูกัน” พี่ติ๋มพูดพลางระบายยิ้ม และการเดินทางก็เริ่มจากตรงนั้น
พี่ติ๋มพาเราดูว่า การสร้างบ้านแปงเมืองเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างไร ชมพระบารมีของเมือง พระนครมณฑลคือสิ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า ความสวยงามที่ปรากฏแก่สายตาเราและนักท่องเที่ยวทั้งเอเชียและยุโรปที่หนาตาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พระพุทธไสยาสน์หรือเรียกกันว่าพระนอนวัดโพธิ์ที่สง่างาม หอไตรที่มีความโปร่งเบา ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนัง การจัดการพื้นที่ว่าง สุนทรียศาสตร์ต่างๆที่เชื่อมไปสู่ทางธรรม ศาลาการเปรียญที่เคยเป็นวัดโพธารามในอดีต พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระพุทธโลกนาถ ซึ่งมีความสูงถึง 20 ศอก
หลายสิ่งเกิดขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศิลปกรรมไทย โดยเฉพาะคติการสร้างระเบียงคดรอบพระอุโบสถ แทนการสร้างรอบพระเจดีย์ ซ้ำยังเป็นระเบียงคดสองชั้น เป็นการเปลี่ยนจากคติเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล มาเป็นศูนย์กลางอยู่ที่ชมพูทวีป ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ทวีปที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ทำให้ที่นี่เป็น “ศีรษะแผ่นดิน” ซึ่งหมายถึงแผ่นดินที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาหลังจากจักรวาลแตกดับ เป็นแผ่นดินใหม่ที่บริสุทธิ์ (วิมล) และเป็นมงคล (มังคล) พ้นจากความวุ่นวาย โกลาหล ปั่นป่วน เป็นการตราปฐพีใหม่ไว้ด้วยชื่อ “วิมลมังคลาราม”
มาถึงตรงนี้ รู้สึกได้ถึงความสว่าง เข้าใจลึกซึ้ง จนรู้สึกว่าต่อจากนี้ไปอยากเรียกชื่อวัดโพธิ์ด้วยชื่อเต็ม “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ให้สมกับพระปณิธานของ ร.1 พระผู้สร้างพระนครแห่งใหม่นี้ให้กับพวกเราทุกคน ชื่อที่เคยรู้สึกว่ายาวยืดเยื้อไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป
นี่เองคือความหมายของ “พระนครอันตรธาน” การเข้าถึงเมืองที่มีอยู่แต่เราไม่เคยเห็น ทันทีที่เชื่อมโยงได้ก็รู้สึกเต็มตื้น อิ่มในหัวใจ เราโชคดีขนาดไหนที่ได้เกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์นี้ ก้มกราบให้กับความรักขององค์พระมหากษัตริย์ นึกเทียบไปก็คงไม่ต่างจากการปลูกบ้านใหม่หรือย้ายเข้าบ้านใหม่ เราล้วนอยากได้บ้านที่สะอาด สวยงาม ปลอดภัย อยู่อาศัยได้อย่างเจริญร่มเย็นเป็นสุข และเป็นที่รวมความรักของทุกคนในบ้าน
วันนี้พี่ติ๋มทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงความเป็นบ้านใหม่หลังใหญ่ของเราชาวไทย เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเป็นชาวสยามในห้วงเวลานั้น เป็นการรวมศูนย์เข้าสู่ศูนย์กลางครั้งใหม่... นี่คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ช่วงบ่ายเราเดินทางต่อไปยัง “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” เสาหลักอีกแห่งของมหานครยุคสยามโบราณที่เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และสานต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 3 “คติการสร้างวัดของรัชกาลที่ 1 หลังจากกำหนดหมุดหมายของศีรษะแผ่นดินขึ้นที่วัดโพธิ์แล้ว ก็กำหนดตรงนี้ให้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งจักรวาล... นี่คือศูนย์กลางของพระนคร... ท่านต้องการให้วัดสุทัศน์เป็นเขาพระสุเมรุกลางพระนครนั่นเอง”
