top of page

“เป็น” และ “แตกสลาย” สู่ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นแม่มด

อันธิฌา แสงชัย หรืออาจารย์อัน เธอเกิดมาพร้อมเพศกำเนิดหญิง ด้วยอายุ 46 ปี เธอนิยามตัวเองว่าเป็นหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งเป็นลูกหลานคนชาติพันธุ์ไทยลื้อ เป็นคนเชียงใหม่ เป็นเด็กเนิร์ด เป็นนักเรียนทุน เป็นนักศึกษาศิลปะ เป็นศิลปิน เธอจบปริญญาเอกจากภาควิชาปรัชญา จึงเป็นนักวิชาการและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย


เธอเป็นแม่ของลูก เป็นสมาชิกในชุมชน LBGT (Bisexual) เป็นนักสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ฯลฯ เดินทางผ่านร้อนผ่านหนาวกับการ “เป็น” สิ่งต่างๆ ทุกวันนี้เธอพบว่าชีวิตทางจิตวิญญาณนั้นสลักสำคัญและเป็นเนื้อเป็นตัวของเธอ จึงนิยามตัวเองว่าเป็น “แม่มด” และเป็น “นักพลังงานบำบัด”


เราคุยกับอาจารย์อันในชีวิตปัจจุบัน เพื่อเรียนรู้ว่าในพื้นที่สุขภาวะทางจิตวิญญาณมีใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรบ้าง รวมถึงการเดินทางภายในของแต่ละคนที่พาพวกเขามาทำงานเหล่านี้ สิ่งนี้เป็นเรื่องละเมอเพ้อพก หรือคือภารกิจร่วมและการกลับสู่เจตจำนงเดิมแท้


เรื่อง: พรรัตน์ วชิราชัย





แตกสลายจากความหญิง ความเป็นแม่ เป็นเมีย สู่การเป็นตนเอง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ


แม่ของอันเป็นคนไทยลื้อที่อพยพเข้ามาอยู่เชียงใหม่ พ่อเป็นทหารก๊กมินตั๋ง โชคดีพวกเขาได้สัญชาติไทยในช่วงขณะที่รัฐไทยต้องการประชากรเพิ่มเติมพอดี ความไม่ใช่คนไทยโดยกำเนิด ทำให้เธอไม่มีญาติมิตรพี่น้องที่นี่ วันหนึ่งแม่ซึ่งอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แยกทางกับพ่อ จึงทำให้แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่โดดเดี่ยวมาก โชคดีที่เธอเป็นเด็กชอบเรียน จึงได้รับทุนการศึกษาเรื่อยมา จนสามารถเรียนถึงระดับปริญญาเอกได้


“ชีวิตแม่เราชายขอบมาก เผชิญกับเรื่องเพศเยอะมากตั้งแต่เด็กๆ แต่เริ่มมาเข้าใจมันตอนเป็นผู้ใหญ่ ทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ ทั้งอำนาจนิยม เราก็ ว้าว ความเป็นชายขอบของเรามันอยู่ตรงนี้ ในรากของชีวิตเรา มันทำให้สนใจเรื่องสังคม โชคดีที่พี่ชอบเรียน จึงเคลื่อนจากชนชั้นหนึ่งไปอีกชนชั้นหนึ่งผ่านการศึกษาได้ พอเรียนจบก็เป็นอาจารย์ เลยใช้แหล่งอำนาจที่มีทั้งหมดทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลง เราพูดอะไรได้ก็พูดให้สุดๆไปเลย เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีโอกาสเหมือนเรา”


เธอเล่าต่อไปว่ามีช่วงหนึ่งของชีวิต เธอเผชิญสภาวะหลังชนฝา กล่าวคือ ณ ขณะนั้นเธอมีพร้อมทั้งหน้าที่การงานและครอบครัว มีสามีและลูกเล็กๆ แต่ก็มาค้นพบและเข้าใจเพศวิถีของตัวเองว่าไม่ใช่ผู้หญิงแบบที่สังคมกำหนด แต่เธอเป็นไบเซ็กซวล จึงรักได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความรู้สึกต่อคู่ชีวิตก็เปลี่ยนไปจนอยู่ร่วมกันไม่ได้ จึงแยกทาง ณ ขณะนั้นลูกของเธออายุเพียงสองขวบครึ่ง จึงเหมือนทุกอย่างได้พังทลายลงต่อหน้าต่อตา


“ช่วงนั้นโซซัดโซเซ บาดเจ็บ รู้สึกว่าชีวิตมันยากจัง หลังจากนั้นพี่ก็ผันตัวเองไปเป็นนักกิจกรรม เพราะเรารู้สึกว่ามันหลังชนฝา”


