top of page

T5-4 ศิลปะกับการก้าวข้ามตัวตน

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



ศิลปะกับการก้าวข้ามตัวตน


มีผลงานวิจัยจำนวนไม่น้อยอ้างว่า การก้าวข้ามตัวตนมีความสัมพันธ์กับความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ กล่าวคือ เมื่อบุคคลสามารถข้ามผ่านสภาวะหนึ่งๆอันหยุดนิ่งของตนเองได้ จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงไปสู่พัฒนาการขั้นต่อไปของตนเอง เช่น งานวิจัยที่สำรวจผู้หญิงที่ฟื้นฟูตัวเองจากมะเร็งเต้านม พบว่าพวกเธอรายงานถึงความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณที่ได้จากการออกกำลังกาย การรวมกลุ่มบูชา และการสวดมนต์เดี่ยว โดยทั่วไปแล้วสภาวะหยุดนิ่งดังกล่าวมักถูกกล่าวถึงในเชิงลบ เช่น ภาวะความกังวลเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งเมื่อก้าวข้ามมาได้ จะมีลักษณะเชิงบวกมากกว่า


ศิลปะการแสดงเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สามารถเป็นสื่อกลางให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น การที่นักแสดงก้าวข้ามจากความเป็นคนขี้อายกลายเป็นนักแสดงฝีมือดีบนเวที นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีสิ่งที่เรียกว่าศิลปะเชิงจิตวิญญาณ ซึ่งหมายความรวมถึงศิลปะที่ใช้ผัสสะอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์หรือศิลปะที่ใช้ร่างกาย จึงน่าสนใจว่าศิลปะแขนงต่างๆจะเป็นสื่อกลางของการก้าวข้ามตัวตนซึ่งนำไปสู่ความแข็งแรงทางจิตวิญญาณได้อย่างไร



สรุปภาพรวมการจัด


เรื่องราวการก้าวข้ามตัวตนผ่านศิลปะการแสดง “ละครแทรกสด” หรือ การแสดงที่ผู้ชมสามารถแทรกแซงการกระทำของตัวละครได้ ผ่านประสบการณ์ของคุณนิธิพัฒน์ พลชัย คุณอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ และ ผศ.ดร.ทรงสิริ พุทธงชัย โดยมีคุณโสภณ ทับกลอง เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจากคำบอกเล่าทำให้เห็นความเจ็บปวดจากการเคยถูกปรามาส การที่ละครไม่ได้อยู่ในขอบข่ายความสนใจมาก่อน แต่การเข้าร่วม Workshop ปลุกบางอย่างขึ้น การจะเล่นเป็นใครก็ได้ไม่ว่าจะดีเลวกลับทำให้ได้ฟังและเข้าใจตัวเอง เรียนรู้ขีดจำกัดและ ก้าวข้าม ซึ่งเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ที่จะยอมรับตนเองทั้งในด้านที่ดีและไม่ดี จนถึงการสละและฝืนตัวตน และทำให้เราเกิดการคิดว่าสังคมจะสามารถไปทิศทางไหนได้บ้าง


นอกจากการเสวนาแล้ว ประสบการณ์ละครแทรกสดได้ถูกถ่ายทอดโดยตรงโดยที่ผู้เข้าร่วมได้ลองแสดงท่าทางของตัวละครที่กำหนดบทบาทไว้ จากนั้นจึงกำหนดบทบาทใหม่พร้อมทั้งคาดเดาความคิดของนักแสดง บอกเล่าความคิดและสะท้อนความรู้สึกของการสวมบทบาท ณ ขณะนั้น สรุปได้ว่าชีวิตมีทางเลือกมากกว่าที่คิดไว้ ซึ่งคุณอรรถพลได้อธิบายคร่าวๆถึงกระบวนการในการเล่นละครแทรกสดว่าในการแสดงนั้นจะมีทั้งบทบาทของผู้กดขี่ เพื่อนผู้กดขี่ ผู้ถูกกดขี่ เพื่อนผู้ถูกกดขี่ และผู้นิ่งเฉย ไม่ต่างจากชีวิตจริงในสังคม


ศิลปะโดยเฉพาะการละคร คือการสื่อสารเชื่อมโยงคนในสังคมให้เข้าถึงกัน และสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ แต่ศิลปะในประเทศไทยกลับไม่เฟื่องฟูและยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น บทบาทของผู้พิการที่ไม่มีพื้นที่ตรงนี้ เพราะแม้แต่บทผู้พิการก็ยังถูกเล่นโดยคนที่ไม่มีความพิการ จากทัศนคติที่ตัดสินว่าผู้พิการไม่มีความสามารถมากพอ และไม่เปิดพื้นที่ให้มีตัวตนในสังคมนอกไปเสียจากความน่าสงสาร และคงจะดีหากผู้ที่ออกนโยบายมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย และวันนั้นจะมาถึงที่คนในสังคมจะมีเวลาให้กับศิลปะ ในขณะที่ศิลปะเข้าถึงทุกคนได้โดยไม่มีสิ่งแบ่งแยกขวางกั้นเช่นกัน


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3Re4O5W



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page