top of page

10 ปีล่าสุดของ “จักรวาลงานวิจัยสุขภาวะทางปัญญา” “ท่วงทำนองเฉพาะตัว” ของงานวิจัยแนวนี้

จิตวิวัฒน์ชวนอัปเดตจักรวาลงานวิจัยสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) ทั้งไทยและนานาชาติในรอบ 10 ปีล่าสุด จากรายงานปริทัศน์องค์ความรู้ “การศึกษางานวิจัยแนวสุขภาวะทางปัญญาและวิธีวิทยาการวิจัยที่เกี่ยวข้อง” โดย ผศ.ดร. สมสิทธิ์ อัสดรนิธี Homemade 35, อ.ดร.อริสา สุมามาลย์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และกมลวรรณ เขียวนิล หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นทีมวิจัยที่คลุกคลีอยู่ในกลุ่มจิตตปัญญาศึกษาหรือการเรียนรู้มิติภายในเป็นทุนเดิม และใช้ชีวิตไปพร้อมกับการฝึกฝนจิตใจ การภาวนา หรือการเท่าทันในตนเองอยู่เสมอ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญอย่างยิ่งให้ในการให้ความหมายและความเข้าใจในการทำงานชิ้นนี้

ตามไปดูกันว่า นักวิชาการในโลกนี้เขาทำงานเกี่ยวกับสุขภาวะทางปัญญาเรื่องอะไรกันบ้าง และด้วยเครื่องมือและวิธีการแบบไหน


รีวิวโดย จารุปภา วะสี ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา




รายงานฉบับนี้สังเคราะห์จากงานอ่านสำรวจบทความวิจัยและบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมิติจิตวิญญาณและสุขภาวะทางปัญญา350 บทความจากฐานข้อมูลวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ โดยสำรวจใน 3 ระดับ จากภาพกว้างและลงลึกขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้เห็นภาพรวมของจักรวาลงานวิจัยด้านนี้แล้ว ในเล่มยังมีชื่อบทความและประเด็นสรุปที่น่าสนใจจำนวนมากที่ทำให้เข้าใจโลกของงานวิชาการด้านนี้ได้ดี มองเห็นประเด็นสำคัญและช่องว่างของการทำงาน และชี้เป้าการค้นคว้าต่อได้ชัดเจน โดยมีการขอสรุปข้อค้นพบจาก 3 ประเด็นหลักคือ (1) ภาพรวมงานวิจัยสุขภาวะทางปัญญา (2) สุขภาวะทางปัญญาในโลกวิชาการจากฐานข้อมูลของสำนักพิมพ์และวารสารที่เลือกอย่างเฉพาะเจาะจง และ (3) เจาะลึกงานวิจัยสุขภาวะทางปัญญา/จิตวิญญาณที่อยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ดังนี้



1. ภาพรวมงานวิจัยสุขภาวะทางปัญญา


การเลือกบทความที่นำมาทบทวนใช้คำค้นหลักคือ “spiritual health” “spirituality in health” จากฐานข้อมูล Scopus และ Thaijo จำนวน 200 เรื่องในช่วง 10 ปีย้อนหลัง คือ พ.ศ. 2555-2565 พบว่าเนื้อหาราว 3 ใน 4 อยู่ในกลุ่มการดูแลสุขภาพ (Health Care) รองลงมาเป็นกลุ่มการศึกษา เทววิทยาและศาสนา และจิตวิทยา ซึ่งน่าจะเกิดจากคำสำคัญที่ใช้สืบค้นด้วย


