top of page

หมอ นักมานุษยวิทยา และพ่อที่ใส่ใจดูแลกับความฝันให้ผู้คนมีสันติภาพในทุกวันของชีวิต

บทสัมภาษณ์ ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร

ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร



ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท แพทย์และนักมานุษยวิทยาการแพทย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดห้องทำงานพูดคุยกับเรากว่า 2 ชั่วโมงด้วยรอยยิ้มแทบจะตลอดเวลา เป็นยิ้มจากหัวใจของชายผู้ไม่ยี่หระต่อบาดแผลรอยยาวที่ศีรษะอันแสนสะดุดตา แววตาที่เป็นมิตรคู่นี้เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและแน่วแน่ในการทำงานทุกบทบาทที่มุ่งสู่ดาวดวงเดียว นั่นคือ โลกที่มีสันติภาพ



เริ่มจากเข้าใจว่า ผู้คนมี “สามัญสำนึก” แตกต่างกัน

 

“มานุษยวิทยา” คือ ศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ ทั้งการศึกษาเกี่ยวกับตัวมนุษย์และผลงานที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์... แล้ว “มานุษยวิทยาการแพทย์” ล่ะ คืออะไร?

 

ดร.นพ.วิรุฬ กับดีกรีปริญญาเอกจากคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า “งานหลักของผมคือเป็นหมอในสาขา ‘มานุษยวิทยาการแพทย์’ มานุษยวิทยาการแพทย์เป็นส่วนย่อยของมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม เราเอาวิธีคิดวิธีมองแบบมานุษยวิทยามาใช้กับเรื่องการแพทย์ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจกัน ทำให้ชีวิตประจำวันและสังคมมีสันติภาพได้”

 

“การจะมีสันติภาพได้ เราอย่ารีบตัดสินคนอื่นด้วยสิ่งที่คุณรู้สึก แต่ให้มองว่าความแตกต่างเกิดขึ้นเพราะคอมมอนเซนส์ของเราที่ต่างกันใช่หรือไม่” นพ.วิรุฬ ให้คีย์เวิร์ดสำคัญของการที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม นั่นคือ Common Sense หรือสามัญสำนึก”

 

“มานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม คือการศึกษาเปรียบเทียบสามัญสำนึก เป็น Comparative Study of Common Sense เขาสนใจคอมมอนเซนส์เพราะ Common Sense น่ะไม่ Common สามัญสำนึกของแต่ละคนไม่ใช่เรื่องสามัญ แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัว”

 

“เรามักใช้คำว่าคอมมอนเซนส์ตัดสินคนอื่น... มันเรื่องคอมมอนเซนส์ ทำไมคิดไม่ได้... แต่ในความเป็นจริง ทุกคนไม่ได้มีคอมมอนเซนส์เหมือนกัน มานุษยวิทยาทำหน้าที่ศึกษาเปรียบเทียบว่า ทำไมคนจึงมีสามัญสำนึกไม่เหมือนกัน และสิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำก็คือ ทำให้คนเข้าใจในเรื่องนี้ และจัดการกับเรื่องนี้ได้”

 

นพ.วิรุฬ เล่าถึงงานที่เคยผลักดันเรื่องการฟ้องร้องระหว่างคนไข้และแพทย์จนเป็นนโยบายในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพราะคิดว่าเมื่อเป็นนโยบายระดับประเทศแล้วจะแก้ปัญหาได้ แต่ก็ต้องผิดหวัง ช่วงเรียนปริญญาโทจึงทำวิจัยประเด็นนี้ และพบว่า “หมอกับคนไข้ทะเลาะกันเพราะคอมมอนเซนส์ของหมอกับคนไข้เป็นคนละเรื่อง พอคิดไม่ตรงกันเลยทะเลาะกัน พอเรียนปริญญาเอกจึงทำวิจัยลงลึกไปถึงปัญหาพื้นฐาน ว่าทำไมถึงฟ้องร้องกัน และพบว่ามาจากวัฒนธรรมทางการแพทย์ เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้หมอรู้สึกอยู่เหนือกว่าคนไข้ วัฒนธรรมที่ทำให้หมอเห็นเฉพาะโรค ไม่เห็นคน ไม่เห็นความเจ็บป่วยอื่นๆที่หมอก็ดูแลได้”

 

“สิ่งที่เราทำคือ การคิดทฤษฎีต่าง ๆ ให้คนนำไปใช้ เเล้วทำให้เข้าใจบางอย่างที่เขาสงสัย หรือเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนได้ชัดเจนขึ้น พอคุณเข้าใจก็จะจัดการกับมันได้ นี่คืองานของมานุษยวิทยา” นพ.วิรุฬ กล่าว

 

 

เปิดใจรับความหมายที่แตกต่าง

 

