KN-3 | ปาฐกถานำ “ที่พักพิงยามสิ้นหวัง : การปลอบประโลมใจจากพระพุทธองค์ และเดวิด ฮิว์ม”
- Jitwiwat
- May 12
- 1 min read
Updated: May 23
2 มี.ค. 68 09:15-10:00 น. เวทีกลาง สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์
องค์ปาฐก : ศ.กิตติคุณ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์พิเศษภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปาฐกถานี้เป็นความพยายามเล็กๆของคนเรียนปรัชญา ที่จะนำเสนอวิธีการที่พระพุทธองค์ทรงใช้ปลอบประโลมใจคนสิ้นหวังจากความสูญเสียอันสาหัสลึกซึ้ง ท่านทรงเมตตาด้วยความอาทรอย่างปล่อยวาง เพื่อ “โอบรับคนบ้าที่สิ้นหวัง” เข้าสู่ชุมชนมนุษย์อีกครั้ง และจะนำเสนอวิธีการที่เดวิด ฮิว์ม นักปรัชญาสายประจักษ์นิยมคนสำคัญในศตวรรษที่ 18 ทดลองใช้ตนเองในช่วงเกิดภาวะซึมเศร้าและประสบความล้มเหลวในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า
ชมคลิปบันทึกปาฐกถาแบบย่อ
ชมคลิปบันทึกปาฐกถาแบบเต็ม
สรุปใจความสำคัญ
นำเสนอคุณค่าและความหมายของการปลอบประโลมใจในแง่ของการทำงานกับมิติทางอารมณ์ ขณะ เดียวกันก็สนุกที่จะนำเสนอแนวความเชื่ออีกแบบหนึ่งที่อาจดูเหมือนตรงกันข้าม โดยทั้งหมดมีแง่มุมของความเป็นจิตวิญญาณที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า องค์ปาฐกบรรยายด้วยสไลด์เพียงหน้าเดียว ทว่าเนื้อหานั้นถูกเตรียมมาอย่างดี เข้มข้น ทุกคำที่บอกเล่าล้วนมีความหมาย มีที่มาอ้างอิง และมีจุดประสงค์ชัดเจนในการนำเสนอแต่ละส่วน
การปลอบประโลมใจคือชั่วขณะสำคัญที่เราเปิดพื้นที่ให้มิติทางอารมณ์ได้รับการทำงาน คนส่วนใหญ่มักมองข้าม และอาจถึงขั้นไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของช่วงเวลานี้ ขณะที่คนที่กำลังดิ่งจมกับความทุกข์สาหัสก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้กับความทุกข์ของตนเอง คำถามคือ แล้วเราจะสามารถทำความเข้าใจความพลิกผันทางอารมณ์และความทุกข์นั้นจากแง่มุมของผู้ที่มีความทุกข์อยู่ได้หรือไม่ เราจะสามารถร่วมจินตนาการรับรู้อารมณ์อันปวดร้าว รุนแรง และเข้มข้นของผู้สูญเสีย ด้วยความเข้าใจที่ละเมียดละไมได้หรือไม่และอย่างไร ความเข้าใจในความหมายและแนวคิดเรื่องการปลอบประโลมใจ อาจช่วยให้เรารับมือกับภาวะอารมณ์อันท่วมท้นด้วยความทุกข์เจ็บปวดทั้งของตัวเราเองและของคนอื่นได้อย่างสอดคล้องต่อธรรมชาติของตัวอารมณ์เองได้มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยแนวคิดฝ่ายประจักษ์นิยมแบบเดวิด ฮิว์ม ที่เชื่อว่าไม่มีสวรรค์และพระเจ้าที่คอยช่วยเรายามตกทุกข์ได้ยาก หากเมื่อใดที่เกิดความทุกข์รุนแรงขึ้นในชีวิตจนหมดพลังที่จะต่อสู้ เราจะเอาพลังจากที่ไหนมาฉุดตัวเองให้ลุกขึ้นมามีชีวิตต่อ นี่ก็คือคำถามที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง
การปลอบประโลมใจบนหนทางของพระพุทธองค์ ไม่ได้ตั้งต้นจากการทำประเด็นส่วนบุคคลให้กลายเป็นประเด็นสากลโดยเร็ว หากลงมาทำงานกับอารมณ์ด้วยความเข้าใจระดับบุคคลอย่างละเมียดละไมลึกซึ้งก่อน
