top of page

T1-4 | เสวนา “จิตตปัญญาศึกษา: การเปลี่ยนแปลงจากภายในครู สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระดับพื้นที่”

Updated: May 28

28 ก.พ. 68 15:30-17:30 น. ห้องประชุมชั้น 11 โรงแรมทริปเปิ้ลวาย สามย่านมิตรทาวน์

เจ้าภาพ : อ.ดร.อริสา สุมามาลย์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล

นําเสวนา : รศ.ดร.สุภาภรณ์ คําเรืองฤทธิ์ ม.มหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์, จตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ

รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครสวรรค์, ณัฐพร สุวรรณกนิษฐ ผอ.รร.เทศบาลวัดไทรเหนือ,

ฐิติมา สุขประเสริฐ ผอ.รร.สามแยกเจ้าพระยา และ มณฑาทิพย์ ริดน้อย ครู รร.สามแยกเจ้าพระยา

ผู้ดําเนินรายการ : รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล


เจาะลึกแนวทางการพัฒนาครูและผู้เรียนจาก “นครสวรรค์โมเดล” ของโครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษาสู่สังคมแห่งความสุข ที่ใช้สติและการตื่นรู้มาเป็นแกนหลักของการศึกษา การพัฒนาครู ผู้เรียน และขยายสู่การขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มอำนาจภายในของผู้เรียนและแก้ปัญหาเด็กเสี่ยงและเด็กหลุดระบบการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในของครูและผู้บริหาร การปรับการเรียนการสอนและความสัมพันธ์ของคนในนิเวศการศึกษา และสร้างระบบที่เกื้อหนุนการเติบโตของทุกฝ่าย



ชมคลิปบันทึกเสวนาแบบย่อ


ชมคลิปบันทึกเสวนาแบบเต็ม



สรุปใจความสำคัญ


ในเสวนา “จิตตปัญญาศึกษา: การเปลี่ยนแปลงจากภายในครูสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระดับพื้นที่” ผู้บรรยายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้จิตตปัญญาศึกษาในการพัฒนาครูและระบบการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าใจตัวเองและการพัฒนาในระดับบุคคล เพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาทั้งในระดับองค์กรและชุมชน การเปลี่ยนแปลงภายในตัวครูมีผลกระทบต่อบรรยากาศการทำงานและการเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีขึ้นในที่ทำงาน

 

การเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการฝึกสติและการทบทวนตัวเองช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ตั้งสติและสำรวจสิ่งที่ทำให้พวกเขามีแรงบันดาลใจในการทำงานและการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังมีการใช้คลิป “นครสวรรค์โมเดล” และการแลกเปลี่ยนคำถามเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน การเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของโรงเรียนต่างๆ ทำให้เกิดการเปิดมุมมองใหม่และการเข้าใจถึงการนำจิตตปัญญาศึกษามาปรับใช้ในบริบทต่างๆ

 

ข้อสรุปที่สำคัญจากกิจกรรมนี้คือ การเปลี่ยนแปลงภายในตัวครูต้องใช้เวลา และเมื่อครูสามารถเข้าใจตัวเองและจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น จะส่งผลให้การทำงานในระบบการศึกษามีความสุขและมีพลังในการส่งต่อความรู้และพลังบวกให้กับนักเรียนและเพื่อนร่วมงาน การพัฒนาตัวเองจะทำให้ครูสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ลดความเครียดและความกลัวที่อาจบดบังศักยภาพของตัวเอง

 

จิตตปัญญาศึกษาไม่เพียงแต่ช่วยในการพัฒนาครู แต่ยังส่งเสริมการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้นในโรงเรียน โดยการเปลี่ยนแปลงจากภายในของครูจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่มีความเข้าใจมากขึ้นและมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับนักเรียนและครอบครัว นอกจากนี้ยังส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณให้กับครูและนักเรียน ซึ่งช่วยให้ทุกคนมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ รอบตัวให้ดีขึ้น

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความสนใจและความตั้งใจที่จะนำแนวทางจิตตปัญญาศึกษาไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระบบการศึกษา

 

  • การพัฒนาครูและผู้เรียนผ่านการใช้สติและการตื่นรู้ เน้นการใช้สติและการตื่นรู้เป็นแกนหลักในการพัฒนาครูและผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างอำนาจภายในและความเข้าใจตัวเอง ทั้งนี้เพื่อให้ครูสามารถปลูกฝังคุณธรรมและการคิดอย่างมีเหตุผลให้แก่ผู้เรียน

  • การพัฒนาครูและผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา การเสริมสร้างสติและการตื่นรู้ในตัวครูจะช่วยให้สามารถปรับปรุงการเรียนการสอนและสร้างบรรยากาศที่ดีในโรงเรียน

