top of page

คุยกับ “ไพร” LGBTIQN+ กับขบวนการเคลื่อนไหวสังคมที่มีจิตวิญญาณ

“ไพร” -- เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้อยู่ในขบวนการเรียกร้อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นผู้ก่อตั้ง Queer Riot และเป็นผู้จัดงาน “เบิกบานเฟส” ครั้งแรกขึ้นในวันสิทธิมนุษยชนปี 2565 และเป็นแม่งานจัดงานเบิกบานเฟสอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ เขาเน้นย้ำว่า งานเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม ไม่อาจขาดมุมมองเรื่องเพศสภาวะ การคำนึงถึงความทับซ้อนของอัตลักษณ์ต่างๆ (Intersectionality) และสุขภาวะทางจิตวิญญาณไปได้


จิตวิวัฒน์ชวนเปิดพื้นที่หัวใจกว้างๆ เพื่ออยู่ตรงนี้กับไพร และไปพ้นจากกรอบการแบ่งแยกความเป็นชายและหญิงแบบตายตัว ดังที่เขานิยามเพศสภาวะของตนเองว่าเป็น “เควียร์” หรือ “นอนไบนารี่”


เรื่อง: พรรัตน์ วชิราชัย 

ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร




บาดแผลและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ


ไพรมีเพศกำเนิดชาย เป็นลูกชายคนที่สองของครอบครัวชนชั้นกลางล่าง พ่อแม่ยุ่งกับการทำมาหากิน ป้าที่มีลักษณะทอมบอยและป้าที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจึงช่วยกันเลี้ยง ในวัยเด็กเขาเป็นเด็กอ้วนใส่แว่นที่อ่อนหวาน ดูเป็นผู้หญิง จึงถูกกลั่นแกล้งและใช้ความรุนแรงโดยกลุ่มเพื่อนของพี่ชายบ่อยครั้ง เขารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับเพื่อนกลุ่มเด็กผู้ชาย และไม่มีสำนึกว่าตนเองเป็นชายหรือหญิง ไพรเคยถูกญาติผู้ชายล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงเหล่านี้ได้สร้างแผลในจิตใจของเขา


เมื่อเข้าวัยรุ่น ไพรรับรู้รสนิยมทางเพศของตนเองมากขึ้น แต่ที่โรงเรียนเขาก็ยังไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนผู้ชายหรือเพื่อนเกย์ชายที่มีความเป็นหญิง จึงไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง พออายุ 15 ปี พี่ชายบังคับให้ไพรเปิดเผยรสนิยมทางเพศ พ่อแม่เข้าใจว่าเขาป่วยทางจิต จึงบังคับให้ไปหาหมอ ไพรไม่ยอม เขาเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้เรื่องเพศทางอินเทอร์เน็ต และรู้ว่าตัวเองไม่ได้ป่วย เขาหนีออกจากบ้าน ครอบครัวพยายามตามให้กลับบ้านและให้ไปหาหมอ ไพรจึงเลือกออกจากโรงเรียนมาทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ความรู้สึกโดดเดี่ยวจากครอบครัวทำให้ไพรพาตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยงบ่อยครั้งเพื่อรับมือความเจ็บปวดในใจ เช่น เมา หรือเที่ยวกลางคืน


ช่วงอายุยี่สิบปลาย ไพรถูกละเมิดทางเพศด้วยการแอบถ่ายคลิป และได้รับการช่วยเหลือจากนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ ทำให้ได้รู้จักกับกลุ่มโรงน้ำชา ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและประชาธิปไตย ไพรเองมีฐานความสนใจเรื่องการเมืองและประเด็นความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาทำงานเป็นนักกิจกรรมทางสังคมในประเด็นนี้


