top of page

“SHA” มาตรฐานแห่งการยกระดับจิตวิญญาณของสถานพยาบาล

บทสัมภาษณ์ ดร. ดวงสมร บุญผดุง ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)


เรื่อง: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร

ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร





“HA” และ “SHA”

มาตรฐานสถานพยาบาลที่มีคุณภาพและมีหัวใจความเป็นมนุษย์


แวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมมีมาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) เพื่อรับรองคุณภาพระบบการบริหารและการดำเนินงานขององค์กรฉันใด สถานพยาบาลก็มี “มาตรฐาน HA” (Healthcare Accreditation) หรือ “การรับรองกระบวนการคุณภาพตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ” รับรองคุณภาพฉันนั้น[1] โดยองค์กรที่ทำหน้าที่หน้าที่พัฒนามาตรฐานและการรับรองคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยคือ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)

 

นอกจาก มาตรฐาน HA แล้ว สรพ.ยังทำการรับรองมาตรฐาน SHA ด้วย (SHA--ชา--Spiritual Healthcare in Action) SHA เป็นมาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามิติจิตวิญญาณในสถานพยาบาล มุ่งเน้นให้บุคลากรเห็นคุณค่าและความหมายของตนเอง ของงาน และของคนไข้ มีพลังบวกในการทำงาน และดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นกระบวนการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของบุคลากรทางการแพทย์ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายและประสิทธิภาพขององค์กร

 

“สถานพยาบาลที่ได้ HA คือเพชร แต่ SHA คือการเจียระไนเพชรที่ดีอยู่แล้วให้งดงามยิ่งขึ้นจนดีงามพร้อม” ดร. ดวงสมร บุญผดุง ผู้ทรงคุณวุฒิ สรพ. ผู้บุกเบิกงานมาตรฐาน SHA ในสรพ. อธิบายสั้นๆ แต่ฉายให้เห็นภาพได้อย่างคมกริบ

 

 “สรพ. มีหน้าที่หลักคือทำให้สถานพยาบาลมีคุณภาพ พัฒนามาตรฐาน องค์ความรู้ การบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพด้วยความปลอดภัย เพื่อให้การรักษานั้นดีที่สุดสำหรับคนไข้ สถานพยาบาลที่จะได้ SHA ต้องได้ HA ก่อน ซึ่งเป็นการรับรองถึงการมีระบบที่ดี ส่วน SHA หล่อหลอมความเป็นมนุษย์โดยการยกระดับจิตวิญญาณให้สูงขึ้น ให้คนทำงานซึ่งมีคุณสมบัติที่ดี ทำงานในระบบมาตรฐานที่ดี แล้วก็ส่งผ่านการบริการที่ดีให้คนไข้ นี่คือ Compassionate Care การบริการด้วยความรัก ความเมตตา และความปลอดภัยสูงสุด"


“SHA สามารถกำหนดแนวทางและกระบวนการเพื่อนำไปใช้จริงได้ ด้วยการค่อยๆหล่อหลอมพลังใจและจิตวิญญาณ ความหมายของการทำงาน และประโยชน์สุขของสังคม ทีมบุคลากรทางการแพทย์รู้สึกว่าตนเองมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็มองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวคนไข้ที่มารับบริการด้วย โดยดูจากระบบสนับสนุนการจัดการโครงสร้างภายในองค์กรให้สามารถหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณคนทำงานได้ เช่น มีวัฒนธรรมที่ใช้ค่านิยมด้านจิตวิญญาณ มีระบบงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ผู้นำยินดีให้ผู้อื่นเติบโตและภาคภูมิใจ เป็นการดูแลด้วยความเมตตา คนที่มารับบริการจะรู้สึกได้ มีวัฒนธรรมองค์กรที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์” ดร.ดวงสมรชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของ SHA ที่เพิ่มเข้ามาจากมาตรฐาน HA และกล่าวย้ำว่า

 