  • การปรับการเรียนการสอนและความสัมพันธ์ในนิเวศการศึกษา การเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแค่ในตัวครูและผู้บริหาร แต่ยังครอบคลุมถึงการปรับวิธีการเรียนการสอนและความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และชุมชน ซึ่งช่วยสร้างนิเวศการศึกษาที่สนับสนุนการเติบโตและการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

  • การสร้างระบบที่เกื้อหนุนการเติบโต เน้นการสร้างระบบการศึกษาและการสนับสนุนที่เกื้อหนุนการเติบโตของทุกฝ่าย โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้านของการศึกษา

 


“การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ต้องเริ่มจากภายใน

จิตตปัญญาศึกษาช่วยแก้ปัญหาจากตัวเอง

รู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ทำงานสนุกขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น

ต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองก่อน ก่อนที่จะช่วยคนอื่น”



ผู้เขียน  ทีมจัดการความรู้ สุขภาวะทางปัญญา' 68





บทสะท้อนจากเจ้าภาพห้องประชุมย่อย จิตตปัญญาศึกษา : จากการเปลี่ยนแปลงภายในครู สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระดับพื้นที่



1.  จากมาพร้อมคำถาม


ย้อนกลับไปช่วงปี 2556-2565 ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่หน้าชั้นเรียน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เธอเริ่มกิจกรรมทุกวันโดยให้นักศึกษาฝึกทำสมาธิสั้นๆ ตามด้วยการทบทวนและบอกเล่าความรู้สึกของนักศึกษาในเช้าวันนั้น จากนั้น นักศึกษาก็ได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสังคม ผ่านสื่อ ดนตรี ภาพยนตร์ ศิลปะ สุนทรียสนทนา การเรียนรู้นอกสถานที่ และอีกมากมายที่จะจบท้ายด้วยการให้นักศึกษาได้มีเวลาฟังเสียงภายในตนเองและสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน วันเวลาผ่านไปเป็นเวลากว่า 9 ปีที่เธอได้เป็นเพื่อนร่วมทางกับนักศึกษา พัฒนาแนวทางการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้คลี่คลายเรื่องราวความขัดแย้งในใจ ได้กลับมาเห็นคุณค่าในตนเอง ได้กล้าคิด กล้าฝัน และกล้าลงมือทำสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต เธอคนนั้นคือ ฉันเอง


ที่นั่น ฉันได้ไปสอนวิชาจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเป็นวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไป (General Education) เนื่องด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่การเรียนรู้ด้านในสำหรับนักศึกษา ฉันจึงได้พบเจอกับนักศึกษามากมายหลายคณะ หลายชั้นปี พอๆ กับที่ได้พบเจอกับกลุ่มเพื่อนอาจารย์จากคณะต่างๆ ที่มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม PLC (Professional Learning Community) ด้วยความสมัครใจ เราจัดอบรมและทำโครงการระยะสั้นกันอยู่เรื่อย ๆ เพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่มีความหมายกับผู้สอนและผู้เรียน โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยหรือแหล่งทุนภายนอก แต่ด้วยความที่พื้นเพฉันเป็นคนกรุงเทพฯ ฉันรู้ดีว่าสักวันหนึ่ง ฉันก็ต้องกลับบ้าน จึงมีคำถามว่า สิ่งที่ฉันกับเพื่อนๆ อาจารย์ช่วยกันทำจะคงอยู่ไปได้นานเท่าไหร่ นอกจากการมีวิชาแล้วจะทำอย่างไรให้จิตตปัญญาศึกษาคงอยู่ในระบบของมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่ทันที่จะได้คำตอบ ก็ถึงจังหวะเวลาที่ฉันย้ายมาทำงานที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 


2. หรือว่ามันจะเป็นไปได้


หลังจากที่ฉันได้ทำงานกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษามาสองปีกว่า ฉันก็ได้เข้ามาทำงานใน “โครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษาสู่สังคมสุขภาวะ” ซึ่งศูนย์ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 (ในชื่อเดิมว่า “โครงการหยั่งรากจิตตปัญญา สู่สังคมแห่งความสุข”) และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านประเด็นการทำงานและกลุ่มเป้าหมาย โดยครอบคลุมทั้งบุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรด้านสาธารณสุข  สำหรับปีนี้ โครงการมุ่งเน้นการส่งเสริมมิติจิตวิญญาณความเป็นครูในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง อาทิ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สถาบันการอาชีวศึกษา รวมถึงโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ฉันเข้ามาทำงานในโครงการนี้ในบทบาทของทีมงานสื่อ เพื่อสื่อสารเรื่องราวและประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมโครงการให้ขยายผลไปสู่สังคมวงกว้าง และมองว่านอกจากบทความในเพจ Facebook หรือเว็บไซต์ของศูนย์แล้ว การจัดวงเสวนาก็เป็นสื่ออีกแบบหนึ่งที่เข้าถึงผู้คนได้ดี ในขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมพลังใจให้ผู้ที่ขึ้นเวทีเสวนาด้วย จุดนี้เอง ฉันจึงได้มาร่วมจัดห้องย่อยในเวที Soul Connect Fest (SCF) 2025 จากการประชุมในศูนย์ สรุปว่าเราน่าจะนำเสนอประสบการณ์จากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ซึ่งต่อไปฉันจะขอเรียกว่ามหิดลนครสวรรค์) ซึ่งคณะอาจารย์ได้เริ่มเรียนรู้และนำไปจิตตปัญญาศึกษาไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนกับนักศึกษา การพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยกันมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว เมื่อมีโครงการหยั่งรากฯ เข้ามาหนุนเสริมการทำงานของคณะอาจารย์ก็เกิดการขยายผลไปยังไปชุมชนภายนอก โดยพื้นที่การดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 คือ โรงเรียนสามแยกเจ้าพระยา