แตกสลายกับการเป็นนักวิชาการและนักกิจรรมด้านสิทธิมนุษยชน


หลังจากนั้น ชีวิตเธอโยกย้ายไปเป็นอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นอกจากนี้เธอยังทำงานเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย

 

“ตอนแรกที่เป็นอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็คิดว่าดีจัง มีคนจ้างเราทำงานศึกษาค้นคว้า จ้างให้เราอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ชอบมาก แต่พอมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กลายเป็นต้องดูว่า เรามีนักศึกษามากน้อยแค่ไหน สร้างผลงานได้ไหม ตอบโจทย์ตัวชี้วัดไหม เรารู้สึกว่าเราอยู่ภายใต้โครงสร้างที่กดขี่มาก ประกอบกับพี่เป็นนักกิจกรรมด้วย มันเลยยากมาก สร้างบาดแผลให้พี่เยอะมาก เพราะเราตัวแค่นี้ แต่สังคมมันใหญ่ มันไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ

 

“แล้วตัวพี่ยังอยู่สามจังหวัดอีก ปัญหาของพื้นที่ก็มีความซับซ้อนกดทับ ในขณะที่เราพูดเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนมลายูมุสลิม ที่มีอัตลักษณ์ ภาษา วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนคนส่วนกลาง ในอีกแง่หนึ่งเราก็ต้องสู้กับชุมชนที่มีแง่มุมเรื่องเพศวิถีที่อนุรักษ์นิยมมากๆ การต้องสู้ในทุกมิติ ทำให้ชีวิตพี่หนักเกินไป และสุดท้ายก็ขาดผึง

 

“ชีวิตความสัมพันธ์ส่วนตัวของพี่ก็พัง เพราะกับคนรักเก่า เราเป็นนักกิจกรรมทั้งคู่ กลายเป็นคนพังๆ อยู่ด้วยกัน ก็พากันพังไปหมด”

 

จุดแตกหักและหลังชนฝาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเธอถูกโจมตีโดยชุมชนในพื้นที่ และเกิดเหตุที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยหลายครั้ง จนทำให้มีอาการแพนิก (Panic Attacks) กล่าวคือหายใจไม่อิ่ม หายใจตื้น ใจสั่น ตัวสั่น มือสั่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เตือนให้เธอถอยออกมาจากพื้นที่ และกลับมาดูแลตนเอง ไม่เช่นนั้นจะต้องพึ่งยาและพบจิตแพทย์ เธอจึงหยุดพักงานหลายอย่าง และกลับมาเรียนรู้เรื่องพื้นฐานคือการหายใจ และนับหนึ่งใหม่เพื่อบำบัดรักษาตนเอง





ก้าวจากการบำบัดรักษาสู่ประตูแห่งพลังงาน

 

การดูแลตัวเองครั้งนี้เ ธอเริ่มจากการระบายสีบำบัดสายมนุษยปรัชญา ซึ่งเป็นการบำบัดที่เน้นการทำงานด้านใน เน้นมิติจิตวิญญาณ ศาสตร์นี้มองว่า สีมิใช่เพียงวัสดุสำหรับวาดรูป แต่เป็นยา เป็นสิ่งที่มีชีวิต (Spiritual Being) ที่มีเจตจำนงเพื่อการบำบัดรักษา

 

ขณะที่ระบายสีเพื่อดูแลตัวเอง การเดินทางของโลกภายในก็ค่อยๆดำเนินไป จนจุดหนึ่งของการเรียนรู้ เธอได้รู้จักอีกโลกที่ไม่เคยรู้จัก เข้าใจบางเรื่องโดยไม่ผ่านตัวหนังสือ ไม่ผ่านคำอธิบาย แต่ผ่านการเคลื่อนไปของพลังงานภายใน และเกิดความหยั่งรู้บางอย่าง

 

ขณะเดียวกับที่เรียนระบายสีบำบัด เธอก็ศึกษาเรื่องคริสตัลบำบัด พลังงานบำบัด และพิธีกรรมด้วยตนเอง และเข้าร่วมกิจกรรมรวมถึงการอบรมในหัวข้อเหล่านี้ มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนที่เป็นร่างทรง เป็นแม่มด จนวันหนึ่งที่สภาวะข้างในพร้อม ก็พบว่าตนเองเคยเรียนรู้เรื่องนี้มาเนิ่นนานแล้ว ไม่ใช่เพียงชีวิตนี้ แต่เป็นชีวิตที่แล้วๆมาด้วย ทำให้เมื่อได้อ่านบางเรื่องราว ฟังบางคำสำคัญ จึงเกิดภาพบางอย่างที่ชัดเจนในหัว เข้าใจ และไปต่อกับความรู้ชุดไสยเวทได้ไม่ยาก การกลับมาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ จึงเป็นการปลุกทักษะและศักยภาพภายในที่หลับไหลให้ตื่นขึ้นมา