ในส่วนระเบียบวิธีวิจัยพบว่าส่วนที่มากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งเป็นวิจัยเชิงปริมาณ ส่วนใหญ่เป็นการสำรวจวัดระดับการมีสุขภาวะทางปัญญาของกลุ่มคนต่างๆการหาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะทางปัญญากับตัวแปรอื่น การสร้างหรือแปลแบบวัดสุขภาวะทางปัญญาเป็นภาษาต่างๆและทดสอบความเที่ยงและความตรงของแบบวัด และการทดลองเพื่อส่งเสริมเรื่องสุขภาวะทางปัญญาในหน้างานแบบต่างๆ รวมไปถึงการวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ของเรื่องนี้กับตัวแปรที่บ่งชี้คุณภาพด้านต่างๆขณะที่งานเชิงคุณภาพที่พบได้น้อยกว่านั้น เป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 มักเน้นศึกษาแนวคิดและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการมีสุขภาวะทางปัญญา รวมถึงประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล (ผ่านการสัมภาษณ์ พูดคุย เครื่องมือทางชาติพันธุ์วรรณนา หรือการสืบค้นเอกสาร) โดยเป็นการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะทางปัญญาทั้งในเอกสารและความรู้เชิงประสบการณ์ในตัวบุคคลด้วยวัตถุประสงค์หลากหลาย เช่น นำเสนอกรอบแนวคิด ทำให้เห็นภาพรวมของงานวิจัยด้านสุขภาวะทางปัญญา นำเสนอแนวทางการบูรณาการสุขภาวะทางปัญญาเข้าไปในระบบสุขภาพ หรือเพื่อนำเสนอแนวทางการดูแลสุขภาวะทางปัญญา และระเบียบวิธีวิจัยอื่นๆที่พบไม่มากนัก คือ งานวิจัยกึ่งทดลอง การวิจัยเชิงปฏิบัติการ การวิจัยแบบผสม และการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ


ในส่วนประเด็นหลักของการศึกษาพบว่า บางประเด็นที่ผู้ศึกษาไว้จำนวนมาก น่าจะมีการทบทวนและสังเคราะห์ความรู้ได้ เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางจิตวิทยากับสุขภาวะทางปัญญา และการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาให้ประชาชน ส่วนประเด็นที่มีการศึกษาวิจัยน้อย ได้แก่ การศึกษาสุขภาวะทางปัญญาในประสบการณ์หรือมุมมองของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้รับบริการสุขภาพ และกลุ่มบุคคลทั่วไป น่าจะเป็นพื้นที่ของการสำรวจและพัฒนางานวิจัยใหม่ๆขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาประสบการณ์ของกลุ่มแพทย์ หรือการดูแลตนเองเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาของบุคลากรสุขภาพและบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ป่วยหรือกลุ่มเป้าหมาย


นอกจากนี้ บทความวิชาการและบทความวิจัยทั้งหมดแทบไม่ได้กล่าวถึงการเรียนรู้และเติบโตทางจิตวิญญาณหรือสุขภาวะทางปัญญาของผู้วิจัยเลย โดยสังเกตจากวัตถุประสงค์การวิจัยและการสรุปผลการวิจัย แต่ทั้งนี้อาจเป็นข้อจำกัดของผู้วิจัยที่ไม่สามารถอ่านเนื้อหาทั้งหมดในรายการงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีประเด็นเหล่านี้สอดแทรกอยู่เช่นกัน



2. สุขภาวะทางปัญญาในโลกวิชาการจากฐานข้อมูลของสำนักพิมพ์และวารสารที่เลือกอย่างเฉพาะเจาะจง


โดยใช้คำค้นหลักคือ “spiritual health” สืบค้นเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลของสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง และมีงานเชิงสุขภาวะทางปัญญาตีพิมพ์อยู่จำนวนมากและหลากหลาย เช่น SAGE Publications หรือ Taylor & Francis พบว่า ใน 50-100 บทความแรกของฐานข้อมูลที่เรียงลำดับจากความสอดคล้องของคำสำคัญส่วนใหญ่มีเนื้อหาอยู่ในกลุ่มการดูแลสุขภาพ (Health Care) เช่นกัน และได้เลือกบทความจากศาสตร์สาขาอื่นๆในกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และประเด็นระเบียบวิธีวิจัย ที่น่าสนใจและมีน้ำหนักในเชิงการให้ความหมายอย่างเฉพาะเจาะจงอีก 51 บทความมาศึกษาร่วมด้วย และพบภาพรวมของการศึกษาเชิงจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับสาขาต่างๆดังนี้


2.1 การดูแลรักษาสุขภาพ (Health Care)