“เพราะระบบบริการสุขภาพเป็นระบบบริการที่มนุษย์พัฒนาสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อมาดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงมีชีวิตจิตใจของทั้งคนทำงานและคนที่มารับบริการรวมอยู่ในนั้น นี่แหละคือจิตวิญญาณในระบบสุขภาพ”


------------------------------

[1] ประเทศไทยมีสถานพยาบาล ทั้งโรงพยาบาล สถานพยาบาลเฉพาะโรคเฉพาะระบบ เครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ ระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ และศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน HA แล้ว 768 แห่ง เป็นสถานพยาบาลภาครัฐ 689 แห่ง ภาคเอกชน 79 แห่ง และอยู่ระหว่างการพิจารณารับรองคุณภาพ 734 แห่ง (ข้อมูล ณ 8 มี.ค. 65)





ทำงาน ทำงาน ทำงานนนน...ไปให้สุด และจะไม่หยุดที่เบิร์นเอาต์

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอาชีพซึ่งเป็นที่สุดของการทำงานหนัก เหนื่อย และกดดัน คืออาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์โดนรุมเร้าทั้งงานที่อยู่ตรงหน้า ภาวะเจ็บ-ตายที่ต้องเผชิญทุกวินาที ภาระงานล้นมือที่ต้องจัดการไปตามระบบ การสื่อสารกับคนไข้ที่มารอรับบริการไหลหลั่งดั่งกระแสน้ำป่ามาถล่ม ความขัดแย้งและอุปสรรคต่างๆในการทำงาน วนลูปอยู่เช่นนี้วันแล้วคืนเล่า ยังไม่นับรวมหลากหลายเรื่องราวปัญหาส่วนตัวที่ต่างก็มีเหมือนปุถุชนคนทั่วไป

 

สิ่งเหล่านี้สุมรุมตกตะกอนนอนก้นถมทับอยู่ภายใน จนหลายต่อหลายคนกว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นคนที่แม้แต่ตัวเองยังไม่รู้จัก เป็นเราในเวอร์ชั่นที่แม้แต่ตัวเองยังรังเกียจและไม่ต้องการ นี่คือใคร คนที่เปี่ยมไปด้วยความสุข แรงใจ และไฟฝันคนเดิมคนนั้นหายไปไหน นี่คือความทุกข์ยากของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่ง ดร.ดวงสมรได้สัมผัสและรับรู้ จึงแน่ใจว่าการมีระบบงานที่แข็งแกร่งตามมาตรฐานอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างความสุขในการทำงานได้

 

“คนทำงานรู้สึกท้อแท้ใจ ตัวเองยังไม่มีความสุข จะไปทำให้คนไข้มีความสุขได้อย่างไร” ดร.ดวงสมรตั้งคำถามนำทาง

 

“SHA เป็นเครื่องมือที่ช่วยเปลี่ยนความรู้สึกของคนทำงานจาก Nobody เป็น Somebody ได้ โรงพยาบาลที่ได้ SHA คนทำงานจะรู้สึกว่าการทำงานคือแก่นของชีวิต มีความหมายต่อตัวเอง และที่สำคัญ มีความหมายต่อคนอื่น มีความสุขในการทำงาน ปีติมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์สูงขึ้น หลอมรวมความเป็นคนเข้าไปในองค์กรมากขึ้น ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วม มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีงาม มีความอบอุ่น เมตตากัน เกิดความเป็นทีม รัก และกลมเกลียวกัน ทำให้โรงพยาบาลเป็นบ้านหลังที่สอง วันหยุดก็ยังอยากมาทำงาน และสิ่งต่างๆเหล่านี้จะหลอมรวมไปสู่การดูแลผู้ป่วยที่เรียกว่า Spiritual Care ได้ เป็นการเติมเต็มให้ทั้งคนทำงานและผู้รับบริการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” ดร.ดวงสมรกล่าว

 