ที่นี่ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษา รวมถึงไปศึกษาดูงานจิตศึกษาที่โรงเรียนลำปลายมาศ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวครู แนวทางการสอน การจัดตารางเรียน และการสร้างคาบวิชาใหม่ ต่อเนื่องด้วยการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านจิตตปัญญาศึกษา ในปี 2568 ซึ่งโดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้มักพบในโรงเรียนทางเลือกเอกชน การที่เกิดขึ้นได้ในโรงเรียนของรัฐที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนราว ๆ 50 คน และมีทรัพยากรจำกัด จึงเป็นความหวังว่าการศึกษาเพื่อการเข้าใจโลกและชีวิตเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในท้องถิ่นที่อื่น และเกิดความเท่าเทียมทางการศึกษาได้มากขึ้น[i]


ในปีเดียวกันนี้ ทีมอาจารย์จากมหิดลนครสวรรค์ยังได้ขยายการทำงานร่วมกับเทศบาลและโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อทำงานกับเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และยังส่งเสริมบทบาทของเทศบาลในการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษาร่วมกับโรงเรียน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในหน่วยงาน และการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาครูและโรงเรียน ซึ่งจะช่วยเอื้อต่อทำงานร่วมกับทีมมหิดลนครสวรรค์ในระยะยาว


ความโดดเด่นทั้งในด้านการพัฒนาจิตตปัญญาศึกษาในหลากหลายหน่วยงาน การสร้างเครือข่าย การประสานความร่วมมือ และการใช้งบประมาณร่วมจากหลายภาคส่วน ทำให้เกิดชื่อเรียกว่า “นครสวรรค์โมเดล”[ii] และเป็นแรงบันดาลใจให้ศูนย์อยากสื่อสารกับสังคมในประเด็นที่โตขึ้นกว่าการบอกว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร ดีอย่างไร แต่เป็นการสื่อว่า “หากเปรียบจิตตปัญญาศึกษาเป็นยา นอกจากจะบอกสรรพคุณของยาแล้ว เราจะออกแบบระบบจัดการยาอย่างไร ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้จริง” เราจึงตั้งชื่อห้องย่อยโดยเน้นประเด็น “การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระดับพื้นที่” เมื่อมาถึงจุดนี้ คำถามที่ฉันเคยมีเกี่ยวกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่ยั่งยืนก็หวนกลับมาอีกครั้ง หรือบางที เวทีนี้เอง อาจจะพาฉันเข้าใกล้คำตอบมากขึ้น

 


3. ตอบตามสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น


อ.สุ หรือรศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ คือคนแรกที่ฉันติดต่อไป เนื่องจากเธอเป็นผู้ดำเนินงานหลักในมหิดลนครสวรรค์และเราเคยพบเจอกันในงานและการประชุมต่างๆ เราปรึกษากันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดเสวนาหัวข้อนี้ ซึ่งอ.สุตอบว่า “มันจะให้คำตอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหรือเปล่า ก็คิดว่าทีมของตนเองก็ยังอยู่บนเส้นทางนะ แต่เราจะบอกเล่าจากประสบการณ์ของเราว่าที่ผ่านมา เราเดินกันมาอย่างไร”


เวทีนี้จึงได้มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่


  1. รศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์

  2. จตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครสวรรค์

  3. ณัฐพร สุวรรณกนิษฐ ผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ ท.8

  4. ฐิติมา สุขประเสริฐ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสามแยกเจ้าพระยา 

