หนังสือ: Autobiography of a Yogi. Paramhansa Yogananda. (no date). Self-Realization Fellowship.
แปลไทย: อัตชีวประวัติของโยคี โดย ปรมหังสา โยคานันทะ. Self-Realization Fellowship. 2554. Self-Realization Fellowship.
ผู้แนะนำ: ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี
รีวิว: มัสลิน ศรีตัญญู
เรื่องราวชีวิตของบรรดาครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกเดินทางแสวงหาสัจธรรม หนึ่งในนั้นคือ ท่านคุรุปรมหังสา โยคานันทะ โยคีชาวอินเดียผู้นำศาสตร์โยคะอันเก่าแก่ไปเผยแพร่ในอเมริกาจนเป็นที่แพร่หลาย และก่อตั้งสมาคม Self-Realization ที่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ ท่านเขียนเล่าชีวิตการเป็นโยคีของท่านไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจและเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์
ศาสตร์ที่ท่านโยคานันทะได้รับการถ่ายทอดมาเรียกว่า “กริยาโยคะ” โดยคุรุของท่านคือ “ท่านศรียุกเตศวร” ซึ่งเป็นศิษย์ของ “ท่านลาหิริ มหัสยะ” ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจาก “ท่านบาบาจี” อีกทอดหนึ่ง “กริยาโยคะ” ไม่ได้เป็นแค่การบริหารร่างกายแบบที่เรารู้จักคุ้นเคย แต่เป็นวิถีการฝึกจิตแบบโยคะดั้งเดิมอย่างเป็นขั้นตอนตาม “คัมภีร์โยคสูตร” ของท่านปตัญชลี ซึ่งให้นิยามโยคะว่าเป็น “การปรับกระแสอันผันผวนในจิตสำนึกให้สงบลง”
“โยคะคือวิธีสะกดความคิดอันแส่ส่ายตามธรรมชาติของมนุษย์ให้หยุดนิ่ง ความคิดเหล่านี้เป็นอุปสรรคขัดขวางหมู่มวลมนุษย์ในทั่วทุกดินแดนมิให้สามารถมองเห็นธรรมชาติอันแท้จริงของพระเป็นเจ้าได้”
“ปรัชญาโยคะของท่านปตัญชลีเป็นที่รู้จักกันในนามองค์ 8 ประการ โดยในขั้นแรกนั้นประกอบไปด้วย
1) ยมะ (ข้องดเว้น)
2) นิยมะ (ข้อปฏิบัติธรรม)
3) อาสนะ (ท่านั่งที่ถูกต้อง) กระดูกสันหลังต้องเหยียดตรง กายตั้งอยู่อย่างมั่นคงในท่าที่สบาย เหมาะแก่การทำสมาธิ
4) ปราณยามะ (การกำหนดปราณหรือพลังชีวิตอันละเอียดอ่อน)
และ 5) ปรัตยาหาระ (การดึงอายาตนะหรืออินทรีย์ต่างๆออกจากอารมณ์)
ขั้นตอนสุดท้ายคือตัวโยคะแท้ๆ ได้แก่
6) ธารณา (การสำรวมจิต) การผูกจิตไว้กับความคิดใดความคิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว
7) ธยานะ (การทำสมาธิ)
และ 8) สมาธิญาณ (การบรรลุถึงสภาวะอภิจิตสำนึก)
เป้าหมายสุดท้ายขององค์ 8 ประการคือ ไกวัลยา (ความสัมบูรณ์) ซึ่งโยคีจะหยั่งรู้สัจธรรมอันเหลือวิสัยที่สติปัญญาทั้งมวลของมนุษย์จะพึงเข้าใจได้”
แสวงหาคุรุผู้ขจัดความมืด
ท่านโยคานันทะได้เล่าเรื่องราวปาฏิหาริย์มากมายของเหล่าโยคี ด้วยความสามารถในการนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ มีอารมณ์ขัน สนุก และน่าติดตาม เรื่องราวของท่านเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านมีนามเดิมว่ามุกุณฑะ เกิดในปี พ.ศ. 2436 ที่เมืองโครักขปุระ ประเทศอินเดีย และใช้ชีวิตแปดขวบปีแรกที่นี่ ท่านเกิดในตระกูลวรรณะกษัตริย์ผู้มีอันจะกิน บิดาเป็นผู้บริหารการรถไฟ ทำให้ต้องย้ายมาอยู่ที่เมืองกัลกัตตา บิดาของท่านเป็นศิษย์ของท่านลาหิริ มหัสยะ ซึ่งเป็นคุรุโยคีผู้มีชื่อเสียง