“มีเภสัชกรจบใหม่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่ตามระบบมาตรฐานเป๊ะๆ จัดยา จ่ายยา ไม่มีผิดพลาดเลย ห่อข้าวกลางวันมากินที่โรงพยาบาลด้วย ดีมาก ทำงานตรงเวลา ไม่ยอมออกไปไหน” ดร.ดวงสมรเล่าจากการรับฟัง “เรื่องเล่าของคนทำงาน”

 

“เวลาเที่ยงตรง เภสัชกรที่มีอยู่สามคนก็ปิดช่องจ่ายยาชั่วคราวเพื่อพักกินข้าวกลางวัน และได้เห็นคนไข้ซึ่งเป็นคุณยายคนหนึ่งยังนั่งรออยู่คนเดียว จึงเดินไปหาแล้วบอกให้ยายไปกินข้าวก่อนเดี๋ยวค่อยกลับมา หนูขอกินข้าวแป๊บเดียว ยายตอบว่า หมอกินเถอะ ยายนั่งรอได้ เภสัชกรเดินกลับมาแต่สายตาก็ยังเห็นคุณยายมองมาที่ห้องยาอย่างจดจ่อ จึงกลับไปบอกคุณยายอีกครั้งว่า มีร้านอาหารอยู่ข้างโรงพยาบาล ให้คุณยายไปทานก่อน บ่ายนี้หนูจะจัดยาให้ยายเป็นคนแรก ยายตอบว่า ยายไม่มีเงินหรอก ที่ยายรอไม่ไปไหนเพราะอาศัยรถชาวบ้านมา คนอื่นเขาได้ยากันหมดแล้ว รอยายคนเดียว คำพูดสั้นๆของคนไข้ทั้งชวนอึ้งและทำให้เภสัชกรเกิดความคิด ความเข้าอกเข้าใจได้ว่า มัวแต่ยึดเวลาราชการ แต่ไม่มีเวลาประชาชน”

 

ดร.ดวงสมร เล่าต่อว่า “จึงเกิดการเปลี่ยนระบบยามใหม่ในห้องยาเล็กๆนั้น โดยเหลื่อมเวลาพัก ไม่ต้องกินข้าวกลางวันพร้อมกัน นี่คือการเห็นศักดิ์ศรีของคนที่อยู่ตรงหน้า ทำระบบการบริการสุขภาพให้คนไข้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี นี่คือเป้าหมายของ SHA เป็นเรื่องราวชวนประทับใจ ที่ทำให้เห็นว่าเภสัชกรใช้การฟัง ใช้ความเป็นมนุษย์มาสัมผัส ขยายความรักความเข้าใจให้คุณยาย และปรับระบบงานให้ดีขึ้นเพื่อให้ผู้รับบริการได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องราวแบบนี้ทาง สรพ. จะเติมให้ HA ที่มีรากฐานดีแล้วให้มีความงดงามมากยิ่งขึ้น”

 

มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่ดร.ดวงสมร นำมาเล่าให้ฟัง ทำให้เห็นสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของการทำงานให้เติบโตขึ้น คือ โครงสร้างภายในองค์กร วัฒนธรรมองค์กร การออกแบบการทำงาน กระบวนการเรียนรู้ฝึกฝน และผู้นำที่ดี ซึ่งจะช่วยสร้างพลังให้คนทำงานเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่เหนือกว่าการทำงานตามปกติได้อย่างคาดไม่ถึง เป็นดังเรื่องเล่าของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมีนโยบาย Breakdown Project Management เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสทำงานสำคัญโดยหมุนเวียนกันเป็นผู้บริหารโครงการ

 

“ผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการโครงการศูนย์ผู้ป่วยโควิด งานนี้ยากมาก เพราะในช่วงโควิดระบาด ชาวบ้านจำนวนมากต่อต้านการตั้งศูนย์โควิดในชุมชน จนผมท้อใจ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เครือข่ายต่างๆ และทุกคนในโรงพยาบาล จนงานสำเร็จลงได้อย่างดีเยี่ยม ได้รับคำชมเชย ผมดีใจและภาคภูมิใจมาก รู้สึกมีคุณค่า ไม่เคยคิดว่าจะทำอะไรแบบนี้ได้ คิดแค่ว่าตรวจคนไข้ก็พอแล้ว ผมตั้งใจจะทำงานเป็นหมอแบบนี้ไปตลอด แต่ได้มาค้นพบศักยภาพตัวเองว่า สามารถทำงานจัดการได้” คุณหมอเล่าถึงความเปลี่ยนความคิดที่สำคัญ “ผมอยากทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลบ้าง เดิมผมไม่เคยคิดเลย แต่ผมได้เรียนรู้ ผมตั้งใจอยากทำหน้าที่ให้เหมือนผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่นี่ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจให้ผม”



20 ปีกับการเดินทางของ SHA 

 

แนวคิดของการเติมมิติจิตวิญญาณในการทำงานเริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1990 ขณะนั้นมีการนำเครื่องจักรมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการลดกำลังคนและหลงลืมคุณค่าความเป็นคนของพนักงาน จนคนงานเกิดความรู้สึกบั่นทอน ไม่มั่นคง และไม่มีความสุขในการทำงาน ช่วงนั้นมีการรวมตัวเรียกร้องและเสนอให้ผู้นำองค์กรออกแบบระบบงานใหม่ ที่มีการกำหนดเป้าหมายที่มีคุณค่าชัดเจน และมีความหมายต่อชีวิตของพนักงาน ทำให้องค์กรใหญ่ระดับโลกหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมมิติจิตวิญญาณของพนักงานในองค์กร และเป็นแรงกระเพื่อมที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน

 

ในประเทศไทย ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นผู้จุดประกายเรื่อง Humanized Health Care หรือระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 และ สรพ. เป็นองค์กรที่รับแนวคิดนี้ โดยนำมิติด้านจิตวิญญาณในการทำงานมาบูรณาการกับการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล และได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ชื่อ SHA Program (Sustainable Healthcare & Health Promotion by Accreditation) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ยั่งยืนโดยมีจิตวิญญาณในการทำงานเป็นรากฐานที่สำคัญ

 

“งาน SHA ในไทยแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ระยะแรกมาจากการลงชุมชน อาจารย์เริ่มมีคำถามขึ้นในใจว่าถ้าเราไม่เห็นความเป็น ‘คน’ ของคนไข้ เราจะไปรักษาเขาได้อย่างไร” ดร.ดวงสมร เล่าย้อนไปถึงการทำงานช่วงต้นเมื่อ 20 ปีก่อน

 

“อาจารย์มีโอกาสไปดูงานที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้เรียนรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดโรงพยาบาลในแนวทาง Humanized Health Care ใช้วิธีการสังเกต จับประเด็น แล้วนำเอาหัวใจสำคัญของที่นั่น เช่น ความเมตตา ความรักเพื่อนมนุษย์ ความอดทน ความกตัญญูกตเวที การสื่อสารด้วยเรื่องเล่าดีๆ การปล่อยวาง มาทดลองทำในประเทศไทย คือโครงการ ‘พัฒนาโรงพยาบาลคุณภาพด้วยความรัก (Humanized Health Care)’ นำความรู้ ทักษะ และวิธีการที่ได้มาสอนต่อให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ คือการให้เขานำเรื่องราวดีๆ มาเล่าถ่ายทอด แบ่งปันกัน สร้างค่านิยม ความเมตตา ความเอื้ออาทร การให้อภัย ความกตัญญู ซึ่งมาเข้าใจในภายหลังว่า สิ่งนี้คือ Spiritual Value ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เอาความเป็นคนใส่กลับไปให้เขา คนที่มาร่วมโครงการมีความสุขมาก ได้แรงบันดาลใจ อยากกลับไปทำสิ่งดีๆที่โรงพยาบาลตัวเอง แต่พอจบการอบรม กลับไปเจอกับบรรยากาศเก่า ระบบงานแบบเดิม จิตวิญญาณที่เบ่งบานก็ลดน้อยลงไป กลับเข้าสู่จุดเดิม

