บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1
“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”
การพัฒนางานอาสาสมัครในระบบโรงพยาบาล
ในสถานการณ์ปัจจุบัน โรงพยาบาลต้องรับมือผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ ทำให้เป็นเรื่องยากหากจะแก้ปัญหาด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเพียงฝ่ายเดียว โรงพยาบาลหลายแห่งต้องการอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานเพื่อลดปัญหาในการทำงานหรือการกระทบกระทั่งกับผู้ป่วย แต่อีกด้านหนึ่ง มีทัศนคติที่มองว่าอาสาสมัครเป็นเพียงแรงงานให้เปล่าที่ไม่ต้องมีระบบดูแลบริหารจัดการการขาดกลไกสนับสนุนอย่างเป็นทางการ และการไม่มีนโยบายชัดเจนเรื่องการมีส่วนร่วมในระบบบริการสุขภาพของภาคส่วนอื่นนอกจากบุคลากรวิชาชีพ ล้วนทำให้เกิดอุปสรรคต่อความยั่งยืนของการทำงานอาสาสมัครในโรงพยาบาล
มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาจึงเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการและการทำงานอาสาสมัครในโรงพยาบาล ทั้งตัวแทนอาสาสมัคร ตัวแทนเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ เพื่อให้เห็นผลดี ผลเสีย อุปสรรค และโอกาส ในการทำให้งานอาสาสมัครในโรงพยาบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและจะดำเนินการได้ต่อเนื่องตลอดไป
สรุปภาพรวมการจัด
วงเสวนาชวนแลกเปลี่ยนการสื่อสารประเด็นที่มาจากการทำงานของฝ่ายปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่โจทย์วิจัยของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องและการสนับสนุนเชิงนโยบาย
การจัดตั้งจิตอาสาช่วยงานในโรงพยาบาล มีส่วนช่วยในงานด้านการแพทย์ ทั้งการวัดความดันและสัญญาณชีพ แนะนำเบื้องต้น คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจ ข้อร้องเรียนลดลง ไม่เคยมีคนมาร้องเรียนเรื่องจิตอาสา ดังนั้นงานจิตอาสา เป็นงานที่ต้องให้เกียรติ ดูแลผู้ป่วย รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆด้วย โดยจิตอาสาในปัจจุบันมาจากเจ้าหน้าที่ พยาบาล หมอที่เกษียณอายุเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์ บางคนมีความต้องอยากจะเข้ามาช่วยโรงพยาบาล อยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานจิตอาสา แต่ก็ไม่ทราบว่าจะเข้ามาทางไหน ไม่ทราบว่าต้องสมัครยังไง และอีกปัญหาคือการจัดระบบดูแลจิตอาสายังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก และจิตอาสาที่เข้ามาช่วยจะต้องมีทักษะ ความรู้ ซึ่งจำเป็นต้องมีคนที่มีองค์ความรู้มามีส่วนช่วยสอน โดยงานด้านนี้จะต้องมีใจรักและรับผิดชอบ ในส่วนตรงนี้อาจต้องมีการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ทั้งเรื่องการขาดแคลนบุคลากรบางจุด การพัฒนาคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะต้องให้องค์กรอื่นยื่นมือเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน เช่น สส. มสช. เพื่อพัฒนาไปเป็นนโยบาย เกิดการพัฒนาด้านกำลังคน
Comments