top of page

Global JOY Summit การประชุมสุดยอดโลก ว่าด้วยความสุข โดยความสุข และเพื่อความสุข

เขียนโดย: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร


“องค์ทะไลลามะ” และ “ความสุข”


เรื่องร้อนๆระดับโลกที่ถกเถียงกันหนาหูเกี่ยวกับองค์ทะไลลามะที่ 14 ว่าสิ่งที่ท่านทำจะเป็นการคุกคามทางเพศต่อเด็กชาย หรือเป็นการสื่อถึงความเชื่อมโยงที่อบอุ่นระหว่างจิตวิญญาณมนุษย์ เป็นคุณูปการที่ทำให้จิตวิวัฒน์ย้อนกลับไปใคร่ครวญกับงานดองที่ได้เข้าร่วม Global JOY Summit – การประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยความสุข ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์เมื่อ 5 เดือนก่อน ในช่วงวันที่ 13-16 พ.ย. 2565 โดยมีผู้ลงทะเบียนร่วมงานฟรีทั้งแบบสดและรับชมย้อนหลังมากกว่า 150,000 คน จากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และองค์ทะไลลามะเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งของงานและเป็นโอกาสให้ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ดีมากๆในช่วงสี่วันนั้นกับผู้อ่าน


Global JOY Summit เกิดจากความร่วมมือของ 5 องค์กรหลักคือ ภาพยนตร์ Mission: JOY, Mind & Life Institute, The Awake Network Foundation, Fetzer Institute และ Idea Architects ที่ช่วยกันออกแบบและลงมือเพื่อเปิดพื้นที่ต้อนรับและโอบอุ้มความอิ่มเอม ตื้นตัน เสียงหัวเราะ เสียงเพลง ความสงบ จินตนาการ ความสงสัยใคร่รู้ ความกระจ่าง ความรู้ ความโล่งเบา หรือแม้กระทั่งน้ำตาที่มาพร้อมรอยยิ้มจากความสุขและแรงบันดาลใจดีๆที่เกิดจากบทสนทนา การแลกเปลี่ยน และการร่วมมีประสบการณ์ด้วยกันแบบเรียลไทม์ของผู้คนทั่วโลกทางออนไลน์ เพื่อค้นพบร่วมกันว่า “JOY” ความสุขที่เป็นมากกว่าความสุข กว้างกว่าความสุข สูงกว่าความสุข ลึกกว่าความสุข และยิ่งใหญ่กว่าความสุข... สิ่งนี้คือความสุขใช่ไหม มันคือความสุขแบบไหนกันแน่



Mission: JOY หนังที่ส่งยิ้มให้และบอกเราว่า...ที่ใดมีทุกข์ ที่นั่นมีสุข...


ไฮไลต์ของงานอยู่ที่ภาพยนตร์สารคดี Mission: JOY เรื่องราวของสองผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นมหามิตรทางจิตวิญญาณ คือ องค์ทะไลลามะที่ 14 ประมุขพลัดถิ่นของทิเบต กับสาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู อาร์คบิชอปหรือพระอัครสังฆราชแห่งเมืองเคปทาวน์ นักเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวและสิทธิมนุษยชนของแอฟริกาใต้ สองผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพทั้งคู่ ได้ร่วมกันพูดคุยถึง “JOY” ความสุขที่ลึกซึ้ง เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของทั้งสอง


กิจกรรรมแรกของงานประชุมคือ Global Community Watch Party การชวนคนทั่วโลกดูหนังด้วยกัน ภาพยนตร์สารคดี Mission: JOY - Finding Happiness in Troubled Times (ภารกิจคือความสุข – การหาความสุขในเวลายากๆ) กำกับโดย หลุย ไซโฮโยส (Louie Psihoyos) และ เพกกี คาลลาฮาน (Peggy Callahan) โดยได้แรงบันดาลใจจาก The Book of Joy: Lasting Happiness in a Changing World หนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ เขียนโดยองค์ทะไลลามะที่ 14, อาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู และดักลาส เอบรัมส์ (ฉบับแปลไทย จงมีชีวิตที่เบิกบาน แปลโดยธีรา)