“ชีวิตที่ผ่านมา การถูกล้อ ถูกแกล้ง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกเหยียดหยาม ถูกคู่นอกใจ ถูกบังคับให้เปิดเผยตัวตนทางเพศ มันยังอยู่ในใจเราตลอด เพราะมันลดทอนชีวิตและศักดิ์ศรีของเรา เวลาไปอยู่ในชุมชนของคนที่เข้าใจกัน แม้จะไม่ได้รับความยอมรับทั้งหมด แต่การมีอยู่ของชุมชนก็ทำให้เรารู้สึกมีตัวตน มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี พอรู้จักกลุ่มโรงน้ำชาที่มีคุณค่าและแนวคิดคล้ายคลึงกัน เราเชื่อมโยงกันทั้งเชิงอุดมการณ์และจิตวิญญาณ เลยอยากทำงานตรงนี้ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยคุณค่าข้างใน ที่อยากให้แต่ละกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาทำงานเชื่อมโยงกัน”



ต้อนรับชีวิตทางจิตวิญญาณ

 

ไพรเริ่มทำงานในขบวนการภาคประชาชนเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศปี 2560 ซึ่งเป็นบรรยากาศการทำงานกลางความขัดแย้งหลังรัฐประหาร ระหว่างกลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่สนับสนุน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (เปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย พร้อมมีสิทธิในการสมรสไม่ต่างจากคู่สมรสชายหญิง) กับกลุ่มที่ทำงานร่วมกับรัฐซึ่งสนับสนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิต (รับรองสิทธิบุคคลเพศเดียวกันให้สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ทั้งนี้ คู่ชีวิตมีสิทธิบางประการเหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิง เช่น สิทธิการรับบุตรบุญธรรม การรับมรดก แต่สถานะทางกฎหมายจะเป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งส่งผลให้อาจไม่ได้รับสิทธิบางประการเทียบเท่าคู่สมรส) 

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เขาได้ทำงานกับภาคการเมือง และเข้าร่วมอบรมกับ อวยพร เขื่อนแก้ว นักฝึกอบรมสตรีนิยม เพศภาวะ ความเป็นธรรม และการภาวนาเพื่อการเยียวยา ที่เป็นครูคนสำคัญของไทยในการทำงานด้านนี้ ทำให้ไพรมีโอกาสเรียนรู้เรื่องของเพศภาวะที่มีมิติจิตวิญญาณเป็นฐาน

 

ตอนแรกที่ได้ยินคำว่า “จิตวิญญาณ” ในงานอบรม ไพรรู้สึกต่อต้าน เพราะคิดว่ามันเกี่ยวกับอำนาจของสถาบันทางศาสนาซึ่งกีดกันคนที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นเขา แต่ไพรสนใจเรื่องอำนาจภายใน การจัดการความขัดแย้งในขบวนการทางสังคม การฟื้นคืนทางจิตวิญญาณ และการเสริมพลัง จึงมีมมุมที่เปิดรับชุดความรู้ดังกล่าว

 

เมื่อไพรได้รับการเสริมพลังจากกระบวนกรว่า “คุณมีจิตวิญญาณที่เข้มแข็งมาก ถึงได้ผ่านเรื่องราวต่างๆมาได้” ข้างในเขาตอบทันทีว่า “ใช่” แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ว่าจิตวิญญาณคืออะไรก็ตาม แต่ตอนนี้เขาเข้าใจแล้วว่า ยิ่งเราผ่านความยากลำบากและความเจ็บปวด ยิ่งมีอัตลักษณ์ที่ถูกกดขี่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้จิตวิญญาณและอำนาจภายในมากเท่านั้น

 

“กรอบการทำงานของเราคือเรื่องความเป็นธรรม การวิเคราะห์อำนาจ โครงสร้าง เพศ อัตลักษณ์ทับซ้อน แต่ฐานข้างล่างของชีวิตต้องมีอำนาจภายใน (Power within) ที่อยู่ร่วมกับปฏิบัติการสันติวิธี (Non-violence actions) ต้องทำไปควบคู่กัน และถ้ามีทั้งฐานคิด ฐานกาย ฐานใจ และฐานจิตวิญญาณที่สมดุลกัน เราจะไม่บิดเบี้ยว

 