วัยเยาว์ของท่านมักผูกพันอยู่กับการแสวงหาสัจธรรมและคุรุ เมื่อยังเป็นทารก ท่านมีความทรงจำเกี่ยวกับชาติก่อนว่าเคยเป็นโยคี มารดาของท่านโยคานันทะเคยพาท่านไปให้ท่านลาหิริ มหัสยะประสาทพร เมื่อครั้งป่วยหนักเป็นอหิวาตกโรค และบุตรชายก็หายจากโรคด้วยคำอธิฐานจิตให้ท่านคุรุช่วย ท่านโยคานันทะมีความฝักใฝ่ในทางธรรมเป็นทุนเดิม จึงมักเที่ยวเสาะหาปราชญ์และคุรุเพื่อสนทนาธรรมอยู่เสมอ และปฏิบัติกริยาโยคะที่บิดาเป็นผู้สอนเป็นประจำ
เมื่ออายุสิบสองปี ท่านหนีออกจากบ้านไปยังเทือกเขาหิมาลัยเพื่อตามหาคุรุ แต่ไม่สำเร็จเพราะถูกพี่ชายตามตัวจนเจอ ระหว่างนั้นบิดาจึงได้เชิญครูมาสอนภาษาสันสกฤตที่บ้าน หลังจากเรียนจบมัธยม ท่านโยคานันทะไปอยู่ที่อาศรมแห่งหนึ่งในเมืองพาราณสี อยู่ได้ไม่นานก็มีโอกาสพบกับคุรุของท่านคือ “ท่านศรียุกเตศวร” ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านลาหิริ มหัสยะ โดยบังเอิญขณะเดินไปตลาด ขณะที่เจอกัน ทั้งสองรู้ทันทีว่าต่างฝ่ายต่างรอกันมาแสนนาน นี่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ครู-ศิษย์ที่เต็มไปด้วยความรักความผูกพันอันลึกซึ้งต่อมาอีกหลายสิบปี
ท่านโยคานันทะต้องการออกบวชอยู่กับอาจารย์ที่อาศรมในเมืองเซรัมปอร์ แต่ท่านศรียุกเตศวรแนะนำให้ท่านเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยกัลกัตตาก่อน เพราะรู้ดีว่าจะเป็นประโยชน์ในการเดินทางไปเผยแพร่ศาสตร์โยคะในตะวันตกในอนาคต การศึกษาในห้องเรียนไม่ดึงดูดความสนใจท่านเท่ากับการเข้าหาพระเป็นเจ้า ท่านโยคานันทะจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับคุรุของท่านที่อาศรมเมืองเซรัมปอร์ และข้ามผ่านอุปสรรคใหญ่อย่างการสอบเพื่อจบการศึกษาด้วยความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้าในการเกิดปาฏิหาริย์ต่างๆ ทำให้ท่านสอบผ่านจนจบปริญญา
การได้อยู่ใกล้ชิดกับคุรุเป็นความสุขทางจิตวิญญาณอย่างยิ่ง คุรุในทรรศนะของท่านโยคานันทะไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์ที่มีกายเนื้อ แต่เป็นจิตวิญญาณอันสงบที่เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว
“คุรุ” เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ขจัดความมืด” เป็นผู้ชี้ทางสว่างและจุดไฟแห่งปัญญาให้ศิษย์ ในวัฒนธรรมอินเดีย ศิษย์ให้ความเคารพต่อคุรุอย่างสูง ศิษย์จะก้มลงแตะที่เท้าของคุรุแล้วจึงแตะที่หน้าผากของตน เพื่อทำความเคารพต่อพระเจ้าที่สถิตย์อยู่ในร่างของคุรุ การได้อยู่ใกล้ชิดท่านก็เหมือนได้อยู่ใกล้พระผู้เป็นเจ้า ระหว่างคุรุและศิษย์จึงเป็นความผูกพันที่ลึกซึ้งในระดับจิตวิญญาณ
เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ท่านโยคานันทะบวชเข้าเป็นสวามีในสำนักของท่านศรียุกเตศวร ใช้เวลาศึกษาธรรมและเพียรปฏิบัติกริยาโยคะได้เต็มที่สมดังตั้งใจ เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้ขัดเกลาตนเอง และได้รับการถ่ายทอดปัญญาจากคุรุของท่านจนก้าวหน้าเป็นลำดับ และในที่สุดได้รับการแต่งตั้งเป็น “ปรมหังสา โยคานันทะ” ต่อมาท่านหันมาทำงานด้านการศึกษา โดยก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กชายที่เมืองรานจี เปิดสอนทั้งวิชาสามัญและศาสตร์แห่งกริยาโยคะที่ช่วยฝึกฝนร่างกายและจิตใจ
จิตเหนือกาย
นอกจากเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวท่านเองแล้ว ท่านโยคานันทะมักสอดแทรกเรื่องราวชีวิตและปาฏิหาริย์ของเหล่าโยคี ทั้งที่ท่านได้พบเจอด้วยตนเองหรือได้ฟังมาอีกทอดหนึ่ง บางเรื่องอาจฟังดูเหลือเชื่อคล้ายตำนาน แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับประเด็นใหญ่ที่ท่านต้องการสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่า จิตที่ฝึกดีแล้วสามารถมีอำนาจควบคุมวัตถุทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น การสื่อสารทางโทรจิต การปรากฏตัวพร้อมกันสองที่ การเนรมิตกลิ่นหอม การเสกอาหาร การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การมีชีวิตโดยไม่กินอาหาร แม้กระทั่งการชุบชีวิตจากความตาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถพิเศษหรือ “สิทธิ” ซึ่งเป็นของแถมจากการฝึกจิตจนมีความละเอียดและสามารถควบคุมโลกกายภาพได้ตามใจต้องการ แต่ก็ไม่ควรยึดติดกับฤทธิ์เหล่านี้หรือใช้แบบผิดๆ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของการฝึกฝนจิตใจคือการเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงหรือพระผู้เป็นเจ้า
การเขียนเรื่องปาฏิหาริย์เหล่านี้ให้ชาวตะวันตกอ่านนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง นอกจากปาฏิหาริย์มากมายแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเต็มไปด้วยปัญญาญาณอันแตกฉานในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และความรู้ด้านจิตวิญญาณในคัมภีร์ทางศาสนาทั้งฮินดูและคริสต์ ท่านโยคานันทะได้อรรถาธิบายเชื่อมโยงศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจจุดร่วมของศาสตร์ต่างๆ ที่พยายามอธิบายความจริงแท้สากลด้วยชื่อเรียกและวิธีการต่างๆกัน และเหนือสิ่งอื่นใด คือปัญญาจากประสบการณ์ตรงทางจิตวิญญาณของตัวท่านเอง
“ผู้ใดตระหนักว่าเนื้อแท้ของสรรพสิ่งคือแสง ผู้นั้นย่อมขับเคลื่อนกฎแห่งปาฏิหาริย์ได้ ครูบาอาจารย์สามารถใช้ญาณทิพย์ของตนนำอะตอมแห่งแสงที่มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งมาฉายให้เห็นเป็นภาพได้ในทันที รูปร่างของภาพที่ฉายออกมา (ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ยา หรือร่างกายของมนุษย์) จะเป็นเช่นใดขึ้นอยู่กับความประสงค์ อำนาจจิต และจินตนาการของครูบาอาจารย์แต่ละท่านเป็นสำคัญ”
“สรรพสิ่งทั้งหลายคือแสงและเงาประกอบกัน ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปก็จะมีภาพบังเกิดขึ้นไม่ได้ ความดีกับความชั่วก็เป็นมายาที่ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมามีอำนาจ มาตรแม้นว่าความสุขดำรงอยู่ในโลกเป็นนิรันดร์กาล มนุษย์ยังจะกระสันอยากในสิ่งอื่นใดอีก? ... ลูกๆของเราคือบุตรแห่งแสง พวกเขาจะไม่หลับใหลอยู่ในอุปาทานตลอดไปแน่”