 

“พื้นหลังพี่สนใจเรื่องจิตวิญญาณ คัมภีร์ ศาสนา เทวตำนาน หลักคำสอน ฯลฯ อยู่แล้วด้วย ตอนเด็กๆเคยอยากเป็นพระ พอเป็นวัยรุ่นก็ซื้อหนังสือพุทธธรรมเล่มหนาๆมาอ่านจนจบเลย เป็นคนชอบตั้งคำถามอภิปรัชญามากๆ เช่น โลกดำรงอยู่อย่างไร เกิดมาทำไม ชีวิตดำรงอยู่เพื่ออะไร พระเจ้ามีจริงไหม สร้างโลกมาอย่างไร เราจะเชื่อคัมภีร์ทางศาสนาได้อย่างไร

 

“ด้วยความที่พี่เรียนเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบมาก่อน พอถึงจุดที่ได้เรียนศาสตร์ด้านพลังงานบำบัด พี่ก็ได้เรียนรู้วิธีการสัมผัสพลังงาน การดูแลตัวเอง วิธีการเชื่อมต่อกับพลังงานจักรวาลเพื่อให้เขาบำบัดเรา หรือเข้าร่วมการอบรม Reconnect with nature ก็ได้ทดลองเชื่อมต่อกับโลกทางจิตวิญญาณ พอได้เรียนรู้ ก็เข้าใจว่าจะเข้าและออกมาอย่างไร หลังจากนั้นก็เข้าไปเชื่อมต่อและเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

 

การเรียนรู้ในศาสตร์ด้านพลังงานและไสยเวทนั้น เธอไม่ได้เรียนผ่านสำนัก ลัทธิ ครู หรือชุมชนที่มีจารีต แต่เรียนรู้จากเพื่อนร่วมทางและศึกษาด้วยตัวเอง เรียนรู้จากครูที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งอาจเป็นธรรมชาติ ฤดูกาล พลังงาน และดวงจิตที่ต้องการเกื้อกูลดูแลให้เธอเดินไปในเส้นทางนี้

 

“ทุกวันนี้ทำงานพิธีกรรม บำบัด เวิร์กชอป พี่ก็ทำงานร่วมกับครูเสมอ ความรู้บางอย่างไม่ใช่ของพี่ แต่พี่มีหน้าที่ให้ครูบาอาจารย์และคนอื่นๆที่ต้องการเกื้อกูลได้ปรากฏ และทำงานบางอย่างได้ ผ่านคำพูด ผ่านพื้นที่ และการดำรงอยู่ของพี่”

 


Come out สู่การเป็นแม่มด

 

อาจารย์อันประกาศตนว่าเป็นแม่มดครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ในวงดูแลสุขภาวะของกลุ่มนักกิจกรรม LBQ และ Trans gender เธอมีโอกาสได้แบ่งปันเรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จึงเล่าประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของตัวเอง และประกาศว่าตนเองเป็นแม่มด

 

เธอเล่าว่า ขณะที่พูด ร่างกายจิตใจก็สั่นไหวด้วยความกลัว กลัวว่าเพื่อนจะหาว่าบ้า ทั้งๆที่เป็นวงของเพื่อนนักกิจกรรม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเธอมาโดยตลอด หลังจากวงนั้นจบลง มีเพื่อน 2-3 คนเข้ามาพูดคุยทั้งน้ำตาว่า “ฉันก็เป็นเหมือนเธอ แต่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเลย นี่ฉันเป็นแม่มดหรือเปล่า” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เธอพบเช่นกันในวัยที่พบว่าตนเองเป็น LGBT แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องนี้กับใคร จึงคิดว่า ต่อไปเธอไม่จำเป็นต้องสู้ในเรื่องเพศแล้ว แต่ควรสู้เรื่องนี้

 

“พี่คิดว่ามันเป็นมุมมืดที่คนไม่กล้าพูดถึงการเดินทางทางจิตวิญญาณของตัวเอง เพื่อนพี่ก็บอกว่า แกจะพูดว่าเป็นแม่มดไปทำไม ในเมื่อแกจบด็อกเตอร์ จะพูดเรื่องนี้ในหมวกนักวิชาการก็ได้ จะเอาตัวเองไปแลกทำไม มันดูงมงาย

 

“แต่เราคิดว่า การบอกว่าตัวเองเป็นแม่มด มันไม่ต่างกับการที่เรา Come out ว่าเราเป็นไบเซ็กซวลเลย ฉะนั้นเรามองว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย แต่มันเป็นการเมืองทางจิตวิญญาณ เราก็ดึงแหล่งอำนาจที่เรามีมาใช้ได้ เพื่อฟื้นคืนคุณค่าทางจิตวิญญาณของคนที่มีแหล่งอำนาจน้อยกว่าเรา”