“แล้วคำว่า ‘จิตวิญญาณ’ แปลว่าอะไร มันอาจคือจักรวาล ธรรมชาติ หรือไม่มีภาษาก็ได้ หมายถึงตัวเราและเลยไปจากตัวเรา สตาร์ฮอว์ค (Starhawk) นักสตรีนิยมและนักเขียนชาวอเมริกันบอกว่า สังคมปิตาธิปไตยสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับพระเจ้าที่เป็นชาย (God) มากกว่าพระเจ้าที่เป็นหญิง (Goddess) และมองว่าพระเจ้าที่เป็นหญิงเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญพันธุ์ สกปรก เก่า โบราณ ชั่วร้าย ลุ่มหลงในราคะและความสุขทางเนื้อหนังมังสา แต่ ‘จิตวิญญาณ’ ให้ความหมายบางอย่างแก่เรา ให้เรามีอำนาจกำหนดให้พระเจ้าอยู่นอกสำนึกชายและหญิงก็ได้ เป็นการให้ความหมายที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมายทางจิตวิญญาณ”

 


พังทลายและฟื้นคืน

 

แม้จะเรียนรู้เรื่องต่างๆมากมายในช่วงการอบรม แต่การกลับมาเผชิญชีวิตจริงก็ไม่ง่าย งานเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศทำให้ไพรต้องเผชิญความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงมากมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมก็ยังไปไม่ถึงฝั่ง ทั้งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด และความปั่นป่วนทางจิตใจจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่เขาเผชิญมาตลอดตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ไพรมีภาวะเครียดเรื้อรังจนจัดการไม่ได้ ความเจ็บปวดและอกหักทางอุดมการณ์ทำให้ไพรเสียสมดุลย์ทั้งกาย จิตใจ และจิตวิญญาณไปช่วงหนึ่ง น้ำหนักตัวหายไปกว่ายี่สิบโล ทำงานได้ยากเพราะไม่มีสมาธิ อารมณ์อ่อนไหวง่าย และขัดแย้งกับคนอื่น

 

เพื่อนที่เห็นไพรมาตลอดเตือนเขาว่า ทำไมเขาไม่นำสิ่งที่บอกกับคนอื่นเวลาเป็นผู้ให้คำปรึกษามาลงมือทำกับตัวเอง คำพูดนี้ทำให้เขาหยุด และหันกลับมามองชีวิตตัวเอง ไพรเริ่มเห็นว่าตนเองใช้ชีวิตแบบผู้พึ่งพิงมาตลอด เขาแสวงหาการยอมรับและเอาคุณค่าตัวเองไปฝากไว้ที่อื่นเสมอ ทำให้ปล่อยวางหลายสิ่งไม่ได้

 

“เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่เราทำร้ายตัวเองหรือเปล่า? นี่คือความรุนแรงต่อตัวเองหรือเปล่า? เราต้องการอะไรกันแน่? เราบอกให้ทุกคนทำงานกับการรักและดูแลตัวเอง แต่เราปฏิบัติให้เป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเองน้อยมาก มันทำให้เราตั้งสติ ยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง เห็นความเกลียด ความกลัว ความทุกข์ของเรา เปิดใจเพื่อทำงานกับความมั่นคงข้างในมากขึ้น

 

“เราได้เรียนรู้ว่า เราต้องรับผิดชอบทางเลือกของตัวเอง เพื่อคืนอำนาจให้ตัวเอง เราต้องไม่ฝากความรับผิดชอบไว้กับคนอื่น สิ่งนี้คืออำนาจภายใน (Power within) มันทำให้เรารู้สึกโตขึ้น มีอำนาจข้างในที่จะเปลี่ยนตัวเองและทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไป แต่ไม่ได้หมายแปลว่าเราต้องไปแบกใคร กระบวนการนี้ทำให้อำนาจเหนือ (Power over) ครอบงำเราได้น้อยลง”

 