ทั้งสองท่านต่างผ่านประสบการณ์เลวร้ายสาหัสมาในชีวิตมานักต่อนัก แต่กลับแข็งแกร่งและเบิกบาน องค์ทะไลลามะต้องลี้ภัยออกจากทิเบต อาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู ต่อสู้การกดขี่ การแบ่งแยกสีผิว และกำลังเผชิญโรคร้ายรุมเร้า ทั้งคู่แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเบิกบาน การค้นหาความสุขในความทุกข์ยาก สุขได้แม้ยามภัยมา สว่างได้ท่ามกลางความมืดมิด ชีวิตที่มีความหมาย และสิ่งที่พ้นไปจากตัวตนของตนเอง


“เมื่ออายุยี่สิบสี่ ฉันสูญเสียประเทศของตัวเอง และกลายเป็นผู้ลี้ภัย” องค์ทะไลลามะเล่าถึงความมืดมิดที่ท่านเผชิญมา “หากยังอยู่ในลาซาก็ไม่ต่างอะไรกับนกในกรงทอง ฉันจึงชอบชีวิตผู้ลี้ภัยมากกว่า เพราะมีประโยชน์มากกว่า”


“ปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆเป็นโอกาสสำคัญที่มาทดสอบเรา เมื่อเผชิญปัญหา ให้มองจากอีกมุมหนึ่งว่า นี่แหละคือโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ”


“ชีวิตที่มีความสุขต้องมาจากข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช่บ้านหลังใหญ่หรือรถคันใหญ่ ความแข็งแกร่งภายในจิตใจจะทำให้เกิดความแตกต่างอย่างแท้จริง การเติมเต็มชีวิตให้มีความสุขคือการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ช้าก็เร็วทุกคนต้องตาย ขณะที่ยังมีชีวิตจึงควรใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และไม่สร้างปัญหาให้โลกนี้”


“การช่วยเหลือคนอื่น ทำให้เรารู้สึกพอใจมากขึ้นในการสร้างสังคมที่มีความสุข โดยเริ่มจากความสงบสุขภายในของแต่ละคน แล้วแบ่งปันกับสมาชิกในครอบครัว หลายครอบครัวก็กลายเป็นสังคม ขยับต่อไปเป็นมนุษยชาติ มนุษย์เจ็ดพันล้านคนต่างปรารถนาชีวิตที่มีความสุขเหมือนกันทั้งนั้น”


อาร์คบิชอปเห็นตรงกัน “ความเบิกบานคือรางวัลที่แท้จริงจากการทำให้ผู้อื่นมีความสุข เมื่อคุณเห็นแก่คนอื่นมากกว่าตัวเอง ความอบอุ่นจะเติบโตขึ้นในใจ เพราะได้เช็ดน้ำตาให้คนอื่น เมื่อคุณใจดีมีเมตตากับคนอื่น นั่นล่ะคุณจะมีความสุข ทำไมน่ะเหรอ เพราะเรารู้ว่าเราถูกสร้างมาเพื่อความดีไงล่ะ”


เสน่ห์ที่น่าทึ่งและบรรยากาศที่น่ารักอย่างยิ่งของหนังสารคดียาว 90 นาทีเรื่องนี้ คือมิตรภาพ ความร่าเริง และเสียงหัวเราะสดใส ทั้งระเบิดหัวเราะพร้อมกัน และหัวเราะคิกคักเหมือนเด็กๆยิงมุกแซวกัน หยอกล้อกันด้วยความรัก ซึ่งเจ้าตัวก็นิยามตัวเองว่าเป็น “สองพี่น้องจอมซน”


เมื่อต้องตอบคำถามเกี่ยวกับความตาย (ขณะสัมภาษณ์ อาร์คบิชอปเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก) อาร์คบิชอปตอบว่า “เขา (ทะไลลามะ) ไม่คิดมากหรอก เพราะเดี๋ยวก็ได้กลับชาติมาเกิด” แน่นอนว่าเรียกเสียงหัวเราะรอบวงสัมภาษณ์


มีหรือจะยอม ทะไลลามะกล่าวต่อทันที “ก็จริง แต่เรายังไม่รู้จะไปเกิดที่ไหน ส่วนของท่านค่อนข้างมั่นใจว่าได้ไปสวรรค์แน่ๆ” โบนัสจึงตกเป็นของผู้ชม ที่ได้รับแก่นสารอันลึกซึ้ง พร้อมความสุขกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะสดใส จากมิตรภาพทางจิตวิญญาณอันแนบแน่น ก้าวข้ามทุกเขตแดนแห่งศาสนา ฐานะ สิ่งสมมติทั้งหลาย


