top of page

T4-4 หยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา สู่สังคมแห่งความสุข: การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



หยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา สู่สังคมแห่งความสุข: การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์


โครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา สู่สังคมแห่งความสุข ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปี ด้วยพื้นฐานความเชื่อในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ระเบิดจากข้างในของปัจเจกให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และกลุ่มคณะทำงาน (Core Team) ที่เป็นแกนขับเคลื่อนงานด้านจิตตปัญญาศึกษาอยู่ในพื้นที่อย่างบูรณาการเข้ากับระบบงานและองค์กร กิจกรรมในห้องย่อยนี้ นำเสนอการเสริมสร้างการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งภาพรวมการดำเนินงานของโครงการหยั่งรากฯ และนำเสนอประเด็นการทำงานในบริบทสถาบันอุดมศึกษา ในแง่เนื้อหากระบวนการการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย


โครงการนี้มีรูปแบบทั้งการจัดกระบวนการเรียนรู้ การสร้างเครือข่าย การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และบอกเล่าประสบการณ์ผลการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงในระดับตนเอง องค์กร และสังคม โดยหวังว่าผู้เข้าร่วมเรียนรู้จะมองเห็นรูปธรรมของแนวทางขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในระบบการศึกษา



สรุปภาพรวมการจัด


เป็นการประชุมนำเสนอการทำงานโครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา สู่สังคมแห่งความสุข โดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย อ.ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ซึ่งมี 2 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรทางสาธารณสุข จากการทำงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมามีการทำงานกับหน่วยงานและวิทยาเขตภายในมหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี และวิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมทั้งการทำงานกับชุมชน และในปัจจุบันมีการพัฒนาเป็น Node ในภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ส่วนที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแกนนำในคณะที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในการดูแลนักศึกษาและการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยมีการปรับหลักสูตรวิธีการเรียนการสอนและเกิดเป็นเครือข่ายระดับสถาบัน


จากนั้น อ.ชาคริยา พันธ์ทอง และ รศ.ดร.สุนิสา วงศ์อารีย์ จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นำเสนอการทำงานในโครงการภายหลังจากเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ทางจิตตปัญญาศึกษาแล้วนำไปใช้กับนักศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวของอาจารย์ที่ส่งต่อไปถึงนักศึกษา รวมถึงมีการทำงานกับครูในโรงเรียนขนาดเล็กและชุมชน


อ.ดร.เพริศพรรณ แดนศิลป์ อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงโครงการที่มีการนำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเข้าไปทำงานกับอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นการทำงานเพื่อการผสมผสาน “วิชาการ” เข้ากับ “ความเข้าใจชีวิตและการเยียวยารักษาจิตใจ” หลังจากนั้น ผศ.ดร.ทพญ.ชนิตา ตันติพจน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของการนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ซึ่งทำให้รู้ตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในขณะที่สอนนักศึกษา รวมถึงการนำไปใช้กับการดูแลงานวิจัยในคณะของสาขาทันตกรรมทั่วไปที่มีแนวคิดเรื่องการทำวิจัยอย่างมีความสุข ต่อด้วยการบอกเล่าของ รศ.ดร.ทพญ.นัจชลี ศรีมณีกาญจน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการนำการฟังด้วยหัวใจไปใช้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งเป็นนักศึกษากลุ่มที่กำลังปรับตัวต่อสังคมและระบบการเรียนของคณะทันตแพทยศาสตร์ รวมถึงนำกระบวนการทางจิตตปัญญาศึกษาไปใช้กับบุคลากรในคณะเพื่อมุ่งให้เกิดความสุขในการทำงาน มีการเคลื่อนงานภายในเพื่อให้เกิดวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา และมีโครงการพัฒนาอาจารย์ในคณะทันตแพทยศาสตร์


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3R7FTAN



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page