top of page

T4-5 เมื่อนักศึกษาจิตตปัญญาทำวิจัย: เรื่องราว เรียนรู้ เติบโต เปลี่ยนแปลง

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



การนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมุ่งการสร้างความรู้ความเข้าใจและการฝึกปฏิบัติบนวิถีแห่งประสบการณ์ ที่ว่าด้วยตนเอง ผู้อื่น ชุมชน สังคม โลก และธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม


การนำเสนองานวิจัยในแนวทางจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ แต่ยังต้องการสื่อให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันว่า การทำงานวิจัยสามารถเป็นกระบวนการคลี่คลายเรื่องราวภายในใจ เติบโต เปลี่ยนแปลง และเติมเต็มคุณค่าในชีวิตของผู้วิจัยไปพร้อมกันได้ ผลงานวิทยานิพนธ์ที่จะนำเสนอมีความหลากหลาย ทั้งในแง่ระเบียบวิธีวิจัยและเนื้อหา อาทิ การดูแลผู้ป่วยด้านจิตใจ สุนทรียสนทนาในครอบครัว การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การเจริญสติในชีวิตการทำงาน



สรุปภาพรวมการจัด


เป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรจิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 6 คน ได้แก่ (1) งานวิจัยเรื่อง “บทสนทนาระหว่างฉันกับแม่: ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงมิติภายในของผู้ดูแลผ่านการสนทนากับผู้ป่วยอัลไซเมอร์” โดย คุณชนะพัฒน์ อิ่มใจ (2) งานวิจัยเรื่อง “การสืบค้นตนเองของผู้วิจัยในการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยด้านจิตใจในครอบครัว” โดย คุณปาริชาติ เลิศบุญเหรียญ (3) งานวิจัยเรื่อง “การเดินทางภายในของฉันผ่านการทำกลุ่มสนทนาเพื่อการเติบโตในองค์กร” โดย คุณเพ็ญนภา เสน่ห์ลักษณ (4) งานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนากระบวนการนำเสนอจิตตปัญญาศึกษาสู่สาธารณะทางสังคมออนไลน์” โดย คุณเลิศศิริ สมบูรณ์ทรัพย์ (5) งานวิจัยเรื่อง “สุนทรียสนทนากับการสานสัมพันธภาพในครอบครัว” โดย คุณศศิ มาสุข (6) งานวิจัยเรื่อง “การสะท้อนตนเองของผู้วิจัยในการจัดดอกไม้แบบโคริงกะ” โดย คุณสุพิชฌาย์ เอี่ยมดิลกวงศ์


ผู้วิจัยได้แลกเปลี่ยนถึงจุดเด่นและความน่าสนใจของงานวิจัยทางจิตตปัญญา ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ในหลักสูตรที่บ่มเพาะรากฐานของการภาวนา การตระหนักรู้ และตัวตนที่ไม่มีการแยกโลกด้านนอกกับโลกด้านใน งานวิจัยจิตตปัญญายังเน้นเรื่องความเป็นมนุษย์โดยมีการทำงานและประกอบสร้างบางอย่างภายในใจของผู้วิจัยให้เกิดการคลี่คลายทางจิตวิญญาณของตนเอง โดยมีการทำงานกับสภาวะภายในตั้งแต่การกำหนดหัวข้อวิจัย การดำเนินการวิจัย จนถึงตอนสุดท้ายที่ออกมาเป็นเอกสารงานวิจัย


จากนั้นผู้เข้าประชุมที่เป็นผู้ฟังได้สะท้อนหลังจากได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้วิจัย ซึ่งผู้เข้าประชุมสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของนักวิจัย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของคนที่นักวิจัยเข้าไปทำงานด้วย และชื่นชมสาขาจิตตปัญญาศึกษาที่เปิดกว้างเรื่องงานวิจัยที่ไม่ใช่รูปแบบเดิม แต่ยังมีเรื่องเล่าและผนวกรวมความรู้สึกเข้าไปในงานวิจัยด้วย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีชีวิต ใช้ได้จริง และลบคำว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ตลอดจนมีข้อสะท้อนเรื่องการออกแบบการนำเสนอที่ผู้นำเสนอและผู้ฟังมีความใกล้ชิดมากขึ้น ก่อให้เกิดความไม่แบ่งแยกกัน และเชื่อมโยงกัน รับรู้ความรู้สึกต่อกัน ซึ่งทำให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบของทุกคนที่ตัวเราก็เป็นเหมือนกัน และเกิดการยอมรับกันโดยไม่มีคำวิจารณ์ใดๆ รวมทั้งยังทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้น และทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อผู้ฟังในการกลับไปทำงานวิจัยของตนเองซึ่งเป็นงานวิจัยที่เข้าถึงผู้คนและสร้างการเปลี่ยนแปลง


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3RkzqT9



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page