นพ.วิรุฬ ยกตัวอย่างตอนไปทำงานวิจัยที่โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก “ชาวบ้านที่นั่นไม่เข้าใจเรื่องเชื้อโรค สิ่งที่เขาเข้าใจคือเรื่องคนป่วยเพราะถูกแมลงกัด ตอนนั้นในโรงพยาบาลมีผู้สูงอายุคนหนึ่งเป็นแผลอักเสบ เริ่มเป็นหนอง เป็นการติดเชื้อในชั้นใต้ผิวหนังและลามอย่างรวดเร็วจนอาจติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตกระทันหัน จำเป็นต้องให้นอนโรงพยาบาลเพื่อให้ยาฆ่าเชื้อแบบฉีด เพื่อฆ่าเชื้อได้เร็ว ผมไปเจอแกนั่งอยู่หน้าโรงพยาบาล แกเครียดมาก บอกว่าหมอจะบังคับให้อยู่โรงพยาบาล”

 

“ผมเลยคุยและอธิบายให้แกฟังว่า ตอนนี้หมอเห็นว่ามีแมลงกำลังกัดแทะร่างกายลุงอยู่ และกำลังลามไปทั่ว วิธีที่จะจัดการได้คือการฉีดยาเข้าไปฆ่าแมลง หน้าแกเปลี่ยนเลย แล้วแกก็นอนโรงพยาบาลอย่างมีความสุข คนในชุมชนก็โอเคกับการที่แกอยู่โรงพยาบาล ไม่ได้รู้สึกว่าถูกหมอขังไว้

 

สมมุติถ้าคราวนั้นโรคลุกลามจนหมอช่วยชีวิตแกไว้ไม่ได้ แล้วตายที่โรงพยาบาล ความสัมพันธ์ของโรงพยาบาลกับชุมชนจะเปลี่ยนเลยครับ ถ้าแกไม่เข้าใจ รู้สึกว่าถูกหมอกักขัง ก็อาจเกิดกระแสชาวบ้านบุกโรงพยาบาล แต่พอเกิดความเข้าใจว่าหมอกำลังพยายามดูแลรักษา แต่สุดวิสัยจริง ๆ ก็จะรู้สึกต่อกันอีกแบบ

 

นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ถ้าเรา หมายถึงคนในวงการแพทย์ เปิดใจรับฟังสักนิดว่า ผู้ป่วยและญาติใช้วิธีการแบบไหน การเข้าใจโลกและเข้าใจโรค แล้วเราพยายามสื่อสารกับเขาให้เข้าใจ มันจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ในระบบการดูแล แทนที่ทุกคนจะเครียด กลายเป็นทุกคนมีความสุขที่ได้ช่วยกัน”




 

การมีส่วนร่วม ถอยห่าง และมีสติรู้เท่าทันตัวเอง

 

นพ.วิรุฬ เล่าถึงเครื่องมือสำคัญในการทำงาน คือการสังเกตแบบมีส่วนร่วม หรือ Participant Observation ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่นักมานุษยวิทยาพัฒนามาประมาณ 100 ปี

 

“การสังเกตแบบมีส่วนร่วม คือการที่เราพยายามไปยืนอยู่ในรองเท้าของคนอื่น เราต้องถอดถอนความเป็นตัวเอง ซึ่งจะถอดถอนได้เราต้องใช้การรีเฟล็กซ์ -- reflexive” นพ.วิรุฬ อธิบายต่อ

 

“การรีเฟล็กซ์ไม่ใช่กระจก นักวิชาการไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนคนอื่น แต่หมายถึง เราต้องรู้ทั้งตัวเองและคนอื่น จะชี้นิ้วไปที่คนอื่นอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าคุณไม่เห็นว่านิ้วที่เหลือมันชี้มาที่ตัวเราเองด้วย การใคร่ครวญว่าทำไมเขาคิดอย่างนี้ เป็นการตรวจสอบตัวเองว่า การที่เราคิดอย่างนี้ แสดงว่าเรามีอะไรบางอย่างที่ต้องแก้ไข เพื่อให้เข้าใจเขามากขึ้น”

 

 “การสังเกตแบบมีส่วนร่วมกับการถอยออกมาเห็นคือสิ่งเดียวกัน จุดเริ่มต้นคือการถอยออกมาในฐานะผู้สังเกต และเมื่อถอยไปจริง ๆ สุดท้ายมันคือการภาวนา การภาวนากับการถอยออกมาสังเกตตัวเองคือสิ่งเดียวกันเลยครับ”

 

จากการศึกษาคำสอนของท่านพุทธทาส และประสบการณ์การบวชในสายหลวงพ่อชา ทำให้ นพ.วิรุฬ เข้าใจและเห็นความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างเครื่องมือของนักมานุษยวิทยาการแพทย์และการภาวนา

 

“มานุษยวิทยาการแพทย์เป็นนิยามทางวิชาการ แต่ปฏิบัติการสำคัญคือการมีสติตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน และถอยออกมาเป็นผู้สังเกตได้ เป็นทั้งผู้สังเกตและผู้มีส่วนร่วมไปพร้อมกัน ซึ่งคือพื้นฐานของการภาวนา”

 

คุณหมอย้ำว่า การรู้เท่าทันตัวเองคือประเด็นสำคัญ “สิ่งหนึ่งที่ต้องฝึกฝนคือการเท่าทันตัวเอง ผมจึงมองว่าการฝึกภาวนา หรือ meditation เป็นการฝึกฝนวิธีรู้ตัวเอง แม้ปลายทางคือการฝึกเพื่อละตัวตน แต่ในชีวิตประจำวันคือการเท่าทันตัวเอง เมื่อคิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากคนอื่น ให้หยุดนิดนึง... มันเกิดขึ้นจากเราหรือเปล่า

