top of page

CAPS รับมือโลกเดือดด้วยนโยบายสาธารณะที่มีมิติจิตวิญญาณ

มิติจิตวิญญาณเริ่มได้รับการสำรวจอย่างเข้มข้นในระดับสากลเพื่อนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทันการณ์ โดยเฉพาะวิกฤตโลกหลายด้านที่ใกล้ถึงทางตัน


จิตวิวัฒน์ชวนเราออกเดินทางร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นไปได้ของการนำมิติจิตวิญญาณเข้ามาเชื่อมกับการทำนโยบายสาธารณะ โดยเริ่มกันที่เรื่องร้อนๆในสถานการณ์โลกเดือด


แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร รายงาน



โลกร้อน โลกรวน โลกเดือด

 

รายงานความเสี่ยงโลก The Global Risks Report 2024 จัดอันดับให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นแชมป์ความเสี่ยงอันดับ 1 ของปีนี้จากรูปธรรมปัญหานับไม่ถ้วนทั่วโลก

 

เช่น น้ำท่วมใหญ่ที่บราซิลจากฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงปลายเมษาถึงต้นพฤษภาที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเกิน 100 ราย และสูญหายมากกว่านั้น ประชาชนนับล้านคนได้รับกระทบ ทั้งที่บราซิลเพิ่งเผชิญภาวะภัยแล้งเมื่อปีที่ผ่านมาจนแม่น้ำอเมซอนแห้งแล้งรุนแรงมากกว่าปกติ 30 เท่า ทำให้โลมาสีชมพูตายเกลื่อนมากกว่า 150 ตัว

 

เดือนเดียวกันที่เม็กซิโก พายุลูกเห็บตกกระทันหันกลางคลื่นความร้อนจนหลายพื้นที่ถูกตัดขาด ขณะที่สภาพอากาศร้อนจัดสุดขั้วในอินเดียทุบสถิติที่ 52.9 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับปากีสถาน

 

หรือข่าวช็อคโลกอย่างน้ำท่วมฉับพลันในเมืองทะเลทรายที่ดูไบ เมื่อปริมาณฝนใน 1 วันมากกว่าฝนทั้งปี น้ำท่วมสนามบินซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการบินใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ต้องยกเลิก 290 เที่ยวบิน และมีเที่ยวบินล่าช้า 440 เที่ยว

 

ส่วนในประเทศไทยปีนี้ก็ “ร้อนตับแล่บ” ทั่วทุกภาค กรมควบคุมโรคระบุว่า ใน 4 เดือนแรกของปี 2567 มีผู้เสียชีวิตจากโรคฮีทสโตรก 61 ราย มากกว่าปีที่ผ่านมาเกือบสองเท่า





ก้าวแรกแห่งการหยั่งราก Spiritual Mindset ในนโยบายสาธารณะ

 

กลุ่มคนทำงานด้านนโยบายสาธารณะและจิตวิญญาณ นำทีมโดยสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดทำโครงการ “CAPS” -- การพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีมิติจิตวิญญาณเพื่อรับมือและบรรเทาปัญหาโลกเดือด (Climate Action and Policy with Spirituality) โดยออกสตาร์ทเมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นงาน Open House เพื่อเชิญชวนผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งราชการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม มาแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายสาธารณะ และการส่งเสริมมิติจิตวิญญาณเพื่อทำงานต่อด้วยกัน มีผู้เข้าร่วมรวม 45 คน จากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ส่วนอนาคตศึกษา สำนักงานเลขานุการคณะที่ปรึกษาการข่าว สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สำนักงานชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Thailand Policy Lab UNDP, UNDP Accelerator Lab Thailand, Centre for Humanitarian Dialogue, Thai PBS, The Active Thai PBS, 101 Public Policy Think Tank, The101.world, Strategy613 Co.,Ltd., Awareness School of Thailand, IDG Oneness Thailand, Insights for Change, บริษัท เจเอสเอส โปรดักชั่น จำกัด, บริษัท อิมเพรสกราฟฟิค จำกัด, สมาคมเครือข่ายการเรียนรู้ชีวิตองค์รวม, มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล, มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF Thailand) ร่วมด้วยนักวิชาการและกระบวนกรอิสระ