ที่โดดเด่นที่สุดคืองานวิจัยเชิงปริมาณ ที่ทำเพื่อประเมินหรือวัดระดับการมีสุขภาวะทางปัญญาในบุคคลหรือกลุ่มคน, การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับการมีสุขภาวะทางปัญญาในกลุ่มตัวอย่าง และงานวิจัยที่พัฒนาเครื่องมือวัดสุขภาวะทางปัญญา


ส่วนในงานวิจัยเชิงคุณภาพ ที่พบบ่อยคือ งานเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับระบบการทำงานหรือชุมชน, งานศึกษาประเภทเรื่องเล่า ประสบการณ์ มุมมอง ความต้องการ คุณค่า ความเชื่อของทั้งบุคคลและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาวะทางปัญญา, งานศึกษานิยาม ความหมาย คำจำกัดความ และหลักการ-แนวทางเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางปัญญา, งานที่ศึกษาตัวกระบวนการ Intervention วิธีปฏิบัติ และผลที่ได้รับจากกระบวนการเหล่านั้น, งานประเภทปรากฏการณ์วิทยาหรือชาติพันธุ์วรรณนา ที่มุ่งอรรถาธิบายประสบการณ์ มุมมอง การให้คุณค่าความหมายของบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีต่อเรื่องสุขภาวะทางปัญญาในบริบทต่างๆรวมทั้งงานที่มุ่งค้นหานิยามความหมาย แนวคิด และหลักการที่ว่าด้วยเรื่องเหล่านี้


2.2 จิตวิทยา (Psychology)

คล้ายกับงานด้านการดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพเช่นเดียวกัน งานเชิงปริมาณที่โดดเด่นของประเด็นนี้คือ งานที่มุ่งศึกษาประเมินระดับของสุขภาวะทางปัญญาร่วมกับคุณภาพอื่นๆของจิตใจ หรือประเมินความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุปัจจัยกัน


ส่วนงานวิจัยเชิงคุณภาพที่พบได้บ่อยคือ งานศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ในบุคคลและหนทางการปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจ


2.3 การศึกษา (Education)

พบประเด็นใกล้เคียงกับวิจัยสายสุขภาพและจิตวิทยา แต่เกิดขึ้นในบริบทของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเป็นหลัก โดยในเชิงปริมาณ มักพบงานด้านการวัดประเมินเป็นหลัก ทั้งประเด็นสุขภาวะทางปัญญาเองและด้านอื่นที่เชื่อมโยงกันในบริบทของการศึกษา เช่น ผลการเรียนรู้ด้านต่างๆหลังผ่านกระบวนการเรียนรู้, งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ, การพัฒนาเครื่องมือและแบบวัดต่างๆ


ส่วนงานวิจัยเชิงคุณภาพ พบงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักสูตรและการประยุกต์เรื่องสุขภาวะทางปัญญาเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน, การออกแบบหลักสูตรหรือกระบวนการเรียนรู้ที่มีมิติทางจิตวิญญาณ และการศึกษาผลลัพธ์และประโยชน์จากการเข้าร่วมกระบวนการ


2.4 สังคมศาสตร์/วัฒนธรรมศึกษา (Social/Cultural Science)

มีความน่าสนใจและแตกต่างจากสาขาก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นงานเชิงคุณภาพที่มีเนื้อหาหลากหลายและลุ่มลึกในบริบทสังคมแบบต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัยแบบปรากฏการณ์วิทยา ที่มุ่งสืบค้นความหมายหรือโครงสร้างของประสบการณ์สำคัญเพื่ออธิบายประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณที่มีความหมายเฉพาะตัวหรือการเรียนรู้ของกลุ่ม, งานประเภทชาติพันธุ์วรรณนาหรือการศึกษาเชิงวัฒนธรรม ที่มุ่งสืบค้นความหมายร่วมของชุมชน และงานศึกษาวิเคราะห์กรอบแนวคิด ทฤษฎี มุมมอง และหลักการพื้นฐานต่างๆเชิงสังคมศาสตร์ วัฒนธรรม ชุมชน กระบวนการทางสังคม นโยบายสาธารณะ และนโยบายภาครัฐ