 

การภาวนาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ใช้เครื่องมือมานุษยวิทยาได้ดีขึ้น เราจะเท่าทันตัวเอง เราจะรู้ว่าเรารู้สึกยังไง รู้ว่าต้องแยกตัวเองออกจากความรู้สึก พอแยกตัวเองออกจากความรู้สึกได้ ก็จะเริ่มแยกได้ว่านี่เป็นความรู้สึกของเรา นี่ความรู้สึกของเขา จะค่อย ๆ เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าคอมมอนเซนส์ได้ดียิ่งขึ้น”

 

 

เครื่องมือมานุษยวิทยาการแพทย์ ใครๆ ก็ใช้ได้

 

ในฐานะนักมานุษยวิทยาการแพทย์ ผมอยากบอกทุกคนว่า เครื่องมือมานุษยวิทยาการแพทย์เป็นเครื่องมือที่ทุกคนเอาไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องกลัวหรือกังวลว่าตัวเองไม่ใช่นักมานุษยวิทยาการแพทย์” นพ.วิรุฬ ย้ำหนักแน่นพร้อมยกตัวอย่างสถานการณ์ “เช่น การดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ถ้าเราร่วมอยู่ในสถานการณ์นั้น เราลองสังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไร แล้วถอยมานิดหนึ่ง ว่าความรู้สึกนั้นสะท้อนความสัมพันธ์แบบไหน”

 

“การสังเกตแบบมีส่วนร่วมเป็นการเก็บข้อมูลทางการวิจัย การวิจัยต้องมีคำถามวิจัยก่อน และมีเป้าหมายของงานวิจัย สมมุติเรามีคำถามวิจัยว่า ‘ความสัมพันธ์แบบไหนที่จะทำให้เกิดการตายดี’ ‘คำพูดสุดท้ายคืออะไร’ โดยมีการตายดีเป็นเป้าหมาย  สิ่งที่เราทำได้คือการต้องเข้าร่วมในสถานการณ์นั้นเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสได้ยิน คนไข้ถึงกล้าพูด บางทีคนไข้เห็นพยาบาลอยู่เขาไม่กล้าพูดหรอก แต่ถ้าพยาบาลคนนั้นเป็นคนที่เขาไว้ใจ เขาจะยอมให้อยู่ตรงนั้นได้ในวาระสุดท้าย ได้ยินคำพูดที่เขาเลือกจะพูดในช่วงเวลาวิกฤติเท่านั้น”

 

“เมื่อเราได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น เราเก็บข้อมูลและลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ของคนไข้ที่เราดูแล เขาพูดอะไร ญาติพูดอะไร สิ่งสุดท้ายที่คนไข้ฝากไว้กับญาติคืออะไร เช่น เขาอาจบอกว่า ‘แม่ขอโทษนะ’ แล้วก็จากไป

 

จากการสังเกตทำให้เราเห็นว่า คนนี้ไม่ได้ตายดี ยังมีอะไรติดค้างอยู่ ทำให้เราได้ข้อมูลสำหรับดูแลคนไข้คนต่อไป เพื่อให้เขาไม่ต้องพูดคำว่า ‘ขอโทษ’ ในวาระสุดท้าย แต่ได้พูดก่อนแล้ว เพราะบางทีมนุษย์คนหนึ่งอาจไม่กล้าพูดคำว่าขอโทษกับลูกมาตลอดชีวิต”

 

“การได้ข้อมูลเช่นนี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายนำข้อมูลมาใช้สร้างกระบวนการดูแลเพิ่มเติม เช่น ทำให้เกิดการพูดคุยกันจนเข้าใจว่า อะไรที่เขารู้สึกไม่ดีต่อกัน อะไรที่แม่อยากขอโทษลูกก่อนตาย เกิดการพูดคุยเพื่อคลี่คลายสิ่งติดขัด เพื่อทำให้คำพูดสุดท้ายเปลี่ยนไป ผมว่าใครก็นำสิ่งนี้ไปใช้ได้เลย”

 

การสังเกตแบบมีส่วนร่วม เป็นเครื่องมือหลักของมานุษยวิทยาการแพทย์เพื่อสร้างความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ข่าวดีคือ เครื่องมือนี้ไม่ได้สงวนสิทธิ์สำหรับวงการแพทย์เท่านั้น แต่ทุกคนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง แต่คำถามคือ แล้วจะใช้อย่างไรล่ะ

 

นพ.วิรุฬ ตอบว่า “มันคือการเปรียบเทียบคอมมอนเซนส์ ถ้าคุณจะ โอ๊ย ก่อน เมื่อรู้สึกว่าถูกกระทำ ให้เปลี่ยน โอ๊ย เปลี่ยนความโกรธ ความไม่พอใจ เป็น เอ๊ะ ได้ไหม เอ๊ะในแบบการสะท้อนใคร่ครวญ คือมองทั้งเขาและเรา เเล้วเปรียบเทียบว่า เพราะคอมมอนเซนส์ของเราหรือเปล่าที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ แล้วคอมมอนเซนส์ของเขาคืออะไร ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ”

