top of page

การเดินทาง 2 "รักยิ่งใหญ่ที่กว้างกว่าพ่อมีต่อลูกหรือหลาน"

“เยือนยล มนตรา มาตุคาม”: การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณที่พาไปสัมผัสความรักอันเป็นแหล่งพลังงานให้เราเชื่อมต่อได้ทุกเมื่อ


เขียนโดย: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร

ถ่ายภาพโดย: ธำรงรัตน์ บุญประยูร


จากความประทับใจในทริปแรกของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ที่พาไปวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ทำเอาเราติดใจการท่องเที่ยวแนวใหม่นี้ และเฝ้ารอการออกเดินทางอีกครั้ง


ส. 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราตื่นแต่เช้าเพื่อร่วมเดินทางกันต่อ เจอเพื่อน (พี่ ป้า น้า อา) ร่วมทริปหลายท่านที่คุ้นหน้าจากทริปที่แล้ว เป็นการยืนยันว่ามีคนติดใจเหมือนเราหลายคนเลยแฮะ หนำซ้ำยังชวนเพื่อนมาแจมอีกเป็นกลุ่ม (ฉลองน้ำใจผู้จัดโปรฯ มา 5 แถม 1 อิอิ) ทริปที่ 2 นี้ คุณสุภาพ ดีรัตนา หรือพี่ติ๋ม วิทยากรและผู้นำเที่ยว ชวนเรามาสัมผัส “รักยิ่งใหญ่ที่กว้างกว่าพ่อมีต่อลูกหรือหลาน” กันที่วัดเทพธิดารามวรวิหารและวัดราชนัดดารามวรวิหาร


ก่อนเริ่มทริป พี่ติ๋มทวนแก่นใจความหลักของ “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ในการตามหา “พระนครอันตรธาน” ซึ่งซ้อนทับกับ “พระนครมณฑล” ที่เรามองเห็นอยู่ทุกวัน หรือแม้ในขณะนี้ที่เรายืนอยู่ด้วยกันที่ด้านหน้าอุโบสถวัดเทพธิดาราม “สัญลักษณ์ที่หน้าบันบอกเราว่า ณ ขณะนี้เรากำลังเข้าไปในดินแดนของโลกแห่งมาตาธิปัตย์” พี่ติ๋มบอกพลางชี้ชวนให้เราดู “เฟิ่งหวง” หงส์ตัวผู้และตัวเมียซึ่งเป็นตัวแทนศิลปะจีนอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ความหมายที่ลึกลงไปคือหมุดหมายทางความรู้สึกแห่งยุคสมัย เพราะหงส์สองตัวจะปรากฏขึ้นพร้อมกันต่อเมื่อมีความสันติสุข นั่นหมายความว่าเรากำลังได้ย้อนกลับไปสู่จุดสันติสุขสูงสุดของรัชสมัย


วัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระธิดาพระองค์ใหญ่ ผู้ทรงช่วยงานรับราชการใกล้ชิด เป็นที่ไว้วางใจพระราชฤหทัย จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นความเป็น “มาตาธิปัตย์” เจตจำนงที่มีเอกภาพแห่งความเป็นผู้หญิง ที่ทรงพลังและสะท้อนผ่านหลายสิ่งในวัด ทั้งองค์พระพุทธเทววิลาส พระพุทธรูปสีขาวบริสุทธิ์ที่ถึงพร้อมด้วยความงดงาม อ่อนหวาน นุ่มนวล ตุ๊กตาสลักหินรูปแม่อุ้มลูกที่อยู่รายรอบวัด จิตรกรรมฝาผนังลวดลายหงส์และดอกไม้ที่อ่อนช้อย หรือพระวิหารภิกษุณี 52 องค์ ที่พระครูสังฆรักษ์วุฒิพงษ์ ฉตฺตปญฺโญ ผู้เปิดวิหารให้พวกเราบอกว่า หมายถึงเจตสิก 52 โดยมีรูปหล่อของ "พระนางปชาบดีโคตมี" ภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนาอยู่ตรงกลาง


“...ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี

ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี

ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง...”