  5. มณฑาทิพย์ ริดน้อย ครู โรงเรียนสามแยกเจ้าพระยา


และที่ขาดไม่ได้เลย ผู้ดำเนินรายการ (moderator) คือ รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษานี่เอง (ซึ่งต่อไปฉันจะกล่าวถึงท่านด้วยชื่อย่อๆ ว่า อ.ชัช) ฉันตั้งใจเลือกเชิญท่าน เพราะเชื่อมั่นในความแหลมคมที่มาพร้อมกับอารมณ์ขันของท่าน และจากการได้ซักซ้อมการเสวนากันทาง online เราพบว่า ผู้ร่วมเสวนาบอกเล่าประสบการณ์ด้วยความซื่อตรงจากการเรียนรู้ที่ผ่านมาด้วยตนเอง อ.ชัชบอกว่า “นี่แหละคือพลัง เราเป็นอย่างไร เราก็สื่อสารอย่างนั้น ไม่ต้องพยายามไปโน้มน้าวอะไร ผู้ฟังจะรับรู้ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากพลังภายในของครู ไม่ได้เกิดจากการบังคับด้วยนโยบาย”


ทุกคนจึงรู้สึกวางใจ มีแต่ฉันที่ยังครุ่นคิดกับมันอยู่ ว่าจะเชื่อมโยงประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงภายในของแต่ละท่าน ให้มาเห็นเป็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่อย่างไรนะ เพราะการดำเนินงานใน scale ขนาดนี้ มันมีพัฒนาการผ่านช่วงเวลาหลายปี มีความซับซ้อนและมีผู้คนที่เกี่ยวข้องหลากหลาย (ฉันเองยังต้องให้ฟังอ.สุเล่าให้ฟังอยู่หลายรอบ) เราจะต้องให้ข้อมูลความเป็นมาแก่ผู้ฟังก่อนเข้าเรื่องเสวนาอย่างไร หรือจะใช้คลิป ใช้สื่อประกอบอย่างไรดี ในอีกมุมหนึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ที่เราตั้งธงกันว่าศูนย์จะสื่อสารในประเด็นที่โต (mature) ขึ้น เราจะไปถึงจุดนั้นกันไหม

 


4. ไปกันต่อ!


ในที่สุดก็มาถึงวันงาน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 15.30-17.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 11 โรงแรมทริปเปิ้ลวาย สามย่านมิตรทาวน์ ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นดี มีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 20 คน ประเด็นคำถามจากอ.ชัชค่อย ๆ ไล่เรียงจากมุมมองของอ.สุในการทำงานกับเครือข่ายในจังหวัด ความทุกข์ที่ผู้ร่วมเสวนาแต่ละท่านต้องประสบพบเจอก่อนเข้าร่วมโครงการ จากนั้น เกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และมีแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรกันต่อ ถ้าจะสรุปขมวดประเด็นให้ผู้อ่านบทความนี้ได้ประโยชน์ตรงกับหัวข้อ ฉันขอลำดับประเด็นเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในครู และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระดับพื้นที่ ดังนี้


(1) การเปลี่ยนแปลงภายในครู


จาก “เข้าตา” สู่ “เข้าใจ”


มณฑาทิพย์ ริดน้อย (ครูปิ๊ง) จากโรงเรียนสามแยกเจ้าพระยา เล่าว่า เมื่อก่อนเธอทำงานด้วยความกดดัน ต้องทำให้ “เข้าตา” ผู้บริหาร ใครจะไม่เข้าใจเธอก็ไม่เป็นไร เพราะต้องเอาตัวรอด ไม่กล้าทำผิดพลาด กลัวถูกตัดสิน จนหลงลืมความรู้สึกของตัวเอง แต่เมื่อได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษา จึงได้กลับมาฟังเสียงข้างในของตนเอง รับรู้ถึงความกลัว ความไม่มั่นคง และภาระที่แบกไว้โดยไม่รู้ตัว เริ่มเห็นว่า “เราไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว” และที่สำคัญคือ “เราไม่เคยรู้เลยว่าเพื่อนที่เราทำงานด้วยทุกวัน เขามีเรื่องอะไรอยู่ในใจบ้าง เพราะเราไม่เคยฟังกันจริง ๆ” จึงทำให้ใส่ใจรับฟังเพื่อนร่วมงานมากขึ้น “เข้าใจ” กันมากขึ้น ความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็ดีขึ้น


ส่วนมุมมองของผู้อำนวยการโรงเรียน ฐิติมา สุขประเสริฐ (ผอ.ทราย) จากโรงเรียนสามแยกเจ้าพระยาเล่าว่า  จากเดิมที่ตนมุ่งเน้นผลสำเร็จและคาดหวังให้ครูทำผลงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตัวเองตั้งไว้ แม้ว่าตนเองจะพร้อมช่วยเหลือสนับสนุน แต่กลับไม่มีครูกล้าบอกว่าทำไม่ทัน ประกอบกับครูในโรงเรียนมีหลายช่วงวัย จะทำอย่างไรให้ครูร่วมมือกัน จนได้เข้ามาร่วมเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษา จึงเท่าทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง ชะลอตนเองให้ช้าลงบ้าง ครูเริ่มรู้สึกว่าพวกเขามีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและทำงานร่วมกันมากขึ้น เกิดการใช้อำนาจร่วมกันมากขึ้น ส่งผลให้ครูช่วยกันลดปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนได้