พระองค์ยอมรับได้กับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของการมีความทุกข์ของนางกีสาโคตมีว่าสิ่งนั้นก็คือความจริง
การหวนคืนสู่ครอบครัวมนุษย์ ได้รับรู้ความจริงของมนุษย์คนอื่นจนเกิดความหมายใหม่ที่เป็น Collective Personal นี่คือกุญแจสำคัญในการปลดคลายออกจากความทุกข์ระทมของตัวเอง
พระพุทธเจ้าพานางปฏาจาราให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมนุษย์ อันเป็นขั้นตอนแรกของการปลอบประโลม นั่นคือการพาให้ก้าวข้ามจารีตสังคมที่คอยกีดกันมนุษย์ (บางคน) ออกไป
สวรรค์เคยเป็นคำปลอบประโลมใจจากจักรวาลที่คอยให้รางวัลแก่ความดีงามของโลกใบนี้ แต่เดวิด ฮิว์มปฏิเสธสิ่งนี้โดยมีราคาที่ต้องจ่าย เขาหาทางออกด้วยตัวเองด้วยการเบี่ยงเบนไปใส่ใจเรื่องดี ๆ ต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นหนทางแบบอัตสัมฤทธิ์ ที่เชื่อว่าทุกอย่างลิขิตได้ด้วยพลังของตัวเองแม้กระทั่งการปลอบประโลมใจ
การปลอบประโลมใจ ใช้รับมือกับความทุกข์ยากลึกซึ้ง ช่วยหาวิธีที่จะไม่ละทิ้งชีวิต แต่ยังอยู่ต่อได้อย่างมีความหวัง
นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการปลอบประโลมใจเช่นนี้ ช่วยขยายให้เห็นมุมมองและความหมายของวิธีการของพระพุทธองค์ในแบบที่ยังไม่ค่อยเคยมีการชี้ประเด็นในลักษณะนี้มาก่อน ในขณะที่แนวคิดเรื่องการไม่เชื่อในพระเจ้าและไม่เอาจิตวิญญาณนั้นเชื่อมโยงกับกระแสของโลกในยุคปัจจุบันได้มากกว่า แต่ไม่ว่าเราจะเชื่อแบบใด หรือเราก็จะมีวิธีการปลอบประโลมใจแบบใดตามที่เราเชื่อ ทั้งหมดล้วนย่อมมีราคาที่เราจะต้องจ่ายอยู่เสมอ
การปลอบประโลมใจเปิดพื้นที่ให้กับการทำงานทางอารมณ์ ก่อให้เกิดความรู้สึกของการร่วมทุกข์ และนำพาผู้ที่เป็นทุกข์จากการไม่อาจยอมรับความสิ้นหวัง ให้กลับคืนสู่การมีความหวังในชีวิตได้อีกครั้ง นอกจากนี้ การปลอบประโลมใจยังช่วยให้เกิดความสงบภายในแก่ผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ สามารถฟื้นคืนสติกลับมารับรู้ถึงความเป็นจริงของทุกข์นั้น ๆ ได้ ส่งผลให้สันติภาวะบังเกิดขึ้นทั้งภายในตัวปัจเจกเองและแผ่ขยายไปสู่สังคมภายนอกได้ตามมา นี่คือหนทางสำคัญที่เราจะใช้ทำความเข้าใจและดูแลผู้คนต่าง ๆ ที่ต้องประสบกับความทุกข์ระทมใหญ่หลวงจากความไม่เป็นธรรมของสังคมในโลกปัจจุบันได้
การปลอบประโลมใจยังมีความหมายในระดับจิตวิญญาณร่วม กล่าวคือ เมื่อความทุกข์ของปัจเจกถูกรับรู้ และรู้สึกร่วมกัน มันจะนำไปสู่ความหมายของการเป็น ความทุกข์ร่วมของปัจเจก (Collective Personal) จากนั้น ความหมายของทุกข์นั้นจะสามารถเคลื่อนเข้าสู่มิติที่เป็นจิตสำนึกร่วมสากลหรือจิตสำนึกร่วมของจักรวาลได้ต่อไป เป็นผลให้เรารู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทุกสรรพสิ่ง
ชีวิตคือการเดินเล่นเตร็ดเตร่ (Wandering) ดูความงามเล็ก ๆ ข้างทาง
และพบความรื่นรมย์ระหว่างทาง ชีวิตไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายใหญ่อะไร - จวงจื่อ
Comments