top of page

ฝึกสติสู้เบาหวาน

บทสัมภาษณ์ นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต

เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร


สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดไม่เกิดปัญญา


ทุกคนรู้กันดีว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องทำเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเผชิญเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าโดยที่ไม่ทันตั้งตัวหรือเตรียมใจมาก่อน คือ การตั้งสติ เรียกว่าสติมาเร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น


คำถามคือ แล้วถ้าไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน แต่เป็นสิ่งที่อยู่กับเรามานาน หรือจะอยู่กับเราไปอีกนานอย่าง “โรคเรื้อรังประจำตัว” ล่ะ “สติ” ยังสำคัญอยู่ไหม


“ปัจจุบันมีคนไข้เบาหวานมากกว่า 70% ที่ควบคุมโรคไม่ได้ หมายถึง กินยาแล้วแต่ก็ยังมีน้ำตาลในเลือดสูงอยู่” นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เปิดตัวเลขสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่น่าตกใจและสร้างความกังวลให้แก่ ‘คนทำงาน’ และระบบสาธารณสุขของประเทศ


“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง กรรมพันธุ์ เพราะยีนเป็นตัวกำหนดการทำงานของร่างกาย สอง วิถีชีวิตทางร่างกาย เช่น ขาดการออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีไขมันสูง หวาน มัน เค็ม และสาม วิถีชีวิตทางจิตใจ คือ มีความเครียดสูง” นพ.ยงยุทธ เล่าถึงสาเหตุของโรคเบาหวาน “การรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันคือการให้ยา ก็ตรงไปตรงมา ถ้าจะให้การรักษาได้ผลก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อันนี้ก็ยากขึ้น ส่วนสาเหตุที่สาม ให้เปลี่ยนวิถีชีวิตด้านจิตภาพ อันนี้ยากหนักเลยว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เครียด”





แก้เบาหวานที่ต้นเหตุ


“การรักษาที่แท้จริงต้องคลุมให้ได้ทั้งสามองค์ประกอบ การอาศัยยาอย่างเดียวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะควบคุมโรคได้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้คนไข้ควบคุมโรคไม่ได้” นพ.ยงยุทธชี้ถึงต้นเหตุที่ทำให้เบาหวานกลายเป็นโรคเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา


“ทีนี้พอควบคุมโรคไม่ได้ เป็นเบาหวานนานๆเข้าก็มีผลกระทบต่อร่างกาย เช่น เบาหวานขึ้นตา ตาก็มองไม่เห็น กระทบต่อหลอดเลือดก็ทำให้ติดเชื้อง่าย ถูกตัดแขนตัดขา และที่เป็นปัญหามากก็คือทำลายการทำหน้าที่ของไต เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ไตทำงานไม่ไหวก็ต้องล้างไต จากเริ่มป่วย กลายเป็นควบคุมโรคไม่ได้ เริ่มมีภาวะแทรกซ้อน ในที่สุดก็เข้าสู่ระยะสุดท้าย ตีตั๋วเที่ยวเดียว One way ticket คือไม่มีขากลับ ฟังดูเศร้านะ”

นอกจากจะเป็นเรื่องเศร้าสำหรับตัวผู้ป่วยเบาหวานเองแล้ว ยังเชื่อมโยงไปถึงครอบครัวซึ่งต้องให้การดูแลช่วยเหลือตามสภาวะของโรคที่แย่ลงเรื่อยๆ รวมถึงระบบบริการสุขภาพ ที่คุณหมอยงยุทธบอกว่าตอนนี้แผนกที่มีคนไข้แน่นที่สุดของทุกโรงพยาบาล คือคลินิก NCDs (คลินิกสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) กลายเป็นปัญหาของทั้งระบบสาธารณสุขและสังคมในภาพรวม... เป็นเรื่องเศร้าระดับชาติเลยทีเดียว



“สติ” รักษา “เบาหวาน” (เนี่ยนะ ??!!?)


