บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1
“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”
ความเจ็บป่วยในยุคสมัยใหม่ และญาณวิทยาว่าด้วยการเยียวยา
ชวนร่วมกิจกรรมเสวนาในประเด็นปรากฏการณ์ “โรค” สมัยใหม่ และวิพากษ์ญาณวิทยาเรื่องการดูแลสุขภาพและการเยียวยารักษา เพื่อตอบคำถามปรากฏการณ์ทางสุขภาพในปัจจุบัน
สรุปภาพรวมการจัด
กิจกรรมเสวนาในปรากฏการณ์ “โรค” สมัยใหม่ และวิพากษ์ญาณวิทยาเรื่องการดูแลสุขภาพและการเยียวยารักษา เพื่อตอบคำถามปรากฏการณ์ทางสุขภาพในปัจจุบัน ดำเนินรายการโดย อ.ดร.ณีรนุช แมลงภู่ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ประเด็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดย ผศ.วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงบทบาทของมานุษยวิทยาในกรอบนักมานุษยวิทยาทางการแพทย์ คือการทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และความเจ็บป่วย ว่าเกิดขึ้นมาจากอะไร ดูแลอย่างไร ซึ่งมีการพัฒนามาทุกยุคสมัย เครื่องมือทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมากก็ค้นพบว่ามีเชื้อโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย จนมนุษย์สามารถเอาชนะเชื้อโรคเหล่านั้นได้ แต่เชื้อเหล่านั้นก็เอาชนะเทคโนโลยีมนุษย์ได้อีกเช่นกัน ดังนั้นในการศึกษาของนักมานุษยวิทยาทางการแพทย์ ก็จะมีการศึกษาในมิติทางสังคม วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ร่วมด้วย เพื่อให้เห็นและตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรค สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อนำมากำหนดสาเหตุการเกิดโรค การดูแล และการรักษา เป็นการเยียวยา ไม่มองเพียงแต่มิติเดียวแต่ผลักดันให้เกิดความเข้าใจแบบเป็นองค์รวม
ญาณวิทยาว่าด้วยการเยียวยา: กับการแพทย์สมัยใหม่ว่าด้วยความหวัง โดย อ.วรเชษฐ์ เขียวจันทร์ นักวิชาการอิสระและผู้บริหารสำนักพิมพ์ ปิ่นโต พับลิชชิ่ง กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องมนุษย์ในฐานะผู้ป่วย มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยยื้อ/ยืดชีวิต โดยในความสัมพันธ์นั้นมีปฏิบัติการอำนาจเหนือร่างกายผู้ป่วยร่วมด้วย มีข้อค้นพบว่า ร่างกายของผู้ป่วยไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะร่างกายของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเป็นร่างกายที่อยู่ภายใต้การกำกับของเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อยื้อ/ยืดชีวิตด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ ผู้ป่วยต้องยอมจำนนและพึ่งพาเทคโนโลยีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นความสัมพันธ์ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ แต่การเข้าไปทำความเข้าใจประสบการณ์ความเจ็บป่วย ไม่สามารถทำความเข้าใจผ่านวาทกรรมทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว การทำความเข้าใจสภาวะจิตใจของผู้ป่วย การให้ความหมายของร่างกาย การสร้างร่างกายใหม่ ที่ต้องอยู่กับกระบวนการรักษาทางการแพทย์ร่วมด้วย
ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ: กล่าวว่าการแคร์ (care) คือการเข้าใจว่าสิ่งนั้นสำคัญ จึงให้เวลาใส่ใจอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ปล่อยทิ้งไว้ คือ ดูแลทั้ง 3 ส่วน (1) Disease: โรค (2) Illness: ความเจ็บป่วย (3) Suffering: ประสบการณ์ความทุกข์ ความเจ็บป่วยในยุคสมัยใหม่นี้ บริบท “โรค” กับ บริบท “โลก” ไม่เคยแยกจากกัน ดังคำใหม่ว่า โรคระบาดทางสังคม (Syndemics) ที่เราไม่อาจดูแต่โรคอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังต้องมองบริบทโลกที่รายล้อมอยู่จึงสามารถเยียวยาความซับซ้อนได้
Comentarios