KN-2 | ปาฐกถานำ “พลังธรรมแห่งจินตนาการสู่ความร่วมมือพื้นฐาน”
- Jitwiwat
- May 13
- 1 min read
Updated: May 23
1 มี.ค. 68 09:15-10:00 น. เวทีกลาง สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์
องค์ปาฐก : รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ปาฐกถาที่ร้อยเรียงจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็น “นักมนุษยนิยมผู้รักสันติภาพ” และต่อมาเป็น “นักมนุษยชาตินิยม” ที่ขอใช้ “ความเฉลียวพบ” หรือ “serendipity” มาขับเคลื่อนสันติภาพและความร่วมมือขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ อาจารย์โคทมเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในประเด็นสันติภาพในสังคมไทย โดยเฉพาะสันติภาพชายแดนใต้ ชีวิตหลังเกษียณเปิดโอกาสให้ท่านเดินทางสู่โลกทางจิตวิญญาณมากขึ้น จนพบว่าสิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ก็ให้ความหมายแก่ความตายเช่นกัน
ชมคลิปบันทึกปาฐกถาแบบย่อ
ชมคลิปบันทึกปาฐกถาแบบเต็ม
สรุปใจความสำคัญ
นำเสนอเส้นทางชีวิตขององค์ปาฐก ตั้งแต่วัยเยาว์มาถึงปัจจุบัน ผ่านจุดเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งค่อยๆหล่อหลอมความเป็นตัวตนของท่าน ให้กลายเป็นนักมนุษยนิยมที่สื่อสารกับสังคมและขับเคลื่อนประเด็นเรื่อง “สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติวิธี” และนำเสนอแนวคิดของปรมาจารย์ด้านสันติวิธีสองท่านที่มีอิทธิพลต่อปรัชญาการทำงาน คือ จอห์น พอล เลเดอรัค (John Paul Lederach) และโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung)
ตลอดช่วงชีวิตของท่านมีความใส่ใจในสังคมการมืองและสันติภาพในสังคมไทย โดยเฉพาะสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ล้วนยังคงวนเวียนเป็นปัญหาอยู่ ทั้งการที่คนในสังคมมักลดทอนเรื่องที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่องที่ง่าย โดยมองทุกอย่างเป็น 2 ขั้ว เช่น ถูก-ผิด เป็นการสร้างความขัดแย้ง แตกแยก แม้ในปัจฉิมวัย ท่านสนใจเรื่องจิตวิญญาณ สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ทว่ายังคงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานขับเคลื่อนสันติภาพและความร่วมมือขั้นพื้นฐานในมนุษยชาติ
ในงานนี้ท่านเสนอแนวทางสันติวิธีเป็นทางออกของสังคมให้ประชาชนรับรู้ และมีความหวังว่าข้อความนี้จะไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองด้วย โดยมีเป้าหมายคือ สันติภาพและการอยู่ร่วมในสังคม ที่ทุกคนได้รับการดูแลความต้องการพื้นฐาน และมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ท่านเล่าเรื่องราวชีวิตตนเองในช่วงวัยที่พบจุดเปลี่ยนสำคัญ และหนังสือเล่มต่างๆ ที่ส่งผลต่อแนวคิดและการดำเนินชีวิตโดยนำเสนอเดินอยู่ด้านล่างเวที สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ฟัง มีสไลด์ที่เตรียมมาเป็นข้อความประกอบอยู่เบื้องหลัง
เมื่ออายุยังน้อย ท่านมีศรัทธาในคำสอนของศาสนาคาทอลิกที่ว่า “จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” ด้วยความเป็นผู้ชอบอ่านหนังสือ เมื่อไปเรียนต่อได้อ่านวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่ประทับใจเป็นพิเศษ และนำมาแปลเป็นภาษาไทยชื่อ “แผ่นดินของเรา” และหนังสือประวัติของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2495 คุณหมอ ชไวท์เซอร์ชาวเยอรมันที่ ผู้รักษาโรคมาเลเรียในถิ่นทุรกันดารช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
จุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งหนึ่งคือเมื่อเกษียณอายุ 60 ปี เริ่มสนใจการเจริญสติ และได้รับโอกาสเข้าทำงานในศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นบรรณาธิการในการแปลหนังสือ “พลังธรรมแห่งจินตนาการ : ศิลป์และวิญญาณการสร้างสันติภาพ” เขียนโดยจอห์น พอล เลเดอรัค ซึ่งนำมาใช้ในการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนังสือเล่มนี้เสนอแนวคิดไว้ว่า เส้นทางสู่สันติภาพไม่ใช่เส้นตรง ไม่มียุทธศาสตร์สำเร็จรูป สันติภาพต้องสร้างขึ้นด้วยความเพียรในการถักทอความสัมพันธ์ใหม่ ตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นมา
ในปัจฉิมวัย ท่านได้เข้ารับการอบรมเรื่อง “การมีชีวิตและการตายอย่างมีศักดิ์ศรี” ประกอบกับได้อ่านหนังสือ “วงล้อแห่งชีวิต : บันทึกความทรงจำของการมีชีวิตกับการตาย” และหนังสือภาษาฝรั่งเศสชื่อ “การเชื่อมต่อ : การศึกษาการติดต่อกับโลกที่มองไม่เห็น” ทำให้ท่านเข้าสู่โลกแห่งจิตวิญญาณมากขึ้น โดยมีข้อคำนึงว่า สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ก็ให้ความหมายแก่ความตาย เกิดมาทั้งที ขอให้เห็นโอกาสที่จะใช้ความเฉลียวพบ (serendipity) เพื่อขับเคลื่อนสันติภาพและความร่วมมือขั้นพื้นฐานในมนุษยชาติ
เป้าหมายปลายทางของกระบวนการประชาธิปไตย มิใช่สังคมไร้ชนชั้น หรือไร้ความเหลื่อมล้ำ หากเป็นสังคมที่ระดับความพึงพอใจในด้านความต้องการพื้นฐานนั้นสูงพอที่จะให้ทุกคนมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ความหมายของ “ประชาธิปไตย” สำหรับท่านอ้างจากโยฮัน กัลตุง คือการที่ทุกคนได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Human Needs) และมีหลักประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (Basic Human Rights)
ความเป็นตัวตนขององค์ปาฐก ท่านโคทม อารียา ปรากฏระหว่างการบรรยาย สะท้อนความเรียบง่าย เป็นธรรมดา แต่เปี่ยมไปด้วยพลังของเจตจำนงที่ชัดเจน แน่วแน่ และลุ่มลึกของมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความเข้าใจธรรมชาติของความจริงที่อยู่เหนือการควบคุม ทว่ายังเปล่งประกายของความหวัง... ความหวังที่จะเห็นสังคมแห่งความร่วมมือ เปิดกว้าง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สันติภาพและการอยู่ร่วมในสังคม ทุกคนได้รับการดูแลความต้องการพื้นฐาน
และมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ความต้องการพื้นฐาน ได้แก่ “ความต้องการทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ”
ขยายความถึงจิตวิญญาณว่า “เราเกิดมาทำไม และจะตายอย่างไร”
Comments