ไพรมองว่านักกิจกรรมที่มีอัตลักษณ์ชายขอบ ซึ่งยังถูกสังคมตีตราและกดทับ ยิ่งทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงข้างนอกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจำเป็นต้องทำงานกับภาวะภายในตัวเองมากเท่านั้น เช่น กลุ่ม LGBTQ ที่สังคมอาจตีตราว่าเป็นตัวประหลาด ศาสนาอาจตีตราว่าเป็นคนบาป กลุ่มนักกิจกรรมด้วยกันเองก็ตีตราว่าเป็นจอมดราม่า เจ้าอารมณ์ ฯลฯ การยืนยันสิทธิของตนเองที่จะเป็นเหมือนคนอื่นจึงต้องใช้พลังจากความมั่นคงภายในเยอะมาก การกลับมาเข้าใจและรักตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นงานที่ต้องทำทั้งชีวิต และไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว

 

ไพรเล่าถึงหนังสือของออเดร ลอร์ด (Audre Lorde) นักสตรีนิยมและนักเขียนชาวอเมริกันผิวสีที่บอกว่า การรักตัวเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว “Caring for myself is not self-indulgence, it is self-preservation and that is an act of political warfare” แต่ระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมมักทำให้เราเข้าใจเช่นนั้น และการเปลี่ยนแปลงสังคมก็มักเกิดขึ้นช้าๆ นักเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องสร้างความมั่นคงภายในตนเองเพื่อให้ทำงานได้ในระยะยาว

 

ไพรใช้หลากหลายวิธี รวมทั้งหลากองค์ความรู้และความเข้าใจข้ามศาสตร์ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูสภาวะภายในตนเอง ทั้งโยคะ ทำสมาธิ ทำงานศิลปะ ฟังธรรมะ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เรียนรู้ศาสตร์จิตวิทยา มองโลกด้วยเลนส์เพศภาวะ และเชื่อมโยงกับจิตวิญาณ เพื่อสะสางโลกข้างในตัวเอง

 

ไพรมองว่าที่เขาผ่านพ้นเรื่องราวยากๆมาได้ก็เพราะมีแหล่งอำนาจมากมายที่คอยสนับสนุน เช่น วัย เพศ (ภาพลักษณ์ของชายตรงเพศ) ฐานะทางสังคม ครอบครัว เพื่อน เครือข่าย ความรู้และทักษะที่ช่วยให้เข้าถึงศาสตร์ต่างในการดูแลตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นเพียงเรื่องปัจเจกหรือทางรอดส่วนบุคคล เพราะการทำงานข้างในของแต่ละคนนั้นจะทำได้เพียงระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายต้องทำให้เกิดการตระหนักและเป็นการทำงานร่วมกันในระดับสังคม

 




เลือกเองที่จะเป็น “ไพร”

 

จุดหนึ่งในกระบวนการการเรียนรู้ด้านเพศภาวะ ไพรได้รับการยอมรับว่า ตัวเขามีเฉดของคนข้ามเพศที่พ้นไปจากชายและหญิง เขาตื้นตันใจมากกับสิ่งที่ได้รับ ทั้งยังเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าทำไมเขาจึงรู้สึกแปลกแยกอยู่เสมอ เพราะโลกข้างในของเขาไม่เหมือนกับอัตลักษณ์ข้างนอก แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนร่างกายให้เป็นผู้หญิง

 

ไพรมองว่า ประสบการณ์และการหล่อหลอมทางสังคมที่ผ่านมาทำให้เขาเป็นคนยอมตามคนอื่น (passive) มากๆ เขาจึงโอบรับแนวคิด “Deadnaming” คือ “การเปลี่ยนชื่อในกระบวนการเปลี่ยนเพศ” เพื่อ “นิยามตัวตนใหม่” ให้ตนเอง

 

พ่อแม่ตั้งชื่อไพรว่า “ปาร์ค” (park) แปลว่าสวนสาธารณะ หมายถึงจิตใจที่เปิดกว้าง และเขามีชื่อในใบเกิดว่า “ปูเป้” เพราะครอบครัวคิดว่าอาจได้ลูกสาว เพื่อนๆนำชื่อนี้มาล้อเลียนเขา แต่ไพรชอบชื่อปูเป้ จึงใช้ชื่อเล่นนี้ด้วยความรู้สึกภูมิใจในความเป็นหญิง และต่อมาก็เป็น “เป้” เพราะเรียกง่าย มารู้ตัวอีกทีก็รู้สึกว่าชื่อโหล ตัวตนของตัวเองหายไป และชีวิตหนักเหมือนแบกเป้ตลอดเวลา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เขาจึงเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น “ไพร” เพื่อให้ตัวเองอยู่ในปัจจุบัน และรู้สึกถึงพลังอำนาจในการเลือกได้มากขึ้น

