top of page

T5-3 จิตวิทยาสติ: ตะวันออกพบตะวันตก

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



จิตวิทยาสติ: ตะวันออกพบตะวันตก


จิตวิทยาสติเป็นศาสตร์ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งพัฒนามาจากหลักและวิธีปฏิบัติของพุทธธรรม แต่อธิบายด้วยจิตวิทยาและศาสตร์สมอง เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ปฏิบัติได้ง่าย และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ทั้งในการพัฒนาคนและองค์กร (สติในองค์กร) และสติบำบัดจากหลักฐานเชิงประจักษ์พบว่า การฝึกสมาธิ/สติ มีผลต่อคลื่นสมองแตกต่างไปจากภาวะจิตพื้นฐาน (หลับ/ตื่น) และด้วยเครื่องมือบันทึกการทำงานของสมองสมัยใหม่ ทำให้พบว่า การทำงานของสมองเปลี่ยนไป โดยสมองส่วนหน้าจะทำงานมากขึ้น สมองส่วนอารมณ์ทำงานน้อยลง สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดจ่อ รวมทั้งความเมตตา ให้อภัย ทำงานดีขึ้นในประเทศไทย จิตวิทยาสติได้พัฒนาเพิ่มเติมจากประสบการณ์ยาวนานในการพัฒนาจิต ทำให้มีความรู้หลายประการเพิ่มเติมจากจิตวิทยาสติของตะวันตก



สรุปภาพรวมการจัด


กระบวนการในห้องเป็นการบรรยายสลับกันการฝึกปฏิบัติ โดยในการบรรยายช่วงแรก วิทยากรได้กล่าวถึงงานศึกษาการทำงานของจิตขั้นพื้นฐานและจิตขั้นสูงกว่า โดยกล่าวถึงงานศึกษาที่มีความเชื่อมโยงระหว่างคลื่นสมองกับสมาธิ/สติ การวัดการทำงานของสมองซึ่งพบว่าคนทำสมาธิมีคลื่นสมองเหมือนคนหลับลึกโดยมีสภาวะจิตที่หลับในรูปแบบหนึ่งแต่คนที่ทำสมาธินั้นจิตยังตื่น วิธีการฝึกสมาธิคือการหยุดคิดและตั้งมั่นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งการฝึกแบบรู้ลมหายใจนั้นตรงกับหลักของวิทยาศาสตร์สมองและระบบประสาท (Neuroscience) และทำให้จิตทำงานน้อยมาก การรู้ลมหายใจนั้นทำได้ยาก วิธีฝึกสมาธิทำได้โดยการทำความเข้าใจหลักการทำงานของสมอง


จากนั้นวิทยากรเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมฝึกหยุดการรับรู้ลมหายใจ/เข้าออก นั่งหลังตรง หลับตา หายใจเข้าออกยาว 5 รอบ ใช้หลักการเลือกรับรู้ของสมอง (Selective perception) รับรู้ลมหายใจ และจัดการกับความคิด ใช้เวลา 3 นาที เพื่อรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่ผ่านเข้าออก จากนั้นสังเกตที่ปลายจมูกข้างหนึ่งตรงตำแหน่งที่ชัดที่สุดของข้างนั้น และดูไปให้ต่อเนื่องของลมหายใจปกติ โดย “สมาธิ” เป็นภาวะตอนพักสติ ส่วน “สติ” เป็นภาวะตอนทำงาน จากนั้นวิทยากรเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมฝึกสติพื้นฐานแบบหลับตา ต่อด้วยการทำสมาธิแบบลืมตา ต่อด้วยการฝึกซึ่งวิทยากรขอให้ผู้เข้าร่วมหยิบสิ่งของมาหนึ่งอย่าง รับรู้ลมหายใจ และรู้สัมผัสของนิ้ว ต่อด้วยฝึกการยืนการเดินแบบมีสติด้วยการย่ำเท้า


ในการบรรยายช่วงที่สอง กล่าวถึงการฝึกสติ ที่เมื่อฝึกแล้วจะทำให้เราตอบโต้แบบจิตพื้นฐานน้อยลง การสะสมอารมณ์และความเครียดก็จะลดลง เมื่อมีความเหนื่อยก็ปล่อยวางได้ การฝึกรูปแบบหนึ่งคือการฝึก Body scan ที่เมื่อฝึกแล้วจะมีความว่องไวต่อความรู้สึกทางกายและลดความรู้สึกลบ ในการนำไปใช้งานนั้นสามารถใช้ระฆังสติโดยมีเป็นแอปพลิเคชันระฆัง ที่เมื่อตั้งเวลาแล้วระฆังสติจะสามารถเตือนเราได้เป็นระยะ เมื่อระฆังสติดังจะช่วยให้เรากลับมาอยู่กับสิ่งที่เราทำ เมื่อมีการรับรู้มากขึ้นในขณะที่พูดและฟัง เราจะใช้อารมณ์น้อยลงในการพูดและฟัง ซึ่งมีการนำวิธีการนี้ไปใช้กับองค์กรในการพูดและฟัง เวลาเพื่อนพูดให้ใช้ลมหายใจฟัง และขับเคลื่อนองค์กรด้วยการใช้สติในการฟัง จะเป็นการสร้างองค์กรแห่งสติ


การบรรยายช่วงที่สาม กล่าวถึงจิตวิทยาสติและจิตวิทยากระแสหลักที่มีเป้าหมายและหลักการฝึกที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โดยจิตวิทยากระแสหลักเน้น EQ โดยฝึกทุกด้านแยกกัน ส่วนจิตวิทยาสตินั้นมองการฝึกสติเป็นเครื่องมือโดยถ้าฝึกสติได้ก็จะทำสิ่งต่างๆได้ ทุกคนสามารถนำจิตวิทยาสติไปใช้ได้ทุกวัน เพราะโลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งการปรับตัวของทุกช่วงวัย


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3SG7TN0



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page