“การรักษาปัจจุบันให้ยาเป็นหลัก แล้วก็ให้คำแนะนำ อย่ากินหวาน มัน เค็มนะ แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล เราจึงต้องหาทางใหม่มาบำบัดให้คนไข้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตทางกายและจิตใจให้ได้ ซึ่งอันนี้แหละคือที่มาและบทบาทของ -สติ-” นพ.ยงยุทธอธิบาย


“ในระยะ 30 ปีมานี้ มีจิตวิทยากระแสใหม่คือ -จิตวิทยาสติ- ที่พบการพัฒนาจิตโดยการฝึกสมาธิ ฝึกสติ มีนักวิชาการตะวันตกมาเรียนรู้เยอะ และพบว่าเอามาใช้ประโยชน์ได้ จึงกลายเป็นโปรแกรมที่ใช้ภาษาง่ายๆทางจิตวิทยา ทำให้เรียนรู้ได้ไม่ยาก และไม่ยึดติดกับศาสนา”


คุณหมอยงยุทธให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระยะหลังมีงานวิจัย งานตีพิมพ์ และการศึกษาทั่วโลกพบว่า จิตวิทยาสติมีประสิทธิผลสูง และเป็นที่ยอมรับของระบบประกันสุขภาพของยุโรปและสหรัฐอเมริกา คนไข้เบาหวานหรือโรค NCDs อื่นๆของสหรัฐอเมริกาสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อเข้ารับการรักษาในโปรแกรมสติบำบัดได้ มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่ยืนยันว่าทำแล้วได้ผลดี


“ประเทศไทยได้ประโยชน์จากองค์ความรู้ชุดนี้ คือโดยตัวจิตวิทยาสติเองนั้นเข้าถึงได้ง่าย ฝึกง่าย เป็นขั้นเป็นตอน ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ทำด้วยความเข้าใจไม่ใช่ศรัทธา ดังนั้นแม้คนที่ไม่ศรัทธาในศาสนาก็เรียนรู้ได้ และยิ่งถ้ามีพื้นฐานการฝึกสติอยู่แล้ว มีประสบการณ์ในการฝึกจิต มีความเข้าใจเรื่องอานาปานสติ ก็ยิ่งเอามาประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น” นพ.ยงยุทธกล่าว


และแท้จริงแล้ว สำหรับคนที่คุ้นเคยกับพุทธศาสนา นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเน้นในการฝึกวิปัสสนา แนวทางนี้เป็นกระแสใหม่ในทางจิตวิทยาแต่ไม่ได้มีอะไรใหม่ในทางพุทธศาสนา หากแต่เป็นการใช้ศาสตร์ด้านจิตวิทยาของฟากตะวันตกมาเชื่อมโยงกับการฝึกสติ ฝึกวิปัสสนาที่ทางพุทธมีอยู่ และอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้คนจำนวนมากสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น





ก้าวแรกของการ “ฝึกสติสู้เบาหวาน” ในไทย


โครงการ “ศูนย์จัดการความรู้การดูแลพฤติกรรมและจิตสังคมในระบบสาธารณสุข” (https://thaibpsc.com) คือก้าวแรกของการนำจิตวิทยาสติมาใช้ดูแลผู้ป่วยโรค NCDs โดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้กรอบแนวคิด การบริการด้านสุขภาพกายควรมีการบูรณาการดูแลทางสุขภาพจิตด้วย และต้องบูรณาการให้ได้ตั้งแต่ต้น คือดูแลทั้งด้านสังคม จิตใจ จึงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเครียดให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่ยังไม่ป่วย


“ระยะที่ 1 ของโครงการเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2560 จากการหาโรงพยาบาลที่สนใจแนวคิดนี้ หรือเห็นด้วยกับหลักคิดตรงนี้ว่า บริการที่เรามีอยู่ยังไม่ดีพอที่จะช่วยให้คนไข้สามารถดูแลตัวเองได้ หรือให้ดีกว่านั้นก็คือการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยทางโครงการมีนวัตกรรมให้ คือนวัตกรรมเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นวัตกรรมเรื่องสติ ทางโรงพยาบาลก็นำนวัตกรรมเหล่านี้ไปจัดบริการให้คนไข้ NCDs และนำสิ่งที่ได้กลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อพัฒนาให้บริการนี้กลายเป็นระบบที่มั่นคง ตอนนั้นมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 30 แห่ง” นพ.ยงยุทธเล่าถึงก้าวแรกของโครงการเมื่อ 5 ปีก่อน


“ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาโรงพยาบาลที่บุกเบิกเรื่องนี้ให้เป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้ต่อไป โดยวิธีง่ายๆคือ 1 ต่อ 1 หมายถึง 1 โรงพยาบาลจากระยะแรกไปขยายให้โรงพยาบาลที่สนใจอีก 1 แห่ง จะมากกว่าก็ได้ แต่ก็เป็นรูปแบบ 1 ต่อ 1 โดยที่โครงการเราจะไม่ลงไปทำเองเหมือนรอบแรก เพราะโปรแกรมนี้จะต้องอยู่ได้ด้วยการเห็นความสำคัญและการมีความสามารถของพื้นที่ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง” นพ.ยงยุทธเล่าต่อพร้อมให้ตัวอย่างเพิ่มเติม “อย่างที่อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ขยายไป 3 โรงพยาบาล ก็ทำทีละโรงพยาบาล ทำแบบเดียวกับที่ไปเรียนรู้มา ตอนนี้มันง่าย ต่างจากรุ่นแรกที่เริ่มจากศูนย์ พอมาเห็นเขาจะอ๋อเลย ก็เอาไปปรับใช้ให้เหมาะสม”


“ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 3 เป็นระยะของความยั่งยืน ทางโครงการจะสนับสนุนทางวิชาการเป็นหลัก ฝึกอบรมวิทยากร ผู้บำบัด ทำความเข้าใจกับผู้บริหาร แต่การดำเนินงานให้เป็นหน้าที่ของเขตสุขภาพเองที่จะเลือกโรงพยาบาลมาทำ เราใช้โรงพยาบาลในระยะที่ 1 และ 2 เป็นต้นแบบในการฝึกอบรมและดูงาน คิดว่าน่าจะขยายได้อีก 40 โรงพยาบาล หลังจากนั้นจะเป็นการดำเนินงานเชิงนโยบายให้เป็นการบริการตามปกติได้ ไม่ต้องเป็นโครงการ หลังจบระยะที่ 3 เราหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น”


ในตอนนี้มีโรงพยาบาลต้นแบบของโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี, โรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา, โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส, โรงพยาบาลลานสกา จ.นครศรีธรรมราช, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเนินหอม จ.ปราจีนบุรี, โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี และโรงพยาบาลเครือข่ายอีก 47 แห่งทั่วประเทศ และนอกจากนี้ ทางโครงการยังมีแผนในการสื่อสารเพื่อสร้างความรับรู้ที่มีต่อบริการนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอยู่กับโรคได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น



How to? สนทนา 5 นาที (อย่างไรให้) ชีวิตเปลี่ยน


พื้นที่แห่งโอกาสที่สำคัญมากอีกจุดหนึ่งของการรักษาเบาหวานอยู่ระหว่างการพูดคุยระหว่างหมอกับคนไข้ ซึ่งอาจทำให้คนไข้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ภายใน 5 นาที


“หลักง่ายๆคือ 3 เป็น: ถามเป็น ชมเป็น แนะเป็น การสนทนานี้ใช้เวลา 5 นาที สั้นมาก แต่มีผลมาก เพราะทำให้คนไข้ได้ ‘เห็น’ ตัวเอง” นพ.ยงยุทธพูดถึงการสนทนาสร้างแรงจูงใจ หรือการแนะนำแบบสั้น BA (Brief Advice) ที่มีการศึกษาจากทั่วโลกรับรองผลว่า 1 ใน 3 ของคนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จากวิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีการสนทนาเพื่อค้นหาแรงจูงใจของผู้ป่วย เพราะคนเรามีแรงจูงใจหรือมีคุณค่าบางอย่างภายในที่เจ้าตัวยังมองไม่เห็น ถ้าเขามองเห็นว่าเขามีคุณค่าเหล่านั้นที่สำคัญมาก เขาจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นการนำจิตวิทยาการสร้างแรงจูงใจมาเป็นเครื่องมือหลัก”


