top of page

T2-3 สุขภาวะทางปัญญา: การรับรู้และการเรียนรู้ในโรงเรียนแพทย์ไทย

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



สุขภาวะทางปัญญา: การรับรู้และการเรียนรู้ในโรงเรียนแพทย์ไทย


ตามหลักการแห่งวิชาชีพ แพทย์ต้องเป็นหลักให้แก่สังคมในด้านสุขภาพ และเนื่องจากสุขภาพไม่ใช่เพียงภาวะที่ปราศจากจากความป่วยไข้หรือทุพพลภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาวะที่ดีของกาย จิต สังคม และปัญญาอีกด้วย สุขภาวะด้านต่างๆทั้งทางกาย ทางจิต แม้กระทั่งทางสังคม เป็นที่เข้าใจและมีการจัดการเรียนการสอนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในหลักสูตรแพทย์ แต่ความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะทางปัญญายังมีความแตกต่างหลากหลาย และที่มีการเรียนการสอนอยู่ในหลักสูตรก็มักจะไม่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนนัก น่าสนใจที่จะมาช่วยกันทบทวนว่าทุกวันนี้ผู้คนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนแพทย์มีความเข้าใจและได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอยู่อย่างไรบ้าง คาดว่าผลแห่งการสนทนาจะช่วยเปิดให้เห็นโอกาสที่จะทำประโยชน์ในเรื่องนี้ให้แก่สังคมได้มากยิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจทุกท่านมาร่วมวงสนทนากัน



สรุปภาพรวมการจัด


การเสวนาในรูปแบบ Hybrid ที่นำเสนอประเด็นสุขภาวะทางปัญญาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของประเทศไทย เน้นไปที่ความต้องการในการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมวิธีการสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนแพทย์ในช่วงเวลาที่กำลังศึกษา เพราะมีสิ่งต่างๆมากมายที่ต้องเผชิญจากประสบการณ์ของอาจารย์แพทย์ เช่น ความขัดแย้งภายใน การกดดันตนเองให้เป็นแพทย์ที่ “ดี” การต่อสู้กับความเหนื่อยล้า การเปรียบเทียบ และความทุกข์ต่างๆ

แนวทางที่ถูกหยิบยกขึ้นมาจากผู้เข้าร่วม ได้แก่ การเน้นเรื่องจิตตปัญญาแบบบูรณาการและการเรียนรู้แบบ non-practical skill โดยมีการสอนในรูปแบบ 3 module คือ basic, facilitation skill, และ Intensive ในรูปแบบของการบูรณาการการสอนที่แนบเนียนเข้าไปในชีวิตนักศึกษา การสอดแทรกประสบการณ์จริง การทบทวนสะท้อนกลับมาอยู่กับตนเอง (Reflection) การเช็กอิน - เช็กเอาท์ การใช้คำถามที่ลงลึก การใช้ Bedside teaching การใช้ simulation สร้าง role model วัฒนธรรมในวิชาชีพ ในส่วนระบบอื่นๆ คือ การไม่แยกงาน family med และ community med ออกจากกัน การใช้ Sim IPE จับมือกับเพื่อนต่างวิชาชีพ หรือการตั้งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลดความขัดแย้ง และรักษาจิตใจซึ่งกันและกันได้


อีกแนวทางคือการนำกิจกรรมนอกหลักสูตรมาอยู่ในหลักสูตร เปิดวิชาที่ตอบโจทย์ผู้เรียนอย่างชัดเจนในช่วงชั้นปีแรกที่นักศึกษายังมีเวลาและความพร้อม โดยสอน Mental Health ควบ Spiritual Health ซึ่งในบางแห่งได้รับความสนใจดีมาก เพราะในชีวิตยังขาดเรื่องการใคร่ครวญ ใช้ชีวิตให้มีความสุข ให้ความสำคัญกับผู้เรียนได้ถกเถียงกับอาจารย์ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองให้เห็นว่าคุณค่าของการเป็นแพทย์สร้างความสุขให้ผู้อื่นอย่างไร


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/49g8pHo



Kommentarer


Kommentarsfunktionen har stängts av.
bottom of page