top of page

T1-2 ชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี: ทางเลือกในการพัฒนาสุขภาวะของสังคม

บันทึกงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1

“สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”



ชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี: ทางเลือกในการพัฒนาสุขภาวะของสังคม


ชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี เป็นแนวคิดเชิงปฏิบัติการที่เสริมสร้างพลังอำนาจของชุมชนในการดูแลความเจ็บป่วยในระยะท้าย การบริบาล การตาย และความสูญเสีย โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การทำงานเชิงส่งเสริมป้องกัน การบรรเทาหรือลดผลกระทบจากความสูญเสีย และส่งเสริมงานนโยบายที่เอื้อให้สมาชิกของชุมชนหรือสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเข้าถึงการตายดี


แนวคิดชุมชนกรุณาก่อรูปขึ้นจากกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขกลุ่มหนึ่งในยุโรปและออสเตรเลีย จนเกิดเป็นแนวทางการขับเคลื่อน “ชุมชนกรุณา” (Compassionate Communities) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แนวคิดดังกล่าวมีจุดแข็งในเรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วม และสามารถบูรณาการเข้ากับงานส่งเสริมสุขภาวะในระดับชุมชน องค์กร และนโยบายสาธารณะ รวมทั้งยังสร้างระบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ปลุกเร้าให้ชุมชนลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและจัดการปัญหาในท้องถิ่นด้วยตนเอง


จึงอยากเชิญชวนนักวิชาการ นักการสาธารณสุข ผู้กำหนดนโยบาย นักปฏิบัติการในท้องถิ่น และผู้นำชุมชน มาร่วมแลกเปลี่ยนและมองหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแนวคิดชุมชนกรุณาให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาสุขภาวะของสังคม โดยเฉพาะการพัฒนากลไกการบริหารจัดการในระดับจังหวัด กฎบัตรเมืองกรุณา และการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและการตายดี



สรุปภาพรวมการจัด


วงเสวนาชวนแลกเปลี่ยนถึงความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมแห่งความกรุณาที่สมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมในการดูแลและรับผิดชอบ ความเจ็บป่วย การตาย และการสูญเสียตามศักยภาพที่ตนทำได้ โดย Prof. Allan Kellehear ให้ความหมายของคำว่า “ชุมชนกรุณา” คือแนวทางการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานต่างๆของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถรับมือกับความสูญเสีย การตาย และการดูแล เพื่อป้องกัน บรรเทา และเยียวยาความทุกข์จากความสูญเสียด้วยหัวใจกรุณา


สุธีลักษณ์ ลาดปาละ: แบ่งปันประสบการณ์เริ่มทำงานชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี จากความตั้งใจว่า ตัวเองจะไปอยู่ดีและตายดีที่บ้าน และอยากให้คนช่วยเหลือกันในชุมชน ตั้งแต่ปี 2562 เน้นพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยเริ่มจากชวนคนใกล้ชิดเป็นกระบวนกรเรื่องการรับฟังและหาทุนสนับสนุนเอง จนกระทั่งมีPeaceful Death มาติดต่อจึงเริ่มขยายงานเน้นส่งเสริมเรื่องการอยู่และตายดี และให้คนตระหนักถึงความทุกข์ของคนในชุมชน เรียนรู้เครื่องมือ เช่น เกมไพ่ไขชีวิต สมุดเบาใจ เผยแพร่ความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง การเตรียมตัวตาย รวมถึงไปเป็นจิตอาสาที่โรงพยาบาลลำปาง ทำให้ประชาชนเห็นศักยภาพในตนเองที่สามารถดูแลทั้งตนเองและคนในชุมชนได้ และมีส่วนร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขมากขึ้น ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้รับรู้ว่ามีทีมที่เข้าใจมาช่วยสนับสนุน ไม่ถูกทอดทิ้ง