“ที่ผ่านมาเราพยายามแนะนำ เช่น อย่ากินหวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นการแนะนำจากภายนอก ฉันแนะนำให้เธอทำตาม แต่ทฤษฎีการสร้างแรงจูงใจคิดตรงข้าม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นการตัดสินใจของเขา หน้าที่ของเราคือทำให้เขา ‘เห็น’ แรงจูงใจนั้น” คุณหมอยงยุทธเพิ่มเติมว่า ในรายที่มีปัญหาซับซ้อนจะมีกระบวนการค้นหาแรงจูงใจที่ลึกซึ้งขึ้นเรียกว่า 5 เป็น คือ ถามเป็น ชมเป็น แนะเป็น ค้นหา (ปัญหา) เป็น และแก้ปัญหาเป็น


คุณหมอยงยุทธให้วิธีการและตัวอย่างประโยคในการสนทนาไว้ว่า


“-ถามเป็น- คือ ถามเพื่อค้นหาแรงจูงใจ เช่น ‘ที่ป่วยอยู่ตอนนี้มีอะไรที่เป็นห่วงอยู่บ้าง’ คำตอบที่ได้มักวนเวียนอยู่ใน 3 เรื่อง ได้แก่ ครอบครัว ตัวเอง และงาน


เมื่อได้คำตอบก็เข้าสู่ -ชมเป็น- ซึ่งเป็นการขยายแรงจูงใจนั้นให้ชัดขึ้น เช่น ‘โอ้โฮ คุณเป็นคนกตัญญูมากเลยนะ พ่อแม่คงดีใจที่มีลูกที่ตั้งใจดีแบบนี้’ หรือ ‘คุณเป็นคนทุ่มเทให้งานมาก ที่ทำงานคงดีใจที่มีคนคิดอย่างคุณ’ ถึงตอนนี้คนไข้จะเห็นแรงจูงใจของตัวเอง


แล้วให้ต่อด้วย -แนะเป็น- โดยเปลี่ยนจากวิธีการพูดแบบเดิมๆที่เคยทำหรือเคยแนะนำ ว่าอย่ากินโน่นอย่ากินนั่น เป็น ‘คิดว่าการรักษาที่ผ่านมามีปัญหาอะไรอยู่’ คนไข้ส่วนใหญ่จะบอกเอง เช่น อดน้ำอัดลมไม่ได้ ชอบทานของทอด ชอบทานของหวาน แล้วจึงเข้าสู่การคุยกันว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจหรือเป็นห่วงอยู่”


สำหรับแนวทางการพูดคุยกับคนไข้ครั้งต่อๆไป เป็นการพูดเพื่อรักษาแรงจูงใจและพฤติกรรมที่ดีของคนไข้ด้วยการ -ชมเป็น- แทนที่จะพูดว่าคนไข้ลดน้ำหนักได้ “แค่” 1 กก. ให้พูดว่า “ตั้ง” 1 กก. เช่น ‘โอ้โฮ ลดน้ำหนักได้ 1 กก. แล้วนะ’ หรือ ‘ดีใจจังเลยที่ลดน้ำหนักได้ นี่เห็นไหม หายไปตั้ง 1 กก. แล้ว’ เพราะคำพูดเพียงเล็กน้อยเหล่านี้มีผลมากต่อพฤติกรรมของคนไข้





ฝึกสติแบบสั้น แก้ปัญหาเบาหวานได้ยาว


ในคนไทย 100 คน มีคนป่วยเป็นเบาหวาน 8 คน และใน 8 คนนี้มี 70% หรือ 5.6 คนที่ควบคุมโรคไม่ได้ “โปรแกรมฝึกสติแบบสั้น (Mindfulness Based Brief Intervention - MBBI)” ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เป็นโปรแกรม Limited Edition ใช้เฉพาะในประเทศไทย ที่ ‘คนทำงาน’ ลงความเห็นตรงกันว่าเหมาะกับบริบทบ้านเรามาก ได้ผลลัพธ์น่าพอใจ เป็นการนำจิตวิทยาสติมาใช้เป็นเครื่องมือ” คุณหมอยงยุทธเล่าถึงวิธีการสำคัญที่สร้างความหวังให้การรักษาโรคนี้