องค์ทะไลลามะกล่าวถึงอาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู ว่า “เป็นเพื่อนที่ยิ่งใหญ่ทางจิตวิญญาณ” ส่วนอาร์คบิชอปเปิดใจว่า “การเป็นเพื่อนกับทะไลลามะเป็นการสื่อสารของหัวใจ”


นี่เป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่ง และเป็นห้าวันแห่งการพบกันครั้งสุดท้ายของทั้งคู่ในปี 2558 ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่พำนักถาวรขององค์ทะไลลามะ ในตอนนั้นอาร์คบิชอปอายุ 84 ปี (ท่านจากไปอย่างสงบในวัย 90 ปี เมื่อเดือนธันวาคม 2564)



เมื่อยาพิษกลายเป็นยารักษา

การประชุม Global JOY Summit วันที่สอง ว่าด้วยเรื่อง The Inseparability of Joy and Sorrow – สุขทุกข์เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจแยกจาก เป็นถ้อยคำจากคำสอนขององค์ทะไลลามะและอาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู ที่ว่า ความเบิกบานไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับความทุกข์ แต่เป็นสภาวะที่รวมเอาความเจ็บปวดและความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ไว้ในนั้นด้วย

ดังที่องค์ทะไลลามะสอนว่า “เราแปรเปลี่ยนความยากลำบากให้เป็นโอกาสอันทรงพลังในชีวิตของเรา และมอบให้กับโลกที่เราอยู่ได้” และอาร์คบิชอปกล่าวว่า “ความทุกข์ทำให้เราซาบซึ้งในความสุข”


การแลกเปลี่ยนในวันนี้มีเรื่องราวของความสุขและเศร้าจากหลากหลายมิติและมุมมอง ทั้งศาสนา วิทยาศาสตร์ ดนตรี และศิลปะ ยงเย มิงยูร์ รินโปเช (Yongey Mingyur Rinpoche) พระอาจารย์ทิเบตกล่าวว่า “เมื่อเศร้าและสุขรวมกันเป็นหนึ่ง คือยาพิษกลายเป็นยารักษา อุปสรรคกลายเป็นโอกาส” พร้อมยกตัวอย่างที่ฉายให้เห็นภาพชัดระดับ 16K “เมื่อน้ำเข้าหู เราทำอย่างไร เทน้ำเพิ่มเข้าไป นี่แหละคือการเปลี่ยนยาพิษให้กลายเป็นยารักษา”


พระอาจารย์สอนต่ออีกว่า “เมื่อเราพิจารณาถึงแก่นแท้ของความเศร้า เราจะพบความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และปัญญาอยู่ในนั้น ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยอดเยี่ยม ลึกซึ้ง และเป็นอิสระ หวังว่าพวกเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกใบนี้ได้”


บาทหลวงไมเคิล เคอร์รี (Michael Curry) อธิการและเจ้าคณะแห่งคริสต์ศาสนานิกายอิปิสโคปัล ผู้ผ่านความทุกข์ยากและรอดชีวิตจากมะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ต้องทำกายภาพบำบัด หัดเดินและหัดเซ็นชื่อตัวเองใหม่อีกครั้ง ท่านบอกว่า “ความสุขแบบ Happiness จะขึ้นๆลงๆ มีช่วงเวลาที่แฮปปี้บ้าง ไม่แฮปปี้บ้าง แต่ Joy ลึกซึ้งกว่านั้น ไม่ขึ้นกับสถานการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเราแม้กระทั่งยามยากลำบาก เราต้องไม่ยอมแพ้ต่ออะไรลบๆนั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้”


ท่านบาทหลวงเชื่อในความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของมนุษย์ ท่านเล่าว่า หลังจากที่พระเจ้าสร้างสรรพสิ่งแล้ว คำพูดเชิงลบครั้งแรกที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลคือสิ่งพระเจ้าตรัสว่า “มันไม่ดีเลยนะที่มนุษย์จะอยู่คนเดียว” ดังนั้นมนุษย์จึงถูกสร้างมาเพื่อกันและกัน เราจึงต้องสร้างชุมชน เมื่อคนหนึ่งอ่อนแอ คนที่แข็งแกร่งกว่าก็จะช่วยฉุดดึงกันขึ้นไป