มอง “ที่มา” ของปัญหาที่ผู้เรียนมี มากกว่า “พฤติกรรม”


ณัฐพร สุวรรณกนิษฐ (ผอ.ลิป) โรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ ท.8 แบ่งปันประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เดิมทีโรงเรียนปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงศึกษาอย่างเคร่งครัด เช่น การวัดผลตามเกณฑ์จำนวนครั้งที่ขาดเรียน หากขาดเกินก็หมดสิทธิ์สอบ แต่เมื่อได้เรียนรู้แนวทางจิตตปัญญาศึกษา ครูเริ่มตั้งคำถามกับพฤติกรรมของเด็กมากขึ้นว่า “เพราะอะไร” เด็กจึงเป็นเช่นนั้น ครูหันมาใส่ใจ รับฟัง และลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็ก ครูจึงเข้าใจสภาพแวดล้อมและบริบทที่เด็กเติบโตมา และสามารถช่วยเหลือได้ตรงจุดมากขึ้น รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการประเมินผล เช่น บางกรณีเด็กมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ครูก็สามารถปรับวิธีการดูแลและให้โอกาสที่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนท่าทีในการสื่อสารกับผู้ปกครอง จากที่ผู้ปกครองเคยกลัวการถูกเรียกพบครู ก็เปลี่ยนเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในบทบาทของแต่ละฝ่าย เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดูแลลูกหลานมากขึ้น


เปลี่ยนแปลงตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มี “สายสัมพันธ์” ในชีวิต


ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านได้บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน โดยเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจอารมณ์ของตนเองอย่างไม่หลีกเลี่ยง และไม่พยายามปฏิเสธ แต่เลือกอยู่กับมันอย่างไม่ตัดสิน ค่อย ๆ ฝึกการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจบนฐานของคุณค่า มากกว่าการตอบสนองตามแรงอารมณ์แบบอัตโนมัติ บางท่านเล่าถึงบทบาทของแม่ที่เปิดใจรับฟังลูก หรือในฐานะลูกที่กล้าสื่อสารความรู้สึกกับพ่อแม่ ทำให้เกิดความเข้าใจและความใกล้ชิดกันมากขึ้น บางท่านเล่าถึงความเข้าใจชีวิตคู่และความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวด้วยมุมมองที่อ่อนโยนและไม่รีบตัดสิน เมื่อภายในมั่นคงขึ้น พลังในการทำงานก็เกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่จากการเป็นคนเก่งหรือสมบูรณ์แบบ แต่จากการฝึกฝนภายในอย่างสม่ำเสมอ เสมือนกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นทีละน้อย ทั้งในฐานะพ่อแม่ ลูก คู่ชีวิต คนทำงาน และในที่สุดคือการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น


(2) การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในพื้นที่


เอาโจทย์ของพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่จิตตปัญญาศึกษา


อ.สุ เล่าถึงแนวทางการทำงานของคณะทำงานกับเครือข่าย ว่ายึดหลักการฟังพื้นที่มากกว่าการนำแนวคิดเข้าไปให้ พวกเขาไม่เริ่มจากคำถามว่า “จะเอาจิตตปัญญาเข้าไปอย่างไร” แต่เริ่มจากการถามว่า “พื้นที่ต้องการอะไร” “จิตตปัญญาศึกษาช่วยแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร” แล้วจึงออกแบบการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยพื้นที่เป็นเจ้าของโจทย์ และทำให้เขาเกิดพลังในการลุกขึ้นมาช่วยผู้อื่นต่อ


มองเป้าหมายเล็กๆ แต่สำคัญ คือ “ครู” เป็นลำดับแรก


จตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ (คุณตู้) รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครสวรรค์เล่าว่า เดิมเคยมีการสำรวจผ่านแบบสอบถามว่าโรงเรียนมีปัญหาอะไรบ้าง แต่พบว่าได้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริง เพราะโรงเรียนเกรงใจผู้บริหาร กลัวจะถูกมองไม่ดี จึงแต่งข้อมูลให้ดูสวยงาม เช่น ถามว่ามีนักเรียนสูบบุหรี่ไหม ทุกโรงเรียนบอกว่าไม่มี ทำให้ไม่สามารถวางแผนการพัฒนาโรงเรียนได้ แต่เมื่อมีแนวทางจิตตปัญญาศึกษาเข้ามา ผู้บริหารระดับเทศบาลเริ่มเข้าใจว่า ถ้าอยากให้โรงเรียนดี ต้องเริ่มจาก “ทำให้ครูมีความสุขก่อน” การส่งครูจากโรงเรียนเทศบาลเข้าร่วมอบรม คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เมื่อครูรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น เขาจึงพร้อมจะช่วยเด็กอย่างจริงใจ และสร้างโรงเรียนแห่งความสุขได้