 

หากมองย้อนกลับไปในสมัยบรรพกาล ผู้คนค้นพบคำตอบด้านจิตวิญญาณด้วยตนเองหรือชุมชนของตน ผู้ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณนั้นหลากหลาย ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย บุคคลที่ไม่ชัดเจนในเพศสภาพ แม่มด แม่หมอ หมอยา ผู้ที่เชื่อมโยงกับผี สื่อสารกับเทพ คนเหล่านี้รู้วิธีดูแลรักษาผู้คน รู้ระเบียบของโลก จักรวาล และฤดูกาล จนเกิดศาสนาขึ้น

 

ในช่วงแรก จุดเริ่มต้นของแต่ละศาสนา เป็นไปเพื่อปลดแอกให้คนเป็นอิสระจากชุดความคิดความเชื่อเดิมที่กดขี่ ทว่าเมื่อศาสดาจากไป ศาสนากลายเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความแข็งตัวมากขึ้น อิสรภาพทางปัญญากลายเป็นการควบคุม การครอบงำ มีกฎระเบียบที่ตัดสินถูกผิด จึงเกิดการเบียดขับคนตัวเล็กตัวน้อยออกไป ส่วนคนที่มีสิทธิกำหนดกฎต่างๆคือคนกลุ่มน้อย และที่สำคัญเป็นผู้ชาย การตีความพระคัมภีร์และระบบระเบียบทั้งหลายจึงมีลักษณะแบบชายเป็นใหญ่

 

“จากผู้หญิงเป็นโพธิ์สัตว์ เป็นครูบาอาจารย์ได้ แต่จนถึงทุกวันนี้ ภิกษุณีก็ยังผิดกฎหมายในประเทศไทย มันเพี้ยนไปจากจุดเริ่มต้นมากเลย พี่เลยอยากรื้อฟื้นชีวิตทางจิตวิญญาณของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ได้ผ่านความรู้ แต่เอาชีวิตเลือดเนื้อของพี่ไปอยู่ตรงนั้นเลย ยืนอยู่ในที่สว่าง ที่คนพร้อมจะปาหินได้ทุกเมื่อ แต่เราได้พูดและได้อธิบาย เพราะพี่มีทักษะในการถกเถียงและให้เหตุผล แต่บางคนเกิดมาเขาก็เป็นแม่มดเลย เป็นร่างทรงเลย ไม่มีโอกาสเหมือนพี่ พี่รู้สึกว่าพี่ต้องทำหน้าที่แบบนี้”

 

อาจารย์อันเพิ่งปักธงว่าจะทำเรื่องนี้เมื่อ 1-2 ปีที่ก่อน ก่อนหน้านี้เธอก็ลังเล ระหว่างงานนักวิชาการที่ตนเองเคยทำมาทั้งชีวิตกับการเป็นแม่มด แต่เมื่ออายุมากขึ้น เธอพบว่าแรงกำลังก็ลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา จึงเริ่มถามคำถามตนเองอย่างเข้มข้นว่า ชีวิตที่เหลือต้องการทำอะไร

 

“วัยของพี่ มันถึงบทตอนที่ต้องตอบคำถามว่า ชีวิตที่เหลือเธอเป็นใคร อยากทำอะไร อยากใช้ชีวิตอย่างไรต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็แปลว่านี่คือชีวิตที่เธอต้องการไง แต่สำหรับพี่มันไม่ใช่ มันมีบางอย่างที่อยากทำ จึงค้นลึกลงไป เอาทุกอย่างมากางดู จึงได้คำตอบที่ชัดเจนว่า ลุยอันนี้ แต่ไม่ได้ลุยเพราะฉันคืออันธิฌา มันไม่ใช่การเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนแฟน หรือย้ายงาน แต่สิ่งที่ทำให้พี่กล้าหาญเดินทางนี้ เพราะรู้ว่าเราไม่ได้เดินตามลำพัง พอเชื่อมโยงกับโลกทางพลังงานได้ ดวงจิตของบรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์เขาอยู่กับเราตลอดเวลา พลังงานชีวิตหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายในตัวเราตลอด เรารู้ว่าเราลุยไปพร้อมพันธมิตรในโลกจิตวิญญาณ เจตจำนงนี้จึงไม่ใช่ความต้องการส่วนตัวของเราคนเดียว พอเราตระหนักชัดว่าตัวเราศักดิ์สิทธิ์ จึงห้าวหาญที่จะประกาศว่า เอาละ ต่อไปฉันจะทำเรื่องนี้”

 

