top of page

“Co-Creation Workshop: ร่วมสร้างสรรค์กระบวนการวิจัยแบบ Spirituality”

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Co-Creation Workshop: ร่วมสร้างสรรค์กระบวนการวิจัยแบบ Spirituality”

วันที่ 16-17 มีนาคม 2566 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ก้าวแรกของ “Co-Creation Workshop: ร่วมสร้างสรรค์กระบวนการวิจัยแบบ Spirituality” จัดโดย Homemade35 ผ่านไปแล้ว เมื่อผู้สนใจทำงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณ 32 คน จาก 11 มหาวิทยาลัย 3 สถานพยาบาล และหลายองค์กรอิสระ มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันเมื่อ 16-17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี โดยแทคทีมกระบวนกรจาก 3 องค์กร อ.หมู - ผศ.ดร.สมสิทธิ์ อัสดรนิธี Homemade35, อ.เหมียว - ดร.อริสา สุมามาลย์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ กี้ - จารุปภา วะสี ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ผู้เข้าร่วมช่วยกันมอง หา และเห็น (re-search) สิ่งสำคัญใหม่ๆในกระบวนการทำวิจัย ผ่านการบอกเล่าการทำงานงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณจากศิษย์เก่าศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหิดล และทำกิจกรรมผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย และร่วมกันสรุป “องค์ประกอบสำคัญ” ที่เป็นลักษณะเฉพาะของการทำงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณ ทั้ง “ท่าทีภายในของผู้วิจัย” เช่น ความมีสติ, รู้ตัว, รู้ทันอคติในตนเอง, รู้จักและรักตนเอง “การเปิดรับและเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างตนเองกับสิ่งที่ศึกษา” เช่น การเปิดรับและโอบอุ้ม, การใช้พลังบวกโดยเฉพาะความรักในการทำงาน, การมองเห็นความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้ร่วมในงานวิจัยอย่างเท่าเทียมกัน และเห็นความเชื่อมโยงกันของสิ่งตรงหน้ากับสังคมและโลก และ “เครื่องมือและวิธีการวิจัย” เช่น การสะท้อนใคร่ครวญในตนเอง, การใช้เรื่องเล่า, การฟังอย่างลึกซึ้ง, การเปิด sensing, empathy, สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกันและกัน, การภาวนาเพื่อเผชิญหน้าและรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานได้โดยไม่จมลงไป

4 เดือนจากนี้ ช่วงท้ายของเวิร์กชอป ผู้เข้าร่วมได้นำเสนอเค้าโครงงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณที่ตนสนใจ และจะทดลองทำกันในช่วง 4 เดือนจากนี้ ก่อนจะมาพบกันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม เพื่อเตรียมไปนำเสนอข้อค้นพบในงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาครั้งที่ 1 วันที่ 17-18 สิงหาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างนี้จะมีเวทีออนไลน์ราว 3 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อสร้างแลกเปลี่ยนความรู้และบอกเล่าความก้าวหน้าในการทำงานวิจัย และเชิญผู้มีประสบการณ์มาแบ่งปันเรื่องราวเพิ่มเติม

วิทยาศาสตร์แบบเกอเธ่ นัดแรกวันที่ 30 มีนาคมนี้ อ.กุ๊กไก่ - ดร.สิรินันท์ นิลวรางกูร จะมาเล่าเรื่อง Goethean Science – วิทยาศาสตร์แบบเกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) นักปรัชญาและนักประพันธ์เอกของโลกชาวเยอรมัน ผู้สร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ผนวกมิติของชีวิตเอาไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยวิธี “Delicate empiricism” หรือประจักษ์นิยมเชิงละเอียดอ่อน เช่นที่เขาใช้การทดลองเรื่องสีอยู่หลายปี จนกลายเป็นทฤษฎีของสีและแสงที่เราใช้กันในปัจจุบัน เกอเธ่บอกว่า “วัตถุทางธรรมชาติควรได้รับการสำรวจในฐานะที่เป็นตัวของมันเอง และทำด้วยความเคารพในฐานะสิ่งมีชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ทำเพื่อผู้สำรวจ” เขาเชื่อว่าประสาทสัมผัสของมนุษย์คือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำที่สุด เกอเธ่ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้วยประสาทสัมผัสทั้งหก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ญาณทัศนะ) ของมนุษย์เท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเขาคือ การละวางการตัดสิน ละวางประสบการณ์เดิม ความรู้เดิม และอยู่กับปรากฏการณ์ตรงหน้าอย่างแท้จริง โดยเป้าหมายสูงสุดของการทำงานคือ การยกระดับจิตสำนึกของนักวิทยาศาสตร์



เรื่องและภาพ: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร



Comentarios


Los comentarios se han desactivado.
bottom of page