สร้าง “วิถีของโรงเรียน” ที่ยืนอยู่ได้ แม้คนจะเปลี่ยน


เคยมีคนถามครูปิ๊งว่า ถ้าเปลี่ยนผู้อำนวยการแล้ว จิตตปัญญาศึกษาจะยังอยู่ไหม? เมื่อก่อนเธอเองก็ไม่แน่ใจ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เห็นว่าเวลามีครูใหม่เข้ามาในโรงเรียนก็สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีของโรงเรียนอยู่บนฐานของความเข้าใจและการฟังอย่างลึกซึ้งได้อย่างกลมกลืน จึงเข้าใจว่า แม้วันหนึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการ แต่วิถีของโรงเรียนยังดำรงอยู่ และสร้างผลลัพธ์ที่ดีทั้งในด้านผลงาน ความสัมพันธ์ และบรรยากาศการทำงาน ผู้อำนวยการที่เข้ามาใหม่ก็จะมองเห็นประโยชน์และสานงานต่อจากต้นทุนที่มี


ก้าวต่อไป


ผู้ร่วมเสวนาช่วยกันเสริมมุมมองต่อก้าวต่อไป ว่าเมื่อครูเปลี่ยน ผู้ปกครองก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก และอยากรู้ว่าโรงเรียนทำอย่างไร โรงเรียนจึงตั้งใจจะสร้างความร่วมมือกับครอบครัวมากขึ้น และไม่หยุดอยู่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะมุ่งไปสู่การบ่มเพาะเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ การสร้างกระบวนกรในพื้นที่ก็มีความสำคัญ เพื่อที่จะสามารถจัดอบรมและสานต่อแนวคิดนี้ให้ครูได้สัมผัสและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครู

 

เมื่อจบช่วงเสวนาและปิดท้ายด้วยคลิปการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนสามแยกเจ้าพระยาก็เป็นช่วงถามตอบ ผู้ฟังส่วนใหญ่แสดงความรู้สึกขอบคุณที่เวทีนี้ช่วยเสริมพลังความเป็นครูในตัวเขา บ้างก็ช่วยแสดงความคิดเห็นว่าจะขยายงานด้านจิตตปัญญาศึกษาในสังคมอย่างไร และมีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ “คนที่ไม่เคยได้เข้าร่วมในกระบวนการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษามักจะมองว่า จิตตปัญญาศึกษาเป็นนามธรรม ไม่มีตัวเลขมายืนยัน จะมีชุดสนับสนุนเพื่อช่วยอธิบายที่ไม่ใช่เรื่องเล่า (storytelling) หรือไม่ ที่จะทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น”


ผอ.ทรายตอบว่า ตอนแรกตัวเองก็ปฏิเสธเหมือนกัน แต่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ช่วยเราได้ จึงลองศึกษาค้นคว้าและเปิดใจ “เมื่อใช้ใจนำทาง ใจเราเปิด ทางจะเปิด” อ.สุช่วยตอกย้ำอีกครั้งเรื่องการทำงานโดยการรับฟังและทำความเข้าใจโจทย์ในพื้นที่เป็นตัวตั้ง และช่วยให้พื้นที่ “แก้ปัญหาของตัวเองได้ และไปช่วยคนอื่นต่อได้” อ.ชัชเสริมมุมมองเพิ่มเติมเรื่องการบูรณาการกับศัพท์วิชาการใหม่ๆ เช่น growth mindset, resilience หรือสุขภาวะทางปัญญาที่กำลังเป็นที่สนใจ เพราะ “ไม่ว่าจะใช้คำไหน ล้วนต้องใช้ความตระหนักรู้เป็นฐาน” จะไม่ใช้คำว่าจิตตปัญญาศึกษาเลยก็ได้ และสุดท้าย คุณตู้ช่วยเสริมว่า การประเมินผลกับผู้เข้าร่วมก็ทำให้มีตัวเลขที่ช่วยให้สื่อสารถึงประโยชน์และคุณค่าของจิตตปัญญาศึกษาได้

 


5. ย้อนมองเวที


ฉันเริ่มต้นการเขียนสะท้อนตนเอง (self-reflection) นี้ด้วยคำว่า “รับรู้ซื่อ ๆ เรียบง่าย กล้าหาญ เบิกบาน” ไว้ที่หัวมุมกระดาษตามที่คณะผู้จัดทำ proceeding เชื้อเชิญ ฉันใช้เวลาหลายวันทีเดียวกับการเขียนงานชิ้นนี้ เพราะมันไม่ใช่เพียงการรายงานผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการเอาตัวเอาใจกลับมาอยู่กับงาน จากความทรงจำที่เลือนลางหลังจบงาน ฉันจำได้เพียงภาพของผู้ฟังสิบกว่าคนที่ยังยืนพูดคุยกับวิทยากรหน้าเวที เหมือนว่าสองชั่วโมงที่ผ่านมายังไม่เต็มอิ่ม บางคนแลกช่องทางติดต่อกันไว้ เผื่อมีโอกาสได้ช่วยกันต่อ ทุกคนดูพึงพอใจกับประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา แต่เมื่อได้กลับมาเขียนสะท้อนตนเองแบบ free writing และย้อนฟังงานเสวนาที่บันทึกวิดีโอไว้ ทำให้ได้ตกผลึกการเรียนรู้ที่อยากสรุปทิ้งท้ายไว้ ดังนี้


