top of page

T2-5 การขับเคลื่อนสุขภาพทางปัญญาผ่านธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



การขับเคลื่อนสุขภาพทางปัญญาผ่านธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565


การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการมีสุขภาพทางปัญญาที่ดีตั้งแต่เกิดจนตาย และสามารถพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคมนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมออกแบบได้ วิทยากรผู้มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพทางปัญญาจะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองด้านต่างๆ ทั้งด้านศาสนา การพัฒนาสังคมและมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และมุมมองจากสถานศึกษาเรื่องการพัฒนาคนจากภายใน โดยเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้สู่เรื่องคุณค่าและความเป็นธรรมในสังคม รวมถึงระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตอบสนอง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง



สรุปภาพรวมการจัด


การเสวนาถึงเส้นทางของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ นำมาสู่การพูดถึงนิยามของสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งหมายถึงความสมบูรณ์ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา โดยมีความเชื่อมโยงกันทั้ง 4 ด้าน กล่าวคือ หากด้านใดด้านหนึ่งมีความไม่สมบูรณ์ ปัญญาก็จะไม่สามารถเกิดได้ ซึ่งปัญญาจะสามารถทำให้คนมีความสุขและเข้าใจความหมายของชีวิตตนเอง และปัญญาเกิดได้จากการคิด วิเคราะห์ แยกแยะผิดชอบชั่วดี ซึ่งเกิดจากประสบการณ์และการสั่งสอน คนทุกคนมีปัญญาอยู่ภายในตัวเอง อย่างไรก็ตามในทางพุทธศาสนากล่าวถึงปัญญาว่า ปัญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต แปลว่าปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก กล่าวคือ ปัญญาเกิดได้เมื่อจิตและกายมีความสมบูรณ์ ในด้านสังคมคือภาพสะท้อนของการมีกาย จิต และปัญญาที่ดี


ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อให้คนทุกคนได้มีสุขภาพที่ดีเหมือนกัน มีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพทางปัญญาที่ดีตรงกัน โดยมีการทบทวนธรรมนูญอย่างน้อยทุก 5 ปี ผ่านการสนับสนุนจากรัฐ กล่าวคือ ทุกกิจกรรมมีจุดมุ่งหมายให้คนมีจิตใจที่เข้มแข็งและสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตามปัญญาในทางพุทธศาสนามีลักษณะเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดจากการสะท้อนออกมาจากสุขภาพกายและจิต ปัญญาจึงมีสถานะเป็นสิ่งที่สูงกว่า เรียกว่าการตรัสรู้ คือรู้ตามความเป็นจริง เนื่องจากปัญญาทางโลกและทางธรรมมีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ปัญญาทางธรรมคือผลลัพธ์ (Outcome) จึงมีการผสานปัญญาทางโลกและปัญญาทางธรรมออกมาเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมคือ กิจกรรมจิตอาสาต่างๆ ซึ่งได้มีการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมอาสาระดับบุคคลและระดับองค์กร การที่จะได้สังคมที่มีสุขภาวะทางปัญญา จะต้องเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ชีวิตหรือความทุกข์ของคน ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเรื่องของความดีงามเท่านั้น


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/49T2ici



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page