โปรแกรมฝึกสติแบบสั้นเป็นโปรแกรมต่อเนื่อง 4 ครั้ง โดยนัดคนไข้มาเข้าโปรแกรมสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 30 นาที ครั้งแรกเป็นการฝึกสมาธิให้จิตสงบ และฝึกรู้ลมหายใจโดยใช้เทคนิคทางสมอง โดยในทางจิตวิทยาสติพบว่า การฝึกสมาธิให้ผลที่สำคัญคือลดความเครียดและความกังวล


ครั้งที่สอง เป็นการฝึกให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน มีสติในการหยิบ จับ ยืน เดิน หรือกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ ผลดีที่เกิดขึ้นคือ เมื่อคนไข้มีสติรู้ตัว จะทำกิจกรรมต่างๆได้เพิ่มขึ้น เดินมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น ต่างจากเดิมที่เมื่อเครียดก็ไม่อยากทำอะไร


ครั้งที่สาม เป็นการฝึกสติในการกิน ทั้งก่อนกิน ระหว่างกิน และหยุดกิน คนไข้จะเข้าใจชัดเจนสว่างวาบว่า เดิมที่มีปัญหามากเป็นเพราะขาดสติในการกิน


และครั้งที่สี่ เป็นการฝึกสติควบคุมอารมณ์ ผ่านการยืนและฟัง รู้ลมหายใจให้มากขณะที่ต้องเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ไม่สบายกายหรือใจ หลังการฝึกทุกครั้งจะมีการบ้านให้คนไข้กลับไปทำที่บ้านจนกลายเป็นวิถีชีวิต


“คนไข้มากกว่า 50% สามารถกลับมาควบคุมโรคได้ เพราะเป็นการฝึกทักษะที่นำไปใช้ได้ในชีวิตจริงได้ ไม่ใช่แค่คำแนะนำ การปรับวิถีชีวิตทางกายคือเรื่องกินและการเคลื่อนไหว ก็มีสติในการกินและเคลื่อนไหว การปรับวิถีชีวิตทางจิตคือความเครียด ก็มีโปรแกรมครั้งที่ 1 การฝึกสมาธิ ช่วยให้สงบ ควบคุมความเครียดความกังวลได้ดีขึ้น และครั้งที่ 4 การใช้สติควบคุมอารมณ์” คุณหมอยงยุทธสรุปถึงสาเหตุที่ทำให้การฝึกสติแบบสั้นสามารถบรรเทาความรุนแรงของโรคเบาหวานที่เป็นเรื้อรังมานานด้วยโปรแกรมเพียง 1 เดือน


“โรงพยาบาลตื่นเต้นดีใจมาก เพราะตัวเลขต่างกันชัดเจนระหว่างก่อนและหลังทำโปรแกรมนี้ บางโรงพยาบาลที่เคยรั้งอันดับท้ายในการควบคุมโรค NCDs ก็มาอยู่ในอันดับต้น”


สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเครียดเรื้อรังและมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ควรเข้าโปรแกรม “สติบำบัด (Mindfulness Based Therapy and Counselling - MBTC)” ซึ่งเป็นโปรแกรมต่อเนื่อง 8 ครั้ง สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1.5-2 ชั่วโมง เป็นการฝึกที่ละเอียดและลึกซึ้งกว่า เพิ่มสิ่งที่สำคัญมากคือ การฝึกสติปล่อยวาง เรียนรู้การทำ Body Scan ปล่อยวางความคิดลบ ความรู้สึกลบ ติดป้ายความคิด พินิจความรู้สึก ซึ่งช่วยให้คนไข้เผชิญและปลดปล่อยอารมณ์ลบได้ดียิ่งขึ้น



เราไม่อาจคาดหวังผลลัพธ์ใหม่จากการทำแบบเดิม


“โรคเรื้อรังอย่างเบาหวานเป็นวิกฤตในชีวิต แต่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ได้สอบทานตัวเองทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต เมื่อเข้าใจชัดแล้วว่า วิถีชีวิตทางกายและจิตใจของเราเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โรคเป็นปัญหาและควบคุมได้ยาก ก็จะทำให้เราใช้สติจัดการกับวิถีชีวิตทั้งกายและจิตใจของเราได้ดีขึ้น” นพ.ยงยุทธฝากข้อความให้กำลังใจถึงผู้ป่วยเบาหวานและสถานพยาบาล