เธอเล่าต่อไปว่า เมื่อเธอตั้งเปลี่ยนความตั้งใจในระดับเจตจำนง เส้นทางในชีวิตก็เริ่มปรับเปลี่ยน ทุกอย่างเริ่มมีที่มีทางให้เธอก้าวเดินไปตามเจตจำนงที่ตั้งไว้

 




นิยามความหมายของงานของแม่มด

 

แล้วงานของแม่มดคืออะไร? ฉันถาม

 

อาจารย์อันบอกว่า แม่มดมีหลายสาย แล้วแต่ทักษะของแต่ละคน เช่น การปรุงยา การให้คำพยากรณ์ ทำงานบำบัดรักษา ไปจนถึงทำพิธีกรรม ฯลฯ บางคนทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งอย่างเดียว บางคนทำงานอื่นด้วย เช่น เป็นแม่มดและแม่ค้า เป็นแม่มดและเป็นพนักงานบริษัท บางคนนับถือศาสนาแม่มด แต่ไม่เรียกตัวเองว่าแม่มด เป็นเพียงศาสนิก บางคนทำหน้าที่เหล่านี้ทั้งหมด แต่ไม่เรียกตัวเองว่าแม่มด และบางคนเป็นแม่มดแต่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆอย่างเป็นระบบ การเป็นแม่มดจึงมีความเป็นได้ที่หลากหลาย ทั้งหลากหลายจุดยืนและคำอธิบาย

 

สิ่งสำคัญคือการสำนึกว่า ตัวเราเป็นแม่มด การระบุได้และความสำนึกรู้เหล่านี้ ไม่ต่างกับตอนที่เราบอกตนเองได้ว่า ตัวฉันเป็น Non-binary ฉันเป็น Queer สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นจะมาชี้บอกได้

 

ในนิยามของอันธิฌา งานของแม่มดคือผู้ที่ทำหน้าที่ทางจิตวิญญาณให้แก่คนในชุมชน และสำหรับเธอ งานนี้เป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณค่า อำนาจ และความศักดิ์สิทธิในตัวผู้คน

 

“พี่ต้องการส่งสัญญาณว่า เราทุกคนมีความศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตเราศักดิ์สิทธิ์ เราเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยตัวของเราเอง อย่าไปกลัวที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ อย่ากลัวที่จะสัมผัสความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ปัญหาหลักของศาสนาจารีตที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือการทำลายความเชื่อมั่นของเรา บอกว่าเราบาป เราบกพร่องอยู่ตลอดเวลา เราเล็กน้อยเหลือเกิน เราต้องพยายามปฏิบัติตัวให้ดี

 

ในการเดินทางและเติบโตทางจิตวิญญาณ เราจะเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ตัวตนของเราจะเล็กลง เราเป็นฟันเฟืองเล็กๆของสิ่งที่ใหญ่กว่า เหมือนอวัยวะและเซลล์ต่างๆ เขาเล็ก แต่เขาสำคัญ เราเคารพและขอบคุณที่เขาทำงานของเขา เมื่อเราเห็นธรรมชาติ สัตว์เล็กสัตว์น้อย เราเห็นความเล็กที่มีพลังและศักดิ์สิทธิ์

 

แต่ชุมชนศาสนาไม่บอกเราแบบนี้ เราเล็ก กระจอก บกพร่อง บาป และทนทุกข์ ในความหมายนี้ไม่ได้หมายถึงศาสนธรรม แต่หมายถึงชุมชนศีลธรรมที่เต็มไปด้วยการตัดสิน”

 

เหตุที่เธอมีเป้าหมายเช่นนี้ เพราะตัวเธอเองก็เคยอยู่ในจุดที่สูญเสียความศักดิ์สิทธิ์และคุณค่าหลายครั้งจากการกระทำของสังคมและคนรอบข้าง และหลายครั้ง คนที่รักก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังบั่นทอนคุณค่าภายในของเราอยู่

 

“พี่อยากสู้กับสิ่งเหล่านี้ เพื่อฟื้นฟูอำนาจ คุณค่า และความศักดิ์สิทธิ์ของพวกเราทุกคน ตัวเล็กตัวน้อย รวมถึงคนที่อยู่ในศาสนาด้วย เพื่อให้เขารู้ว่า ตัวเขาที่เป็นศาสนิกเต็มไปด้วยคุณค่าและศักยภาพทางจิตวิญญาณ เต็มเปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์”

 

ด้วยเป้าหมายเช่นนี้ งานของอาจารย์อันคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนได้เดินเข้ามาสำรวจชีวิตทางจิตวิญญาณของตนเอง โดยไม่มีการตัดสินถูกผิด ไม่มีใครหัวเราะใส่กันเพราะเรื่องที่อีกคนเล่าฟังดูแปลกประหลาด

 