1. จิตตปัญญาศึกษากับการทำงานเชิงโครงสร้าง เมื่อพูดถึงจิตตปัญญาศึกษา หลายคนมักเข้าใจว่าเป็นแนวทางที่สนใจแต่ด้านในของมนุษย์จนละเลยมิติของสังคม หรือโครงสร้างระบบที่สร้างปัญหาในชีวิตคนจำนวนมาก แต่ที่จริง จิตตปัญญาศึกษามองเห็นปัญหาเหล่านั้น เพียงแต่มันเลือกเข้าไปคลี่คลายระบบจากจุดที่มักถูกมองข้าม คือ “จิตใจของคนที่อยู่ในระบบ”


ประสบการณ์ของครูและผู้บริหารการศึกษาที่เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนในงาน Soul Connect Fest 2025ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ความกลัวฝังลึกอยู่ในทุกระดับของระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น…


เทศบาลที่อยากพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ แต่โรงเรียนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลปัญหา เพราะเกรงถูกตำหนิ


ผู้อำนวยการที่อยากสนับสนุนครู แต่ครูกลับไม่กล้าเข้าไปพูดคุยหรือขอความช่วยเหลือ


ครูที่อยากช่วยเหลือเด็ก แต่เด็กกลับไม่กล้าสื่อสารถึงปัญหาหรือความทุกข์ที่เผชิญอยู่


แต่เมื่อคนในระบบเริ่มหันกลับมาทำงานกับภายในของตนเอง เข้าใจความกลัวของตนเอง กล้าที่จะเปิดใจ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ก็เริ่มเปลี่ยน โครงสร้างเดิมที่เคยนิ่งเฉยก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง งานพัฒนาการศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ที่มีจิตตปัญญาศึกษาเป็นแนวทางสำคัญ จึงไม่ได้เริ่มจากความพยายามจะเปลี่ยนระบบโดยตรง อย่างเช่นการกำหนดนโยบาย หากแต่เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงงอกงามจากข้างในของผู้คนในระบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบาย ผู้บริหาร ครู หรือแม้แต่เด็กนักเรียน ที่เมื่อสะสมมากพอก็เป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโรงเรียน และขยายผลไปสู่ระดับพื้นที่อย่างเป็นธรรมชาติ


2. จิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่เพียงกิจกรรม แต่คือการเรียนรู้ภายใน  แม้หลายคนจะคุ้นกับจิตตปัญญาศึกษาในรูปแบบของกิจกรรม เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง สุนทรียสนทนา ฯลฯ แต่จิตตปัญญาศึกษามีความหมายที่ลึกและกว้างกว่านั้น เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของจิตใจ ทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น ความกลัว ความเครียด หรือความอ่อนแอ และสามารถอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไม่ปฏิเสธ เมื่อเข้าใจตนเอง เราก็จะเห็นศักยภาพภายใน และตอบสนองต่อสถานการณ์ด้วยคุณค่าที่เรายึดถือ การเรียนรู้จึงไม่ได้เป็นการพอกพูนความรู้ แต่เป็นการเติบโตจากภายในสู่ภายนอก (inside-out) หากเข้าใจเช่นนี้ เราจะสามารถนำไปเชื่อมกับโจทย์เฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นเครื่องมือเพื่อไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้นั้น


3. วิธีคิดเกี่ยวกับ “ความยั่งยืน” ที่เปลี่ยนไป แต่เดิม ฉันมองคำว่ายั่งยืนเหมือนกับการสร้างอะไรบางอย่างไว้ถาวร ดังเช่นตึกหรือถนนที่เสร็จแล้วก็ยังคงอยู่ได้ ซึ่งอาจจะมาจากการถูกตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่า “ถ้าเราไม่ทำงานนี้ต่อแล้ว มันจะยังคงอยู่ไหม” จนกลายเป็นภาพมายาคติในหัวของฉันเอง แต่เมื่อได้กลับมาทบทวน ฉันเริ่มเห็นว่า “ความยั่งยืนในมิติของการทำงานกับผู้คนอาจหมายถึงสิ่งที่ผู้คนอยากรักษาไว้ เพราะมันเคยแตะต้องหัวใจในยามที่เขาทุกข์ และมอบความหมายใหม่ให้กับชีวิต เขาจึงเรียนรู้ที่จะรักและอยากรักษาสิ่งนั้นไว้” เมื่อได้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับพลังชีวิตในช่วงเวลาที่เหมาะสม คุณค่าก็ได้เกิดขึ้น หากวันหนึ่งสิ่งนั้นเปลี่ยนไปหรือจางคลายลงตามปัจจัย ก็เป็นธรรมชาติของชีวิตที่ไม่มีอะไรคงอยู่ถาวร การยอมรับความเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้เราไม่ดูหมิ่นหรือเสียดายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น แม้ว่ามันอาจไม่หลงเหลือชื่อหรือรูปแบบเดิมอีกต่อไป


