top of page

T1-5 สุขภาวะทางปัญญาเพื่อสันติภาพ: วงจรชีวิตในการเรียนรู้เพื่อสันติ

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



สุขภาวะทางปัญญาเพื่อสันติภาพ: วงจรชีวิตในการเรียนรู้เพื่อสันติ



สรุปภาพรวมการจัด


การนำเสนอบทความทางวิชาการที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านสันติภาพกับกระบวนการการเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ผ่านการร้อยเรียงความสำคัญของสันติภาพในชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยประมวล ทฤษฎีและแนวคิดเรื่องปรัชญาสันติภาพ (Peace Philosophy) การศึกษาเพื่อสันติภาพ (Education for Peace) สันติทวิกวาร (Everyday Peace) สันติวัฒนธรรม (Culture of Peace) และมรณสันติ (Peaceful Death) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สังคมที่มีสันติภาพจะเป็นสิ่งที่รับประกันว่ามนุษย์สามารถจะใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายโดยมีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ผ่านแนวคิดหลักที่ทั้ง 5 บทความด้วยกันคือ


สันติภาพอยู่กับเราทุกย่างก้าวตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนเราตาย การที่พยายามจะบอกว่าเราอาจจะอยู่กับสันติภาพมากกว่าความรุนแรงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ท้าทายมาก เพราะเราอยู่ในโลกที่เต็มที่ด้วยมายาคติว่ามีความรุนแรงอยู่ในทุกขณะจิต ฉะนั้นการสร้างสังคมที่มีสุขภาวะทางปัญญาเพื่อสันติภาพนั้นต้องเริ่มต้นจากการศึกษาเพื่อสันติภาพ โดยเป็นเนื้อหาที่สามารถสอดแทรกอยู่ในทุกๆวิชาที่มุ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความสำคัญและแนวทางในการสร้างสันติภาพจากบทเรียนในอดีต และบทเรียนจากคนตัวเล็กตัวน้อยที่ส่งผลต่อการสร้างสันติภาพให้กับโลกใบนี้


ทั้งนี้สุขภาวะทางปัญญาเพื่อสันติภาพเป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมายโดยตัวของมันเอง บทความนี้ได้นําหลักปรัชญาและทฤษฎีต่างๆมาอ้างอิงเพื่อที่จะเสนอว่า กระบวนการเรียนรู้ ปฏิบัติ และฝึกฝนในการคิดวิเคราะห์ประมวลผล และลงมือปฏิบัติในการลดความรุนแรงในทุกรูปแบบเกิดขึ้นโดยตัวมันเองอยู่แล้วเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติของการเรียนรู้ของมนุษย์ อย่างไรก็ตามธรรมชาติของการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ได้มีความโน้มเอียงไปในการสร้างสันติภาพทั้งหมด แต่มีกระบวนการเรียนรู้ที่จะนําไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันด้วยเช่นกัน ดังนั้นหลักการต่างๆที่ยกมาแสดงในบทความชิ้นนี้จึงเป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย เคารพซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการใช้ทรัพยากรและแหล่งความรู้เดียวกันในการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และทำร้ายกันและกัน


หลากหลายทฤษฎีและแนวคิดที่นํามานําเสนอในบทความนี้ อาจจะทำให้ผู้อ่านสามารถนําไปพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ที่จะช่วยให้อุดมคติด้านสันติภาพเกิดขึ้นได้จริงในสังคมมนุษย์ และทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์มีคุณค่าและจากโลกมนุษย์นี้ไปอย่างมีความหมาย


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3GkqOW9



Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page