บทกลอนจาก “รำพันพิลาป” หนึ่งในงานมาสเตอร์พีซที่สุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นขณะจำพรรษาที่นี่ ที่พี่ติ๋มอ่านให้ฟัง พาเราเข้าใกล้และรู้จักพระองค์เจ้าหญิงวิลาสมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงพระสิริโฉมที่งดงามและพระจริยวัตรที่นุ่มนวล พี่ติ๋มยังเล่าถึงพระอารมณ์ขันที่ตั้งฉายาหรือชื่อแปลกๆสนุกๆให้ข้าราชบริพาร และพระปรีชาสามารถอีกหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนเสรีภาพของศิลปินและกวี จนทำให้ชาวบ้านร้านตลาดได้ดู ได้ฟังละคร ที่เคยเป็นเฉพาะของหลวงหรือในวังเท่านั้น การติดต่อกับต่างชาติ การบริหารจัดการพระนคร รวมถึงการเป็นผู้ถือกุญแจพระคลังในที่เก็บเงินถุงแดงซึ่งช่วยให้สยามพ้นเคราะห์อันใหญ่หลวงได้ในเวลาต่อมา


ได้ฟังถึงตอนนี้ จากความเพลิดเพลิน สนุก ทึ่ง กลายเป็นเข้าใจประวัติศาสตร์ เชื่อมโลกกว้างใบใหญ่เข้าสู่โลกภายในที่อยู่ลึกลงไป เข้าถึงความรู้สึกหลากหลายที่ประเดประดัง ทั้งการรุกราน ดิ้นรน ยืนหยัด หลุดรอด โล่งโปร่งด้วยความรัก เราช่างโชคดีและเป็นหนี้อันยิ่งใหญ่เหลือเกิน ขอน้อมกราบด้วยความเทิดทูนและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 และพระองค์เจ้าหญิงวิลาสมีต่อราษฎรของพระองค์อย่างแท้จริง


นอกจากที่นี่จะเป็นประจักษ์พยานของความรักหลายรูปแบบแล้ว วัดเทพธิดารามยังเป็นพื้นที่แรกของ “ศิลปะแบบนอกอย่าง” ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์สยามมาก่อน ทั้งหน้าบันของพระอุโบสถและพระวิหารที่เป็นศิลปะแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และแทนด้วยกระเบื้องเคลือบลวดลายดอกไม้และหงส์ ตัวอาคารค่อนไปทางเก๋งจีน การวางผังแบบใหม่ ที่พระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญวางตัวเรียงกันเป็นหน้ากระดาน เสาทีกง และจิตรกรรมฝาผนังไม่มีเรื่องราวของชาดก แต่คงความสมดุลและกลมกลืนตามคติจีนได้อย่างสมบูรณ์


เทียบกับ “วัดราชนัดดารามวรวิหาร” ที่อยู่ติดกัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี โดยสร้างจากคติเดียวกัน คือ “มาตาธิปัตย์” แต่เป็น “ศิลปะแบบไทยประเพณี” อันหมดจดงดงาม สะท้อนผ่านพระพุทธเสฏฐุตตมมุนินทร์ (พระ-พุด-ทะ-เสด-ถุด-ตะ-มะ-มุ-นิน) ซึ่งมีพุทธลักษณะอ่อนโยน นุ่มนวล ละเอียดลออ เป็นตัวแทนความนิ่ง สงบ ควบแน่น สมดุลและกลมกลืน ภาพจิตรกรรมฝาผนังฉากหลังขององค์พระเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลายพุดตานก้านแย่งที่หน้าบัน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์ยอมรับในความสมบูรณ์และความอ่อนช้อยที่ทรงพลัง และโลหะปราสาท ซึ่งนับเป็น “ตัวจบ” ของศิลปะแบบไทยประเพณี ที่เราจะไม่ได้เห็นอีกในยุคสยามใหม่ต่อไปจากนี้


