top of page

อะไรทำให้นักศึกษาแพทย์กลายเป็นหมอหุ่นยนต์

ผู้เขียนได้รับบทความวิจัยที่น่าสนใจมากๆชิ้นหนึ่งจากคุณหมอบดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ ภาควิชาสรีรวิทยา โรงเรียนแพทย์ศิริราช บทความนี้ตั้งคำถามว่า "ทำไมความ empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเราของนักศึกษาแพทย์จึงเปลี่ยนไปในโรงเรียนแพทย์" โดยใช้วิธีรีวิวงานอย่างเป็นระบบและสังเคราะห์ประเด็นสำคัญเพื่อตอบคำถามที่ตั้งขึ้น


งานวิจัยพบว่า ช่วงจังหวะที่ทำให้การเอาใจเขามาใส่ใจเราลดลงมาก คือช่วงที่นักศึกษาต้องเริ่มฝึกรักษาคนไข้จริงๆ ซึ่งเกิดจากสาเหตุสำคัญ 4 ประเด็นคือ


1. การถูกถาโถมด้วยความจริงอันซับซ้อนของคนไข้

เมื่อนักศึกษาที่เรียนมาแต่เรื่องรักษาโรค (คุณหมอบดินทร์ใช้คำว่า “สอนให้เป็นช่างซ่อมรถ”) ต้องมาเจอความเจ็บป่วยของคนไข้ที่เชื่อมโยงแนบแน่นกับสาเหตุทางสังคมมากมายที่บั่นทอนสุขภาพก็ไม่รู้จะดีลกับความซับซ้อนที่เผชิญอย่างไร


2. บรรยากาศการเรียนรู้และวัฒนธรรมในโรงเรียนแพทย์ก็ยิ่งทำให้ไม่เข้าใจความจริงของความเจ็บป่วย

ตั้งแต่มวลความเครียดจำนวนมหาศาลที่เกาะแน่นเป็นวัฒนธรรมองค์กร การไม่มีเวลาไปเรียนรู้ความเป็นจริงของสังคมภายนอก การไม่มีมีต้นแบบของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา รวมทั้งการให้ความสำคัญที่สุดกับการรักษาโรคแบบชีวการแพทย์


3. ต้องปรับตัวให้รอด

นักศึกษาแพทย์จึงเลือกวิธีปรับตัวเพื่อไม่ให้ตัวเองพังทลาย ที่ทำกันเสมอๆ ณ ช่วงวิกฤตินี้คือการพัฒนาชุดเหตุผลและทัศติในการเหยียดคนไข้ขึ้นมา เช่น คนพวกนี้ไม่รู้จักดูแลตัวเอง หรือฉันไม่มีเวลาใส่ใจเฉพาะบุคคลหรอก ต้องดูแลคนตั้งเยอะ รวมทั้งการวางระยะห่างจากคนไข้แบบมืออาชีพ และการตัดอารมณ์ความรู้สึกออกจากงาน


4. เอาใจเขามาใส่ใจเราไม่เป็น

ส่วนใหญ่นักศึกษาแพทย์มักมาจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่าคนไข้ จึงไม่สามารถทำความเข้าใจประสบการณ์ชีวิตคนไข้ได้จริงๆ รวมทั้งการขาดทักษะการจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกท่วมทับจากความเครียดในการเรียน การไม่ได้ออกไปสัมผัสความเป็นจริงของสังคม และกรถูกตอกย้ำด้วยบรรยากาศการเรียนรู้อย่างที่เป็นอยู่ในโรงเรียนแพทย์ ทั้งหมดจึงนำสู่การลดทอนศักยภาพการเอาใจเขามาใส่ใจเราของนักศึกษา



ข้อค้นพบจากบทความชิ้นนี้ทำให้เห็นความสำคัญของการทำงานกับระบบการศึกษาในโรงเรียนแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้เขากลายเป็นหมอหุ่นยนต์ ที่พอมองเห็นแนวทางสำคัญเป็นเบื้องต้นคือ


  1. จัดการศึกษาเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเราให้เกิดขึ้นในระบบ

  2. ฝึกเรื่องจัดการความเครียด รวมทั้งสร้างความรู้สึกตัว ความสามารถในการสังเกตตนเอง และการดูแลตนเองให้นักศึกษา

  3. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา พร้อมทั้งมีต้นแบบที่ดี

  4. ให้ความสำคัญกับการรักษาแบบองค์รวมและปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพควบคู่กับการรักษาโรคที่เน้นเฉพาะชีวการแพทย์

  5. มีระบบสุขภาพที่ส่งเสริมให้บุคคลและชุมชนพึ่งตัวเองทางสุขภาพ เพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็นจำนวนมากในโรงพยาบาล

  6. จัดระบบอาสาสมัครในโรงพยาบาลเพื่อแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรในระบบและเพิ่มบรรยากาศของการดูแลกันแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา



ที่จริงบ้านเรามีแนวทางการทำงานเรื่อง “การแพทย์และระบบสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” ที่มีการบุกเบิกทำกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับการพานักศึกษาแพทย์และพยาบาลไปสัมผัสคนไข้ในชุมชนและในบริบทชีวิตของเขาโดยตรง เพื่อเข้าใจความจริงของความเจ็บป่วย และสามารถเชื่อมโยงของสาเหตุของโรคกับชีวิตทั้งชีวิตของคนป่วยแบบเป็นองค์รวม เพื่อสร้างทัศนคติของ “การรักษาคน” แทนที่ “การรักษาโรค”


ที่สำคัญ แนวทางนี้เน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาผ่านการใส่ใจอารมณ์ความรู้สึก และจัดการเรียนรู้แบบเสริมพลังมากกว่าการตำหนิและจับผิด ซึ่งกลายเป็นทั้งต้นแบบของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเป็นความพยายามสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ในโรงเรียนแพทย์และพยาบาลด้วย


ซึ่งน่าจะมีการเก็บข้อมูลและวิจัยกันต่อว่า การทำงานในแนวทางนี้ทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงใดบ้างต่อนักศึกษาแพทย์ วงการแพทย์ และระบบสุขภาพในบ้านเรา


อ่านบทความ “Why might medical student empathy change throughout medical school? a systematic review and thematic synthesis of qualitative studies” ที่ https://bmcmededuc.biomedcentral.com/.../s12909-023-04165-9


เขียนโดย: จารุปภา วะสี



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page