top of page

โมโนโนะ อาวาเระ สุข-เศร้าเป็นเงาของกันและกัน สุข-เศร้าเป็นของเราทุกคน

“สิ่งที่กำลังจากไปเปิดทางใหม่ให้สิ่งที่จะเข้ามา ต้องเปิดที่ว่างมหาศาลให้สิ่งใหม่ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็นคุณค่าของปัจจุบันขณะ...ประโยชน์สูงสุดของความเป็นหม้อคือที่ว่างในหม้อนั้นเอง ไม่ใช่รูปร่างหรือวัสดุของหม้อ”


เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร


ชมเทปบันทึกเวทีเสวนาย้อนหลัง





จบลงไปอย่างสวยงามและทัชใจกับงาน “โมโนโนะ อาวาเระ สุข-เศร้าเป็นเงาของกันและกัน” ที่จัดในวันที่ 30 มีนาคม 2567 ที่ สสส. ซอยงามดูพลี โดยศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา x Homemade 35 สนับสนุนโดย สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. งานนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของเทศกาลงาน ‘สัปดาห์ความสุขสากล 2024 Happiness Connects: ความสุขที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน’ เพื่อให้เราเข้าถึงความสุขภายในที่ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ



เปิดประเดิมด้วยกิจกรรมสำรวจสุข-ทุกข์ ฝึกหัวใจให้เปิดกว้าง พร้อมรับแก่นแกนแห่ง “โมโนโนะ อาวาเระ” อ.หมู - ดร.สมสิทธิ์ อัสดรนิธี ชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ลุกขึ้นเดินเปลี่ยนอิริยาบถ แล้วจับคู่แลกเปลี่ยนในหัวข้อ “ฉันเป็นใคร”, “ความสุขล่าสุดของฉัน” และ “ความไม่สุขล่าสุดของฉัน” จากนั้น ให้แต่ละคนเลือกระดับภาวะสุข-ทุกข์ของตัวเองในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ระดับสุขมาก = 4 แล้วลดหลั่นลงมาเป็น 3, 2 โดยระดับ 1 = ทุกข์มาก ผลที่ออกส่วนใหญ่มากองรวมกันอยู่ตรงเลข 3 รองลงมาเป็นเลข 2 ต่อด้วยเลข 4 ส่วนเลข 1 มีพียง 1 ท่าน หลังจากตัวแทนของแต่ละหมายเลขบอกเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเลือกของตน อ.หมู สรุปว่าสุข-เศร้าจะไหลไปเรื่อยๆ ไม่ใช่สิ่งแช่แข็ง ภาวะความสุขระดับ 4 ไม่ได้คงอยู่อย่างนั้นตลอดไป แต่เลื่อนไหลไป 3 หรือ 2 หรือ 1 หรือกลับมาที่ 4 อีกก็เป็นได้ ให้ลองสำรวจกับตัวเองว่า “ความสุขที่ฉันเคยมี แต่ตอนนี้ไม่อยู่แล้วคืออะไร” จากนั้นเป็นการบรรเลงขลุ่ยเซนจาก พี่เม - คุณเมธี จันทรา นักดนตรีเพื่อการภาวนา นักจัดอบรมขลุ่ยเซนและนพลักษณ์ เป็นการเปิดประสาทสัมผัสเพื่อรอการเชื่อมโยงและแบ่งปันประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้


“ทุกสิ่งไม่สามารถดำรงตนด้วยตนเองโดดๆไม่ว่าสุข เศร้า หรือตัวเราเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมีกันและกันในอีกด้านหนึ่งเสมอ” พี่ติ๋ม - คุณสุภาพ ดีรัตนา นักเดินทางเพื่อการเติบโตภายในที่สนใจและเชี่ยวชาญลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ ศิลปะ ศาสนา และปรัชญา เปิดการบรรยายในวันนี้อย่างเด็ดขาดชนิดที่เรียกว่าปิดการบรรยายได้ในจังหวะเดียวกันนั้นเลย เหมือนลูกธนูที่พุ่งออกจากคันธนูตรงเข้ากลางเป้าอย่างทรงพลัง



