บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1
“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”
วงเสวนาเป็นกันเอง: จิตวิญญาณเพศหลากหลาย
วงเสวนาที่จะนำเสนอเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตการเดินทางด้านในของตัวแทนกลุ่มคนเพศหลากหลายของไทย รวมทั้งประสบการณ์การทำงานที่เชื่อมโยงกับมิติต่างๆ เช่น การให้คุณค่าและความหมายของชีวิต ความสัมพันธ์ สิทธิ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสื่อสารข้อเสนอของกลุ่ม เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
สรุปภาพรวมการจัด
กระบวนการภายในห้องเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของวิทยากรเพศหลากหลาย 6 ท่าน เริ่มด้วยผู้ดำเนินรายการขอให้ผู้เข้าร่วมทุกคนแนะนำตัวกับเพื่อนที่นั่งข้างตนเอง เมื่อแนะนำตัวแล้วผู้เข้าร่วมอยู่กับความเงียบและลมหายใจ 3 นาที จากนั้นฟังเรื่องราวของวิทยากรโดยใช้หลักการฟังด้วยหัวใจ
วิทยากรท่านที่ 1 แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่นิยามตนเองว่าทอมและเป็นเพศกำกวม ครอบครัวยอมรับ แต่การที่วิทยากรเกิดในพื้นที่ต่างจังหวัด เมื่อเข้าสู่การทำงานแล้วถูกคุกคามทางเพศจากความเป็นเพศหลากหลาย จึงคิดว่าตนเองต้องมีกลุ่ม และเมื่อ 30 ปีที่แล้วเริ่มเกิดพื้นที่ของกลุ่มที่ทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศโดยวิทยากรได้เข้าร่วมกับกลุ่มอัญจารี วิทยากรมีหลักในการรักษาสุขภาวะทางปัญญาโดยไว้ใจตัวเอง ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อแม่และเพื่อการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
วิทยากรท่านที่ 2 แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดในประเทศไทยและเติบโตที่สหรัฐอเมริกา และเป็นคนช่างตั้งคำถามตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ โดยอ่านหนังสือนอกโรงเรียนเยอะมาก รวมทั้งสนใจการศึกษาทางเลือก เช่น มอนเตสซอรี ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ ก้าวข้าม และยอมรับตัวตน โดยได้รับพลังงานจากพ่อแม่ที่ส่งต่อมา
วิทยากรท่านที่ 3 นิยามตนเองว่าเป็น Non-binary และเป็นมุสลิม จากเรื่องเล่าชาวบาบิโลนที่เป็นรักร่วมเพศและถูกสาปทั้งเมือง ทำให้วิทยากรรู้สึกกลัวและกดทับตนเอง ต่อมาเมื่อมีการทบทวนตนเอง ทำให้กลับมารักตัวเอง ยอมรับตนเองได้มากขึ้น และมีความกลัวน้อยลง จากเดิมที่การนับถือศาสนาทำให้รู้สึกกดทับและผิดบาป
วิทยากรท่านที่ 4 แลกเปลี่ยนถึงการนิยามตนเองว่าเป็นกะเทยและรู้สึกดีกับชีวิต ช่วงนี้เป็นช่วงระยะที่สองของชีวิตที่มีการเลือกต่อสิ่งที่เราศรัทธา ความศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ตลอดจนการมีความยืดหยุ่นทางจิตวิญญาณที่ทำให้เราสามารถรับสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้ รวมถึงการดูแลจิตใจด้วยการใช้ฐานกายหรือการใช้มือ เช่น การปั้น การเขียนบันทึก การมีเพื่อนและชุมชน
วิทยากรท่านที่ 5 กล่าวถึงการทำงานของตนเองที่เป็นนักกิจกรรมเรื่องเพศและเพศหลากหลาย รู้สึกดีใจที่ความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นหนึ่งของสุขภาวะทางปัญญา ปัจจุบันระบบสังคมยังไม่รองรับเพศหลากหลาย รวมทั้งมีการกำหนดและกดทับในหลายระบบ วันนี้จะมาบอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำกระบวนการกลุ่มสนทนากับเยาวชนเพศหลากหลาย
วิทยากรท่านที่ 6 มีประสบการณ์ทำงานประเด็นประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งความเป็นเพศหลากหลายทำให้วิทยากรถูกตั้งคำถามว่าเราทำดีพอไหม หรือต้องทำให้มากกว่านี้ ทำให้จากคนที่เชื่อมั่นในตนเองมาตลอด แต่มาถูกทำลายทางจิตวิญญาณด้วยความเป็นเพศหลากหลายที่คนอื่นตั้งคำถาม ซึ่งในปัจจุบันวิทยากรมีการทำงานทางจิตวิญญาณกับตนเองและมุ่งหวังให้เพศหลากหลายไม่ถูกทำลายทางจิตวิญญาณ
Comentários