เป้าหมายโลก – ลดก๊าซเรือนกระจก

 

เปิดกิจกรรมโดย นายธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเล่าถึงภาพรวมสถานการณ์ภูมิอากาศโลก นโยบายภาครัฐ แผนและยุทธศาสตร์การรับมือปัญหาโลกเดือดทั้งระดับโลกและของไทย พบว่า แผนปฏิบัติการที่คนทั้งโลกร่วมมือกันอยู่ตอนนี้ คือความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง





SDGs – ความยั่งยืนที่ต้องสร้างด้วยกัน

 

จากนั้น ผศ.ดร.วรธิดา ไชยปะ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนเล่นเกม SDGs ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่โลกต้องการบรรลุในปี 2030 เกมกำหนดภารกิจสำคัญ 5 ด้านให้ทั้งกลุ่มพิชิตร่วมกันภายในปี 2030 คือ สะสมความร่ำรวย, มีเวลาว่าง, สร้างโลกที่ปราศจากความยากจน, อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นธรรม โดยแต่ละคนต้องลงทุนเงินและเวลาในโครงการต่างๆ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนกลับมาต่างๆกัน

 

ในเกมรอบแรก แต่ละคนมุ่งทำภารกิจตามโจทย์เดี่ยวๆที่ตนได้รับโดยไม่ได้มองภาพรวมของสังคม โครงการที่สำเร็จรอบนี้ส่วนใหญ่ใช้เงินเป็นปัจจัยหลัก สะท้อนให้เห็นว่า “ใช้เงินทำงานน่ะง่าย” แต่ในภาพรวมกลับพบว่าสังคมขาดสมดุล การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงโดด แต่สิ่งแวดล้อมป่วย โครงการทางสังคมไม่คืบหน้า บางคนได้ภารกิจเรื่องการมีเวลาว่าง พอสำเร็จแล้วก็หยุดเล่น โดยไม่ตระหนักว่าจะส่งผลต่อการชะงักงันของโครงการอื่นๆด้วย ทำให้ผู้เล่นเริ่มทบทวนตัวเองว่า “ตัวเรามีผลต่อสังคม เราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้เกิดสมดุลระหว่างโครงการทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

 

เมื่อเริ่มเกมรอบใหม่ ทุกคนปรับตัวโดยคิดถึงคนอื่นและโครงการอื่นไปพร้อมกับทำโครงการตัวเองให้บรรลุผล การแลกเปลี่ยนทางธุรกิจเปลี่ยนเป็นการเอื้อเฟื้อ รับฟังคำขอ และช่วยเหลือเพื่อนที่ยังทำภารกิจไม่สำเร็จ มองภารกิจส่วนรวมมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว บางคนถึงกับยอมให้โครงการส่วนตัวไม่สำเร็จเพื่อให้สังคมเข้าสู่ภาวะสมดุล เกมรอบนี้สามารถสร้างสมดุลระหว่างโครงการทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี ซึ่งหากเราสามารถรักษาสมดุลนี้ไว้ได้ในโลกจริง เราก็จะสามารถก้าวเดินไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วยกัน

 

ผู้เข้าร่วมตั้งคำถามและเกิดข้อคิดหลายอย่างจากเกม เช่น มีวิธีอื่นหรือไม่ ที่ทำให้เราไม่ต้องแลกสิ่งแวดล้อมกับความเจริญทางเศรษฐกิจ ก่อนเริ่มทำโครงการใดๆ ควรดูความพร้อมและสถานการณ์สังคมด้วย และที่สำคัญคือ เกมจบแค่ปี 2030 แต่ชีวิตจริงนอกเกมยังดำเนินต่อไป เราไม่สามารถทุ่มเงินและเวลาจนหมดหน้าตักเหมือนในเกม แล้วเราจะใช้โมเดลหรือนโยบายแบบไหนที่จะพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน



สัมผัสมิติจิตวิญญาณ – มั่นคงภายใน ร่วมสุขทุกข์กับโลกภายนอก

 