ลึกกว่านั้น พี่ติ๋มพาเราเข้าถึงประวัติศาสตร์ทางความรู้สึก ซึ่งเป็นผลสะท้อนของจิตวิญญาณและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เราเห็นความสำคัญของโลหะปราสาทมากกว่าเดิม นอกจากในฐานะเป็นสถาปัตยกรรมพิเศษหนึ่งเดียวในโลกแล้ว ยังได้เข้าใจถึงปริศนาธรรมของ “โลหะ” ที่อยู่บนปลายยอดสูงสุดของปราสาท แต่มีความหมายลึกลงถึงความเป็นไส้ในที่สุดของสิ่งต่างๆเป็นแก่นแท้ที่ต้องเจาะ ต้องพยายามเพื่อเข้าไปให้ถึงจิตวิญญาณของมาตาธิปัตย์ ที่ทำให้ปิตาธิปัตย์และราชอาณาจักรแห่งนี้ไปต่อได้อย่างสวยงามราบรื่นที่สุด


พี่ติ๋มทิ้งท้ายให้เราตาสว่าง การศึกษาทางกายภาพทั้งหมดทั้งมวล เป็นไปเพื่อเชื่อมต่อสู่ความเข้าใจบางอย่างที่ตราไว้สำหรับทุกๆพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับสิ่งสำคัญยิ่งยวดสูงสุดของหม้อดิน ย่อมไม่ใช่รูปทรง สีสัน แต่เป็นความว่างที่อยู่ในหม้อดินนั้นเอง


ทริปนี้มีอาจารย์นัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา มาเป็นผู้ร่วมเดินทาง และแบ่งปันความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรมเป็นระยะ และปิดท้ายทริปด้วยกิจกรรม “คืนสู่ใจ” ที่สถาปนิกหนุ่ม คุณเป้ ภัคพล เจนพาณิชย์ ชวนให้ผู้ร่วมทริปวางข้อมูลที่ได้เรียนรู้ผ่านการเดินเที่ยวในวันนี้ลง แล้วกลับสู่ลมหายใจของตัวเอง รู้สึกถึงลมหายใจ รับรู้ถึงหัวใจของตัวเอง กลับสู่ความว่าง และค่อยๆเชื่อมต่อกับความรักหรือคนสำคัญในชีวิตที่ปรากฏขึ้นกลางใจ


กิจกรรมทำให้รู้สึกถึงพลังงานบางอย่าง บางคนรู้สึกถึงความหมายสำคัญในใจ หลายคนรู้สึกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเข้าใจลึกซึ้งถึงหัวใจของพระผู้สร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ บางคนคิดถึงพ่อแม่ บางคนอยากกลับไปทำงานให้ดี สถาปนิกบอกว่าอยากกลับไปสเก็ตช์รูป นักวิชาการอยากกลับไปแบ่งปันข้อมูลที่มีให้ดีที่สุด บางคนบอกว่านึกถึงพ่อที่จากไปแล้วร้องไห้ หากน้ำตาแห่งความรัก สายใยแห่งความรู้สึก ยังถักทอเชื่อมโยงถึงกัน


ความรักทรงอานุภาพอย่างนี้นี่เอง แล้ว “พระนครอันตรธาน” ภายในส่วนลึกของใจเราก็ปรากฏแจ่มชัดขึ้นอีกครั้ง


อยากชวนกันมาร่วมค้นพบบางสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในตัวเราเอง ผ่านการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณชุด “เยือนยล มนตรา มาตุคาม” ที่ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา จับมือกับ SOOK Enterprise โดยการสนับสนุนจากแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



อุ่นเครื่อง ทริปที่ 2 "รักยิ่งใหญ่ที่กว้างกว่าพ่อมีต่อลูกหรือหลาน"


ความรู้สึกของผู้ร่วมทริปที่ 2 "รักยิ่งใหญ่ที่กว้างกว่าพ่อมีต่อลูกหรือหลาน"


Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page