เธอพบว่า งานที่ทำอยู่ในตอนนี้นั้น มีกระบวนการทำงานที่ไม่[PW1] ต่างกับงานนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่เธอเคยทำเลย เพียงแค่เปลี่ยนกลุ่ม พื้นที่ และประเด็น พอเปิดพื้นที่เหล่านี้ออก หลายคนก็ปลดล็อค และพบว่าประสบการณ์ของตนเองไม่ใช่สิ่งที่ผิดบาปหรืองมงายอย่างที่เคยคิดมาก่อน

 

“สิ่งเหล่านี้มันลึกมากนะ สังคมฝังหัวเรามา เราจึงต้องรื้อออกมาให้หมดและกรี๊ดมันออกมา (หัวเราะ) ถอยออกมามองให้เห็นว่า เขาทำกับเราแบบนี้ แล้วเลือกได้ว่าจะไปต่ออย่างไร นี่คือสิ่งที่พี่ทำกับชุมชน LGBT และตอนนี้ก็กำลังจะทำเหมือนกันกับชุมชนทางจิตวิญญาณ พอเขาหลุดจากเรื่องนี้ได้ เขาอาจจะโกรธว่า ที่ผ่านมาเราถูกสอนให้ทุกข์เปล่าๆนี่หว่า”

 


ก้อนหินและสมดุลของการเป็นแม่มด

 

อาจารย์อันเข้ามาทำงานแม่มดโดยไม่ผ่านสำนัก ลัทธิ หรือได้การรับรองจากอาจารย์ท่านไหน เมื่อมาจัดอบรมด้วยตนเอง เธอจึงถูกตั้งคำถามและโจมตีจากคนที่ศึกษาเรื่องเวทยมนตร์และไสยเวทว่า เธอเป็นใคร มาจากไหน มาทำได้อย่างไร รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันอันตราย

 

“ตอนนั้นพี่ก็ว้าวมากนะ เพราะในชุมชนแม่มด เขามีวิธีคิด “แท้-ไม่แท้” ด้วย คนที่อยู่ในศาสนาแม่มด เขาก็รับเอาวิธีการของศาสนากระแสหลักมาใช้ด้วยเหมือนกัน แต่ตัวพี่ไม่อยู่ในขนบและจารีตแบบนั้นเลย ไม่ได้อยู่ในศาสนาแม่มด

 

“แต่อีกด้านเราก็เข้าใจ เพราะงานแบบนี้เราพาคนเปิดออกไปในที่ที่อาจไม่ปลอดภัยและน่ากลัว หากเราเตรียมไม่ดีพอ เราเปิดโลกทางพลังงานมั่วซั่วไปหมด มันจะพาไปสู่ความงมงาย หรือการชี้นำผิดๆ ซึ่งอันตรายจริงๆ เราก็น้อมรับ และรู้ว่ามันไม่ใช่จุดประสงค์ของพี่ พี่อยากให้คนกลับมาเชื่อมโยงกับอำนาจของตัวเองโดยที่ไม่มีใครต้องมาตัดสินหรือพิสูจน์ให้”

 

เธอบอกว่า งานสร้างพื้นที่ปลอดภัยก็คือการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นงานที่เธอมีประสบการณ์มาเนิ่นนานในสมัยเป็นนักกิจกรรม งานที่พาคนมากลับมาหาคุณค่าภายใน ทำงานลึกกับประสบการณ์ภายในของแต่ละคน เธอมองว่า แม้เธอจะเข้ามาทำงานนี้โดยไม่มีใบรับรองใดๆ แต่ก็ใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่เคยเดินบนเส้นทางที่ขรุขระ ผิดพลาด ล้มเหลว และบาดเจ็บนับครั้งไม่ถ้วนมาเป็นบทเรียน จากการแตกสลายและฟื้นคืนหลายครั้ง ทำให้เธอมายืนอย่างมั่นคงตรงนี้ได้

 

“พี่เชื่อมั่นในเจตจำนงและวิธีการที่ทำอยู่ เราเรียนรู้ผ่านความเจ็บปวด ตอนที่เราเรียนรู้ ไม่มีใครยืนเคียงข้างแล้วบอกเราว่า เราทำได้ เราเข้าใจคนที่จะเดินเข้ามาเปิดตัวเองในมิติจิตวิญญาณ ว่าเขาจะสั่นไหว หวั่นกลัว และไม่เชื่อมั่นตัวเองอย่างไร เพราะเราเคยเป็นมาหมด งานของเราคือการดูแลพื้นที่เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และผ่านไปอย่างอ่อนโยนที่สุด ท้าทายให้แต่ละคนรับรู้ประสบการณ์ของตัวเอง และเปิดใจเรียนรู้เรื่องของเพื่อนทั้งวง แต่เราก็ระวังมากๆ พลาดแทบจะไม่ได้เลยในการทำงานแต่ละงาน งานบำบัดรักษา การอบรม งานพิธีกรรม ทุกครั้ง เราต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่การลองผิดลองถูก”