 

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้เลือกชื่อเอง เป็นชื่อจากพ่อแม่ ชื่อจากเพื่อน วันหนึ่งเราเปลี่ยนเป็น ‘ไพร’ ที่แปลว่าป่า ความหมายของมันก็โอบรับความใจกว้างที่พ่อแม่ตั้งให้ เป็นการโอบอุ้มโดยไม่ต้องแบกอะไร เป็นการมีอยู่แบบอาศัยร่วมกัน (Eco-Logical) เป็นชื่อที่มีความเป็นกลางไปกว่ากรอบความเป็นชายและความเป็นหญิง มีความตรงกับธรรมชาติ ตรงกับชื่อสมุนไพรชนิดหนึ่ง และตรงกับคำว่า Pride (ความภาคภูมิใจ) ที่ใช้เป็นชื่อในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

“เรารู้สึกว่าทรานส์ (transgender person -- บุคคลข้ามเพศ) ใช้จิตวิญญาณที่เข้มแข็งมากๆที่จะข้ามจากเพศหนึ่งไปเพศหนึ่ง การจะยืนยันว่าฉันเป็นใคร ฉันเลือกร่างกายนี้ มันเป็นพลังในการนิยามตัวตนข้างในมาก มันเป็นการข้ามผ่านตัวตน (transcendental being) เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่ตัวประหลาด เพราะธรรมชาติมีความแตกต่างหลากหลายที่มากกว่ามุมมองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง”

 

มิติจิตวิญญาณในงานหลากหลายทางเพศ

 

ในการงาน ไพรมองว่าตัวเองเป็นนักกิจกรรมที่ผลักดันเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมที่เดินอยู่บนเส้นทางทางจิตวิญญาณ โดยบทบาทในปัจจุบันคือการทำงานสนับสนุน (ประสานความร่วมมือ) งานเยียวยา (เสริมพลัง) และงานเครือข่าย

 

รอบปี 2565 ที่ผ่านมา ไพรพบว่าเขาปฏิเสธคนได้มากขึ้น สามารถเอาตัวเองจากพื้นที่ที่ไม่ใช่ และไม่เสริมพลังภายใน โดยจัดวางขอบเขตสัมพันธ์ได้มากขึ้น หันมาทำงานตามคุณค่าและเสียงภายใน และเริ่มทำงานโดยเชื่อมโยงกับมิติจิตวิญญาณ โดยจัดงานต่างๆที่เป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ของการทำงานประเด็นความหลากหลายทางเพศ เช่น ทำงานประเด็นสมรสเท่าเทียมโดยเน้นการดึงคนที่เห็นต่างมาคุยเพื่อหาประเด็นร่วมด้วยกัน เขาก่อตั้ง Queer Riot และชวนนักกิจกรรมรุ่นใหม่มาจัดเวทีอวัยวะเพศหลากหลาย จัดงานไพร์ดเยาวชนเพื่ออิสรภาพและความยุติธรรม จัดทอล์ก Tomorrow's Leader on Stage: All About Love และจัดงานเบิกบานเฟส เพื่อเชิญชวนให้นักเคลื่อนไหวทางสังคมมีคุณค่าร่วมของการทำงานอย่างผ่อนคลาย เบิกบาน มีอำนาจภายใน และสร้างอำนาจร่วมในขบวนการทางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

ภาพระยะใกล้ ไพรอยากสื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ และเปิดพื้นที่เรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณในกลุ่มนักกิจกรรม ในระยะไกลขึ้น เขาอยากเห็นกลุ่มคนทำงานด้านสังคมให้คุณค่ากับกระบวนการสันติวิธี และปรับนโยบายการทำงานที่คำนึงถึงสุขภาวะและเพศภาวะมากขึ้น เช่น มีวัฒนธรรมที่ให้พื้นที่กับการสนทนาเรื่องข้างในและการทบทวนตนเอง มีกติการ่วมกันในการเคารพนาฬิกาชีวิตของคนทำงาน ไม่เร่งหรือผลักดันให้ทำงานให้ได้ตามผลลัพธ์หรือต้องสู้จนตัวตาย การโอบรับช่วงเวลาที่ผู้หญิงมีเลือดประจำเดือน และการเปิดพื้นที่ให้พูดเรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