 

“ระยะที่ 2 เริ่มดึงผู้นำและผู้เยี่ยมสำรวจมาเรียนรู้ด้วยกัน ประกอบกับ สรพ. เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพที่เน้นการดูแลแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติ ชุมชน หรือบุคลากรทางการแพทย์ จึงทำโครงการ Spiritual Healthcare Appreciation & Accreditation (SHA) ขึ้นในปี 2551 เริ่มมีเครื่องมือ เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง สุนทรียสนทนา เรื่องเล่าทางการแพทย์ และสร้างกระบวนกร SHA แต่ผลที่ได้ยังไม่ยั่งยืน พอผู้ร่วมโครงการกลับไปโรงพยาบาล ไปทำงานในบริบทเดิมๆ ก็ยากที่จิตวิญญาณจะถูกหล่อเลี้ยงให้มีพลังในการเห็นคุณค่าและความหมายของชีวิตตนเองและผู้อื่น

 

“ระยะที่ 3 จึงเป็นช่วงที่อาจารย์ต้องการหาคำตอบว่า อะไรคือปัจจัยที่มีผลต่อจิตวิญญาณในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ การรักษาสิ่งนี้ไว้ และการนำลงไปบูรณาการในการดูแลผู้ป่วย จึงได้ทำการวิจัยในระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการบริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา และนำผลการวิจัยมาจัดทำเป็นแนวทางการบูรณาการจิตวิญญาณในการดูแลผู้ป่วย” ดร.ดวงสมรเล่าถึงเส้นทางของงาน SHA ที่สอดประสานกับเส้นทางชีวิตของตนเอง

 

ในปี 2561 สรพ. อนุมัติโครงการพัฒนารูปแบบการประเมินและรับรองให้มีความหลากหลายภายใต้โครงการหลัก โดยจัดให้มีกิจกรรม ‘พัฒนารูปแบบการประเมินบริการสุขภาพที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางบูรณการมิติจิตวิญญาณ หรือ SHA certificate’ ขึ้น และในปี 2565 สรพ. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับ Planetree International สหรัฐอเมริกา ในการส่งเสริมและกระตุ้นให้สถานพยาบาลใช้แนวคิด ‘People-centered care’ ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหมายรวมทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา ส่งเสริม และกระตุ้นให้สถานพยาบาลพัฒนาบุคลากรให้เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีมิติจิตวิญญาณในการทำงาน ซึ่งเป็นการยกระดับ SHA สู่สากล





มาตรฐานของจิตวิญญาณ วัดได้ด้วยหรือ? วัดได้อย่างไร?

 

มาตรฐาน SHA มีทั้งหมด 8 หมวดตลอดสายธารการทำงาน ตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กร เชิงระบบ โครงสร้าง แผนงาน ผู้นำ ทีมงาน และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่มุ่งสู่การส่งเสริมและยกระดับจิตวิญญาณ ในการทำงานในสถานพยาบาลให้เติบโตมั่นคง ได้แก่


  1. มีการนำและระบบสนับสนุนที่ส่งเสริมการดูแลโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางและบูรณการกับมิติด้านจิตวิญญาณ ผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดี มีระบบกำกับดูแลที่ดี

  2. จัดทำกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณในการทำงานสำหรับบุคลากร เชื่อมโยงไปสู่การดูแลที่เน้นผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติอย่างครบถ้วนครอบคลุม

  3. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีจิตวิญญาณเป็นพื้นฐาน จัดทำกลยุทธ์ และทีมนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

  4. จัดการ ออกแบบการทำงาน ปรับปรุงบริการสุขภาพ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ทั่วทั้งองค์กร บุคลากรมีความปีติสุขในการทำงาน มีส่วนร่วม รับรู้คุณค่าและความหมายของงานที่ปฏิบัติ