ดร.ศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย กระบวนกรด้านนิเวศจิตวิญญาณ (Eco-spirituality)  ชวนหยุดความคิด และกลับสู่ “ใจ” ผ่านความรู้สึกที่ทุกคนมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยการฟังดนตรี ระบายสีสะท้อนความรู้สึก จากนั้น จีรนันท์ หลายพูนสวัสดิ์ จากสมาคมเครือข่ายการเรียนรู้ชีวิตองค์รวม พาเรากลับมาสู่ความมั่นคงภายในตัวเองด้วยเทคนิค 3 ขั้นตอนตามลำดับคือ

 

Grounding – การสร้างความรู้สึกมั่นคงภายใน โดยยืนตรงให้มั่นคง แล้วจินตนาการว่ามีรากงอกออกจากเท้าของเราหยั่งลงไปในดินเหมือนรากต้นไม้ที่แผ่กว้าง ให้ดินดูดซับและถ่ายเทความเครียดความเหนื่อยล้าทั้งมวลออกจากตัวเรา

 

Centering – เมื่อหยั่งรากแล้วก็ตั้งแกนลำตัวให้ตรง ทำให้รู้สึกมั่นคง ไม่แกว่งไปตามสภาวะต่างๆ

 

Opening – เปิดรับความรู้สึกของความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับโลกภายนอกด้วยความมั่นคงในใจ รับรู้ความเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงของร่างกายและความรู้สึก รับพลังที่อยู่ในธรรมชาติและเชื่อมต่อกับจักรวาล

 

จากนั้นกระบวนกรชวนผู้เข้าร่วมเดินออกจากห้องประชุม เพื่อไปเรียนรู้ รับฟัง และสนทนากับธรรมชาติที่ดึงดูดเรา เป็นกระบวนการสร้างประสบการณ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ (Nature Connection) ที่พาไปสู่การเรียนรู้และเปิดรับปัญญาจากธรรมชาติ (Nature Wisdom)

 

ผู้เข้าร่วมรับรู้ถึงการตั้งศูนย์ให้ตัวเอง พร้อมกับการเปิดรับ เชื่อมต่อ และได้รับข้อความสำคัญบางอย่างจากธรรมชาติ บางคนรับรู้ว่าธรรมชาติกำลังบอกว่า “ไม่ไหวแล้ว” บางคนรู้สึกถึงอากาศร้อนจนตัวเป็นผื่น ขณะที่เห็นใจปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำว่าจะร้อนขนาดไหน หลายคนรับรู้ความเดือดร้อนของธรรมชาติ และแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนงานเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไปด้วยความรักและใจที่หนักแน่น เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดและต้องการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หลายคนติดใจอยากเรียนรู้วิถีเช่นนี้มากขึ้น และหลายคนอยากให้คนอื่นมีประสบการณ์ดีๆแบบนี้ด้วย





Peace Talk -- คุยเป็น เห็นคนอีกฝั่ง

 

เช้าวันที่สอง ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล จากมูลนิธิฟรีดริช เนามัน มาชวนเล่นเกม Talk to Transform โดยให้ผู้เข้าร่วมแบ่งเป็นกลุ่มละ 6-8 คน เลือกหัวข้อที่อยากคุยกัน แต่ละกลุ่มแบ่งเป็นฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน โดยให้แต่ละฝ่ายผลัดกันพูดถึงเหตุผลของตัวเอง จากนั้นให้อีกฝ่ายทวนคำพูด ทายความรู้สึก ความหมาย คุณค่า และความต้องการของอีกฝ่าย ระหว่างนั้นหากใครเห็นทางเลือกใหม่ของสถานการณ์ก็เสนอขึ้นได้ และหากต้องการพักก็ขอเวลานอกได้ด้วย

 

เกมนี้เป็นเครื่องมือให้เราเรียนรู้การตั้งใจ “เห็น” และ “ฟัง” คนที่คิดต่าง ลองเปิดใจ เปิดพื้นที่ใหม่ๆ จากมุมของคนที่คิดตรงข้ามกับเรา การที่เขาพูดแบบนี้ เขาคิด เขารู้สึกอย่างไร เขาต้องการอะไร และมองให้เห็นลึกลงไปได้ถึงคุณค่าที่อีกฝ่ายให้ความสำคัญ เช่น ความมั่นคง ความรับผิดชอบ ความร่วมมือ ประสิทธิภาพ การมีคุณค่าในตัวเอง ความรัก ความหวัง ซึ่งไม่ต่างจากคุณค่าที่เราให้ความสำคัญ