 

เธอบอกว่า ชีวิตแม่มดทำให้เธอเข้าใจชีวิตของนักบวชมากขึ้น การฝึกปฏิบัติ การนั่งสมาธิ สวดมนต์ ฝึกสติ ไปจนถึงการประพฤติตามวินัย คือการดูแลร่างกาย จิตใจ พื้นที่ และพลังงานของตนเองให้สะอาดและมั่นคง ดูแลความคิดของตัวเองให้ถูกต้อง ไม่เชื่ออย่างไม่ตั้งคำถาม แต่ก็ไม่ใช่ไม่กล้าเชื่ออะไรแม้แต่ประสบการณ์ของตัวเอง

 

“คนที่สนใจเรื่องไสยเวทแล้วหลุดโลกไป เพราะเขาขาดเรื่องนี้ เขาอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ ไม่มีสติ จึงไม่แปลกที่จะหลง ตอนที่พี่เริ่มสนใจเรื่องนี้ เริ่มสัมผัสรับรู้ได้ถึงพลังงาน เราไม่ได้เรียนรู้ตามระบบ ก็พบว่ามันยากและอันตราย เพราะเราไม่รู้ว่ากำลังจะเจอกับอะไร โชคดีที่มีเพื่อนที่เรียนรู้เรื่องนี้ จึงแนะนำว่า เธอต้อง grounding นะ ไม่งั้นจะบ้าเอา เราก็ค่อยๆเรียนรู้ว่ามันคือการฝึกสติ อยู่กับร่างกาย ลมหายใจ ฝึกที่จะสร้างอาณาเขต สร้างวินัยบางอย่างในชีวิตประจำวัน แล้วก็กลับมาใช้ชีวิตแบบมนุษย์มนา กินข้าว คุยกับเพื่อน เล่นเฟสบุ๊ก

 

“อีกเรื่องหนึ่งคือ การทำงานกับความเชื่อตัวเอง บางคน อาจารย์พูดแบบนี้เราก็เชื่อๆๆ แบบไม่ตั้งคำถามอะไรเลย อีกด้านคือ บางคนมีศักยภาพทางจิตที่สัมผัสรับรู้อะไรได้หลายอย่าง แต่ไม่กล้าไปต่อ เพราะกลัว ไม่แน่ใจ ไม่กล้าแม้แต่จะรับรู้พลังอำนาจที่ตัวเองมี เหมือนเราชินที่ถูกกด ต้องการให้ใครบางคนมาอนุญาตก่อน อันนี้ก็เป็นความบาดเจ็บทางจิตวิญญาณอีกแบบ เป็นสองด้านของความเชื่อ”

 

อาจารย์อันบอกว่า หากคุณเจอเส้นทางสมดุลระหว่างการตั้งคำถามกับความเชื่อในตัวเอง คุณจะกลายเป็นแม่มด คุณกำลังเดินทางบนชีวิตทางจิตวิญญาณ ขอให้ก้าวต่อไปอย่างมีสติ ก้าวต่อด้วยความมั่นใจ และจะเจอกับประสบการณ์แห่งปัญญาญาณแน่นอน

 

“สิ่งเหล่านี้มันพ้นไปจากเหตุผลหรือการอธิบายนะ อย่างตัวพี่เองก็สงสัยจนสิ้นสงสัย สงสัยจนสงสัยต่อไปไม่ได้ เพราะมันคาหูคาตาอยู่ต่อหน้าเรา พี่สงสัยเรื่องพลังงานต่อไปไม่ได้ เพราะรู้สึกถึงพลังงานในตัวเอง พี่สงสัยเรื่องการเยียวยารักษาไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นในตัวพี่เอง จากที่เคยมีสภาวะอารมณ์แบบหนึ่ง พอพี่ทำงานในมิติพลังงาน สภาวะมันเปลี่ยนไปโดยไม่ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์ ไม่ได้กินยา ไม่ต้องมีใครมาสอนหรือให้คำปรึกษาเรา แต่เกิดจากการตระหนัก การยอมรับบางอย่างได้ สภาวะบางอย่างจึงเปลี่ยนไปทันที เราไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป”





การเรียนรู้ของแม่มดอัน


อาจารย์อันเดินทางบนเส้นทางของแม่มดอย่างเต็มตัวได้ปีกว่าแล้ว เธอพบว่าสิ่งที่ได้ทำจริงนั้นไปไกลกว่าสิ่งที่เธอคิดจินตนาการเอาไว้เสียอีก ปัจจุบันเธอทำงานประจำอยู่ที่ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ (Well-being center) คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาสุขภาพใจและจิตวิญญาณของนักศึกษาและบุคลากรในคณะ

