top of page

T4-1 การรับมือความทุกข์ส่วนตัวและทุกข์ทางสังคมของนักศึกษาร่วมสมัย

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



การรับมือความทุกข์ส่วนตัวและทุกข์ทางสังคมของนักศึกษาร่วมสมัย


ในบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทศวรรษที่ผ่านมา ปรากฏภาพกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทางการเมืองและสังคมเพื่อร่วมกำหนดอนาคตตนเองและสังคมมากขึ้น คู่ขนานไปกับปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้า


สำหรับคนหนุ่มสาวที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มากกว่าคนวัยอื่น การมีส่วนร่วมกับทุกขภาวะทางการเมืองและประเด็นทางสังคม สะท้อนให้เห็นถึงความกระฉับกระเฉงต่อสุขภาวะทางสังคม ส่วนโรคซึมเศร้าอาจเป็นปรากฏการณ์สะท้อนความพร่องของสุขภาวะทั้งทางจิตและจิตวิญญาณ อันนำไปสู่การกระตุ้นเร้าให้เกิดการจัดบริการดูแลสุขภาพองค์รวมให้กับนักศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากมุมมองมิติสุขภาวะทางสังคมนักศึกษาเป็นผู้กระทำการ (actor) แต่กลับกลายเป็นเหยื่อ (victim) เมื่อมองจากมิติสุขภาวะทางจิต แต่ยังขาดงานศึกษาว่าด้วยมิติสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวในฐานะผู้ถูกคาดหวังให้สร้างความเปลี่ยนแปลง


ห้องประชุมวิชาการย่อยนี้ มุ่งสืบค้นแนวทางด้านสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวในการรับมือกับความทุกข์ร่วมสมัย โดยจะเชื้อเชิญนักศึกษาอย่างน้อย 100 คน จากสถาบันอุดมศึกษาอย่างน้อย 5 แห่ง เข้าร่วมกระบวนการสนทนากลุ่มขนาดใหญ่ (large group meeting facilitation) ที่เอื้อให้นักศึกษาเป็นผู้กระทำการหลัก สะท้อนย้อนคิด ทัศนคติและมุมมองต่อความสุขความทุกข์ของตนเอง รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทาง เครื่องมือ กลไก และหรือวิธีการที่นักศึกษาใช้รับมือกับทุกข์ภาวะทั้งของตนเองและสังคม


จึงขอเชื้อเชิญนักวิชาการและนักปฏิบัติการเข้าร่วมรับฟังและสังเกตการณ์ เพื่อขยายขอบเขตความรู้ความเข้าใจต่อแนวทางอันหลากหลายในการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตั้งโจทย์วิจัยเพื่อต่อยอดองค์ความรู้สุขภาวะทางจิตวิญญาณบนฐานของสุขทุกข์ผู้คนและสังคมต่อไป



สรุปภาพรวมการจัด


ดร.ศยามล เจริญรัตน์ และชลนภา อนุกูล สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ (ประเทศไทย) จัดสภากาแฟการรับมือความทุกข์ส่วนตัวและทุกข์ทางสังคมของคนร่วมสมัย มุ่งสืบค้นแนวทางด้านสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวในการรับมือกับความทุกข์ร่วมสมัย โดยเชื้อเชิญนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาอย่างน้อย 5 แห่ง เข้าร่วมกระบวนการสนทนากลุ่มขนาดใหญ่ ที่เอื้อให้นักศึกษาสะท้อนแนวคิด ทัศนคติและมุมมองต่อความสุขความทุกข์ของตนเอง รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวทาง เครื่องมือ กลไก และหรือวิธีการที่นักศึกษาใช้รับมือกับทุกข์ภาวะทั้งของตนเองและสังคมผ่านการสะท้อนเรื่องราวใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) สถานการณ์สังคมที่ทำให้เราห่วงกังวลมีอะไรบ้าง จากรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนและนักศึกษาส่วนใหญ่ (2) สำรวจตัวเองมีความทุกข์อะไรบ้าง (3) เรารับมือกับความกังวลและความทุกข์ของเราอย่างไร ต้องการการสนับสนุนช่วยเหลืออะไรบ้างที่จะทำให้ความทุกข์หรือความกังวลเบางบางลง


การแลกเปลี่ยนรับมือความทุกข์ส่วนตัวและทุกข์ทางสังคมของคนร่วมสมัย พบว่า สถานการณ์สังคมที่ทำให้คนหนุ่มสาวในปัจจุบันมีกังวลมาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ - สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่จะเกิดความเสียหายต่อเนื่องในหลายด้าน ด้านสาธารณสุข - โรคระบาดใหม่/โรคอุบัติใหม่ที่ทำให้เป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและสังคม ด้านการเมือง - กิจกรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามกฎ การแทรกแซงโดยอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา และปัญหาด้านช่วงวัย - ความกังวลเรื่องการมีงานทำหลังเรียนจบ การที่จะไม่ได้งานตามที่คาดหวังไว้ หรือการเปลี่ยนผ่านระดับชั้นจากนักเรียนไปเป็นนักศึกษา และด้านสุขภาพ - สถานการณ์โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น และผู้สูงอายุที่สูงขึ้น ฯลฯ


เมื่อได้สำรวจลงลึกถึงความทุกข์ของนักศึกษา พบว่า ความทุกข์ในปัจจุบันที่พบมีผลพวงมาจากสถานการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น การถูกกดทับจากผู้ใหญ่ในสังคมที่ตีกรอบความเชื่อเดิมๆ หรือการที่ครอบครัวนำแนวคิดอนุรักษ์นิยมมาเป็นบรรทัดฐานในการใช้ชีวิตของลูก การศึกษาที่ถูกตีกรอบให้เลือกเรียน ความทุกข์จากรัฐสวัสดิการ ปัญหาด้านความรัก ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งจากความทุกข์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่านักศึกษามักเลือกวิธีการรับมือกับความกังวลและความทุกข์โดยการปรับมุมมองการใช้ชีวิตของตนเอง การหากิจกรรมทำนอกบ้าน การพูดคุยหรือระบายกับเพื่อน การท่องเที่ยว หรือมีการลิสต์ประเด็นที่กังวลทั้งหมดและนำมาจัดการตามลำดับ


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/45K3USD



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page