 

“พอถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึก เอ๊ะ ขึ้นมา นั่นคือจุดเริ่มต้นในการใช้เครื่องมือมานุษยวิทยาทางการแพทย์แล้ว เอ๊ะ ทำไมเราคิดแบบนี้ เอ๊ะ ทำไมเขาพูดแบบนี้ นั่นคือจุดเริ่มต้น แล้วผมเชื่อว่าทุกคนจะทำงานได้ดีขึ้น”



อย่าเพิ่งหัวร้อน

 

ลองสมมติสถานการณ์ใกล้ตัว: เหตุเกิด ณ ร้านส้มตำ

 

ลูกค้า - ป้า ทำไมส้มตำวันนี้จืด ทำไมไม่อร่อยเหมือนเดิมล่ะ (นพ.วิรุฬแนะนำว่า จังหวะนี้ต้อง เอ๊ะ แล้วว่า ทำไมไม่อร่อย กินไม่ได้ มันไม่อร่อยจริงไหม หรือเพราะเราป่วย ร่างกายมีปัญหาอะไรหรือเปล่า)

 

แม่ค้า  - ลิ้นเป็นอะไร ก็ทำเหมือนเดิมทุกที

 

ลูกค้า  - อ้าว ๆๆๆ

 

ก่อนจะของขึ้น นพ.วิรุฬแนะนำให้ เอ๊ะ นิดหนึ่งว่า เออ หรือลิ้นเราผิดปกติ กินยาอะไรที่ทำให้รับรสไม่ได้หรือเปล่า หรือเป็นโควิด พอ เอ๊ะ แล้วต้องถอนตัวเองออกมาจากความโกรธ เปลี่ยนความรู้สึกว่าถูกหาเรื่องจากคำพูดที่ว่า “ลิ้นเป็นอะไร” เป็นการคิดว่าป้ากำลังช่วยให้เราทบทวนตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเราหรือไม่ เราได้ข้อมูลว่าการรับรสของเราเปลี่ยนไป ทำให้เวลาไปหาหมอ เราสามารถบอกหมอได้เลยว่า ป้าบอกว่าทำส้มตำเหมือนเดิม แต่เรารับรสเปลี่ยนไป หมอช่วยเช็คให้หน่อยว่าเป็นอะไร

 

หรือเหตุการณ์หัวร้อนบนท้องถนน จากสถานการณ์เล็ก ๆ อย่างการโดนขับรถปาดหน้า แต่บานปลายจนเป็นการทำร้ายร่างกายกันจนบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต ก็มีให้เห็นเป็นข่าวมาแล้วมากมาย

 

“เราอาจดูว่า ที่ขับรถปาดกันคืออะไร คือใคร ทำไมถึงมาปาดตรงนี้ เอ๊ะ นิดหนึ่ง ทำไมมาปาดตรงนี้ เกิดเหตุการณ์ตรงไหน เป็นเพราะปัญหาถนนหรือเปล่า สัญญาณไม่ชัดหรือไม่มีไฟจราจรหรือไม่ เราเห็นพฤติกรรมแค่นี้ แต่ปัญหาอุบัติเหตุและจราจรไม่ใช่พฤติกรรมอย่างเดียว เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมด้วย ไฟถนนอาจไม่ชัด เราอาจลืมเปิดไฟเลี้ยวก็ได้ ถอยออกมาดูแล้วเราจะเห็นปัญหาชัดขึ้น”

 

นพ.วิรุฬ เพิ่มเติมว่า “การเป็นหมอและการทำงานของผมในตอนนี้ คือพยายามทำความเข้าใจปัญหาในเชิงวิธีคิดของผู้คนและปัญหาในสังคม แล้วออกมาพูด เพราะฉะนั้นผมใช้การเป็นนักมานุษยวิทยาการแพทย์ทำงานทุกงาน”

 

 



โควิด-19 ที่คลองเตย ถ้าเซฟคลองเตยไม่ได้ กรุงเทพฯ ก็จบ

 

“หลังโควิด-19 ระลอกแรกจบลง ทุกคนแฮปปี้ว่าประเทศไทยสำเร็จแล้ว ช่วงนั้นเดือนมกราคม 64 ผมไปร่วมทำงานกับชุมชนคลองเตยในโครงการวิจัยว่า เราจะป้องกันชุมชนแออัดได้อย่างไร สิ่งที่เห็นตอนนั้นคือ ในชุมชนแออัดต้องมีการป้องกันนะ” นพ.วิรุฬ เล่าย้อนถึงการทำงานช่วงนั้น”

 

“ผมตั้งใจทำต่อเนื่อง จนชุมชนไว้วางใจและเข้าใจ พอกลางเดือนเมษามีคนไข้คนแรกเกิดขึ้นอีก เขาก็โทรมาปรึกษาว่าไปโรงพยาบาล หมอตรวจแล้วว่าเป็นโควิด และให้กลับมารอที่บ้าน แต่คำว่า ‘บ้าน’ ของคนในหมู่บ้านจัดสรรกับคนในสลัมมันไม่เหมือนกัน รอที่บ้านไม่ได้หรอก”