 

ในบทบาทส่วนตัว เธอเป็นนักพลังงานบำบัด ศิลปะบำบัด ผู้ให้คำปรึกษา จัดอบรมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในวงแม่มด และอำนวยให้เกิดพิธีกรรมในงานต่างๆ และส่วนที่แปลกใจที่สุดก็คือ ไม่นานมานี้ เธอได้กลับไปร่วมเขียนและทำงานวิชาการที่มีมิติทางจิตวิญญาณด้วย

 

“เรื่องนี้สอนให้พี่เห็นความเป็นไปได้ สิ่งที่คิด สิ่งที่ตั้งใจ ภาพในหัว ทุกอย่างมันเป็นไปได้นะ บางเรื่องเกินไปจากภาพในหัวอีก มันว้าวมาก มันน่าสนใจจังเลย ถูกผลักให้มาทำบางอย่างที่น่าทึ่งมาก มันทำให้เราเชื่อมั่นในทางที่เดินมากขึ้น รู้สึกหนักแน่นมั่นคงกับเจตจำนงของตัวเองมากขึ้น การทำงานเป็นทีมทำให้เราเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และขาข้างหนึ่งพี่ยังอยู่ในชุมชนนักกิจกรรมด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ เพื่อนยังชวนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย

 

“แต่พอเรานิยามตัวเองใหม่ เราก็กลับเข้าไปในแวดวงเดิมโดยหมวกใบใหม่ พี่กลับเข้าไปในแวดวงนักกิจกรรมในฐานะนักพลังงานบำบัดและแม่มด พี่กลับเข้าไปทำงานไปในมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณ หรือกลับไปเขียนงานวิชาการซึ่งมาจากชีวิตตัวเอง พี่รู้สึกว่ามันท้าทายมาก”

 

เธอบอกกับเราว่า คำถามหลายคำถามที่เราถาม เป็นคำถามที่เธอก็เคยถามตัวเองเช่นกัน ทำไมตัวเธอถึงได้ฉีกตัวเองไปทำหลายอย่างขนาดนี้ ชีวิตแต่ละด้านที่กระโดดลงไปทำ ก็ทำแบบจัดเต็มที่สุด จนได้แผลหลายครั้ง เธอก็ถามตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการเสียเวลาไปเปล่าๆหรือไม่ สุดท้ายก็พบว่า ตัวเธอไม่อาจขาดเสี้ยวใดส่วนเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์เหล่านี้ไปได้เลย ทุกอย่างมีเหตุผล ทุกสนามที่เดินผ่านคือการฝึกตนและขัดเกลา

 

“พอเราย้อนไปมองชีวิตทั้งหมด ก็รู้สึกว่ามันถูกแล้วที่จะหลากหลายขนาดนั้น ทุกอย่างมีเหตุผล ทุกเหตุการณ์ทำให้พี่ได้เข้าใจแก่นสารบางอย่างของชีวิต ทำให้มีเพื่อน มีความสัมพันธ์ที่มีค่ามากกับงานในปัจจุบันของเรา หากพี่ไม่ผ่านเรื่องราวและบาดแผลต่างๆเหล่านั้น พี่คงไม่ใช่คนที่มาทำอะไรที่เป็นเรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณ โดยมีฐานคิดที่เชื่อมโยงสังคม สนใจเรื่องการเมือง ความทุกข์ของคนตัวเล็กตัวน้อย และสนใจเรื่องสุนทรียภาพซึ่งเป็นด้านหนึ่งของการเยียวยา ฉะนั้นขาดอะไรไม่ได้สักอย่างในองค์ประกอบเหล่านี้ ทุกอย่างมีเหตุผลและเป็นเส้นทางทางจิตวิญญาณของพี่หมดเลย”

 

ชีวิตที่ผ่านบทตอนมากมาย ผ่านการแตกสลาย ประกอบร่างและฟื้นคืน ย่างก้าว ณ ปัจจุบันนี้ จึงเหมือนการเข้าสู่บทตอนใหม่ พลิกหน้ากระดาษสู่ชีวิตที่เธอขีดเขียนด้วยเจตจำนงของตัวเอง คืองานแม่มดที่เป็นทั้งนักบำบัด ผู้เยียวยารักษา เป็นทั้งผู้สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ชีวิตทางจิตวิญญาณได้เติบโต และเป็นทั้งผู้สร้างการเคลื่อนไหวให้ชีวิตทางจิตวิญญาณนั้นไม่ติดกรอบจารีตเดิม แต่กลับสู่ความหมายเดิมแท้ของชีวิตทางจิตวิญญาณ



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page