พญ.วาลิกา รัตนจันทร์รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน: ทำเรื่อง Palliative Home Care การดูแลผู้ป่วยระท้ายที่บ้าน เริ่มต้นจากการได้เข้าไปดูแลผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาในโรงพยาบาล จึงมีการคิดระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้าน โดยมีหลัก 3 ประเด็นคือ (1) การดูแลต่อเนื่องแบบเป็นระบบ สามารถติดต่อโรงพยาบาลได้ (2) มีความพร้อมในการกลับบ้าน และ (3) มีอุปกรณ์เพียงพอในการดูแลที่บ้าน และเริ่มขยายโครงการระดมทุนภายในโรงพยาบาลจนขยายออกไปสู่ภาคเอกชนและภาครัฐที่เข้ามาช่วยสนับสนุน เกิดโครงการคิดดี จัดซื้ออุปกรณ์ให้ผู้ป่วยระยะท้าย จัดตั้งศูนย์อุปกรณ์ทางการแพทย์หมุนเวียนทุกตำบลในจังหวัดน่าน ดูแลสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ร่วมมือกับผู้ใหญ่บ้าน อบจ. จนขยายการช่วยเหลือได้เป็นหลายร้อยครอบครัว และสร้างศูนย์เรียนรู้และดูแลผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมป้องกันไม่รอให้ผู้ป่วยติดเตียง


บุญศิริ ศรียอด นักสังคมสงเคราะห์ อบต.ดอนแก้ว เชียงใหม่: เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลที่ดำเนินงานดูแลความเป็นอยู่ของคนในตำบลมาตั้งแต่ ปี 2543 โดยการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนที่เป็นลักษณะกลุ่มเมืองและชนบท เริ่มจากการสำรวจ วิเคราะห์ทรัพยากรในชุมชนว่าทำอะไรได้บ้าง และประสานเครือข่าย สร้างนวัตกรรมในการทำงาน เกิดแนวคิดหลักการเป็น DNA ที่ปลูกฝังคนในชุมชนว่า “ไม่ทุจริต จิตอาสา กล้านำ ทำสิ่งใหม่” สร้างวัฒนธรรมจิตอาสา ภาคประชาชนทำคู่กับท้องถิ่น ช่วยเหลือกันเองในชุมชนได้อย่างแท้จริง และดำเนินงานเรื่อง “ดอนแก้ว ตำบลแห่งสุขภาวะ” เป็นวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน คือมีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง “โรงพยาบาลคือบ้าน บ้านคือโรงพยาบาล” จึงไม่มีเตียงนอน เพราะกลับบ้านไปรับการดูแลจากชุมชน จึงสร้างคนในชุมชนให้สามารถดูแลกันเองได้ตั้งแต่ก่อนเกิดจนหลังตาย


นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ:สุขภาพหรือสุขภาวะต้องมองรอบด้านผ่านฉากทัศน์ 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) บุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม (2) สร้างเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู และ (3) กาย จิต สังคมและปัญญา จนขับเคลื่อนเกิดเป็นนโยบายระบบสุขภาพ 2 ขา คือ ขาโรงพยาบาล (Hospital base) ตั้งรับที่โรงพยาบาลเน้นใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ และขาชุมชน ระบบบริการปฐมภูมิ Primary care ที่เน้นดูแลแบบเข้าถึง (Psychological care Hi touch) ซึ่งระบบสุขภาพปฐมภูมิเกี่ยวข้องกับทุกผู้คน ชุมชน และสังคม เพราะปัญหาที่เราเผชิญอยู่ส่วนใหญ่จัดการได้ในพื้นที่จึงไม่ต้องพึ่งพาโรงพยาบาลใหญ่โดยต้องทำให้รากฐานเข้มแข็ง


ผศ.ดร.จิรพรรณ นฤภัทร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์:แนวคิดชุมชนกรุณา สามารถเป็นนโยบายสวัสดิการของสังคมไทยได้หรือไม่? เชื่อว่าเราต้องร่วมกันทำงานเพื่อจัดสวัสดิการให้เกิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิทางสังคม ทางการเมือง และเศรษฐกิจ คือมีรายได้ที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ การใช้แนวคิดชุมชนกรุณาเป็นสวัสดิการระดับชุมชนให้สามารถจัดการกันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงรัฐจึงเชื่อมโยงกับแนวคิดเชิงสวัสดิการได้


อ่านเอกสารบันทึกเวทีเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3QttEya



Commentaires


Les commentaires ont été désactivés.
bottom of page