 

ทั้งสามกลุ่มในเวิร์กชอปเลือกหัวข้อพูดคุยเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย คือ “จิตสำนึกส่วนบุคคลสำคัญกว่าการออกนโยบาย (จริงหรือไม่)” มีประเด็นน่าสนใจมากมาย เช่น จิตสำนึกสร้างได้แต่ต้องใช้เวลา ขณะที่นโยบายทำทำแก้ปัญหาได้รวดเร็ว แต่ถ้าผู้ออกนโยบายไม่มีจิตสำนึกล่ะ นโยบายจะมีหน้าตาอย่างไร

 

กลุ่มหนึ่งยิ่งคุยยิ่งร้อน ยิ่งคุยยิ่งไม่เข้าใจกัน เพราะต่างมีคุณค่าในจุดยืนของตนชัดเจน และรับจุดยืนของอีกฝ่ายไม่ได้ เหมือนเป็นภาพจำลองของความจริงที่เป็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ขณะที่อีกสองกลุ่มยอมรับทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับโครงการ CAPS Open House คือการหลอมรวมนโยบายสาธารณะและจิตวิญญาณให้เป็นเนื้อเดียว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ในการออกนโยบายใดๆของภาครัฐ กระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างมีสติ ช่วยกันคิด ช่วยกันมองแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราเช่นนี้ จะช่วยให้เราทะลุทางตันไปสู่ความสำเร็จของการสร้างและนำนโยบายไปปฏิบัติได้อย่างดี 



ความเป็นหนึ่งเดียว

 

ภาคบ่าย ธรากร กมลเปรมปิยะกุล จาก IDG Oneness Thailand แนะนำ IDGs - Inner Development Goal หรือเป้าหมายการพัฒนาภายในเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพาผู้เข้าร่วมกลับมาเชื่อมโยงกับภายในตัวเอง และเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ผ่านการฟังเพลงและรับรู้เรื่องราวและความรู้สึกที่เกิดในใจ

 

บางคนเห็นเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ที่เกิดจากประสบการณ์ ความรู้ และสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นเรา

 

หลายคนเห็นตัวเอง คุย ปลอบ และให้กำลังใจตัวเอง เห็นเพื่อน เห็นความสุข

 

บางคนเห็นกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ ได้นั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และค่อยๆขยับสูงขึ้น ฉายแสงร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้วกลับรู้สึกหดหู่ เพราะพระอาทิตย์ที่เป็นความหวัง พลัง และความสวยงามแก่ชีวิตดวงนี้ เป็นดวงเดียวกับที่แผดเผาคนทั้งโลกให้ทุกข์ทนในภาวะโลกเดือด

 

บางคนกังวลใจถึงอนาคตลูกหลานที่ต้องเติบโตและใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมและอากาศที่ผันผวน รู้สึกผิดและเศร้าใจที่ส่งต่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้ให้คนรุ่นต่อไป

 

บางคนเห็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยา และตามสายน้ำนั้นขึ้นไปสู่เชียงใหม่ซึ่งเป็นดินแดนที่เขารักมาก เห็นดอกไม้เล็กๆที่สวยงาม ธรรมชาติ อากาศเย็นสบาย แล้วเสน่ห์แห่งบรรยากาศที่คิดถึงทั้งหมดก็หายไปในม่านฝุ่น PM 2.5 ของเมืองที่เขาไม่สามารถสูดลมหายใจได้อีก ต้องอยู่ในโลกพังๆที่ไม่มีทางแก้

 

บางคนสัมผัสถึงธรรมชาติของห้วยน้ำดังอันเป็นที่รัก ภาพจามจุรีต้นใหญ่ เห็นความรัก ความหวัง





ก้าวต่อไป ก้าวสำคัญ

 

ช่วงสุดท้ายเป็นการล้อมวงสะท้อนความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นร่วมกัน

 