  5. ส่งเสริมจิตวิญญาณในการทำงานของทีมผู้ให้บริการ ฝึกฝนให้เติบโตด้านในหรือรับรู้ชีวิตด้านใน (Inner life) ไวในการรับรู้และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและผู้รับบริการ

  6. องค์ประกอบจิตวิญญาณในการทำงาน บุคลากรทำงานด้วยความตระหนักในคุณค่าและความหมายของงาน มีจิตสำนึกร่วมในชุมชนและสัมพันธภาพที่ดี มีแรงบันดาลใจในการทำงาน และมีพลังในการทำความดี

  7. ระบบงานที่ให้ความเคารพ เห็นคุณค่าของผู้ป่วยและญาติ มีกระบวนการดูแลที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางและบูรณการมิติด้านจิตวิญญาณ ด้วยความเคารพในสิทธิผู้ป่วยและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

  8. มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา องค์กรมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัยสำหรับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การใช้ศิลปะเพื่อเยียวยาควบคู่กับการรักษาพยาบาลที่ดี

 

อาจารย์ดวงสมรได้นำผลงานการศึกษาระดับปริญญาเอกของตน มาสร้างเครื่องมือ “Spiritual Healthcare Scale (SHS)” สำหรับวัดระดับจิตวิญญาณในการทำงาน โดยเป็นการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Practice: EBP) และเป็นรูปธรรมชัดเจน อ้างอิงตามแนวคิดทางวิชาการ และทำในสถานการณ์จริงของสถานบริการสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือเชิงคุณภาพอื่นๆ เช่น การทำโฟกัสและกรุ๊ปกระบวนการตั้งคำถามเชิงคุณภาพ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายที่การรับรู้ความรู้สึกหรือความเข้าใจของบุคลากรที่มีต่อตนเอง ต่อการทำงาน ต่อทีมงาน และต่อองค์กร โดยมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่

 

  1. ชีวิตด้านใน (Inner life) คือการรับรู้ชีวิตด้านใน รู้ว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร รับฟังเพื่อเกิดความเข้าใจ

  2. งานที่มีความหมาย (Meaningful work) คือการรับรู้หรือรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นสำคัญและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย แต่ละคนเคารพซึ่งกันและกันไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด

  3. สำนึกร่วมความเป็นชุมชน (Connection of community) คือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม ช่วยเหลือเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

  4. การเชื่อมกับพลังที่เหนือกว่า (Spiritual connection) เช่น สิ่งที่นึกถึงเมื่อท้อแท้ใจ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจหรือแรงผลักดันให้ก้าวเดินต่อไปได้

 

“เรื่องตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของมิติจิตวิญญาณ เราสามารถใช้การวัดทั้งเชิงปริมาณ และใช้กระบวนการสุนทรียสนทนาเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพ มาประกอบกับเครื่องมือวัดระดับจิตวิญญาณที่เราพัฒนาขึ้น นำมาวิเคราะห์และสรุปออกมาให้เห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับแนวทางหรือมาตรฐานในหมวดใด หรือในองค์ประกอบจิตวิญญาณองค์ประกอบใด” ดร.ดวงสมรกล่าว



SHA ในวันนี้และอนาคต

 

การรับรองด้วยประกาศนียบัตรและการยกย่องสำหรับโรงพยาบาลที่ใช้แนวคิด SHA แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “SHA certificate” คือ สถานพยาบาลที่ปฏิบัติตามแนวทางการบูรณาการจิตวิญญาณในระบบบริการผู้ป่วยได้ครบถ้วน สามารถแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ตัวชี้วัด และผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งต้องผ่านการเยี่ยมประเมินจากผู้เยี่ยมสำรวจและผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ และ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน

 