ภาพแรกที่ถูกฉายขึ้นจอคือ ภาพพิมพ์สีน้ำโทนเย็นเป็นรูปโครงร่างสาวน้อยหรือเทพธิดาองค์น้อยกำลังกางแขน ทั้งอากัปกิริยาและบรรยากาศของภาพอวลไปทั้งความสุขและเศร้าอันเป็นไปตามสภาวะของคนมอง ภาพต่อไปเป็นเรื่องราวของวันที่ 20 มีนาคมซึ่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันความสุขสากล คุณสุภาพตั้งข้อสังเกตชวนคิดว่าการประกาศหรือรณรงค์เป็นไปเพราะบางอย่างจะหายไป จึงมีนัยยะว่าความสุขไม่มีเหลืออีกแล้ว จึงต้องประกาศให้เกิดการตระหนักรู้ว่าความสุขนั้นกำลังจะไม่มีหรือไม่มีอีกแล้ว ต่อด้วยภาพอันดับของประเทศที่ครองตำแหน่งเบอร์ต้นหรือตัวท็อปที่มีความสุขมากที่สุดในโลกประจำปี 2023 ฟินแลนด์ครองแชมป์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์เป็นเบอร์ 2 และ 3 ตามลำดับ ผู้คนจึงสนใจว่าคนสแกนดิเนเวียเขาดำเนินชีวิตด้วยหลักคิดอะไร คุณสุภาพให้คำตอบว่า สิ่งนั้นคือ Hygge (ฮุกกะ) วิถีชีวิตที่เรียบง่าย Lagom (ลากอม) ความพอเพียงที่สมดุล Sisu (ซิซู่) ความสุขจากการกล้าที่จะก้าวข้ามความกลัวในการเผชิญหน้ากับวิกฤติอย่างสง่างาม ตอนนี้เองที่คุณสุภาพตั้งคำถามชวนคิดอีกครั้งว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุด หรือ มีทุกข์น้อยที่สุด หรือ มีสุขในทุกข์มากที่สุด หรือ มีทุกข์ในสุขน้อยที่สุด...คมคายเป็นอย่างมาก


ไม่ปล่อยให้งงกันนาน คุณสุภาพฉายภาพหน้ากากที่ใช้ในละครเวทีกรีก เป็นหน้ากากยิ้มคู่กับหน้ากากเหยเกซึ่งหมายถึงยิ้ม-เศร้า สุข-ทุกข์ สุขนาฏกรรม-โศกนาฏกรรม อยู่ร่วมกันเสมอมาโดยไม่แยกจากกัน รูปธรรมถัดไปมาถึงโดยไม่รอช้า คุณสุภาพเล่าถึงประจักษ์พยานต่างๆจากหลายสถานที่และช่วงเวลาที่ยืนยันว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นมีความสุข หัวใจของเราเป็นดั่งกันและกัน เช่น เหตุการณ์ในช่วงวันคริสต์มาส ในปี 1914 ที่เสียงเพลง Silent Night เพลงแห่งการเฉลิมฉลองและสงบสุขดังขึ้นพร้อมแสงสว่างบนท้องฟ้าท่ามกลางความทุกข์ยากและเหน็บหนาวของสนามเพลาะในสงครามระหว่างทหารอังกฤษและฝรั่งเศส, กางเขนตะปูแห่งโคเวนทรี อันเป็นสัญลักษณ์ของการให้อภัยจากเมืองโคเวนทรีที่ถูกกองทัพอากาศนาซีเยอรมันถล่มจนราบ, ผ้าควิลท์ที่มาพร้อมลายเซ็นถึง 830 ชื่อ และเงินอีกชื่อละ 1 เพนนี เพื่อสื่อสารจากโคเวนทรี่ถึงสตาลินกราดว่า “ความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆดีกว่าความสงสารที่ไม่มีตัวตน”, ภาพรถเข็นเด็กวางเรียงรายอยู่มากมายพร้อมป้ายประกาศให้แม่ชาวยูเครนมารับรถเข็นเหล่านี้ไปได้เลยในช่วงการปะทุของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทำให้เห็นจิตเดิมแท้ของมนุษย์ที่ก้าวข้ามสุขทุกข์ และทำให้มันอยู่ด้วยกันได้ กลายเป็นสุขขื่นชื่นทุกข์ Bittersweet