 

ภาพความเดือดร้อนและชุลมุนในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักฉายกลับมาอีกครั้ง “ผมคุยไป ช่วยไป ทำไป ร่วมฟัง ช่วยคิด ก็เครียดไปกับชาวบ้านด้วย พยายามทำความเข้าใจ เก็บข้อมูล คุยกับคนในกรมควบคุมโรค ให้ช่วยดูพื้นที่วัดสะพานในชุมชนคลองเตย ว่าจะทำเป็นที่แยกกักคนไข้ได้ไหม คุยกับสถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมืองซึ่งดูแลพื้นที่นี้ ใช้ความเป็นพี่เป็นน้อง เขาก็ออกหนังสือที่รับรองให้เป็นสถานที่ดูแลคนไข้โควิดได้” คุณหมอเล่าถึงที่มาของ “ศูนย์พักคอยวัดสะพาน” ต้นแบบศูนย์พักคอยที่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ในช่วงต่อมา

 

“นี่คือการสังเกตแบบมีส่วนร่วม เรามองในมุมชาวบ้าน เราเข้าใจ มองในมุมข้าราชการ เราเข้าใจ มองในมุมของคนที่ต้องรักษากฎหมาย เราเข้าใจ มองในมุมนักการเมือง เราเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร เราก็พูดคุยประสาน ชวนคิด ชวนวิเคราะห์ มันเลยเกิดเป็นวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ผลงานผม แต่เป็นผลงานของทุกคน”

 

“ผมเพียงทำหน้าเป็นนักวิจัยและปฏิบัติการที่ชวนทุกคนคิดทลายกรอบบางอย่าง ทลายกรอบกฎหมาย ทลายกรอบอำนาจ ความสัมพันธ์ ความขัดแย้งในอดีต เป้าหมายคือการดูแลรักษาชีวิตของผู้คนที่นี่ พอทุกคนเห็นภาพตรงกันกรอบมันก็ทลาย และเกิดเป็นนวัตกรรมร่วมที่ศูนย์พักคอยวัดสะพาน”

 

“หลังจากนั้นศูนย์ฯ นี้ก็เป็นที่ที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ และเกิดขึ้นในที่อื่นด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงใช้โหมดการวิจัยปฏิบัติการในการทำงาน คือ Action Research หรือ Vitality of Praxis เพราะการแอกชั่นเท่านั้น เราถึงจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเขาได้”

 

 

โซเชียลแอกทิวิสต์ วิจัยปฏิบัติการ และความใส่ใจช่วยเหลือคนทุกข์

 

นพ. วิรุฬ บ่มเพาะความเป็นนักเคลื่อนไหวผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นนักเรียนนักศึกษา เช่น การทำกลุ่มดนตรี ที่นอกจากร้องเพลงเล่นดนตรีแล้ว ยังตั้งวงชวนคุยเกี่ยวกับความหมาย แก่นเนื้อหา และเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในบทเพลงต่าง ๆ รวมถึงการออกค่าย และกิจกรรมชมรมพุทธ สิ่งเหล่านี้คือเนื้อแท้ของตัวตนที่หลอมรวมให้คุณหมอเรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวสังคม หรือ Social Activist

 

“ผมเป็นโซเชียลแอกทิวิสต์ที่ทำงานในโหมดนักวิจัย ผมจะวิจัยเพื่อศึกษา ทำความเข้าใจ ชวนให้คนเข้าใจและพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมต่างๆ ทำ Research and Development เพื่อให้คนเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ได้ดีขึ้น เราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะเห็นแล้วว่า ความทุกข์ของคนคนหนึ่งไม่ใช่เป็นเพราะแค่ร่างกายหรือพฤติกรรมของเขา แต่เป็นเพราะเหตุปัจจัยทางสังคมที่แวดล้อมเขา”

 

“เราต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตัวเขา ให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมสุขภาพ  ในครอบครัว มีอะไรที่เราจะแนะนำเพื่อช่วยเหลือเขาได้ บางทีแนะนำไม่พอต้องช่วยเหลือด้วย หาทรัพยากร หาความสนับสนุน เพื่อให้เขาดีขึ้นในระยะยาว  ในระดับชุมชนของเขา เราต้องช่วยให้ชุมชนแข็งแรงขึ้น ชุมชนก็มีหลายแบบ ทั้งชุมชนแบบชาวบ้านต่างจังหวัด หรือชุมชนในองค์กร โรงงาน แคมป์ก่อสร้าง หรือชุมชนที่เป็นเครือข่าย  และในระดับสังคม พอบอกว่าสังคม มันคือเปิดแล้ว กว้างกว่าชุมชน ในอำเภอ ภูมิภาค ประเทศ ในโลก” คุณหมออธิบายให้เห็นว่าโรค สุขภาพ มนุษย์ และสังคม เชื่อมโยงสัมพันธ์และไม่แยกขาดจากกัน”

 

