บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1
“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”
การรู้-รับ-ปรับ-ฟื้น จากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual health) ผ่านการเพิ่มความสามารถของบุคคล ชุมชน องค์กร เกษตรกร ในการรู้-รับ-ปรับ-ฟื้น (resilience) จากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สรุปภาพรวมการจัด
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และอารมณ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ทำอาชีพเกษตรกรที่ต้องทำงานขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ รวมถึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร นอกจากสภาพอากาศแล้ว เกษตรกรยังได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการเข้าถึงที่ดิน นายทุนที่ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และต้นทุนรายได้ที่มีน้อยทำให้เกิดวงจรการเป็นหนี้ซ้ำๆ ผลกระทบต่อเนื่องจากสภาพอากาศยังทำให้มีการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง ทำให้ขาดแคลนแรงงานเกษตรในต่างจังหวัด ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รับรู้ความท้าทาย ปรับตัว และฟื้นตัว
ในมิติของจิตวิทยาพบว่าภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งต่อสภาพจิตทั้งในระยะสั้นและยาว โดย ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลระยะสั้นคืออารมณ์ที่ยากจะควบคุมและการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก ส่วนในระยะยาวคือความเหนื่อยล้าจากการชดเชยสิ่งที่เสียไป ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ความสัมพันธ์ หรือความสุขในชีวิต สะสมเป็นความเครียดและปัญหาพฤติกรรมได้ เช่น อารมณ์รุนแรง ควบคุมไม่ได้ สูญเสียความสามารถในการคิดอย่างมีสติ ไม่รู้ว่าล้มแล้วจะกลับมาลุกได้อย่างไร โดยแต่ละคนมี vulnerability หรือความเปราะบางไม่เท่ากัน ทำให้ความแข็งแรงทางจิตใจ (Resilience) และการฟื้นตัวของแต่ละคนต่างกันออกไปด้วย จึงแนะนำให้ใช้พีระมิดการสนับสนุนทางจิตใจ-สังคม โดยเติมเต็มปัจจัย 4 - สานสายใยครอบครัวและสังคม สนับสนุนทางใจเป็นรายบุคคล และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือแนะนำให้ใช้เทคนิค 3L ได้แก่ Look - Listen - Link คือ สอดส่องปัญหา ดูว่าใครที่ต้องการความช่วยเหลือ รับฟังความต้องการ และเชื่อมโยงที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือให้เข้าถึงบุคลากรทางสุขภาพจิต
ในมิติของคนเมือง แบ่งปันโดย ดร.ฉันฑิต สว่างเนตร หลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าถึงสังคมผู้สูงอายุและภัยน้ำท่วม โดยในปัจจุบันมีการใช้แอปพลิเคชันออนไลน์มาช่วยแจ้งเตือนและสื่อสารกันมากขึ้น และพบว่าผู้สูงอายุมีความเตรียมพร้อมและตระหนักรู้เรื่องภัยพิบัติค่อนข้างมาก และผู้สูงวัยที่ไม่มีการศึกษาจะมีการเตรียมพร้อมที่สูงกว่าผู้สูงวัยที่มีการศึกษาและมีรายได้สูงกว่า การรับรู้ผลกระทบจากภัยพิบัติและศักยภาพของตนเองช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงวัยเตรียมพร้อมได้ดีขึ้น โดยพบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จะมีการ “รู้น้ำท่วม” และใช้แอปพลิเคชันมากกว่าพื้นที่เสี่ยงกลาง และเสี่ยงต่ำ แต่กลับมีการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุน้ำท่วมน้อยกว่าพื้นที่อื่น
Comentarios