คุณสุภาพพาเราไปต่อเพื่อเข้าสู่หัวใจหลักของโมโนโนะอาวาเระ...ความเศร้าสร้อยของสรรพสิ่ง “เป็นจิตวิญญาณของญี่ปุ่น เป็นสุนทรียศาสตร์แห่งชีวิตอันเนื่องด้วยความสุขมีสร้อยแห่งความเศร้าพ่วงมาเป็นแสงและเงาซึ่งกันและกัน” โอย...สวยไปอีก คุณสุภาพขยายความเพิ่มเติมว่าคนญี่ปุ่นให้ดอกซากุระเป็นตัวแทนที่ลึกซึ้งเพราะมีความฉับพลันทันที ทวีความงามอยู่ในความไม่จีรังอันแสนสั้น เป็นความงามในทุกวิถีของความเคลื่อนไหว ขณะที่ก็ไม่ใช่ความงามเพียงอย่างเดียว แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของความงามนั้นด้วย นี่จึงเป็นรากฐานของศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เนื่องกันกับชีวิตของคนญี่ปุ่นแทบทุกมิติ “การชมดอกซากุระของคนญี่ปุ่นเป็นการดื่มด่ำความงดงามทางธรรมชาติพร้อมๆกับการแสดงออกถึงอารมณ์สะเทือนใจกับความเข้าใจว่าสรรพสิ่งย่อมผันแปร ดอกซากุระได้ระเบิดความงามออกมาหลังผ่านพ้นฤดูหนาวอันยาวนาน มาเพียงเพื่อเฉลิมฉลองชีวิตด้วยชีวิตอันแสนสั้นทั้งชีวิตของตัวเอง เป็นความผลิบานของชีวิตด้วยชีวิต Bloom to die in the moment of truth คือบานเพื่อจบชีวิตของการเปลี่ยนผ่านอย่างสง่างามด้วยวินาทีสัจจะ เมื่อใดก็ตามที่เห็นความงามที่เปิดออกมา จะสัมผัสได้ทันทีว่าเวลามาถึงแล้ว” ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวของดอกไม้สีหวานบอบบางจะมีฐานที่หนักแน่นมั่นคงและทำให้เรารู้สึกถึงบางอย่างที่ควบแน่นอยู่ภายในได้ถึงเพียงนี้


คุณสุภาพพาเราดำดิ่งลงสู่แก่นแท้ของชีวิตด้วยการเรียนรู้เรื่อง “ที่ว่าง” ผ่านหนังสือ บุคคลสำคัญ วัด เสาโทริอิ ตัวอักษร และงานศิลปะ โดยภาพที่ทำงานกับข้างในของเราเป็นอย่างมาก คือ ภาพต้นสนในป่าทึบอันเวิ้งว้างกว้างไกลแต่ตัวภาพที่เรามองเห็นด้วยตากลับเต็มไปด้วยความว่าง ฮาเซกาว่า โทฮาคุไม่ได้เขียนรูป แต่เขียนความว่าง เขียนนามธรรมให้อยู่กึ่งกลางใน ‘พื้นที่ระหว่าง’ ของความเป็นรูปธรรม แสดงความเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่นโดยมีภาพสนต้นใหม่ที่กำลังจะเกิด ต้นที่กำลังจะเติบโต และต้นที่กำลังจะตาย ให้ความรู้สึกเลื่อนไหลและเชื่อมโยงไปกับวัฏสงสาร ต้นที่กำลังจะตายให้อะไรบางอย่างกับต้นที่กำลังจะมาเกิดใหม่ซึ่งอยู่ที่โคนต้น ความเป็น ‘พื้นที่ว่าง’ จึงมีความสำคัญอย่างถึงที่สุด

 

...ซากุระจะหลุดร่วงและลอยคว้างไม่ได้ถ้าไม่มีที่ว่าง

...ประโยชน์สูงสุดของความเป็นหม้อคือที่ว่างในหม้อนั้นเอง ไม่ใช่รูปร่างหรือวัสดุของหม้อ

...แสงที่ลอดผ่านคือแสงที่กรองและขัดเกลาตัวเองมาแล้ว จึงสร้างเงาของตัวเองได้เป็นอย่างดี

 

คุณสุภาพปิดท้ายการบรรยายด้วยการชวนให้คนกลับมาอยู่กับพื้นที่ว่างซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง...ความเร่งรีบหรือภาวะที่ใจพุ่งตรงไปข้างหน้าตลอดเวลาโดยลืมอยู่กับตรงนี้หรือปัจจุบัน เป็นการลืมหรือมองไม่เห็นสิ่งสำคัญตรงหน้าที่แท้จริงของชีวิต การเห็นและตระหนักถึงพื้นที่ว่างจึงทำให้เราเห็นชีวิต เห็นความบริสุทธิ์ภายในที่ไม่มีอะไรมาพอกพูนหรือปรุงแต่ง เห็นความเป็นมนุษย์ และเป็นพื้นที่เดียวที่เราจะมีชีวิตอยู่จริง ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะอยู่กับความไม่เป็นจริงเลยแม้แต่น้อย