คนที่ทำงานด้านนโยบายและคนทำงานภาครัฐบอกว่า ได้เรียนรู้มิติด้านใน หรือมิติจิตวิญญาณ ที่พาให้เห็นคุณค่าภายในตัวเอง เชื่อมโยงสู่ภายนอกคือผู้คนและธรรมชาติ เห็นความเชื่อมโยงของคนกับธรรมชาติเข้าถึงมิติจิตวิญญาณที่มีอยู่แล้วในตนเอง และเห็นความสำคัญในการที่คนเขียนแผนหรือออกแบบนโยบายจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ส่งผลต่อการออกแบบนโยบายให้ลุ่มลึก ซึ่งแตกต่างมากเมื่อเทียบกับนโยบายทั่วไปที่ไม่มีหรือไม่คำนึงถึงมิติด้านในของชีวิต CAPS Open House เป็นการเปิดบ้าน และตอนนี้เราเป็นเหมือนบ้านหลังเดียวกัน

 

กลุ่มประชาสังคมบอกว่า ได้เห็นพลังของทั้งการออกแบบนโยบายและมิติจิตวิญญาณ ได้รู้สึกถึงคุณค่าของธรรมชาติอย่างแท้จริง

 

คนทำงานสื่อสารมวลชนเล่าถึงการทำงานสร้างแพลตฟอร์มติดตามความคืบหน้าของนโยบาย สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม และยินดีสนับสนุนประเด็นนโยบายที่เชื่อมโยงกับมิติทางจิตวิญญาณ โดยจะมีการตั้งทีมสื่อสารเรื่องนี้

 

กลุ่มคนทำงานด้านมิติด้านจิตวิญญาณ ก็ได้เข้าใจกระบวนการและการออกแบบนโยบาย ทำความเข้าใจสถานการณ์สิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การเปิดพื้นที่และมุมมองใหม่ในชีวิต

 

วงสะท้อนปิดท้ายเต็มไปด้วยไอเดียดีๆที่มาจากการเห็นและรับรู้ถึงพลังแห่งจิตวิญญาณ คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ภาวะโลกเดือดเป็นเรื่องไกลตัวจริงหรือ ไม่เกี่ยวกับเราจริงหรือ แล้วถ้าไม่แก้ไขตั้งแต่วันนี้จะทันการณ์จริงหรือ

 

ผู้เข้าร่วมสะท้อนถึงความหวัง ความรักที่มีต่อธรรมชาติ ความตั้งใจและปรารถนาบรรเทาปัญหาโลกเดือด

 

หลายคนอยากส่งเสียงของวงนี้ให้กลายเป็นนโยบาย อยากทำงานร่วมกัน อยากให้เกิดพื้นที่ นิทรรศการ หรือเทศกาลด้านสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ให้ผู้เข้าร่วมสัมผัสประสบการณ์แบบสมจริง และเลือกว่าจะอยู่ในโลกแบบไหน

 

มีการเสนอไอเดียสื่อสารเก๋ๆ เช่น ผัดไทยจะยังเป็น Soft power ของไทยได้อีกไหม ถ้า... น้ำทะเลร้อนจนกุ้งอยู่ไม่ได้ ถ้า... โลกเดือดจนปลูกข้าวไปทำเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ ถ้า... อากาศแปรปรวนจนราคาพริกพุ่งไปกิโลละ 600 บาทอย่างที่เพิ่งผ่านมา เป็นต้น



การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นแล้ว

 

หลังเลิกงาน ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม่งานในการจัดเปิดบ้าน CAPS เปิดใจว่า

 

“ตื้นตัน ดีใจกับงานสองวันนี้มาก รู้สึกว่าเป็นการเริ่มต้นที่สำเร็จแล้ว เพราะเราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนโลกข้างนอก แต่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงกับตัวเราและคนที่มางานนี้ เมื่อเราถูกเขย่า การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนี้วางใจได้ Open House นี้ทำให้เราได้สัมผัสประสบการณ์จริงของกระบวนการที่จะพัฒนาโลกภายในของเรา และเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน

 

การทำงานเรื่อง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เราต้องการทุกคน ต้องการการเชื่อมโยงตัวเอง และเชื่อมโยงกับธรมชาติ เป็น Climate ที่บวกกับ Spirituality เป็น Public Policy with Spirituality for Climate ให้คนมาตื่นรู้ คือ awaken แล้วดูว่าคนจะทำอะไรต่อ”

 

Open House นี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ก้าวต่อไปจะเป็นการหาหนทางเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะที่มีมิติวิญญาณเพื่อบรรเทาปัญหาโลกเดือดอย่างเป็นรูปธรรม

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page