ไฮไลต์ของงานวันนี้คือ Live Interactive Workshop เวิร์กชอปออนไลน์ 1 ชั่วโมงทางซูม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทั่วโลกแต่งเพลง “Joy Song” ร่วมกับลุค เรย์โนด์ (Luc Reynaud) นักดนตรีผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านงานดนตรีและศิลปะบำบัด


ลุคให้ผู้ร่วมเวิร์กชอปร่วมเขียนเนื้อเพลง โดยส่งความหมาย ความรู้สึก หรือโมเมนต์อันเบิกบานของแต่ละคนเข้ามา คอมเมนต์นับพันไหลหลั่งเพื่อร่วมแต่งเพลง “Joy Song” และร้องเพลงร่วมกัน ทุกคนสนุกได้โดยไม่ต้องมีทักษะหรือพรสวรรค์ด้านดนตรี สิ่งสำคัญคือการเปิดหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์เข้าหากัน และกลายเป็นไฮไลต์ที่ปิดท้ายวันอย่างสวยงาม



ความสุขแท้จากภายในแม้อยู่กลางไฟสงคราม


“Joy is an Inside Out Job” เป็นหัวข้อการพูดคุยวันที่สามของ Global JOY Summit


ไซแนบ ซาลบี (Zainab Salbi) นักเคลื่อนไหวที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงให้มีชีวิตใหม่หลังสงคราม เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้หญิงในพื้นที่สงครามว่า ความเบิกบาน การเต้นรำ และความงาม เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม และเราสามารถใช้ทั้งสามสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านสงครามได้


ไซแนบถามผู้หญิงในพื้นที่สู้รบว่า ต้องการสิ่งของอะไรบ้าง เธอคิดในใจว่าน่าจะได้ยินคำตอบถึงของจำเป็นที่ขาดแคลน แต่คำตอบที่ได้รับทำเอาอึ้ง สิ่งนั้นคือ “ลิปสติก” แม่เจ้า!!! หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้จะเอาลิปสติกไปทำอะไร

คำตอบที่ได้ยิ่งชวนอึ้งซ้ำสอง “พวกสไนเปอร์จะได้รู้ว่ากำลังฆ่าคนสวย ฆ่าความงามของโลกใบนี้” โอ นี่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงครามด้วยความงามที่สุดคมคาย


อีกกรณีหนึ่ง มีผู้หญิงที่ถูกตัดขาจากสงคราม พอได้ขาเทียมเท่านั้น นางเต้นรำชนิดแดนซ์กระจาย “ฉันจะไม่ยอมให้สงครามทำลายจิตวิญญาณของฉันเด็ดขาด” ทำให้ไซแนบทะลุเลยว่า เราต้องมีพื้นที่ให้ความเบิกบาน และความเบิกบานเป็นสุขแท้ภายในที่ใครก็พรากไปจากเราไม่ได้


อีกตัวอย่างทรงพลังของการสร้างโลกที่มีความกรุณาและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น คือการเดินทางไปยังโปแลนด์และยูเครนของลุค เรย์โนด์, เบนจามิน ซวาเตซ (Benjamin Swatez) และทีมงาน The Goodness Tour องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ใช้ดนตรีและศิลปะเพื่อเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยทั่วโลก ลุคไปเยี่ยมเด็กๆยูเครนที่อพยพไปโปแลนด์ เพื่อนำศิลปะไปสร้างความปกติ ความสุข ความสนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมวาด ร้อง เต้น เล่นดนตรี และผ่านความเจ็บปวดไปด้วยกัน


ลุคได้พบกับอาร์ซนี (Arseny) เด็กชายที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรี เขามีความสุขกับทุกกิจกรรม เขาเล่นกีต้าร์ เขียนเพลงเอง และตั้งชื่อเพลงว่า “Happy Day: วันที่มีความสุข” ลุคให้เด็กชายอัดเพลงโดยร้องและเล่นกีต้าร์เอง เมื่ออัดเพลงเสร็จ ความรู้สึกเศร้าโศกจากสงครามก็จู่โจมอาร์ซนี จากที่มีรอยยิ้มเต็มใบหน้า เด็กชายยืนร้องไห้ให้กับความรู้สึกของตัวเอง... เราได้แต่หวังว่า ดนตรีในจิตใจของอาร์ซนีจะขับขาน และทำให้ทุกวันเป็นวันที่มีความสุขของเขา