งานที่ทำอยู่ทำให้เขารู้สึกมีพลัง แม้เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ ไม่สิ้นหวังเหมือนเมื่อก่อน และปล่อยวางได้มากขึ้น เพราะมีเป้าหมายในใจคือขบวนการภาคประชาชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

ไพรมองว่างานที่มีมิติเพศสภาวะและสุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องใหม่ทั้งของสังคมไทยและสำหรับตัวเขาเอง งาน “เบิกบานเฟส” ที่เขาเพิ่งทดลองทำโดยเชื่อมสองประเด็นเข้าด้วยกันได้รับการตอบรับที่ดี ในอนาคตเขาจึงอยากนำมิติจิตวิญญาณเข้ามาใช้ในงานมากขึ้น เช่น งานศิลปะ กิจกรรมเต้น งาน Youth Pride ไปจนถึงการหาช่องทางผลักดันให้องค์กรศาสนาร่วมมือสร้างบ้านพักฉุกเฉินหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

 

“ตอนนี้เราทำงานตามหน้างาน ยืดหยุ่น แต่ทำแบบเข้าใจแก่นและคุณค่าของงานที่ทำ เวลาไปคุยงาน เสวนา ต่อรอง หรือวางแผนงาน เราจึงชัดและคมขึ้น สนุกกับงาน เบิกบาน และเติบโตกับสิ่งที่ทำ เวลาให้คำปรึกษาเพื่อนนักกิจกรรมก็รู้สึกว่าเราไม่แบกรับทางความรู้สึกเหมือนเมื่อก่อน อยู่กับเขาได้มากขึ้น ความรู้สึกตัดขาดระหว่างข้างในกับข้างนอกน้อยลง กลับมาเชื่อมโยง ยืดหยุ่นมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น”

 

ในระดับขบวนการทางสังคมของภาคประชาชน ไพรมองว่าเริ่มมีการนำมิติจิตวิญญาณมาใช้ทั้งในเชิงสัญลักษณ์ พิธีกรรม ไปจนถึงปฏิบัติการสันติวิธี เช่น การเผาพริกเผาเกลือ การใช้ศาสตร์มูเตลูในการประท้วง การจัดพิธีแต่งงานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในเทศกาลไพรด์ การนั่งสมาธิหรือร่ายรำเพื่อประท้วง การจุดเทียน การยืนหยุดขัง การโกนหัวของแม่เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมเยาวชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย) เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ไปจนถึงการที่นักกิจกรรมรุ่นใหม่สนใจศาสตร์ความเข้าใจตนเองมากขึ้น และการที่นักวิชาการด้านปรัชญาท่ให้ความสำคัญและนิยามร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมและจิตวิญญาณ ฯลฯ

 




อย่าลืมว่าเรามีความสุขในชีวิตประวันได้

 

ไพรเห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ยังขับเคลื่อนด้วยอารมณ์โกรธแค้นเป็นหลัก เนื่องจากต้องเผชิญอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมอย่างสม่ำเสมอ บรรยากาศในภาพรวมจึงเต็มไปด้วยความกลัวและความแบ่งแยก

“เราเห็นความโกรธของคนรุ่นใหม่ และเราเห็นจุดร่วมคือเขาถูกทำร้ายเยอะมาก ทั้งในโรงเรียน ในครอบครัว แม้แต่เด็กที่รวยก็ตาม ผู้หญิงจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ คนพิการบางคนถามว่า ความรุนแรงคืออะไร เพราะเขาถูกครอบครัวทอดทิ้งแต่เกิด มันเป็นความรุนแรงถึงระดับที่เขาไม่มีที่ยืน

 