พี่ติ๋มแนะนำให้เรารู้จักและเข้าใจคติการสร้าง “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” ไว้แบบนั้น คติ “สุทัสสนนคร” ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทำให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางจักรวาลที่อยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร
พี่ติ๋มพาเราย้อนกลับสู่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อบริเวณนี้ยังรกร้างว่างเปล่า มีการลงหลักปักฐานเพื่อให้ที่นี่เป็นวัดกลางพระมหานครสำหรับราษฎรทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง และยังเล่าเรื่องจนเราเห็นอีกหลายภาพซึ่งล้วนเป็นฉากสำคัญทั้งสิ้น ทั้งองค์พระศรีศากยมุณี พระประธานที่อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ สุโขทัย วิธีการชะลอองค์พระประธานขึ้นที่ท่าพระ มีการฉลองสมโภชน์ 7 วัน 7 คืน การชะลอองค์พระประธานมาถึงพระวิหาร (พระอุโบสถในตอนนั้น) ที่ก่อสร้างรากฐานไว้เพื่อรอรับแล้ว และเมื่อตั้งองค์พระประธานได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ได้ตรัสว่า “เสร็จธุระแล้ว” หลังจากนั้นไม่นานก็สิ้นพระชนม์ นี่จึงเปรียบเป็น Mega Project สุดท้ายของพระองค์
อีกหนึ่งความพิเศษของ “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” คือ การใช้สัตตมหาสถานที่แฝงด้วยปริศนาธรรมแทนเจดีย์ที่เราจะเห็นได้ในวัดอื่นๆ “สัตตมหาสถาน” หรือสถานที่สำคัญ 7 แห่ง เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขหลังจากตรัสรู้แล้ว อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางจักรวาลและสว่างไปทั้งจักรวาลปรากฏอยู่หลังแท่นพระศรีศากยมุณี เชื่อมจากใต้บาดาลไปถึงโลกมนุษย์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และอีกหนึ่งไฮไลท์ คือ พระสุนทรีวาณี ที่อ่อนช้อยสวยงาม มีดวงแก้วในหัตถ์ซ้าย เป็นการเปิดตัวเองเพื่อรับบางสิ่ง เป็นสภาวะอันอ่อนโยน นุ่มนวล และทลายกำแพงในการเรียนรู้
ก่อนกลับบ้าน ผู้ร่วมทริปได้รับของที่ระลึกที่น่าใช้และมากประโยชน์โดยพี่ติ๋มเป็นตัวแทนส่งมอบ จบทริปด้วยรอยยิ้มและความอิ่มใจ บางคนบอกว่ารักการมาเที่ยวกับพี่ติ๋มเพราะได้รับบางสิ่งที่พี่ติ๋มตกผลึกและส่งต่อมาให้ บางคนบอกว่าได้รับบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่าการมาเที่ยววัดแบบทั่วไป บางคนบอกว่านี่เป็นการจุดประกายให้ไปทำการบ้านเพิ่มเพื่อจะไปเที่ยวด้วยกันอีกในทริปต่อๆไป และหลายคนเห็นตรงกันว่า น่าจะชวนคนหลายๆวัยมาเดินเที่ยวทริปแบบนี้กัน
อย่างเดียวที่รู้สึกลำบากในทริปนี้คือ ของว่างที่ทีมงานจัดเตรียมไว้ให้ เป็นขนมจีบนกหรือขนมจีบไทย หน้าตาช่างน่ารักสมเป็นขนมชาววัง ทำให้ตกหลุมรักจนหักใจกินนกตัวน้อยตาแป๋วได้ยากลำบากจริงๆ
มาร่วมท่องเที่ยวที่ได้เดินทางทั้งภายนอกและภายใน ค้นพบอะไรบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปในตัวเราเองผ่านการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ที่ศูนย์ความรู้และประสานงานทางสุขภาวะทางปัญญาจับมือกับ SOOK Enterprise โดยการสนับสนุนจากแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจะจัดครั้งต่อไป วัน ส. 18 ก.พ. 2566 ในทริปที่ 2 สัมผัส “รักยิ่งใหญ่ที่กว้างกว่าพ่อมีต่อลูกหรือหลาน” เป็น One Day Trip ที่วัดเทพธิดารามวรวิหารและวัดราชนัดดารามวรวิหาร ราคา 1250.- ติดต่อและรับข้อมูลของทั้ง 5 ทริปตลอดเดือน ก.พ.-มี.ค. ได้ที่ https://sooklife.com/sooktour/
อุ่นเครื่อง ทริปที่ 1 "รักแรก"
ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมทริปที่ 1 "รักแรก"
Comments