“นี่เป็นโอกาสของทั้งสองฟาก ทั้งผู้ป่วยและสถานบริการ การมีคุณภาพจิตที่ดีเป็นประโยชน์กับหน้าที่การงานของเรา ถ้าไม่มีเครื่องมือดูแลตัวเอง เราจะเกิดภาวะเบิร์นเอาต์ หมดพลัง เครียด เบื่อ จะให้ผู้ป่วยมีคุณภาพจิตที่ดีขึ้น เราต้องมีคุณภาพจิตที่ดีด้วย โรงพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการจะฝึกสมาธิ สติ ให้บุคลากรที่ทำงานเรื่องนี้ก่อน มันก็คือสุขภาวะทางปัญญา สุขภาพจิตคือไม่เครียด ไม่ป่วยทางจิต สุขภาวะทางปัญญาหรือ Spiritual Health เป็นอีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่ไม่เครียด แต่มีคุณภาพจิตที่ดีงาม เครื่องมือใหญ่สุดที่ทำได้ก็คือ สมาธิ สติ ธรรมชาติจิตของเราที่ดีงาม ความรัก ความเมตตา การให้อภัยต่างๆก็จะงอกงามขึ้นทั้งฟากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเมื่อมีสุขภาวะทางปัญญา”


คุณหมอยงยุทธเสริมให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า “ลองทำใจว่างๆไปเดินดูคลินิก NCDs จะเห็นเลยว่าบรรยากาศเป็นคนละแบบ โรงพยาบาลที่ไม่มีโปรแกรมสติ หมอใช้คำว่าเหมือนแดนมิคสัญญี คนไข้หน้าตาเครียด เศร้า หมดหวัง เจ้าหน้าที่ก็หน้านิ่วคิ้วขวด คือเครียดทั้งสองฝ่าย เพราะคนไข้เยอะมาก เทียบกับโรงพยาบาลที่ทำโปรแกรมนี้ เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส คนไข้ตาเป็นประกาย เหมือนคนละโลก”


“สถานพยาบาลต้องออกจากวังวนเดิมให้ได้ จากการ ‘จ่ายยา เพิ่มยา ให้คำแนะนำ’ อยู่แบบนี้ ถ้าเราทู่ซี้ทำแบบเดิมที่ไม่ได้ผล แล้วหวังว่าจะได้ผล เขาเรียกว่าเสียสติ” นพ.ยงยุทธกล่าวพร้อมฝากความหวัง


“ถ้าเราทำสำเร็จ ทุกโรงพยาบาลทำได้ ประเทศไทยจะไม่ใช่แค่มีหลักประกันสุขภาพที่ดี แต่มีคุณภาพด้วย จะเป็นความหวังของประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรน้อย เพราะโมเดลนี้ไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งใช้ระบบสหวิชาชีพ แต่เราใช้แนวคิดใหม่ สามารถจัดบริการที่มีคุณภาพด้วยสหศาสตร์ (Transdisciplinary) เพราะมีการดูแลแบบองค์รวมจริงๆ”


เมื่อถามถึงปัจจัยของความสำเร็จในการทำงานที่ผ่านมา คุณหมอยงยุทธตอบชัดเจนว่า “โรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากปรับเปลี่ยนสภาวะการบริการ และมีทีมงานที่เข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด”


“การสร้างเครือข่ายให้เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ก็สำคัญและมีพลังมาก มีเครือข่ายวิทยากร เครือข่ายพี่เลี้ยงที่ดูแลโรงพยาบาล นำโครงการไปทำ ประเมินผล แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน นวัตกรรมนี้ง่ายต่อการเรียนรู้และถ่ายทอด ขยายไปในชุมชน คนไข้สามารถเข้ารับบริการนี้ที่ รพ.สต. ใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลในตัวเมือง”


รวมทั้งกลไกทางการเงิน หรือ Financial Mechanism ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่คุณหมอยงยุทธมองว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน “โปรแกรมนี้เราตั้งเป้าหมายตั้งแต่ต้นว่า ต้องทำสิ่งที่มีคุณค่านี้ให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่า รัฐต้องเข้าใจและสนับสนุนเรื่องนี้ และโรงพยาบาลต้องอยู่ได้โดยมีเงินรายได้จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”






Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page