“สิ่งที่ผมทำคือการเป็นนักวิจัย เป็นโหมดการทำงานของความเป็นแพทย์ และความเป็นโซเชียลแอกทิวิสต์ โหมดการวิจัยของผมเป็นวิจัยแบบปฏิบัติการ ผมเรียนรู้เรื่องนี้จากอาจารย์พอล ฟาร์เมอร์[1] และทีม แกคิดถึงการวิจัยที่มีชีวิตชีวา การวิจัยกับการปฏิบัติการต้องคู่กัน คือวิจัยไปด้วย ปฏิบัติการไปด้วย ใช้คำว่า Vitality of Praxis - vitality ที่แปลว่ามีชีวิต praxis คือการปฏิบัติการ ผมใช้ Vitality of Praxis เป็นแก่นหลักในการทำงาน ทุกวันนี้ผมเป็นนักมานุษยวิทยา 24 ชั่วโมง คือรับรู้ปัญหาสังคม วิเคราะห์ แล้วปฏิบัติการในบางส่วนที่ทำได้ ทำวิจัยตลอดเวลา เก็บข้อมูลภาคสนามตลอดเวลา”

 

“ทุกความต้องการของผู้คน ถ้าเราใส่ใจแก้ไขบางอย่างให้เขาได้โดยใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะของเรา มันเชื่อมโยงกับคำว่า ‘หมอ’ หมดเลย ในอเมริกาช่างซ่อมท่อประปาก็เป็นหมอ เป็น Doctoring” คุณหมอขยายความต่อ”

 

“พ่อผมเป็นช่างซ่อมรถ สิ่งที่ผมเห็นคือความใส่ใจของพ่อในความทุกข์ของคนที่เอารถมาซ่อม บางทีเที่ยงคืนมาเคาะประตู พ่อก็เปิดอู่ ซ่อมให้เขา แม่เป็นช่างตัดเสื้อ ไม่ใช่แค่ตัดให้เข้ากับรูปร่าง ยังเลือกผ้า เลือกสิ่งที่ประดับบนเสื้อผ้าให้เขาด้วย นี่คือ Doctoring ความเป็นหมออยู่ในทุกคน เป็นหมอในอาชีพของทุกคนได้ ผมเลยมองว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน เราต้องการทุกคนมาอยู่รวมกันในสังคม”

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคม แต่เราไม่ได้ปลุกมันขึ้นมา ปลุกพลังความเป็นหมอในตัวทุกคน เพราะฉะนั้นหลักการทำงานของผมคือการเสริมพลังให้ผู้คน ชุมชน องค์กร เพราะเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราต้องการทุกคน”

 



 

พลังมนุษย์พ่อ

 

“ผมทำงานด้วยความเป็นพ่อ พ่อที่มีลูกสามคน ความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีลูกมีพลังมาก ทำให้ผมอยากทำงานในประเด็น Caregiving – การใส่ใจดูแลกัน เพราะเป้าหมายของเราคือความเป็นหมอ เป็นนักเคลื่อนไหวสังคม และความเป็นพ่อ ทำให้ทำงานทุกอย่างแล้วมีความสุขและสนุก” นพ.วิรุฬ เล่าถึงการทำงานจากพลังความเป็นพ่อ”

 

“เรื่อง Caregiving เป็นมุมมองหนึ่ง ถ้าเรามองเรื่องของการใส่ใจดูแลกันด้วยมิตินี้ ก็จะเห็นและอธิบายได้ชัดขึ้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางทฤษฎีที่ผมอยากชวนผู้คนมามอง”

 

“มีเรื่อง Professional Caregiving การดูแลแบบวิชาชีพ ซึ่งต่างจากคำว่าอาชีพ ตรงที่วิชาชีพมันเชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่างที่เหนือจากตัวเรา เป็น Calling เป็นเสียงเรียกจากบางอย่างที่อยู่สูงกว่าตัวเรามาก เรียกให้เราทำเพื่อความอยู่ดีมีสุขของมนุษยชาติ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับหมอ พยาบาล แต่ช่างภาพ สื่อมวลชนก็เป็นวิชาชีพเหมือนกัน เป็น Professional Caregiving เหมือนกัน”

 

“แล้วก็ Family Caregiving การดูแลกันในครอบครัว ผมมองเรื่องของความเป็นพ่อแม่ พอลูกเกิด ความเป็นพ่อของเราก็เกิด ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ ความเป็นพ่อคือแรงผลักดันให้ผมทำเรื่องนี้ด้วย รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ถ้าเราทำให้สังคมนี้ดีขึ้นได้ เราก็ทำให้ลูกเราด้วย เพราะต่อให้เราเลี้ยงดูดีอย่างไร พอเขาออกไปในสังคม ถ้าสังคมแย่ เขาก็ไม่รอด เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ทำเพื่อลูกด้วยครับ”

 

 

โชคดีที่ได้เป็นทั้งหมอและคนไข้

 

“ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 6 วันนึงผมถือฟิล์มเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองของคนไข้ไปปรึกษาอาจารย์ ผมเดินไปด้วยความรู้สึกว่า ฟิล์มนี้สวยมากเลย มันเป็นก้อนเนื้องอกที่เห็นชัดมาก (หัวเราะ) มันเป็นคนไข้ที่สวยมากในมุมของแพทย์นะ เคสสวยแบบนี้นาน ๆ เจอที (หัวเราะ)”