ตะวันตกพบตะวันออก
ในปี พ.ศ. 2463 ท่านโยคานันทะได้รับเชิญไปบรรยายศาสตร์โยคะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นไปตามคำทำนายของคุรุของท่าน และได้ก่อตั้งสมาคม Self-Realization Fellowship ทำงานเผยแผ่ศาสตร์กริยาโยคะออกไปในวงกว้าง ชาวอเมริกันต้อนรับท่านอย่างอบอุ่น ท่านมีลูกศิษย์ที่ศรัทธาในศาสตร์โยคะจำนวนมาก ทำให้เกิดศูนย์ปฏิบัติภาวนาในหลายเมือง โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านภูเขาสูงของเมาท์วอชิงตัน
ในปี พ.ศ. 2478 ท่านเดินทางกลับอินเดียหลังจากทำงานในอเมริกามานาน 15 ปี เพื่อเยี่ยมท่านคุรุศรียุกเตศวรที่ถึงวาระละกายสังขาร ระหว่างเดินทางกลับอินเดีย ท่านได้ท่องเที่ยวจาริกและบันทึกประสบการณ์ที่ได้พบนักบุญที่แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ รวมทั้งได้เก็บข้อมูลของบรรดาคุรุทั้งหลายในอินเดียไว้ด้วย ท่านคุรุศรียุกเตศวรได้ละสังขารโดยที่ท่านโยคานันทะไม่ทันอยู่ดูใจ แม้จะทำการงานต่างๆได้ตามปกติ แต่ในเบื้องลึก ท่านโยคานันทะยังเศร้าโศกกับการจากไปของอาจารย์อันเป็นที่รัก ท่านอาจารย์จึงได้ปรากฏกายทิพย์ และเล่าเรื่องเมืองทิพย์และโลกหลังความตาย และบอกว่าระดับความละเอียดและการยึดติดของจิตจะเป็นตัวกำหนดภพภูมิของดวงวิญญาณ (ทำให้ผู้เขียนพลอยนึกถึงภพภูมิต่างๆในวรรณกรรมไทยอย่างไตรภูมิพระร่วงตามไปด้วย)
ปี พ.ศ. 2479 ท่านโยคานันทะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา และทำงานเผยแผ่ศาสตร์กริยาโยคะให้ชาวตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศาสตร์ลี้ลับแห่งเทือกเขาหิมาลัยเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ผ่านการแสดงปาฐกถา งานเขียน และหลักสูตรกริยาโยคะที่สามารถฝึกได้ที่บ้าน ตลอดจนการก่อตั้งศูนย์ภาวนาตามเมืองต่างๆในยุโรปและอเมริกา ศาสตร์กริยาโยคะจึงได้รับการสืบทอดไม่ให้สูญหายไป
ท่านโยคะนันทะละกายสังขารเมื่ออายุได้ 59 ปี ในปี พ.ศ. 2495
“กริยาโยคะ” ของท่านโยคะนันทะ เป็นโยคะแบบดั้งเดิมที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกายและจิตเข้าด้วยกัน และเข้าถึงตัวตนที่แท้จริง แม้ว่าตะวันตกจะรู้จักศาสตร์แห่งโยคะเป็นเวลาร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่น่าเสียดายที่โยคะสมัยใหม่ที่แพร่หลายในปัจจุบันถูกใช้เป็นเพียงการออกกำลังกายแบบหนึ่งเท่านั้น
ภูมิปัญญาล้ำค่าแห่งอินเดียช่วยให้มนุษย์เข้าถึงพระเจ้าสูงสุดหรือตัวตนที่แท้จริงอันเป็นสากล ชีวิตของท่านโยคานันทะและบรรดาคุรุต่างๆที่ท่านประสบพบเจอเป็นตัวอย่างอันประจักษ์แจ้งของการบรรลุถึงศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เราที่เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา หากมีความเพียรถึงพร้อม ก็สามารถพัฒนาตนให้หลุดพ้นจากตัวตนอันคับแคบ และหลอมรวมกับพระเจ้าซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงได้เช่นกัน
Comments