พบด้วยว่า ประเด็นการศึกษาเริ่มก้าวข้ามเนื้อหาเชิงปฏิฐานนิยม ลงไปสู่สิ่งที่เป็นนามธรรมและข้ามพ้นข้อพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์ที่เป็นมิติภายในของบุคคล อารมณ์ความรู้สึก ความฝัน การให้คุณค่าความหมาย รวมถึงปรากฏการณ์แบบข้ามพ้นบุคคล สู่โลกของการรับรู้ทางจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เครื่องมือเชิงวิทยาศาสตร์อาจยังครอบคลุมไปไม่ถึง รวมทั้งมีบางงานที่เริ่มนำเสนอวิธีการวิจัยหรือหนทางการเข้าถึงความรู้ที่ขยับออกจากกระบวนทัศน์เดิมแบบปฏิฐานนิยม ไปสู่หนทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติของการรับรู้ทางจิตวิญญาณมากขึ้นในลักษณะกระบวนทัศน์องค์รวม


2.5 ปรัชญา/เทววิทยา (Philosophy/Theology)

มีประเด็นคล้ายสาขาสังคมศาสตร์ แต่เนื้อหาเน้นที่ศาสนา (คริสต์) การเป็นศาสนิก หรือการเชื่อมโยงกับพระเจ้า ส่วนใหญ่เป็นงานเชิงคุณภาพประเภทวิจัยเอกสาร ศึกษาคำสอน รวมถึงวิเคราะห์กรอบแนวคิดและมุมมองเชิงปรัชญา รองลงมาคืองานที่สนใจศึกษากระบวนการ การเรียนรู้เชิงศาสนา และผลที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว ส่วนงานเชิงปริมาณที่มีบ้าง มักเป็นการศึกษาแบบวัดและการประเมินระดับของคุณภาพภายในด้านต่างๆและเกี่ยวข้องกับการมีสุขภาวะทางปัญญา


2.6 สิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Studies)

สาขานี้มักสนใจศึกษาสุขภาวะในบุคคลและในสังคมแบบที่ยึดโยงอยู่กับสถานที่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ การเกษตร พืชพันธุ์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ รวมถึงพลังงานต่างๆในธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นงานเชิงคุณภาพที่สืบค้นมุมมองความหมายดังกล่าว ส่วนงานเชิงปริมาณที่พบคืองานใช้แบบสอบถามศึกษาความรู้สึกของการมีสุขภาวะที่สัมพันธ์อยู่กับการพักผ่อนหย่อนใจในสถานที่ต่างๆ


ประเด็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณและคุณค่าเชิงลึกของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอาจเป็นหัวใจสำคัญของงานวิจัยสาขานี้ เช่น แนวคิดด้าน Deep Ecology หรือ Reverential Ecology


2.7 วิธีการวิจัย (Research Methods)

พบว่ามีความสำคัญทั้งในแง่จำนวนบทความและในด้านการให้น้ำหนักความหมายของสาขาวิธีการวิจัย โดยพบเป็นงานเชิงคุณภาพ มุ่งเน้นที่เครื่องมือ วิธีการ และระเบียบวิธีในการขับเคลื่อนงานวิจัยและการทำงาน เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพ สุขภาวะ ความงอกงามทางจิตวิญญาณของทั้งบุคคล ชุมชน และระบบ มีการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการวิจัยใหม่ๆที่เปิดพื้นที่สำหรับการแสวงหาความรู้และการรับรู้ความจริงของที่กว้างขวางและลุ่มลึกยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องต่อธรรมชาติของงานเชิงจิตวิญญาณ เช่น การสืบค้นในตนเองของตัวผู้วิจัย (Reflexivity, Autoethnography, Self-inquiry, Heuristic Research, Narrative Inquiry), การมีส่วนร่วม/ร่วมมือ (Participatory/Collaborative Inquiry), การรับฟังอย่างลึกซึ้ง, การใช้มุมมอง/ภูมิปัญญาแบบชนเผ่า และการให้พื้นที่ความหมายแก่อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็นภายในจิตใจ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบค้นและการร่วมสร้างสรรค์ความรู้ความจริง



3. เจาะลึกงานวิจัยสุขภาวะทางปัญญา/จิตวิญญาณที่อยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวม


พบเป็นงานเชิงคุณภาพในประเด็นต่างๆ คือ การศึกษาหลักการ ปรัชญา แนวคิด ความหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาวะทางปัญญาหรือการเติบโตทางจิตวิญญาณ, ประสบการณ์การใคร่ครวญ ตระหนักรู้ และการเติบโตทางจิตวิญญาณ, การออกแบบ/ศึกษากระบวนการเรียนรู้/การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อการมีสุขภาวะทางปัญญาหรือการเติบโตทางจิตวิญญาณ, การเปลี่ยนมุมมอง เจตคติ แนวทางการปฏิบัติของการขับเคลื่อนสังคม ที่มีมิติจิตวิญญาณ และทำการคัดเลือกบทความ 8 เรื่องที่แสดงชัดเจนถึงพัฒนาการและคุณลักษณะของการทำงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณที่อยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวม เพื่อวิเคราะห์ลึกลงไปในรายละเอียดของประเด็นที่เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิทยาการวิจัย และพบคุณลักษณะเด่นที่น่าสนใจและแตกต่างจากการทำงานวิจัยกระแสหลัก เรียกได้ว่าเป็นคุณลักษณะต้นแบบ (คุณลักษณะเบื้องต้น รอพัฒนาต่อ) ของวิธีวิทยาของงานวิจัยแบบจิตวิญญาณได้ ดังนี้


3.1 การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-conscious) เป็นการสืบค้นความรู้ที่มีทิศทางมุ่งกลับสู่ภายในตัวผู้วิจัยเป็นเบื้องต้น โดยยอมรับการดำรงอยู่ของตัวผู้วิจัยและคนที่เกี่ยวข้องว่ามีความหมายและมีผลกระทบต่อการทำงานวิจัย ทั้งนี้ผู้วิจัยและคนที่เกี่ยวข้องจะต้องบ่มเพาะความสามารถในการรับรู้สภาวะเหล่านั้นได้เท่าทันด้วยการมีสติและสมาธิ


3.2 การเปิดช่องทางการรับรู้อย่างรอบด้าน เป็นองค์รวม (Holistic Experiencing) โดยใช้ช่องทางการรับรู้ที่หลากหลาย รอบด้าน ลึกซึ้ง เนิ่นนาน และต่อเนื่องเพียงพอ มีประสบการณ์ตรง เปิดกว้าง เท่าทัน หรือวางกรอบการตัดสินในใจลง


3.3 การตระหนักรู้ในบริบท (Context-conscious) โดยสืบค้นความรู้ที่หยั่งและดำรงอยู่ในบริบท และตระหนักว่าสิ่งนั้นมีความหมายและมีผลกระทบต่อการรับรู้ ยอมรับและตระหนักถึงจุดยืน เจตจำนง และโลกภายในของแต่ละคน/กลุ่มที่แตกต่างหลากหลาย


3.4 การเข้าร่วม/ดำรงอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพรู้คุณ (Reverential Participation) เป็นการสืบค้นความรู้ผ่านการเชื่อมร้อยสัมพันธ์อย่างเสมอหน้า เข้าใจ เคารพ กรุณา และระลึกรู้ในบุญคุณ (Gratitude) ในกันและกัน ให้การอยู่ร่วมกันเป็นตัวถักทอความรู้แต่ละขณะ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงที่กว้างใหญ่ขึ้นและพ้นจากการเอาตัวเอง (มนุษย์) เป็นศูนย์กลาง รวมถึงการให้พื้นที่แก่เสียงชายขอบ (Marginalized Voices) คืนพลังและอำนาจให้แก่ทุกฝ่ายด้วยการมองว่าทุกคนคือหุ้นส่วนกัน


ช่วงท้ายรายงาน ทีมวิจัยกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำงานชิ้นนี้ว่าต้องการส่งต่อสิ่งที่ค้นพบเพื่อนำไปพัฒนา เพื่อต่อยอดเป็นระเบียบวิธีวิจัยเชิงจิตวิญญาณที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำไปใช้ขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ของสังคมไทย เพื่อผลักดันให้แวดวงวิชาการไทยสามารถผลิตงานที่เข้าถึงการมีสุขภาวะทางปัญญา และช่วยยกระดับจิตสำนึกของผู้คนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป




Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page