 

“ผมยื่นฟิล์มให้อาจารย์ดูแล้วบอกว่า ‘ของผมเองครับ’ ผมสังเกตความรู้สึกตัวเองนะ ด้วยความเป็นหมอ เราไม่รู้สึกกลัวเลย ญาติพี่น้องเราตีโพยตีพาย แฟนร้องไห้ แต่ผมรู้สึกเฉย ๆ ก็แค่คนไข้คนหนึ่ง ไม่เห็นเป็นไรเลย ความรู้สึกแบบนั้นทำให้เราตั้งคำถามกับความเป็นหมอว่า เรา ‘ไม่รู้สึก’ แม้กระทั่งเรื่องของตัวเอง คือเราออกมาจากความไม่รู้สึกรู้สา ไม่มั่นใจ กลัว กังวล เรามีความไม่เป็นมนุษย์ในความเป็นแพทย์” คุณหมอเล่าย้อนถึงช่วงขณะที่ได้รับรู้ว่าตนเป็นเนื้องอกในสมอง เป็นประสบการณ์แรกของความเป็นหมอและคนไข้ในเวลาเดียวกัน

 

“ผมว่าบางทีปัจจุบันเราอาจตีตราตัวเองมากไป มีช่วงนึงที่ผมรู้สึกว่า เรามีความไม่เป็นมนุษย์ แต่ผมเริ่มเข้าใจว่า จริง ๆ มันคือสิ่งที่เรียกว่า empathy คือเรา sympathy ทุกข์ไปด้วย มี antipathy คือผลักมันออกด้วย แต่จุดที่เราอยู่คือ empathy คือทั้งเข้าใจ ทั้งเห็นใจ และถอยออกมาเพื่อเข้าใจว่าจะต้องรักษาดูแลอย่างไร”

 

“ประสบการณ์ที่ผมเป็นคนไข้ เป็นญาติ มันค่อย ๆ ทำให้ผมเข้าใจมิติต่าง ๆ ชัดขึ้น ผมรู้สึกโชคดีกว่าเพื่อนหมอด้วยกันที่ได้เป็นคนไข้ เคยเข้าไปนอนในห้องผ่าตัด ในอุโมงค์ โชคดีที่มีโอกาสแบบนี้ ได้เข้าใจอะไรมากขึ้นว่าญาติมองอย่างไร คนไข้มองอย่างไร หมอมองอย่างไร ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกว่าทำงานได้ดีขึ้น แล้วพอได้ไปเรียนมานุษยวิทยาอีก มันมีมุมมองแบบ reflexive ชัดขึ้น ก็เลยสนุก มีความสุข”

 

เมื่อถามว่าการภาวนาช่วยได้อย่างไร นพ.วิรุฬ บอกว่า “ถ้าเราภาวนา เราจะเท่าทันตัวเอง เราเห็น แต่จะไม่จมอยู่กับสิ่งที่เราเป็น ไม่ใช่ว่าเราไม่ป่วยนะ แต่เราไม่จมกับความป่วย มันทำให้ตัวเราลอยขึ้น เห็นความเจ็บป่วยนั้นชัดเจนขึ้น”

 

ทุกวันนี้คุณหมอยังต้องดูแลสุขภาพและอาการเจ็บป่วยของตนเองและคู่ชีวิต “ลืมตัวว่าตัวเองป่วยอยู่ มีโรคอยู่นะ ผมต้องระวังเรื่องการนอนน้อย ความเครียด เพราะไม่อย่างนั้นอาการชักจะกำเริบ บางทีก็ลืมตัว (หัวเราะ)”

 



 

ไม่มีความฝันที่เป็นไปไม่ได้ มีแต่ฝันที่ยาก แต่เป็นไปได้

 

“ผมรู้สึกว่าเริ่มเห็นความฝันเป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ ผมอยากเห็นผู้คนได้รับการเอ็มพาวเวอร์ อยากเห็นคนที่ทำงานอยู่มีความสุขและทำงานนั้นได้ดีขึ้น ฝันที่ใหญ่โตมโหฬารมันจำเป็น ความฝันที่ดูเหมือนไม่มีทางเป็นไปได้ไม่มีหรอก มีแต่สิ่งที่ยาก แต่เป็นไปได้ เราค่อย ๆ เดินไป”

 

“ถามว่าตายวันนี้ได้ไหม ยังไม่ได้ มีภาระ (หัวเราะ) ขึ้นมอเตอร์ไซค์ทุกวัน ผมจะถามว่ามีหมวกกันน็อกไหม ผมยังตายไม่ได้ ยังมีภาระอยู่ มีลูกมีเมียที่ต้องดูแล มีงานต้องทำให้เกิดระบบบางอย่าง คือต้องสร้างกลไกเชิงระบบ ที่ทำให้สิ่งที่เราพยายามทำมันต่อเนื่องไปได้โดยที่ไม่มีเราอยู่ เช่น สวสส. หลังจากที่ผมมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการต่อจากอาจารย์โกมาตร[2] มันยังต้องการคน ต้องการระบบการทำงาน ต้องการการพัฒนาอีกประมาณนึง ซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อย 2-3 ปีน่าจะดีขึ้น ซึ่งถึงวันนั้นผมอาจทบทวนอีกทีว่าตายได้ไหม (หัวเราะ)”