เห็นแก่ตัวเองให้น้อย เห็นแก่คนอื่นให้มาก


วันนี้องค์ทะไลลามะย้ำอีกครั้งว่า “ช่วงเวลาที่เจอปัญหา เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการฝึกฝนตนเอง ฝึกความกรุณาหรือความเห็นอกเห็นใจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับศัตรู ตอนหนึ่งของพระคัมภีร์บอกว่า -ศัตรูคือครูที่ดีที่สุด- เมื่อเกิดความโกรธ ความเกลียดชัง นั่นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะลดความโกรธเกลียดเหล่านั้นลง ฉันปฏิบัติอย่างนี้ ทำให้มีความสงบสุขภายใน และความแข็งแกร่งภายใน”


ท่านชี้ให้เห็นต้นเหตุของปัญหาว่า “ปัญหาในโลกเกิดจากการมุ่งประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก (Self-focus) แท้จริงแล้วความสุขทั้งหมดในโลกมาจากจิตใจที่มุ่งสู่ผู้อื่น”


มีคนถามว่า เราจะมีความสุขได้อย่างไรท่ามกลางวิกฤตสุขภาพจิตทั่วโลกขณะนี้ องค์ทะไลลามะตอบว่า “อยู่ที่การฝึกจิตของตนเองล้วนๆ ถ้าหมั่นฝึกฝน ยิ่งเจอปัญหามาก จะยิ่งแกร่งมาก ความกรุณา ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะมอบความสงบภายในให้เรา และยังช่วยให้มีความแข็งแกร่งภายในด้วย นั่นคือประสบการณ์ของฉัน” เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า “JOY” นั้นงอกงามอยู่ภายใน และไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งเร้าภายนอก หน้าที่เราคือฝึกจิตให้สงบและแข็งแกร่ง


องค์ทะไลลามะกล่าวปิดท้ายว่า “เราต่างมีหน้าที่เดียวกัน คือ สร้างโลกที่มีสุขภาวะทั้งกายและใจ โลกที่มีความกรุณามากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ฉันพูดเสมอว่า มนุษย์เจ็ดพันล้านคนนั้น แท้จริงแล้วเราล้วนคือพี่น้องกัน เราต้องอยู่ร่วมกัน” ... เป็นถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังยิ่ง



วิถีอูบุนตูและการเชื่อมต่อระหว่างกัน


วันสุดท้ายของงานประชุม Global JOY Summit พูดคุยกันเรื่อง Interconnection & Ubuntu – วิถีอูบุนตูและการเชื่อมต่อระหว่างกัน


วิถีอูบุนตูคืออะไร ดร.แมมพีลา แรมพีลี (Dr.Mamphela Ramphele) คุณหมอนักเคลื่อนไหวและผู้นำแนวคิดทางการเมืองให้คำตอบว่า “อูบุนตู คือแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยกัน -I am because You are- ฉันเป็นสิ่งนี้เพราะคุณเป็น เราทำดีที่สุด ยืนยันในศักดิ์ศรีของเรา นั่นทำให้เรามีความสุข”


อาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู ก็ได้กล่าวไว้ใน Mission: JOYว่า แนวคิด “อูบุนตู” ในแอฟริกาใต้เชื่อว่า คนจะเป็นคนได้ก็เพราะบุคคลอื่น เช่น ฉันจะพูดไม่ได้ถ้าไม่ได้เรียนรู้การพูดจากคนอื่น นี่คือแนวคิดที่เชื่อว่า เราเป็นของกันและกันในเครือข่ายสายใยอันละเอียดอ่อน


สาธุคุณ เอมโป ตูตู วาน เฟิร์ธ (Mpho Tutu van Furth) นักบวชผู้เป็นบุตรสาวของอาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู บอกว่า “ความสุขของเรามาจากการดูแลความสุขของคนอื่น ในแนวทางอูบุนตูคือ ฉันจะใช้ชีวิตที่ดีที่สุดในแบบของฉันได้ ก็ต่อเมื่อฉันทำให้คุณใช้ชีวิตที่ดีที่สุดในแบบของคุณ ฉันจะทุ่มเทให้กับความเป็นอยู่ที่ดีของคุณมากเท่ากันกับของตัวฉันเอง เพื่อให้โลกของเราเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง”