อีกประเภท คือ “SHA Honorary Award” หรือรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับสถานพยาบาลที่ปฏิบัติตามแนวทางการบูรณาการมิติจิตวิญญาณได้ แม้ไม่ครบถ้วนทุกหมวด และมีความพร้อมในการเตรียมพัฒนาต่อเพื่อก้าวสู่ SHA certificate โดยในปีในปี 2556 มีโรงพยาบาลที่ได้รับ SHA Honorary Award คือ รพ.ด่านซ้าย จ.เลย, รพ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี, รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี, รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, รพ.พระยืน จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลวัดเพลง จ.ราชบุรี  ปี 2562 มี รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย, รพ.สมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี และรพ.สมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์  และในปี 2563 มี รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก, รพ.แม่จัน จ.เชียงราย, รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี, รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, รพ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ และรพ.เซนต์เมรี่ จ.นครราชสีมา[2]

 

 “มาตรฐาน SHA นี้มีการตรวจประเมินซ้ำทุกๆ 3 ปีเช่นเดียวกับมาตรฐานสากลทั่วไป โดยสรพ.เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลที่สนใจได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในเครือข่ายการเรียนรู้ ร่วมเวทีวิชาการ ร่วมเป็นวิทยากร ตลอดจนดูงานในระดับนานาชาติ” ดร.ดวงสมรกล่าว

 

“ต่อไป คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จะมาช่วยเสริมทัพทางด้านวิชาการ ด้วยการทำวิจัยว่า คนที่ทำ SHA เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผลลัพธ์ที่มีต่อคนไข้ดีอย่างไร ซึ่งเดิมจะเป็นตัวชี้วัดด้านคลินิกเท่านั้น งานวิจัยนี้จะช่วยตอบโจทย์และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า เราได้สร้างระบบสุขภาพที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นมาแล้วอย่างที่ อ.ประเวศ วะสี บอกไว้”

 

ตลอดเส้นทางยาวนานของ SHA พูดได้ว่า ดร.ดวงสมร บุญผดุง “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” ทั้งผู้บุกเบิก คิดเครื่องมือ วางแนวทางมาตรฐาน สอน ฝึกอบรม เขียนบล็อกให้ความรู้ ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าวิจัยจนสำเร็จและคว้าปริญญาเอกมาได้ในวัยเกือบ 70 ปี เข้าทำนอง “บอกให้รู้ เป็นให้ดู อยู่ให้เห็น” จนได้รับการยอมรับนับถือในฐานะ “แม่ต้อย” ของชาว SHA ที่เป็นตัวอย่างของการมีจิตวิญญาณในการทำงานอย่างแท้จริง จากความรักและมุ่งมั่นพยายาม

 

ดร.ดวงสมรบอกว่า “สิ่งที่ทำให้อาจารย์มีพลังใจ จะแก่เฒ่าแค่ไหนก็จะทำไป เพราะตลอดเวลาที่ได้เริ่มต้นมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เหมือนดอกกล้วยไม้ที่ค่อยๆบานช้าๆ มันเป็นเรื่องยากที่จะคิดกระบวนการหล่อหลอมจิตวิญญาณในกลุ่มคนทำงานที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์จับต้องได้ แต่เชื่อเถอะว่า ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามและพร้อมที่จะเบ่งบาน อาจารย์จะทำหน้าที่คอยช่วยเหลือ ให้ความรู้ และเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนกว่าชีวิตจะสิ้นสูญไปจากโลกนี้ รวมทั้งช่วยสร้างทีมงานที่เข้มแข็งเพื่อสานต่อไปให้ดีกว่าที่ได้เริ่มต้นไว้”

 

ดร.ดวงสมรฝากไว้ว่า “SHA ทำให้ชีวิตอาจารย์มีความหมายมากขึ้น มีความสุข และภาคภูมิใจ ที่อย่างน้อยก็มีส่วนทำให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยได้ยกระดับขึ้น ไม่น้อยหน้าประเทศใดในโลกนี้”


------------------------------

[2] สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน HA แล้ว และสนใจขอรับมาตรฐาน SHA สอบถามได้ที่ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) โทร. 0 2027 8844 ต่อ 9606



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page