 

นพ.วิรุฬ ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับงานด้าน Global Health Equity หรือความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพไร้พรมแดน ที่เขายกให้เป็นการทำงานหลักของชีวิต เช่น การควบคุมวัณโรคให้ได้สำเร็จ ต้องครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม และเชื่อมโยงกับแรงงานข้ามชาติด้วย

 

คุณหมอเล่าถึงแรงบันดาลใจพิเศษในการทำงานเรื่องวัณโรคว่า “ตอนเรียนปี 6 ที่เจอเนื้องอกแล้วผ่าตัด ผมอธิษฐานกับสมเด็จพระราชบิดา (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ผมบอกท่านว่า ผมไม่แน่ใจว่าตอนผ่าตัดจะรอดไหม แต่ถ้ารอด ผมจะทำงานถวายท่าน ในตอนนั้นก็เกิดปิ๊งแว้บขึ้นมาว่า พระราชบิดาเคยเขียนจดหมายฉบับหนึ่งตอนที่ท่านไปเชียงใหม่ก่อนสิ้นว่า ท่านอยากเห็นวัณโรคถูกปราบจากไทย ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งสมาคมปราบวัณโรคโดยบรรดาศิษย์ของท่าน นี่อาจเป็นภารกิจหนึ่งที่ผมจะทำถวายท่านได้ด้วยชีวิต ก็เลยอินกับมันมาเรื่อย ๆ”

 

งานด้าน Global Health Equity อีกเรื่องคือ ฝุ่น PM 2.5 ที่คุณหมอต้องการให้เด็กในชุมชนแออัดได้รับความสนใจเท่ากับเด็กในหมู่บ้านจัดสรรที่รั้วติดกัน พ่อแม่ในชุมชนแออัดควรได้รู้ว่าลูกของเขาต้องได้รับการปกป้องเช่นเดียวกับคนอีกฟากรั้วหนึ่ง

 

ทุกอย่างที่ทำ คุณหมอบอกว่ามุ่งไปสู่ดาวดวงเดียวที่เป็นเป้าหมาย

 

“โลกที่มีสันติภาพ ผมคิดว่าโลกต้องการแค่สิ่งนั้น มีสันติภาพ ผู้คนอยู่ด้วยกันอย่างให้คุณค่ากันและกัน วิกฤติอะไรมาก็ช่างมัน วาทกรรมที่ว่า ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ อันนั้นเป็นขั้นต้น ที่ต้องเพิ่มขึ้นมาคือ ‘ทุกคนต้องช่วยกัน’ การที่ทุกคนจะช่วยกันได้ ต้องให้คุณค่า ให้โอกาส เปิดพื้นที่ให้มาทำงานร่วมกันตามที่แต่ละคนทำได้ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามทำในทุกงานที่ผมทำอยู่ มันคือดวงดาวดวงเดียวที่อยากไปให้ถึง”

 

“ท่ามกลางความสับสน

บางดิ้นรนจนลืมฝันได้

บางทิ้งฝันเก่าเมื่อเยาว์วัย

บ้างทิ้งฝันห่างไกลไม่ติดตาม

 

ไถ่ถามความฝันที่เธอมี

ยังอยู่ดีหรือเปล่าหนอฉันขอถาม

จงอย่าทิ้งความฝันอันงดงาม

จงติดตามความฝันที่เธอมี

 

จงนำฝันเป็นแรงใจในชีวิต

จงเชื่อมั่นในสิทธิ์ของเธอนี้

จงศรัทธาในฝันที่เธอมี

ถึงวันที่เธอสร้างสรรค์ ฝันเป็นจริง”

 

ขอบคุณ เพลง “ฝันแห่งศรัทธา” โดย นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท และกลุ่มสลึง เสียงเพลงจากคุณหมอยังดังก้องอยู่ เช่นเดียวกับงานมานุษยวิทยาการแพทย์ที่คุณหมอศรัทธาและจะทำให้ฝันเป็นจริง



[1] Paul Edward Farmer นักมานุษยวิทยาการแพทย์และแพทย์ชาวอเมริกัน เขาเห็นความทุกข์ยากของคนในประเทศเฮติ จึงร่วมก่อตั้ง Partners in Health องค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศด้านการสนับสนุนและให้บริการสุขภาพ เริ่มที่เฮติ และขยายภารกิจในหลายประเทศ เช่น รวันดา เลโซโธ มาลาวี เม็กซิโก เปรู และเซียราลีโอน เป็นต้น - ผู้เขียน

[2] ดร. นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ แพทย์ผู้บุกเบิกงานมานุษยวิทยาการแพทย์และคิดค้นเครื่องมือการทำวิจัยสุขภาพในชุมชนในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) – ผู้เขียน

Comentários


Os comentários foram desativados.
bottom of page