สุดท้าย ฉันรู้สึกขอบคุณผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน อ.สุ รองฯตู้ ผอ.ทราย ผอ.ลิป และครูปิ๊ง ที่เดินทางกันมาไกลจากนครสวรรค์เพื่อมาบอกเล่าเรื่องราวการเติบโตของพวกเขาจากความรู้สึกจริงๆ ที่มีข้างใน และฉันคิดว่าผู้ฟังสามารถรับรู้ถึงหัวใจของทุกคนได้เช่นกัน ขอบคุณรศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปะกิจ ผู้ดำเนินการเสวนาที่ทำให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเอง แต่ยังคงเน้นที่สาระสำคัญของจิตตปัญญาศึกษา และขอบคุณผู้ฟังทุกท่าน ทุกๆ การสบตา รอยยิ้ม การรับรู้ และการแลกเปลี่ยน พาให้เกิดความเข้าใจ ที่มาไกลจากวันแรกที่เริ่มคิดจัดห้องย่อยนี้

 


6.) กลับมาสู่หน้าชั้นเรียน


วันนี้ที่ฉันกำลังเขียนบทความนี้ ฉันกลับมาอยู่หน้าชั้นเรียนอีกครั้ง แต่เป็นชั้นเรียนของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังจัดอบรมพัฒนาศักยภาพภายในของครูจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาล รวมถึงโรงเรียนสามแยกเจ้าพระยา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลย่านมัทรี ซึ่งเป็นการขยายงานต่อจากปีที่แล้ว นับเป็นจังหวะเวลาพอดีที่ฉันได้มาร่วมทำงานและได้มาชื่นชมความมุ่งมั่นของอาจารย์สุและทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่นี่อีกหลายท่าน ที่ร่วมกันดูแลและเสริมแรงให้งานด้านจิตตปัญญาศึกษาเติบโต


สุดท้าย ฉันมีเกร็ดเล็กๆ เกี่ยวกับตัวเอง ถึงที่มาของการได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ย้อนไปในอดีต รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ณ ขณะนั้น ผศ.ปรีชา ธรรมวินธร ก็เป็นหนึ่งในผู้ฟังที่เข้าร่วมงานประชุมวิชาการซึ่งมีการพูดถึงจิตตปัญญาศึกษา ทำให้เกิดความคิดว่า มหาวิทยาลัยควรมีพื้นที่เรียนรู้แบบนี้ให้นักศึกษา จนนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาศึกษาทั่วไปและเพิ่มวิชานี้ขึ้นมาในปี 2554 แล้วภาพทั้งหมดก็เริ่มต้นขึ้น เหมือนที่ฉันได้เล่าไว้ในตอนต้น


ฉันอยากเล่าเรื่องนี้เพื่อให้เห็นว่า การสื่อสารประเด็นทางวิชาการ แม้เราอาจไม่เห็นผลลัพธ์ทันทีหลังจากบทสนทนาสิ้นสุดลง แต่อาจเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของใครบางคน อย่างที่เราคาดไม่ถึง ฉันจึงอยากฝากกำลังใจให้กับผู้จัดงาน Soul Connect Fest และเจ้าภาพห้องย่อยทุกท่าน เรื่องราวของคุณอาจสะท้อนให้เห็นความทุกข์ร่วมของสังคม และเป็นความหวังให้กับใครบางคนที่แวะผ่านมา ขอให้คุณเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คุณทำ มีความหมายเสมอ

 


[i] รับชมคลิปเกี่ยวกับโรงเรียนสามแยกเจ้าพระยา ได้ที่ลิงค์ https://www.facebook.com/share/v/1DhAUDAEKN

[ii] รับชมคลิปเกี่ยวกับนครสวรรค์โมเดล ได้ที่ลิงค์ https://youtu.be/wR072mgwjmk?si=Ql1RenqhZUqKEDd2

 

 

ผู้เขียน ดร.อริสา สุมามาลย์



Comentarios


Ya no es posible comentar esta entrada. Contacta al propietario del sitio para obtener más información.

ติดตามเรา

  • Facebook
  • Youtube
ศูนย์ความรู้_darker text.png
Logo_Portfolio_RGB_ThaiHealth_2022-01.png
bottom of page