ช่วงท้ายของกิจกรรม ทุกคนได้ฟังเสียงขลุ่ยเซนอีกครั้ง คุณเมธีอธิบายว่า ธรรมชาติของขลุ่ยเซนเป็นเครื่องมือฝึกลมหายใจของพระเซน ปกติแล้วดนตรีทางโลกจะเอาลมหายใจรับใช้เสียง ขณะที่ดนตรีภาวนาอย่างเซนจะกลับกันคือ เอาเสียงมารับใช้ลมหายใจ เราจะจดจำอารมณ์อันหลากหลายและสะท้อนออกมา แล้วทุกคนก็ได้ฟังดนตรีอันหลากหลายอย่างแท้จริง แต่ละเพลงได้สะท้อนสภาวะเสียงภายในบางอย่างหรือบางอารมณ์ออกมา เป็นทั้งการปลดปล่อยอารมณ์ กลับสู่บ้านเดิมหรือความทรงจำดั้งเดิม ซึ่งหากเราจดจำธรรมชาติดั้งเดิมได้จะเข้าใจความงามของชีวิตในตัวเอง

 

แล้วดนตรีภาวนาของคุณเมธีก็พาให้พวกเราไปสู่พื้นที่ว่างและทำงานจากตรงนั้นได้จริง ส่งท้ายกิจกรรมของวันนี้ด้วยเสียงขลุ่ยเซนที่ล้อไปกับนิทานปริศนาธรรม ‘พระจันท์ที่ไม่อาจถูกขโมยได้’  ราวกับเสียงขลุ่ยเป็นบทสนทนาระหว่างท่านเรียวคัง โจร และพระจันทร์

 

--------------------

 

บางเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม:

  • เข้าใจถึงการไหลทุกข์สุข เคยทุกข์มาก ทุกอย่างรอบตัวเหมือนเดิม แต่เป็นตัวเราที่ไม่เหมือนเดิม ตอนนี้มีความสุขง่ายขึ้น เห็นแสงลอดใบไม้ พ่อเล่นกับลูก ก็มีความสุขแล้ว จึงเห็นว่าทุกข์สุขอยู่ที่มุมมองมอง

  • อนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ อยู่กับความเศร้าเเล้วก็มีความสุขอยู่ในนั้นด้วย

  • มีสติ และรู้ตัวในปัจจุบันขณะ

  • คำว่า “อนุญาต” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ เรื่องราวในชีวิต เรายินดีที่จะรับเข้ามา และหลอมรวมในการใช้ชีวิต

  • ได้คำว่า “ให้อภัย” จากการฟังขลุ่ยเซน

  • ให้อยู่กึ่งกลางระหว่างทุกข์สุข ไม่ดำดิ่งในทุกข์และสุข เพราะเกิดขึ้นแล้วก็จะหายไป

  • ทุกข์สุขไม่จีรัง รู้สึกว่าช่องว่างนั้นคือสติ

  • ความเป็นญี่ปุ่นทำให้เห็นความสวยงามของชีวิต หรือสิ่งสวยงามต่างๆ ได้ข้อคิดว่า ไม่ต้องรีบเร่งตลอดเวลา ลองว่าง นิ่ง หรือใช้ชีวิตช้าลง อยากลองใช้ชีวิตว่าง นิ่ง และช้าลง

  • น่าทึ่งที่คนญี่ปุ่นไม่ใช่ดูแค่ดอกไม้สวย แต่เอาธรรมชาติมาสอนในชีวิต

  • รู้สึกชอบที่เรามองทุกข์สุขไม่เป็นสิ่งตายตัว แต่มันไหลลื่น ชีวิตสอนเราแบบนี้ ตอนเด็กทุกข์สุดๆและสุขสุดๆ ตอนนี้เปิดใจกับความทุกข์มากขึ้น ไม่ยึดติด มันไล่ระดับ (shading) เหมือนเป็นสีที่ไล่โทนไม่ใช่มีแค่ขาวและดำ

  • ฝึกสติให้มีกำลัง ถ้าไม่มีกำลังจะอยู่แต่กับทุกข์ หลักคำสอนพระพุทธเจ้าคือที่สุดแล้ว

  • ดีใจที่ได้มาเรียนรู้ดีมากละเอียดอ่อน

  • ทำตัวให้มีความสุขเร็วขึ้น

  • เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ในอนาคตจะนำไปใช้และจะเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้บ่อยขึ้น

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page