top of page

T4-2 & T4-3 เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม: ร่วมสร้างระเบียบวิธีวิจัยแบบ Spirituality

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”




เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม: ร่วมสร้างระเบียบวิธีวิจัยแบบ Spirituality


นำเสนอผลการริเริ่มสร้างสรรค์งานอันเป็นการวางรากฐานระเบียบวิธีวิจัยแบบจิตวิญญาณในสังคมไทย เพื่อการเข้าถึงศักยภาพมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างมนุษย์ สังคม โลก และธรรมชาติ เพื่อจุดประกายความคิดและเป็นต้นแบบตัวอย่างของการขับเคลื่อนงานและงานวิจัยแบบ Spirituality ที่สร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ


ดร.สมสิทธิ์ อัสดรนิธี กล่าวถึงเส้นทางของการทำงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณในประเทศไทย ซึ่งเป็น บทสนทนาสำคัญที่ถูกริเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อหลายเดือนก่อนและนำมาสู่บทสนทนาร่วมกันในวันนี้กับเหล่าอาจารย์จากหลากหลายสถาบัน เพื่อชักชวนให้พูดคุยถึงวิธีการ ต้นแบบของวิธีวิจัยที่จะทำให้ความเป็นวิชาการนั้นหนักแน่นมากพอ และมีคำอธิบายที่ชัดเจน ที่สามารถถูกนำมาใช้อ้างอิงร่วมกันในการทำงานวิจัยได้ นอกจากนี้ในการทำงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณนี้ มิติการทำงานด้านในของผู้วิจัยเองมีส่วนสำคัญมาก หลายครั้งผู้วิจัยมีกรอบของงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์และมองสิ่งต่างๆอย่างเป็นวัตถุวิสัย แต่ความรู้ความคิดของเรานั้นแท้จริงแล้วล้วนผ่านการตีความและกระบวนการภายในที่มีความเป็นมนุษย์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการนำความเป็นมนุษย์เข้ามาอยู่ในงานวิจัยด้วย และที่สำคัญคือไม่ต้องเป็นนักวิจัยก็ทำงานวิจัยได้



กระบวนการในห้องมีการนำเสนอผลงานเชิงประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมอย่างใกล้ชิด ผ่านการสนทนาวงเล็ก 2 รอบ ด้วยการฟังผ่านความรู้สึก ผ่าน Being ของผู้นำเสนอ 8 ท่านใน 8 ประเด็น ได้แก่


1. ร้อง เล่น “เห็น” ตัวเอง

โดย ศักดิ์ชัย เอี่ยมกระสินธุ์ จากสาขาวิชาการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

2. เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงผ่านการถ่ายภาพเชิงภาวนา

โดย เดโช นิธิกิตตน์ขจร จากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

3. การข้ามพ้นตัวตนของเด็กปฐมวัยและผู้ใหญ่ในบริบทการเล่นลูสพารตส์

โดย รศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ และคณะ จากภาควิชาหลักสูตรและการสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4. จิตวิญญาณช่างทอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

โดย คำรณ คุณะดิลก

5. การภาวนาเพื่อตื่นรู้ในมิติความรักและความสัมพันธ์ ด้วยแนวทาง OSHO

โดย พิมพ์พจี เย็นอุรา จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

6. จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครู: การพัฒนารายวิชาในแนวทางการศึกษาสมรรถนะ

โดย จิรวุฒิ พงษ์โสภณ และคณะ จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์

7. การฝึกทักษะแบบ “กายจิต” ของนักแสดงและการฝึก “ภาวนากรรมฐาน” ในพุทธศาสนา

โดย ผศ.ดร.ชุติมา มณีวัฒนา จากสาขาวิชาการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

8. การสร้างพื้นที่วางใจและพื้นที่ปลอดภัยสู่พื้นที่เติบโตภายในและชุมชนแห่งการเรียนรู้

โดย ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร จากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3FE2y1d



เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม: ร่วมสร้างระเบียบวิธีวิจัยแบบ Spirituality (ต่อ)


การบรรยายสรุปโครงการวันนี้ เริ่มจากแง่มุมที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม ในวรรณกรรมต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ/สุขภาวะทางปัญญา งานที่เป็นจิตวิญญาณจริงๆ (ไม่ใช่แค่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ) จะเห็นคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้


• การขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นระหว่างผู้วิจัยกับสิ่งที่ถูกวิจัย ทั้งสองอย่างเกี่ยวสัมพันธ์กัน แยกไม่ขาด

• มีการทำงานกับมุมมอง/กรอบการให้ความหมาย/โลกทัศน์ ของตัวผู้วิจัย

• มีการเปิดเผย “เสียง” ต่างๆ โดยเฉพาะเสียงที่เป็นชายขอบมากขึ้นทั้งเสียงภายนอกและภายในตนเอง

• มีการนำความมี “ชีวิต” เข้าสู่ในงานมากขึ้น งานวิจัยเป็นได้มากกว่าตัวเลข คำพูด และภาษา


โดยทั้งหมดวางอยู่บนความเชื่อพื้นฐานว่า จิต (ของผู้วิจัยและผู้เกี่ยวข้อง) วิวัฒน์ได้ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และคนเรารับรู้ความจริงที่ลุ่มลึกขึ้นได้ ไปตามคุณลักษณะของจิตที่วิวัฒน์ไป


ได้ลองสกัดต้นแบบเครื่องมือบางอย่างออกมาดู จากงานวิจัย (แนวจิตวิญญาณ) เหล่านี้ เช่น การใช้เรื่องเล่า การใช้ปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม การใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง Dialogue การสะท้อนใคร่ครวญในตนเอง (Self-reflection) การดำรงอยู่ในประสบการณ์สดตรง การเปิดรับมิติอารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ



เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ เราได้มาซึ่งข้อสรุปของ “ต้นแบบ” การทำงานวิจัยแนวจิตวิญญาณ เป็นคุณลักษณะสำคัญ สี่ประการ คือ


1. Self-existence & Participation

การมีตนเองเข้าร่วมอยู่ด้วยในงานวิจัย ไม่ตัดขาดตัวเองออก อนุญาตให้อัตวิสัยมีที่ยืน

2. Mindfulness & Self-awareness

ความรู้ตัว รู้สึกตัว การเท่าทัน “ในตัวเอง” การมีแว่นที่กลับมามองเห็นตัวเองได้อย่างซื่อตรงจริงใจ

3. Greater Connections

การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ไม่ตัดขาดจากกัน สิ่งต่าง ๆ มีความเป็นดั่งกันและกันอยู่เสมอ

4. Flow & Becoming

เป็นพื้นที่ของการแปรเปลี่ยน มีพลวัต มีการ “กลายเป็น” ไม่ใช่การรีบสรุปอย่างตายตัว ตามกรอบแนวคิดใด


ทั้งหมดคือข้อสรุปที่ได้จนถึงวันนี้ ท้ายที่สุดแล้วปรากฏการณ์แห่งการร่วมสร้างสรรค์ (Co-creation) งานนี้เกิดขึ้นได้ “ก็เพราะเพื่อนช่วยเพื่อน การช่วยของเพื่อนมาจากความบริสุทธิ์ใจอันไม่มีข้อแม้ เราช่วยกันเท่าที่เราช่วยได้ เท่าที่วาระของเราอนุญาต และนั่นคือดีที่สุด” พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของเพื่อนที่มีเจตนาเดียวกันได้มาเจอกัน และนี่น่าจะเป็นคุณค่าสำคัญที่ยังผลให้โครงการสำเร็จได้ตามวาระที่เหมาะสมของมันในวันนี้ พื้นที่แบบนี้จึงมีความสำคัญอยู่เสมอในความงอกงามของโลกที่แม้เรียกชื่อมันว่า “โลกวิชาการ”


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3MoBTJo




Commenti


I commenti sono stati disattivati.
bottom of page