“ยุทธศาสตร์ของรัฐในช่วงสองปีที่ผ่านมาคือทำให้คนกลัว คนรุ่นใหม่พยายามแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่กลัว แต่หลายครั้งก็ไม่ทันตัวเอง ไหลไปกับกระแสความโกรธ ความรู้สึกที่รุนแรง จนเหนื่อยและหมดพลัง ในทางกลับกัน เรามองว่าความกล้าหาญคือการยอมรับว่าเรากลัว และเรียนรู้ว่า แม้เราลงมือปฏิบัติการสันติวิธี เราก็อาจเจอความรุนแรง ความเจ็บปวด แต่เราก็ยังเลือกที่จะทำ และการทำด้วยคุณภาพแบบนี้จะเป็นความมั่นคง

 

“สำหรับเรา งานต่อไปคืองานด้านจิตวิญญาณ งานด้านฟื้นฟู เราไม่ได้เอาความเสียสละแบบชายเป็นใหญ่นำ แต่เราให้คุณค่ากับความอ่อนโยน ความละเอียดอ่อน การให้พื้นที่ทางจิตวิญญาณกับคนชายขอบ”

 

ไพรมองว่าพลังงานความโกรธ ความเศร้า และความกลัวนั้นต้องการพื้นที่ปลอดภัยให้ระบายออก ต้องการพื้นที่ที่สร้างความตระหนักรู้ เพื่อแปรเปลี่ยนพลังงานลบเป็นพลังในการขับเคลื่อนแบบเสริมพลัง นักกิจกรรมรุ่นก่อนจึงควรแบ่งปันพื้นที่ โอกาส และทรัพยากรกับคนรุ่นใหม่ที่อาจเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวและบาดแผลด้วยความเมตตาและความเข้าใจ

 

แม้นักกิจกรรมส่วนใหญ่ยังมองว่ามิติทางจิตวิญญาณนั้นเป็นทางรอดของปัจเจกบุคคลมากกว่าเป็นเรื่องของภาพรวมที่ใหญ่กว่า แต่ไพรมองว่าจิตวิญญาณเชื่อมโยงปัจเจกบุคคลและขบวนเข้าด้วยกันได้ และจะช่วยสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้ขบวนการภาคประชาชน

 

“การทำงานโดยด้วยมิติจิตวิญญาณ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราลืมความทุกข์ แต่มันช่วยเตือนให้เราไม่ลืมว่า เรามีความสุขในชีวิตประวันได้ ไม่ลืมที่จะรักตัวเอง ไม่ลืมที่จะรักษาความมั่นคงในตัวเอง แม้อาจทำแล้วไม่เห็นว่าผลสุดท้ายโลกจะเป็นอย่างไร แต่คนในขบวนจะมั่นคงและลงลึกในงานที่ทำได้มากขึ้น

 

“เราไม่ได้ทำงานคนเดียว สังคมที่มีความเป็นชายมากๆอาจชอบการนำเดี่ยว แต่ในขบวนผู้หญิง LGBTIQN+ และกลุ่มอัตลักษณ์ชายขอบ เราทำงานกันเป็นทีม ขึ้นนำกันเป็นแผง ฉะนั้นเราจึงต้องทำงานกับตัวเองและทำงานด้วยกัน โดยมีเป้าหมายคือสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้ในระดับจิตวิญญาณ สิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตต่างๆเติบโตได้อย่างมีอิสระและทางเลือก”

 

ไพรบอกว่า การเกิดขึ้นของงานที่มีมิติเพศภาวะพร้อมๆกับประเด็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณไม่ได้เกิดจากตัวเขาเพียงคนเดียว แต่เกิดจากสังคมไทยที่หล่อหลอมให้เขาเป็นเขา ครูบาอาจารย์ ขบวนและผู้คนที่เดินร่วม ไปจนการเติบโตภายในของไพรเอง โดยงานดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสุขภาวะทางจิตวิญญาณและสร้างสังคมที่เป็นธรรม เนื่องจากเขาเชื่อว่า พลังแห่งความรัก ความเบิกบาน และความมั่นคงภายใน จะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีและการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนทั้งของปัจเจกและสังคม

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page