ส่วนจามิล ซากี (Jamil Zaki) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา พูดถึงการเชื่อมต่อระหว่างกันของมนุษย์ว่า “เรามีระบบควบคุมตนเองที่ช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์ทางสังคม การถูกดึงออกจากสังคม และต้องอยู่คนเดียวในสถานการณ์แปลกๆจะสร้างสัญญาณเตือนภัยมากมายขึ้นในสมอง จึงเกิดวิธีการลงโทษที่ให้คนอยู่คนเดียว การขังเดี่ยวจึงทำให้เครียดหนักมากจนคนยอมตาย”


จิม โคน (Jim Coan) นักจิตวิทยาคลินิกและนักประสาทวิทยาด้านอารมณ์ความรู้สึกกล่าวสนับสนุนว่า “การอยู่ลำพังจะเป็นเรื่องที่มีความสุข ถ้าไม่ได้ถูกบังคับ แต่ถ้าเป็นการบังคับหรือลงโทษเมื่อไหร่ จะส่งผลร้ายแรงมากเหมือนโดนโทษประหารเลย ในการเชื่อมต่อสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ ความเมตตากรุณาเป็นเหมือนช็อกโกแลตทางจิตวิญญาณ หากอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรีบเลือกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง ผู้คนมักแสดงออกถึงความใจดีมีน้ำใจ ซึ่งแสดงว่านั่นเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่ดีงามของมนุษย์”



JOY ในมุมมองวิทยาศาสตร์


ตลอดสี่วันของ Global JOY Summit มีนักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆมาร่วมพูดคุยกันถึงความสุข อีมิเลียนา ไซมอน-โทมัส (Emiliana Simon-Thomas) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์แห่งความสุขจาก Greater Good Science Center เปิดเผยว่า “เราสามารถกระตุ้นความสุขได้ด้วยเหตุการณ์เชิงบวก เช่น การคิดถึงความดี และการคิดนั้นจะเชื่อมต่อไปยังคนอื่นได้ การให้ความสำคัญกับความสุขของตัวเองน้อยลง และช่วยเหลือคนอื่น อาจไม่ต้องยิ่งใหญ่แต่ก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ วิทยาศาสตร์แห่งความสุขแบบใหม่กระตุ้นให้ผู้คนมองในมุมกว้างว่า มีสิ่งดีๆรอบตัวเรามากมายที่เราได้ทำเพื่อกระตุ้นความสุข”


สอดคล้องกับดาเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ Greater Good Science Center ซึ่งบอกว่า “จิต” เป็นสิ่งที่เราฝึกและปลูกฝังได้ เช่น การทำสมาธิ การทักทายผู้คน เขาบอกว่า แม้ความเศร้าก็มีประโยชน์ “ต้องแยกความเศร้าออกจากอาการซึมเศร้า ซึมเศร้าเป็นการไร้ความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆไม่มีความหลงใหลอะไรเหลืออยู่ แต่ความเศร้าคือความรู้สึกที่เกิดจากการสูญเสียสิ่งมีค่า ความเศร้าจึงเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนที่ดี และเป็นเครื่องเตือนใจว่าสิ่งนั้นมีความหมายกับเรา หรือทำให้เราช้าลงเพื่อไตร่ตรอง โดยความเศร้าจะมากน้อยก็เป็นไปตามสัดส่วนความสูญเสียที่เกิดขึ้น”


อีมิเลียนาเห็นด้วย และยืนยันว่า “ความเศร้าทำให้เรารู้สึกถึงความไม่แน่นอน ไม่คงอยู่ถาวร ความสุขและความเศร้าเป็นระบบที่ส่งผลซึ่งกันและกัน มีอิทธิพลร่วมกัน ถ้าไม่มีความเศร้า ก็เหมือนสิ่งสำคัญถูกพรากไปจากชีวิต”


งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของทั้งคู่ ทำให้เราได้แนวทางปฏิบัติที่นำไปใช้จัดการอารมณ์ไม่พึงประสงค์และฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนแห่งความเครียด) เช่น ความกลัว โกรธ วิตกกังวล ฯลฯ โดยขั้นตอนแรก คือ “หายใจ” เป็นการควบคุมเส้นประสาทเวกัส ส่งผลให้เราสงบลง ขั้นที่ 2 คือ “ตั้งชื่อ” เป็นการระบุว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร ขั้นที่ 3 คือ “รับรู้” ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (แต่ละอารมณ์จะคงอยู่ประมาณ 20 วินาที – 1 นาที) ขั้นที่ 4 คือ “เล่าออกมา” เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการพูดคุยบอกเล่าให้คนอื่นรับรู้ และยอมให้ใครสักคนมาอยู่ข้างๆในพื้นที่ของอารมณ์ลบ วิธีนี้เป็นหนึ่งในภารกิจที่วิทยาศาสตร์ส่งมอบทางออกในการทำความเข้าใจชีวิตและอารมณ์ของมนุษย์


ด้านคริสติน เนฟฟ์ (Kristin Neff) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเท็กซัส บอกว่า ถ้าเราอยากแข็งแกร่งและปรับตัวได้ไว ให้ฝึกการเห็นอกเห็นใจตัวเอง (Self-Compassion) โดยมีงานวิจัยเกือบ 5,000 ชิ้นยืนยันว่า การเห็นอกเห็นใจตัวเองนั้น นอกจากจะช่วยลดความทุกข์ เศร้า วิตกกังวลแล้ว การปฏิบัติกับตัวเองเหมือนที่เราทำกับคนที่เรารัก ยังช่วยเพิ่มความสุขได้ด้วย


เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้สัมผัสความสุขทั้งทางอารมณ์ จิตใจ และระบบประสาท เคลลี แมกกอนิกัล (Kelly McGonigal) นักจิตวิทยาด้านสุขภาพที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์กาย-ใจ และหลงใหลการสอนเต้น จึงนำ “Joy Move” ท่าเต้นที่สร้างความสุขมาแบ่งปันให้ทุกคนได้ขยับตัวตามจังหวะ เช่น “ท่าแกว่ง” โดยแกว่งหัว ไหล่ แขน สะโพก เหมือนทำท่าโบกมือในคอนเสิร์ต “ท่าโยนลูกบอล” เหมือนโยนลูกบอลออกจากตัวไปไกลๆ แล้วแขนแยกออกจากกัน “ท่ารักษาจังหวะ” ปรบมือ ดีดนิ้ว ตบขา ให้รู้สึกถึงจังหวะ และเคลื่อนไหวตามจังหวะนั้น ท่านี้ยังช่วยให้เอ็นโดร์ฟิน (สารแห่งความสุข) หลั่งอีกด้วย เคลลีบอกอีกว่า ให้เขียนท่าต่างๆลงในการ์ด แล้วสุ่มหยิบขึ้นมา เจอท่าไหนก็เต้นท่านั้น จะทำให้รู้สึกดีและมีพลังขึ้นมาก


อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจในงาน คือ โครงการ Big JOY Project เป็นการ “ฝึกความสุข” โดยเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความสัมพันธ์ทางสังคม มีการทดลองให้คนทำเรื่องดีๆเพื่อความสุขของคนอื่นในแต่ละวัน เบื้องต้นพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีความสุขมากขึ้น 23% สอดคล้องกับสิ่งที่องค์ทะไลลามะกล่าวไว้ว่า การช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้เรามีความสุข



Song of Joy: บทเพลงของเรา บทเพลงแห่งความสุข


ส่งท้ายงานประชุม Global JOY Summit ด้วยบทเพลง “Joy Song” ที่ลุค เรย์โนด์ เรียบเรียงจากเนื้อเพลงที่ทุกคนร่วมกันแต่งในเวิร์กชอป Live Interactive ของเขา ลุคร้องเพลงให้ทุกคนฟัง กับท่อนฮุกที่ร้องตามได้ทันที


...Joy, Joy, Joy

We’re talking about Joy.

Joy, Joy, Joy

We’re living that Joy.

Joy, Joy, Joy

Keep living that Joy…


JOY Song บทเพลงแห่งความสุขที่เกิดจากใจที่เชื่อมโยงถึงกัน และการเชื่อมสัมพันธ์กันของคนในชุมชนความสุขโลกที่เล็กแต่ยิ่งใหญ่นี้ หกนาทีของเสียงกีต้าร์อันสดใส เนื้อเพลงที่มีความหมาย เสียงดนตรีแห่งความสุขและเบาสบายหัวใจ เป็นพิธีปิดงานอันแสนงดงาม




Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page